ชื่อเรื่อง "ไทยไม่มีวันได้ใช้ F-35 " ไม่ใช่การฟันธงและไม่ใช่คำทำนาย แต่ผมได้แรงบันดาลใจมาจากบทความเรื่อง "Turkey Is Never Going to Get the F-35 Fighter" ในเว็บไซต์ของนิตยสารด้านความมั่นคงของสหรัฐฯ The National Interest
บทความนี้เผยแพร่ในช่วงปลายเดือนสิงหาคม ไล่เลี่ยกับที่กองทัพอากาศไทยตัดสินใจเลือกซื้อเครื่องบินรบ Grippen จากสวีเดน แทนที่ F-16 จากสหรัฐฯ
แต่เดิมนั้นกองทัพอากาศต้องการ F-35 ด้วยซ้ำ แต่รัฐบาลสหรัฐฯ ไม่ยอมขายให้ อ้างว่า "ไทยไม่พร้อม" แต่ทั่วโลกเขารู้กันดีกว่า "เพราะไทยสนิทกับจีนมากเกินไป"
แต่เพื่อไม่ให้ไทยเสียใจก็เลยเสนอขาย F-16 ซึ่งเหมือนเป็นการ "ตบหัวแล้วตบหัวซ้ำ" ซะมากกว่าแทนที่จะเป็น "ตบหัวแล้วลูบหลัง"
กรณีไม่ขาย F-35 ให้ไทยเหตุผลนี้คล้ายๆ กับที่ตุรกีต้องการจะซื้อ F-35 แต่สหรัฐฯ ไม่ยอมขายให้เหมือนกัน ส่วนสาเหตุที่ไม่ยอมขายให้ก็ดันคล้ายกับไทยอีก แถมทั้งไทยและตุรกีเป็นพันธมิตรที่แสนดีของนาโตและชาติตะวันตกมานาน แต่แล้วกลับถูก "เพื่อน" เมินซะงั้น
ผมได้พูดถึงกรณีของไทยกับตุรกีไปคร่าวๆ แล้วในคลิปเรื่อง การเมืองโลกเบื้องหลังอเมริกาไม่ให้ F-35 ไทยเลยซื้อ Gripen | The Better Talk
แต่รายละเอียดมันลึกล้ำกว่านั้น หลังจากที่ได้อ่านบทความจาก The National Interest
สาเหตุหลักๆ ที่ทำให้ตุรกีไม่ได้ F-35 ก็เพราะ ตุรกีดันไปซื้อระบบป้องกันทางอากาศ (หรือป้องกันขีปนาวุธ) จากรัสเซีย คือระบบ S-400
การซื้อระบบป้องกันของรัสเซียมาใช้ทำให้สหรัฐฯ เตือนว่ามันจะส่งผลต่อความปลอดภัยในการทำงานของฝูงบินที่ซื้อมาจากสหรัฐฯ ส่วนองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ หรือ นาโต ที่ตุรกีเป็นสมาชิกก็เตือนว่าระบบรัสเซียมันเข้ากันไม่ได้กับระบบของนาโต
นั่นเพราะนาโตเกิดขึนมาก็เพื่อต้านรัสเซีย (หรือสหภาพโซเวียตเดิม) พูดแบบง่ายๆ ก็คือ ตุรกีเป็นฝ่ายตะวันตก ควรใช้ระบบอาวุธแบบตะวันตก แต่ดันไปซื้อระบบป้องกันอาวุธของรัสเซียมาใช้ซะงั้น
ทำไมตุรกีซึ่งเป็นสมาชิกของนาโตแท้ๆ ถึงไปซื้อของรัสเซีย?
