กัมพูชาเคยเป็นเมืองขึ้นของไทยเพราะเหตุใด? เปิดประวัติศาสตร์ที่แท้จริง 

กัมพูชาเคยเป็นเมืองขึ้นของไทยเพราะเหตุใด? เปิดประวัติศาสตร์ที่แท้จริง 

มีบางคนอ้างว่ากัมพูชาเป็นประเทศราชของไทยมานานถึง 400 ปี ซึ่งผมไม่แน่ใจว่าไปเอาข้อมูลจากไหน หรือเริ่มนับจากไหน เพราะความจริงก็คือ ไทยเรามีกัมพูชาเป็นประเทศราชในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชนี่เอง 

นับตั้งแต่การสิ้นสุดอาณาจักรเขมรโบราณในศตวรรษที่ 15 กัมพูชาหลังยุคพระนครก็ถูกรุกรานจากอาณาจักรอยุธยามาโดยตลอด หรือบางครั้งก็เข้ามารุกรานอยุธยาในเวลาที่อยุธยาติดพันสงครามกับอาณาจักรอื่นๆ ในบางรัชกาลกัมพูชาก็ตกอยู่ในอำนาจของไทย ในบางครั้งก็เป็นเอกราชจากอยุธยา

จนถึงช่วงปลายกรุงศรีอยุธยา เกิดความขัดแย้งในกัมพูชา ฝ่ายหนึ่งหนีมาพึ่งกรุงศรีอยุธยา อีกฝ่ายหนึ่งได้รับการสนับสนุนจากเวียดนาม ซึ่งเริ่มขยายดินแดนมาทางใต้ ทำให้เกิดสงครามกลางเมือง ทั้งสองฝ่ายผลัดกันแพ้ผลัดกันชนะ จนกระทั่งกรุงศรีอยุธยาสามารถตั้งคนที่ตัวเองสนับสนุนเป็นกษัตริย์กัมพูชาได้ แต่แล้วศึกชิงอำนาจก็ยังไม่สงบ เพราะฝ่ายที่เป็นลูกไล่เวียดนามต้องการชิงบัลลังก์อีก จนกระทั่งฝ่ายลูกไล่เวียดนามชิงบัลลังก์กลับมาครองได้ คือพวก "นักองค์ตน" ที่เวียดนามช่วยตั้งเป็นกษัตริย์กัมพูชา

หลังจากนั้นไม่กี่ปี กรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่า แต่แค่เพียงชั่วเวลาสั้นๆ คนไทยก็ขับไล่พม่าออกไปได้อย่างรวดเร็วนโดยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทั้งยังขายดินแดนจนกว้างใหญ่ไพศาลกว่าเดิม ด้วยการผนวกดินแดนของลาวล้านช้าง และตอนนี้กำลังหมายตามาที่กัมพูชา

สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชต้องการให้นักองค์ตนช่วยไทยจับตัวฝ่ายต่อต้าน แต่นักองค์ตนไม่เพียงไม่ช่วย ยังดูหมิ่นสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชว่าเป็น "ลูกจีน" ทำให้กรุงธนบุรีส่งกองทัพใหญ่มากำราบ และตั้งนักองค์โนน เป็นกษัตริย์กัมพูชาแทน แต่ไทยยึดครองได้เพียงบางส่วน เพราะพวกเวียดนามที่นำโดย "เจ้าตระกูลเหงียน" ซึ่งเป็นขุนศึกศักดินาที่ปกครองเวียดนามตอนใต้ เข้ามาช่วยสกัดทัพไทยไว้

