'ไต้หวัน'เจอภัยแล้ง วิกฤตสะเทือนศูนย์กลางผลิต'ไมโครชิป' โลก
เข้าสู่ฤดูแล้ง ไม่เพียงแค่กระทบภาคการเกษตรเท่านั้น แต่อุตสาหกรรมสำคัญอย่างไมโครชิปก็ได้รับผลกระทบจากวิกฤตนี้เช่นกัน
ความสัมพันธ์ระหว่างไต้หวันกับจีนแผ่นดินใหญ่ อาจส่อเค้าระอุอีกครั้งหลังจากที่ประธานาธิบดีไช่อิงเหวิน ซึ่งมีกำหนดเดินทางเยือนประเทศพันธมิตรในแถบละตินอเมริกา ได้เดินทางแวะสหรัฐอเมริกาก่อนเดินทางต่อไปยังอเมริกาใต้
ในการเยือนดังกล่าว หลายฝ่ายจับตาว่าจะสร้างความไม่พอใจให้กับจีนหรือไม่ หากว่าผู้นำไต้หวัน เข้าพบกับนายเควิน แมคคาร์ธี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐ อาจจะยิ่งเป็นการกระตุ้นให้จีนแสดงปฏิกิริยาที่รุนแรง
สำหรับไต้หวันมีอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์อันแข็งแกร่งที่ไว้คานอำนาจกับจีนในเวทีการค้าโลก แต่ทว่า'ไต้หวัน' ในฐานะศูนย์กลางการผลิตอุปกรณ์เซมิคอนดักเตอร์เบอร์หนึ่งของโลก ต้องเตรียมรับมือปัญหาภัยแล้งที่คาดว่าปีนี้อาจรุนแรงมาก ซึ่งอาจส่งผลกระทบการผลิตไมโคชิป ซึ่งมีความจำเป็นต้องใช้นำปริมาณมหาศาล จนอาจส่งผลกระทบหนักถึงขั้นซัพพลายเชนไมโครชิปของโลกเกิดสะดุดลง
สำนักข่าวนิเคอิ เอเชีย รายงานว่า หลายเมืองใหญ่ของไต้หวันโดยเฉพาะแถบภาคใต้ ซึ่งเป็นศูนย์กลางการผลิตชิประดับโลก ได้ออกมาตรการพร้อมคำเตือนไปยังประชาชนวงกว้าง ให้รับมือกับภาวะขาดแคลนน้ำจากภัยแล้งที่เป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ทำให้การกักเก็บน้ำสำรองสำหรับปีนี้มีปริมาณน้อยกว่าทุกปี
ภัยแล้งดังกล่าวยังส่งผลกระทบต่อ 'อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคใต้ไต้หวัน' ในเมืองไถหนาน ซึ่งเป็นศูนย์กลางการผลิตชิปสำคัญ ขอให้โรงงานต่างๆ ลดใช้นำในกระบวนการผลิตลง 10% เช่นเดียวกับในเมืองเกาสง อีกหนึ่งศูนย์กลางชิปของไต้หวัน ได้มีประกาศมาตรการประหยัดน้ำเช่นกัน
ผลพวงจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศทำให้ปริมาณน้ำสะสมของไต้หวันลดลง ขณะที่พายุไต้ฝุ่นซึ่งเป็นแหล่งน้ำสำคัญของประเทศ ก็ไม่ได้พัดเข้าไต้หวันตรงๆ มาเป็นเวลานาน
อ่างเก็บน้ำเจิงเหวิน (Tsengwen) ซึ่งเป็นอ่างเก็บน้ำใหญ่สุดของไต้หวัน และจ่ายน้ำให้กับอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคใต้ไต้หวัน เหลือปริมาณน้ำที่ 57 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือเพียง 11.2% ของความจุ ส่วนอ่างเก็บน้ำหนานฮวา (Nanhua) ที่จ่ายน้ำให้กับเมืองไถหนานและเมืองเกาสง ปริมาณน้ำเหลือที่ 41% ของความจุ ซึ่งอาจเก็บน้ำทั้งสองเป็นแหล่งน้ำสำคัญของอุตสาหกรรมผลิตเซมิคอนดักเตอร์
รายงานยังระบุว่า เฉพาะบริษัท TSMC ผู้ผลิตชิปเบอร์หนึ่งของโลก ที่มีโรงงานในอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคใต้ของไต้หวัน เพียงโรงงานเดียวมีความต้องการใช้น้ำมากถึง 99,000 ตัน/วัน อย่างไรก็ตาม TSMC ได้เริ่มใช้มาตรการลดการใช้น้ำ ตลอดจนการนำน้ำที่ใช้แล้วมารีไซเคิลใหม ซึ่งสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ราว 10,000 ตัน/วัน
ก่อนหน้านี้ ไต้หวันเคยเผชิญภาวะภัยแล้งครั้งรุนแรงมาแล้วในปี 2021 ซึ่งสร้างความเสียหายให้กับภาคการผลิตและภาคการเกษตรที่ต้องหยุดชะงักลงจากปัญหาขาดแคลนน้ำ
ทางการไต้หวันมีแผนสำรวจและขุดเจาะน้ำบาดาลใหม่อีก 54 แห่งซึ่งคาดว่าจะสามารถเพิ่มปริมาณน้ำได้ราว 136,000 ตัน/วัน ภายในสิ้นเดือน เม.ย.นี้ ขณะเดียวกันยังมีโครงการสร้างท่อส่งน้ำจากอ่างเก็บน้ำสือเหมิน (Shihmen) ในเขตนิวไทเป ซึ่งอยู่ทางตอนเหนือ ไปยังเมืองซินจู่ อีกหนึ่งศูนย์กลางโรงงานผลิตชิปของประเทศ คาดว่าจะแล้วเสร็จปี 2026
ทั้งนี้ การรักษาความสามารถการผลิตชิปไม่ได้เป็นเพียงแค่สำคัญยิ่งต่อเศรษฐกิจไต้หวันเท่านั้น แต่ยังมีความสำคัญต่อชาติพันธมิตรโดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาซึ่งกำลังเดินหน้าลดบทบาทของจีนในอุตสาหกรรมเดียวกันนี้ ซึ่งหากการผลิตชิปในไต้หวันสะดุด ก็อาจทำให้ห่วงโซ่อุปทานและการผลิตอุปกรณ์ไอทีทั่วโลกได้รับผลกระทบด้วยเช่นกัน