คำตอบก็คือ ตุรกีรู้สึกว่าตัวเองไม่ได้รับการปฏิบัติที่เหมาะสมจากนาโต และยังถูกสหรัฐฯ หักหลัง จากกรณีที่สหรัฐฯ ให้การสนับสนุนความพยายามทำรัฐประหารโค่นรัฐบาลตุรกีเมื่อปี 2016 เพราะเห็นว่ารัฐบาลตุรกีเริ่มจะไม่เป็น "ตะวันตก" (คือนิยมอิสลามมากขึ้นในทางการเมือง) และเริ่มเป็นตัวของตัวเองเกินไป
กรณีนั้นทำให้รัฐบาลตุรกีกวาดล้างพวก "สายอเมริกัน" อย่างหนัก หลังจากนั้น เพื่อป้องกันไม่ให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย ผลก็คือ สหรัฐฯ ไม่พอใจ แต่ตุรกีก็ไม่แคร์ และตอบโต้ด้วยการหันไปสนิทสนมกับรัสเซีย
สิ่งที่เกิดขึ้นกับตุรกีเรียกว่าการเปลี่ยนจากหน้ามือ คือจากหุ้นส่วนด้านยุทธศาสตร์ (strategic partnership) ให้กลายเป็นปรปักษ์ (adversary) โดยแท้ ซึ่งไม่ใช่เพราะตุรกีเหยียบเลยสองแคม แต่เพราะสหรัฐฯ "นิสัยเสีย"
สหรัฐฯ นิสัยเสียตรงที่หากพบว่าประเทศหนึ่งประเทศใดเริ่มจะคุยกันไม่รู้เรื่องหรือควบคุมได้ยากหรือไม่ยอมคล้อยตามแนวทางการเมืองของตน สหรัฐฯ ก็จะหาทางโค่นล้ม จากกรณีของตุรกีเราจะเห็นว่าแม้จะเป็น "เพื่อน" หรือ "หุ้นส่วน" สหรัฐฯ ก็พร้อมจะโค่นล้มแล้วเอาสมุนของตนไปไปครองอำนาจแทน
ตุรกีก็เลยหันไปคบรัสเซียและซื้อระบบป้องกันอาวุธจากรัสเซีย
แต่ต่อมาไม่รู้เพราะสาเหตุใด ตุรกีกลับมาต้องการ F-35 จากสหรัฐฯ อีกครั้ง ซึ่งสหรัฐฯ ตัดตุรกีออกจากบัญชีสมาชิกในโครงการไปแล้ว
ตุรกีต้องการ F-35 ถึงขนาดมีการเสนอกันในหมู่คนที่อยากได้ (เช่นอดีตรัฐมนตรีบางคน) ให้ขายระบบ S-400 ของรัสเซียให้ประเทศอินเดียหรือปากีสถานไปซะ ซึ่งในทางปฏิบัติเป็นไปได้ยาก เพราะมีหรือรัสเซียจะยอม
แต่ทางการตุรกีเองมีท่าทีแปลกๆ คือยังไม่เปิดใช้ระบบ S-400 แต่เอามันออกมาเตรียมใช้งาน มีการซ้อมยิงขีปนาวุธด้วยซ้ำ แถมยังบอกว่า ถ้าพร้อมเมื่อไรก็ใช้เมื่อนั้น จากปากคำของอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม คือ ฮูลูซี อาการ์ เมื่อปี 2022
ตกลงแล้วเดาไม่ออกว่าตุรกีต้องการจะใช้ S-400 หรือต้องการ F-35 กันแน่? แต่มันอาจเป็นทั้งความสับสน หรืออาจเป็นทั้งการเล่นเกมถ่วงดุลทางการเมืองที่หลักแหลมก็ได้
กรณีของตุรกีก็คล้ายกับกรณีของไทย ซึ่งแต่เดิมเป็นมิตรที่ดีกับสหรัฐฯ และสหรัฐ เป็น "มหามิตร" ของไทย เพราะไทยเป็นหุ้นส่วนด้านยุทธศาสตร์ (strategic partnership) เหมือนกับตุรกี
ไทยยังไม่กลายสภาพเป็นปรปักษ์ (adversary) เหมือนตุรกี ตุรกีนั้นถูกสหรัฐฯ ใช้กฎหมาย Countering America's Adversaries Through Sanctions Act (ตอบโต้ปรปักษ์ของอเมริกาด้วยกฎหมายคว่ำบาตร) เล่นงานด้วยซ้ำ คือ ไม่ยอมขายอาวุธให้เลย ส่วนไทยเราเจอ "สั่งสอน" แบบเบาะๆ
ในระยะหลังที่ไทยหันไปคบห้ากับจีนมากขึ้นในเรื่องความมั่นคง เช่น การซื้ออาวุธจากจีนหรือซ้อมรบกับกองกำลังปลดปล่อยประชาชนจีน บางคนอาจมองว่ามันไม่ใช่อะไรนอกจากการถ่วงดุลกับสหรัฐฯ
แต่ "ความไม่เป็นมิตร" ของสหรัฐฯ ต่อไทย (หรืออย่างน้อยก็กองทัพไทย) มันมีเหตุมาจากการทำรัฐประหารเมื่อปี 2557 ซึ่งครั้งนั้นสหรัฐฯ แทบจะตัดขาดจากรัฐบาลทหาร เพราะยึดมั่นใน "หลักการประชาธิปไตย"
ผลของการตัดขาดหรืออย่างน้อยคือตีตัวออกห่าง ทำให้ทหารไทยหันไปคบหาจีนมากขึ้น เหมือนที่ตุรกีหันไปคบหากับรัสเซีย