แม้ไทยจะตั้งคนของตนเองเป็นกษัตริย์กัมพูชาได้ คือ "นักองค์โนน" แต่พวกขุนนางที่นิยมเวียดนามไม่พอใจ จึงก่อกบฏโค่นล้มนักองค์โนนพร้อมกับกองทัพเวียดนามของพวกเจ้าตระกูลเหงียน ที่นำโดย "เหงียน ฟุก อั๊ญ" หรือ "องเชียงสือ" มาเข้าผสมโรงด้วยทำการจับนักองค์โนนสำเร็จโทษด้วยการถ่วงน้ำ แล้วฝ่ายกบฏและเวียดนามตั้งโอรสของนักองค์ตน คือนักองค์เองขึ้นครองราชย์แทน 

เหตุการณ์นี้ทำให้สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงพิโรธที่กษัตริย์ที่ฝ่ายไทยสนับสนุนถูกสังหาร จึงทรงส่งเจ้าพระยาจักรีไปปราบ แต่เผอิญว่ามีข่าวการก่อกบฎที่กรุงธนบุรีพอดี เจ้าพระยาจักรีกับเหงียน ฟุก อั๊ญ จึงตกลงหยุดรบ แล้วยกทัพกลับไป โดยปล่อยฝ่ายเวียดนามจัดการกัมพูชาไปก่อน

แต่ไม่นานก็มีการชิงอำนาจอีก คราวนี้ขุนนางใหญ่ชื่อ "ออกญายมราช (แบน)" ทำการยึดอำนาจแล้วปราบฝ่ายกบฎเดิม แต่ยังให้นักองค์เองครองบัลลังก์ต่อไป แต่ทว่า อีกไม่นาน ออกญายมราช (แบน) ก็ถูกโค่นล้มอีก จนต้องพานักองค์เองหนีมายังไทย ซึ่งในเวลานั้นเป็นสมัยกรุงเทพฯ หลังจากที่เจ้าพระยาจักรี กลับมาจัดการความสงบเรียบร้อย แล้วปราบดาภิเษกเป็นพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช 

ในเวลาเดียวกันนั้นเอง ที่เวียดนามก็เกิดชิงอำนาจขึ้น โดย "เจ้าตระกูลเหงียน" ถูกโค่นล้มอำนาจโดยกบฏไตเซิน ทำให้ผู้นำของ "เจ้าตระกูลเหงียน" คือ เหงียน ฟุก อั๊ญ หรือ องเชียงสือ มาขอลี้ภัยที่กรุงเทพฯ ซึ่งในหลวงรัชกาลที่ 1 ทรงดูแลเป็นอย่างดี เพราะเคยเจรจาตกลงเรื่องหยุดรบกันมาก่อนที่กัมพูชา

ที่กัมพูชานั้น พวกเวียดนาม คือพวกกบฏไตเซินเข้ามาจัดการปกครองเอง ทางกรุงเทพฯ เห็นท่าไม่ดีจึงส่งกองทัพไปชิงกัมพูชาคืนมา โดยส่งออกญายมราช (แบน) ไปรบ แล้วก็รบชนะ ในเวลาไล่เลี่ยกับที่ องเชียงสือ หนีกลับไปเวียดนามแล้วรบชนะพวกไตเซินเช่นกัน 

เมื่อออกญายมราช (แบน) รบชนะได้กัมพูชาคืนมาแล้ว รัชกาลที่ 1 ก็ทรงส่งนักองค์เองกลับไปเป็นกษัตริย์กัมพูชา โดยมีขุนนางกัมพูชา คือ ออกญากลาโหม (ปก) เป็นพี่เลี้ยง ส่วนออกญายมราช (แบน) มีความดีความชอบ โปรดให้ดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ ครองเมืองพระตะบอง ซึ่งเป็นเมืองอู่ข้าวอู่น้ำที่สำคัญ

ออกญากลาโหม (ปก) คือ บรรพบุรุษของตระกูล ปกมนตรี ส่วนเจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ คือต้นตระกูล อภัยวงศ์ ซึ่งเป็นตระกูลขุนนาง-ข้าราชการที่สำคัญของไทย 

