ทำหนังยังไงให้ 'ทำร้ายจิตใจคนอินเดีย' Netflix ถูกแบนหนัก-รัฐบาลเรียกตัวผู้บริหารไปสอบ 

ทำหนังยังไงให้ 'ทำร้ายจิตใจคนอินเดีย' Netflix ถูกแบนหนัก-รัฐบาลเรียกตัวผู้บริหารไปสอบ 

สื่อของอินเดีย The Express Tribune รายงานว่า กระทรวงสารสนเทศและการออกอากาศได้เรียกตัว โมนิกา เชอร์กิลล์ (Monika Shergill) หัวหน้าฝ่ายเนื้อหาของ Netflix India มาที่กรุงเดลี หลังจากเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักเกี่ยวกับซีรีส์เรื่อง IC 814: The Kandahar Hijack 

ซีรีส์ซึ่งเล่าเรื่องราวการจี้เครื่องบินเที่ยวบิน IC 814 ของสายการบิน Indian Airlines เมื่อปี 1999 โดยกลุ่มก่อการร้ายกลุ่มฮาร์กัตอุลมูจาฮิดีน (Harkat-ul-Mujahideen) ซึ่งเป็นกลุ่มอิสลามหัวรุนแรงในปากีสถาน ซึ่งเคลื่อนไหวเพื่อแบ่งแยกดินแดนแคว้นกัศมีระ (แคชเมียร์) จากอินเดีย 

ปัญหาก็คือ ตัวละครที่เป็นผู้ก่อการร้าย 2 คนที่ใช้ชื่อรหัสเป็นภาษาฮินดู คือ โภละ และ ศังกร ทำให้เกิดความไม่พอใจในหมู่คนอินเดียที่เป็นชาวฮินดู โดยหลังจากซีรีส์ออกฉายเมื่อวันที่ 29 สิงหาคมไม่นาน โซเชียลมีเดียก็เต็มไปด้วยกระแสเรียกร้องให้คว่ำบาตรทั้งซีรีส์และ Netflix เช่นมีการสร้างแฮชแท็ก  #BoycottNetflix  เพราะสาเหตุนี้ 

เรื่องนี้บานปลายจนกระทั่งรัฐบาลอินเดียต้องขยับ เรื่องจากรัฐบาลนี้นำโดยพรรคชาตินิยมฮินดู ซึ่งมีความเปราะบางในเรื่องเอกลักษณ์ของชาติที่เกี่ยวข้องกับชาวฮินดู 

แหล่งข่าวจากกระทรวงสารสนเทศและการกระจายเสียงของอินเดีย เผยกับ The Express Tribune ว่า “ไม่มีใครมีสิทธิที่จะเล่นกับความรู้สึกของคนในประเทศนี้ วัฒนธรรมและอารยธรรมของอินเดียควรได้รับการเคารพเสมอ คุณควรคิดก่อนที่จะนำเสนอสิ่งใดในทางที่ผิด รัฐบาลกำลังดำเนินการอย่างจริงจังกับเรื่องนี้”

ขณะที่สำนักข่าว ANI รายงานโดยอ้างแหล่งข่าวในรัฐบาลอินเดียว่า ทางการกำลังดำเนินการกับเรื่องนี้ "อย่างจริงจัง" ส่วน  Netflix "รับประกัน" อีกด้วยว่าเนื้อหาทั้งหมดในอนาคตจะคำนึงถึงความรู้สึกของคนในชาติ

นักการเมืองชาตินิยมฮินดูยังเคลื่อนไหวด้วย อมิต มัลวิยะ ผู้นำคนสำคัญของพรรคภารติยะชนตา (BJP) ซึ่งเป็นพรรคฮินดูชาตินิยมและพรรค รัฐบาลเขียนไว้ใน X (เดิมคือ Twitter) ว่า “ผู้ก่อการร้ายที่จี้เครื่องบิน IC-814 เป็นกลุ่มก่อการร้ายที่น่าสดสยอง  ซึ่งใช้ชื่อปลอมเพื่อปกปิดตัวตนเป็นมุสลิม” และ มัลวิยะ ยังอ้างว่าการบิดเบือนด้วยการใช้ชื่อฮินดู เท่ากับผู้สร้างภาพยนตร์สร้างความชอบธรรมให้กับการก่ออาชญสากรรมของคนเหล่านี้ และ “หลายสิบปีต่อมา ผู้คนจะคิดว่า ชาวฮินดูจี้เครื่องบิน IC-814”  