นี่เป็นเหตุที่ทำให้ทั้งไทยและตุรกีไม่มีทางได้ F-35 หากไทยไม่ลดระดับความสนิทกับจีนในเรื่องยุทธศาสตร์ และตุรกีไม่เลิกคบหารัสเซียในเรื่องความมั่นคง
อีกตัวอย่างความสนิทเกินไปกับปรปักษ์ของสหรัฐฯ จนทำให้อด F-35 ทั้งคู่ก็คือ ตุรกีใช้ระบบ 5G ของ Huawei และไทยก็พร้อมให้ Huawei พัฒนา 5G
รู้ๆ กันว่า Huawei ถูกสหรัฐฯ และพันธมิตรคว่ำบาตรโดยกล่าวหาว่าอำพรางระบบสอดแนมเอาไว้ในเครือข่าย 5G และ Huawei ยังมีสายสัมพันธ์กับกองทัพจีน
จะจริงหรือไม่จริงนั้นเป็น "การบอกเล่า" ของสหรัฐฯ และชาติพันธมิตร แต่ประเทศอื่นที่เชื่อมั่นใน 5G ของ Huawei ไม่มีทางได้ใช้ F-35 แน่นอน เรื่องนี้เกิดมาแล้วกับสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งขอซื้อ F-35 แต่ต้องผิดหวังเพราะดันไปใช้บริการ 5G ของ Huawei
เรื่องนี้จะโทษประเทศอื่นไม่ได้ทั้งหมด เพราะสหรัฐฯ ก็ถือดีในตัวเองด้วย นี่คือจุดบอดที่ทำให้ต้องเสียหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ไป
ปกติในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อแบบนี้ ที่สหรัฐฯ มักจะมีนักการเมือง นักการทูต หรือนักยุทธศาสตร์เก่งๆ ออกมาเสนอทฤษฎีหรือแนวปฏิบัติ (Doctrine) เช่น กำหนดว่าสหรัฐฯ จะวางตัวอย่างไรในความขัดแย้งที่เกิดขึ้นทั่วโลก หรือสหรัฐฯ จะกำหนดยุทธศาสตร์แบบไหน
ดูเหมือนว่า สหรัฐฯ ยังไม่มีอะไรแหลมคมออกมารองรับสถานการณ์ช่วงนี้ แถมยังดื้อดึงที่จะใช้แนวคิดที่ว่า "ไม่ใช่พวกเรา คือศัตรูของเรา" และ "ถ้าไม่ใช่ประชาธิปไตยแบบตะวันตก ก็อย่าอยู่เลย" การใช้หลักที่ตายตัวแบบนี้ทำให้เสียพันธมิตรได้ง่าย
อย่างกรณีของการรัฐประหารในไทยนั้น สหรัฐฯ เลือกที่จะรักษาหลักการประชาธิปไตย ทำให้เสียไทยในฐานะยุทธศาสตร์ พอเสียไปแล้วสหรัฐฯ พยายามจะแก้ไขด้วยการสนับสนุนกลุ่มต่อต้านเผด็จการในไทย โดยไม่เข้าใจว่าปัญหาในไทยไม่ใช่เรื่องเผด็จการและประชาธิปไตย แต่เป็นเรื่องที่ซับซ้อนกว่านั้น ผลก็คือ เกิดกระแสต่อต้านสหรัฐฯ ขึ้นมาแทนในกลุ่มอนุรักษ์นิยมในไทย
ท้ังๆ ที่กลุ่มอนุรักษ์นิยมในไทยเคยรักสหรัฐฯ ปานจะกลืนกิน และเมื่อไม่กี่ทศวรรษก่อน สหรัฐฯ ที่แหละที่เลี้ยงดูปูเสื่อรัฐบาลเผด็จการของไทย เพราะเผด็จการไทยมีประโยชน์ในการสู้คอมมิวนิสต์
สหรัฐฯ เคยทำเป็นลืมๆ หลักการ นี้ก็เพื่อรักษาผลประโยชน์ของตนเองแบบนี้
ดังนั้นบางคนจึงบอกว่า นโยยายต่างประเทศของสหรัฐฯ ทุกวันนี้ไม่ปฏิบัตินิยมซะแล้ว พูดง่ายๆ คือเจ้าหลักการซะจนเสียเรื่อง
เมื่อมองดูการเมืองภายในสหรัฐฯ ผมยิ่งนึกเป็นอื่นไม่ได้ เพราะมันแตกแยกเป็นขั้วแบบประสานกันไม่ได้ (Polarized) อย่างหนักระหว่างกลุ่มอุดมการณ์การเมืองต่างๆ ดังนั้น แนวทางการเมืองระหว่างประเทศของสหรัฐฯ จึงขาดความยืดหยุ่น เพราะภายในประเทศไม่เป็นเอกภาพ
แต่ถ้าไทยถอยห่างจากจีนมาสักนิด ส่วนตุรกีก็ยอมเขยิบออกมาจากรัสเซียอีกหน่อย สหรัฐฯ จะยอมให้เพื่อนเก่าทั้งสองได้ลงใช้ F-35 หรือเปล่า? ผมคิดว่ายากแล้ว
เพราะความไม่ไว้วางใจระหว่างกันมันค่อนข้างสูง ส่วนความเป็นคู่กรณีระหว่างสหรัฐฯ จีน และรัสเซียก็เข้มข้นขึ้นทุกวัน มันจึงไม่มีทางออกแบบ "คบสองข้างแล้วถ่วงดุลตามจังหวะ"
จะมีก็แต่ "ไม่เลือกเรา (สหรัฐฯ) ก็เท่ากับเป็นพวกนั้น"
บทวามทัศนะโดย กรกิจ ดิษฐาน ผู้ช่วยบรรณาธิการ และบรรณาธิการข่าวต่างประเทศ The Better
Photo - Airman 1st Class Christopher Callaway (Public Domain)