หลังจากนั้น ดินแดนของกัมพูชาถูกแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ฝ่ายไทยเรียกว่า "เขมรส่วนนอก" หรือเขมรตอนใต้ที่ปกครองโดยกษัตริย์กัมพูชาในฐานะประเทศราชของไทย และส่วนที่เรียกว่า "เขมรส่วนใน" หรือเขมรตอนบนซึ่งปกครองโดยคนในตระกูลอภัยภูเบศร์ มีศูนย์กลางการปกครองที่พระตะบอง และควบคุมเสียมราฐ รวมถึงพระนครวัดนครธมเอาไว้

ส่วนภาคใต้ของกัมพูชามาแต่เดิมบริเวณปากแม่น้ำโขง รวมถึงเมืองไพรนคร ถูกเวียดนามยึดไว้แล้วก่อนหน้านี้ ไพรนครถูกเปลี่ยนชื่อเป็น ไซ่ง่อน ส่วนนี้เรียกว่า "แขมร์กรอม" หรือเขมรล่าง คำว่า โกรม หรือ กรอม เป็นคำเดียวกับคำว่า "ขอม" ที่แปลว่า อยู่ด้านล่างหรือใต้ลงมา ปัจจุบันส่วนนี้ยังเป็นของเวียดนาม แต่มีประชากรจำนวนมากพูดภาษาเขมร

กล่าวถึง นักองค์เองหลังจากครองกัมพูชาแล้ว ต่อมาสิ้นพระชนม์ รัชกาลที่ 1 ก็ทรงตั้งโอรสของนักองค์เองครองราชย์ต่อไป คือ นักองค์จัน ตอนนี้พระเจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ (แบน) ถึงแก่พิรัยแล้ว นักองค์จันคิดว่าจะได้พระตะบองกับเขมรส่วนนอกกลับมาครอง แต่ราชสำนักที่กรุงเทพฯยังให้คนในตระกูลอภัยวงศ์ปกครองต่อไป ทำให้นักองค์จันไม่พอใจและกระด้างกระเดื่องต่อกรุงเทพฯ หนักข้อขึ้นเรื่อยๆ 

จนพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ต้องส่งกองทัพมาปราบ จนนักองค์จันหนีไปเวียดนาม โชคดีที่เกิดศึกพม่าบุกปักษ์ใต้ กองทัพไทยจึงถอนทัพออกมาจากกัมพูชา เมื่อไทยส่งกำลังมากัมพูชาอีก เวียดนามก็ส่งกองทัพมาช่วยตามที่นักองค์จันทำข้อตกลงกับเวียดนามไว้ ทำให้ไทยยึดกัมพูชาไม่สำเร็จอีก แต่สามารถยึดแขวงอื่นเอาไว้ได้ เช่น เชียงแตงหรือจังหวัดจังหวัดสตึงแตรง และมลูไพร หรือจังหวัดพระวิหาร

หลังจากนั้น "เขมรส่วนนอก" หรือประเทศราชกัมพูชาก็อยู่ใต้อิทธิพลเวียดนามอีกครั้ง ในเวลาเดียวกันนั้น เป็นรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เจ้าอนุวงศ์ เจ้าเวียงจันทน์ก่อกบฏ แต่ถูกปราบได้ เจ้าอนุวงศ์หนีไปขอความช่วยเหลือจากเวียดนาม แต่เวียดนามยอมส่งตัวเจ้าอนุวงศ์ให้ฝ่ายไทย เนื่องจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นนี้เกี่ยวพันกับอิทธิพลของไทยกับเวียดนามในลาวและกัมพูชา 

ในเวลานี้เองที่ทูตของเวียดนามได้กล่าวกับฝ่ายไทยว่า “อนุทำความผิดหนีไปหาญวน ญวนเหมือนมารดา กรุงเทพมหานครเหมือนบิดา ๆ โกรธบุตรแล้ว มารดาต้องพามาขอโทษ” 