ทั้งนี้ กรณีจี้เครื่องบินเที่ยวบิน 814 ของสายการบินอินเดียนแอร์ไลน์ หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า IC 814 เกิดการจี้เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 1999 โดยสมาชิกกลุ่มฮาร์กัตอุลมูจาฮิดีน 5 คน เที่ยวบินโดยสารซึ่งกำลังเดินทางจากกรุงกาฐมาณฑุ ประเทศเนปาล ไปยังกรุงเดลี ประเทศอินเดีย เครื่องบินถูกยึดในเวลาไม่นานหลังจากเข้าสู่พื้นที่น่านฟ้าของอินเดียเมื่อเวลาประมาณ 16:53 น. IST เครื่องบินลำดังกล่าวบรรทุกผู้โดยสาร 190 คน ซึ่งรวมถึงผู้โดยสาร 179 คนและลูกเรือ 11 คน 

เครื่องบินลำดังกล่าวถูกบังคับให้บินไปยังสถานที่ต่างๆ มากมาย เช่น อัมริตสาร์ ลาฮอร์ และดูไบ ขณะอยู่ที่ดูไบ ผู้ก่อการร้ายได้ปล่อยตัวผู้โดยสาร 27 คน รวมถึงตัวประกันชายที่ได้รับบาดเจ็บสาหัส ซึ่งถูกผู้ก่อการร้ายแทงหลายครั้ง ต่อมาในวันที่ 25 ธันวาคม ผู้ก่อการร้ายได้บังคับให้เครื่องบินลงจอดที่กันดาฮาร์ในอัฟกานิสถาน ในช่วงเวลานั้น พื้นที่ส่วนใหญ่ของอัฟกานิสถาน รวมถึงสนามบินกันดาฮาร์ซึ่งเครื่องบินที่ถูกจี้ลงจอด อยู่ภายใต้การควบคุมของกลุ่มตาลีบัน กลุ่มตาลีบันได้ล้อมเครื่องบินไว้ และเจ้าหน้าที่จากหน่วยข่าวกรองปากีสถานอีก 2 นายยังอยู่ที่นั่นด้วย ทำให้การแทรกแซงจากภายนอกทำได้ยาก

จนถึงวันที่ 27 ธันวาคม หลังจากการเจรจาภายใน 2 วัน รัฐบาลอินเดียได้ส่งคณะเจรจาจากกระทรวงมหาดไทย ไปเจรจา ทั้งนี้ แรงจูงใจในการจี้เครื่องบินคือเพื่อให้มีการปล่อยตัวนักโทษชาวปากีสถานหลายคนที่ถูกคุมขังในข้อหาก่อการร้ายในเรือนจำของอินเดีย หลังจากการเจรจากันหลายวัน อินเดียตกลงที่จะปล่อยตัวผู้ก่อการร้าย 3 คนเพื่อแลกกับตัวประกัน

วิกฤตการณ์ตัวประกันสิ้นสุดลงในวันที่ 31 ธันวาคม โดยผู้โดยสารและลูกเรือได้รับการปล่อยตัวหลังจากที่รัฐบาลอินเดียส่งมอบผู้ก่อการร้ายทั้งสามคนให้กับกลุ่มตาลีบัน ผู้ก่อการร้ายและผู้ก่อการร้ายทั้งสามคนได้รับการปล่อยตัวถูกกลุ่มตาลีบันขับไล่ไปยังชายแดนปากีสถาน 

แต่นับจากนั้น ขบวนการนี้ต้องสงสัยว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการก่อการร้ายอื่นๆ เช่น การโจมตีรัฐสภาอินเดียในปี 2001 การโจมตีที่เมืองปทานโกฏในปี 2016 และการโจมตีที่เมืองปุลวามาในปี 2019 สำนักงานสอบสวนกลางของอินเดียตั้งข้อกล่าวหาผู้ต้องสงสัย 10 คนในคดีนี้ (ซึ่งไม่ทราบที่อยู่ของผู้ต้องสงสัย 7 คน รวมถึงผู้ก่อการร้ายทั้ง 5 คน) โดยมีเพียง 2 คนเท่านั้นที่ถูกตัดสินว่ามีความผิดและถูกจำคุกตลอดชีวิต
 

TAGS: #Netflix