บุตรในที่นี้หมายถึงเจ้าอนุวงศ์ แต่ในเวลาต่อมาประโยคนี้ใช้กับกรณีของกัมพูชาด้วย จนกลายเป็นคำพูดสั้นๆ ว่า "ไทยเหมือนพ่อ เวียดนามเหมือนแม่ของกัมพูชา"

ในหนังสือ A History of Cambodia ของ David Chandler ผู้เชี่ยวชาญเรื่องกัมพูชาเขียนถึงประเด็นนี้ไว้ว่า ไทยและเวียดนามรู้สึกว่าตัวเองมีหน้าที่ที่จะดูแลชาวเขมร ดังที่จดหมายการทูตไทยฉบับหนึ่งระบุไว้ สมควรที่ประเทศใหญ่จะดูแลประเทศเล็ก ๆ ประเทศอื่น ๆ และเรียกนักองค์จันว่าเป็น "เด็กเกเร" และบอกว่านโยบายของไทยกับเวียดนามต่อกัมพูชานั้นคือ "ผลและเมล็ดที่รวมกันเป็นหนึ่งเดียว" นั่นหมายความว่าทั้งไทยและเวียดนามคิดเหมือนกัน นั่นคือต้องปกครองและอบรมสั่งสอนกัมพูชา 

กลับมาที่ความขัดแย้งระหว่างไทยกับเวียดนาม ปรากฎว่าหลังจากนั้นกลับยิ่งรุนแรงขึ้นเพราะกรณีเจ้าอนุวงศ์ และจากการที่ไทยต้องการจะเอากัมพูชากลับคืนมาเมื่อทราบว่าเกิดการกบฏในเวียดนามตอนใต้ ปัจจัยเหล่านี้นำไปสู่สงครามใหญ่ระหว่างไทยกับเวียดนาม โดยรบกันส่วนใหญ่ในพื้นที่ของกัมพูชา เรียกว่า "อาณานัมสยามยุทธ"   

"อาณานัมสยามยุทธ" ยกแรก ระหว่างปี ค.ศ. 1831–1834 เวียดนามเป็นฝ่ายยึด "เขมรส่วนนอก" เอาไว้ได้ เมื่อนักองค์จันสิ้นพระชนม์แล้วภายใต้การควบคุมของเวียดนาม เวียดนามก็ตั้งเชื้อพระวงศ์หญิง คือ พระองค์เม็ญ เป็นกษัตรีของกัมพูชา ที่ต้องตั้งผู้หญิงครองเมือง เพราะเชื้อพระวงศ์ชายหนีไปพึ่งไทยจนหมด

ในเวลานี้ กัมพูชาไม่ใช่แค่เป็นเมืองขึ้นของเวียดนาม แต่พระองค์เม็ญยังสั่งให้ผู้หญิงเขมรทุกคนสวมชุดแบบเวียดแทนการนุ่งผ้าแบบเขมร และไว้ผมยาวตามอย่างหญิงเวียด จากเดิมตัดผมสั้นแบบไทย เปลี่ยนชื่อสถานที่ต่างๆ เป็นภาษาเวียดนาม เปลี่ยนวัฒนธรรมชาวบ้านต่างๆ ให้เป็นแบบเวียดนาม ถือเป็นจุดตกต่ำของวัฒนธรรมเขมรครั้งหนึ่ง จนทำให้พวกขุนนางเริ่มไม่พอใจกับการเปลี่ยนประเทศให้เป็นจังหวัดหนึ่งของเวียดนาม จนในที่สุดก็เกิดการลุกฮือขึ้น ชาวเขมรพากันสังหารพวกเวียดนาม และหันไปเข้ากับไทย ส่วนพระองค์เม็ญนั้นถูกเวียดนามพาตัวไปยังเวียดนามด้วยกัน

ไทยจึงได้โอกาสส่งกองทัพมายังกัมพูชาอีกครั้ง กลายเป็น "อาณานัมสยามยุทธ" ยกสอง ระหว่างปี ค.ศ. 1841–1845 ที่จบลงด้วยการที่สองฝ่ายตกลงสงบศึก เพราะเวียดนามเริ่มจะรบไม่ไหว อีกทั้งยังเกิดกบฏในภาคเหนือ 

กองทัพไทยที่ไปกัมพูชาได้พาตัวนักองค์ด้วง เชื้อพระวงศ์กัมพูชาที่ไปลี้ภัยที่กรุงเทพฯ นานถึง  27 ปี ไปพร้อมกันด้วย เพื่อเตรียมตั้งเป็นกษัตริย์กัมพูชา หลังจากไทยกับเวียดนามหยุดรบแล้ว เวียดนามชิงตั้งนักองค์ด้วงดักหน้า โดยตั้งเป็นกษัตริย์เจ้าประเทศราชด้วยในแบบของเวียดนาม ทำการมอบตราตั้งกับฉลองพระองค์แบบเวียดนาม ในอีกไม่กี่เดือนต่อมา พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ให้นำเครื่องประกอบพระอิสริยยศ สุพรรณบัตรจารึกพระนามไปเมืองเขมร ประกอบพิธีอภิเษกในแบบของไทยให้นักองค์ด้วงเป็นกษัตริย์ประเทศราช 

ดังนั้น นี่อาจเป็นครั้งแรกในรอบหลายสิบปีที่ไทยกับเวียดนามตกลงกันได้ และกัมพูชามีกษัตริย์ที่แต่งตั้งพร้อมกันโดย "ประเทศพ่อและประเทศแม่" 

ในหนังสือ A History of Cambodia ของ David Chandler ผู้เชี่ยวชาญเรื่องกัมพูชา กล่าวว่าว่า "ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐเหล่านี้ มักถูกอธิบายโดยใช้ภาพลักษณ์การเลี้ยงดูบุตร ชาวไทยและเวียดนามกลายเป็นพ่อและแม่ของชาวเขมร ซึ่งกษัตริย์ถูกเรียกว่าลูกหรือคนรับใช้ในคริสต์ทศวรรษ 1860 เจ้าหน้าที่ชาวฝรั่งเศสรำพึงอย่างเข้าใจได้ว่าสยามเป็นพ่อของกัมพูชา กษัตริย์สยามเป็นผู้กำหนดผู้ที่จะเป็นกษัตริย์เขมร ในขณะที่เวียดนามถูกมองว่าเป็นมารดาเพราะผู้ปกครองได้มอบตราประทับประจำตำแหน่งให้กับเขมร"

เมื่อ นักองค์ด้วงสิ้นพระชนม์ พระโอรสคือ นักองค์ราชาวดี ครองราชย์เป็นพระนโรดม  ซึ่งเกิดที่ไทยและมาอยู่ที่ไทยหลายปี จนกระทั่งได้รับการอภิเษกเป็นกษัตริย์กัมพูชาที่ไทย ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

แต่ในเวลานั้น มีตัวแปรใหม่เข้ามา นั่นคือฝรั่งเศส ได้เข้ามายึดเวียดนามตอนใต้ หรือ  "แขมร์กรอม"เป็นอาณานิคม ในปี 1862

เจ้านโรดมครองราชย์ได้ไม่นาน ฝรั่งเศสก็เข้ามาติดต่อกับเจ้านโรดม เจ้านโรดมอ้างกับไทยว่าถูกบังคับให้ทำสนธิสัญญาเข้าเป็นรัฐในอารักขาของฝรั่งเศส 1863  แต่ความจริงแล้วไม่มีใครทราบเจตนาที่แท้จริงของเจ้านโรดมที่ยอมเป็นรัฐอารักขาของฝรั่งเศส

นับแต่นั้น "เขมรส่วนนอก" ก็ตกเป็นของฝรั่งเศส ส่วน "เขมรส่วนใน" จะถูกฝรั่งเศสเอาไปจากไทยในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว 

นับแต่นั้นมา ไทยก็ไม่ได้ปกครองกัมพูชาอีก ยกเว้นช่วงสั้นๆ ที่ไทยได้ดินแดน "เขมรส่วนใน" กลับคืนมาจากฝรั่งเศสหลังกรณีพิพาทอินโดจีน แต่ต้องคืนให้ฝรั่งเศสไปหลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 

แม้ว่าไทยจะไม่ได้ปกครองกัมพูชาอีก แต่ในยุคสมัยใหม่ ก็ยังมีกษัตริย์ เชื้อพระวงศ์ และนักการเมืองเขมร มักจะหนีมาพึ่งไทยเป็นครั้งคราว เวลาเผชิญกับความขัดแย้งทางการเมือง เหมือนกับที่เกิดขึ้นในอดีต 

เช่นเดียวกับเวียดนามที่ถึงขั้นส่งกองทัพเข้ามาบุกกัมพูชาในปี 1978 จนกระทั่งปะทะกับกองทัพไทยที่ชายแดนกัมพูชาในที่สุด จากน้ันเวียดนามก็ยึดครองกัมพูชานานถึง 10 ปี

ในที่สุดเวียดนามก็ถอนตัวไป แต่จนแล้วจนรอด กัมพูชาก็ได้ผู้นำคนใหม่เป็น "เด็ก" ของเวียดนามอยู่ดี คนๆ นี้ได้รับการสนับสนุนจากเวียดนามมาก่อนจนกระทั่งมีมีอิทธิพลขึ้นมา เขามีชื่อว่า ฮุน เซน จนในช่วงแรกรัฐบาล ฮุน เซน ถูกเรียกว่าเป็น "รัฐบาลหุ่นเชิด" ของเวียดนาม 

ฮุน เซน ต้องการปลดแอกตัวเองจากเวียดนามมาโดยตลอด วิธีการหนึ่งคือเอาอิทธิพลของประเทศอื่นเข้ามาถ่วงดุล แต่คราวนี้ผู้นำกัมพูชาไม่ได้มาขอพึ่งไทย แต่ขอความกรุณาจากจีนแทน 

ถ้านี่คือ "เดจาวู" ของประวัติศาสตร์กัมพูชา เราคงจะเดาได้ไม่ยากว่า ในที่สุดมันจะจบแบบไหน

ปิดท้ายด้วยข้อความจากพงศาวดารฉบับหนึ่งซึ่งยกคำพูดของพระเจ้ายาลอง หรือ เหงียน ฟุก อั๊ญ ที่กล่าวว่า 

“กัมพูชาเป็นประเทศเล็กๆ และเราควรปฏิบัติในฐานะที่เป็นลูก เราจะเป็นแม่ของมัน ไทยจะเป็นพ่อ เมื่อลูกมีปัญหากับพ่อ ก็จะพ้นทุกข์ได้ด้วยการโอบกอดแม่ เมื่อลูกไม่พอใจแม่ก็สามารถวิ่งไปหาพ่อเพื่อขอกำลังใจได้"

บทความโดย กรกิจ ดิษฐาน ผู้ช่วยบรรณาธิการ และบรรณาธิการข่าว The Better

Photo - พระบาทสมเด็จพระนโรดม หรือ นักองค์ราชาวดี พระราชโอรสของสมเด็จพระหริรักษ์รามมหาอิศราธิบดี (นักองค์ด้วง) ในรัชสมัยของพระองค์กัมพูชาได้หลุดพ้นการตกอยู่ภายใต้การปกครองของสยามและกลายมาเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส ทำให้พระองค์ได้ทรงเป็นกษัตริย์แห่งกัมพูชาองค์แรกที่อยู่ภายใต้การปกครองของฝรั่งเศส ภาพจาก Wellcome

TAGS: #กัมพูชา #สยาม #เวียดนาม