สงครามการค้าทำให้ 'Made in China' กลายเป็น 'owned by China'
ย้อนกลับไปเมื่อเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน นักเศรษฐศาสตร์ Koen De Leus และ Philippe Gijsels เขียนคอลัมน์ฟอรัมในหนังสือพิมพ์ Le Monde ของฝรั่งเศส ว่าจีนกำลังหลีกเลี่ยงการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ และยุโรปด้วยการใช้ 'ประเทศที่สาม' ในการสร้างโรงงานหรือส่งออกสินค้าต่อ
นักเศรษฐศาสตร์ทั้งสองชี้ว่า ผู้ผลิตรถยนต์ข้ามชาติที่ประสบความสำเร็จหลายราย ใช้กระบวนการ "ทำให้เป็นของท้องถิ่น" หรือ Localization นั่นคือการทุนต่างชาติจากประเทศ B ถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับประเทศ C พร้อมกับอัดฉีดเงินลงทุนให้ โดยให้ผู้ร่วมทุนในประเทศ C เป็นผู้ผลิตและจัดการส่งออกเกือบจะเต็มที่ เพื่อทำให้สินค้าที่ขายออกไปไม่ได้ถูกระบุว่ามาจากประเทศ B แต่มาจากประเทศ C
สิ่งที่เกิดขึ้นในขณะนี้ก็คือ บริษัทข้ามชาติจากจีนเมื่อถูกยุโรปและสหรัฐฯ ใช้มาตรการทางภาษีขัดขวางสินค้าของตน ก็ใช้วิธีการ Localization ผลลัพธ์คือการเปลี่ยนแปลงจาก 'Made in China' มาเป็น 'owned by China' นั่นคือก็ แทนที่สินค้าที่ส่งไปขายยังยุโรปจะเป็นสินค้าที่ทำจากจีน บริษัทจีนก็จะเลี่ยงไปลงทุนในประเทศอื่นเพื่อให้ผลิตสินค้าของตัวเอง (อาจไม่จำเป็นต้องเป็นแบรนด์เดิมของจีน) จากนั้นส่งไปขายยังยุโรป สินค้านั้นไม่ใช่ของที่ทำจากจีน แต่ทำจากบริษัทที่จีนเป็นเจ้าของหรืออย่างน้อยก็ร่วมทุนกับบริษทท้องถิ่นในประเทศที่สาม
บทความของนักเศรษฐศาสตร์ทั้งสองชี้ให้เห็นถึงผลจากการตอบสนองของจีนด้วยวิธีการนี้ โดยนับตั้งแต่ที่อดีตประธานาธิบดีทรัมป์ของสหรัฐฯ ขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีน จีนก็สูญเสียส่วนแบ่งการตลาดในสหรัฐฯ แต่การเพิ่มขึ้นของส่วนแบ่งการตลาดของจีนในประเทศอื่นๆ ก็เพียงพอที่จะชดเชยการสูญเสียนี้ นั่นหมายความว่า จีนถูกห้ามไม่ให้ค้าขาย (หรือลงทุน) ในประเทศอื่น แต่ก็สามารถเข้าไปขายในตลาดอื่นได้มากขึ้น จนแทนที่สหรัฐฯ ได้
ไม่เพียงเท่านั้น บริษัทอเมริกันยังเรียกร้องให้ซัพพลายเออร์จีนสร้างโรงงานนอกประเทศจีนมากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อให้สามารถทำงานร่วมกับจีนได้ต่อไปได้ หรือบอกให้จีนทำการ Localization กับประเทศที่สามนั่นเอง ตัวอย่างเช่น บริษัทต่างๆ ในมณฑลกวางตุ้งและมณฑลเจ้อเจียงยังคงผลิตผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มสูง แต่การประกอบขั้นสุดท้ายนั้นทำในประเทศต่างๆ เช่น เวียดนามและไทย ผลก็คือ การลงทุนของจีนในเวียดนามเติบโตอย่างแข็งแกร่ง และการส่งออกของเวียดนามก็เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเช่นกัน
บทความดังกล่าวระบุว่าตั้งแต่สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนเริ่มต้นขึ้นจนถึงปี 2023 การนำเข้าสินค้าจากเวียดนามของสหรัฐฯ เติบโตขึ้นเฉลี่ยปีละ 21% เมื่อเทียบกับเพียง 11% ในช่วง 4 ก่อนหน้าที่จะเกิดสงครามการค้า
จากข้อมูลในภาคภาษาจีนของ Deutsche Welle สื่อของเยอรมันรายงานเมื่อปี 2023 ว่า บริษัทหลายแห่งจากมณฑลเหอเป่ยและมณฑลเจียงซูในประเทศจีนต้องการตั้งโรงงานในประเทศไทย โดยเจ้าของธุรกิจเหล่านี้เปิดเผยว่าเนื่องจากผลกระทบของสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ทำให้โรงงานของพวกเขาในจีนมีคำสั่งซื้อเพียงเล็กน้อย "พวกเขาถูกบังคับให้ย้ายไปยังต่างประเทศโดยไม่มี (การเก็บภาษีศุลกากรจากสหรัฐฯ ในฐานะคู่กรณีของสงครามการค้า) จึงมาลงทุนที่ประเทศไทย"
จากการรายงานของ Deutsche Welle ระบุว่า "สำหรับบริษัทต่างชาติหลายแห่ง รวมถึงไต้หวัน เวียดนามถือเป็นตัวเลือกแรกสำหรับการลงทุนในอาเซียน แต่เจ้าของธุรกิจชาวจีนกลับกังวลเกี่ยวกับเวียดนามมากกว่า นอกจากโครงสร้างพื้นฐานและบริการในท้องถิ่นแล้ว ความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์และข้อพิพาท เช่น การต่อต้านชาวจีน ได้กลายเป็นประเด็นสำคัญในการประเมินเมื่อบริษัทจีนลงทุน ซึ่งถือเป็นข้อได้เปรียบโดยเปรียบเทียบของไทยด้วย"
เฉินซ่างเม่า ศาสตราจารย์ด้านกิจการสาธารณะที่มหาวิทยาลัยฝอกวงในไต้หวันและผู้อำนวยการสำนักงานมุ่งทิศใต้ (หมายถึงความสัมพันธ์กับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้) กล่าวกับ Deutsche Welle ว่า นักลงทุนจีนเริ่มคิดที่จะมาลงทุนใน "เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตอนเหนือ" หรืออาเซียนภาคพื้นแผ่นดินใหญ่ คือ ไทย เวียดนาม ลาว กัมพูชา และเมียนมา แต่ เฉินซ่างเม่า ชี้ว่า กัมกูชาและลาวยังมีปัญหาเรื่องสาธารณูปโภค ส่วนเวียดนามก็มีข้อพิพาททางภูมิรัฐศาสตร์กับจีนอยู่บ้าง ในทางตรงกันข้าม ประเทศไทยตั้งอยู่ในศูนย์กลางของคาบสมุทรอินโดจีน ประเทศไทยซึ่งปกครองโดยกองทัพค่อนข้างมีเสถียรภาพทางการเมือง และโครงสร้างพื้นฐานของประเทศไทยดีกว่าอีกสองประเทศ "ดังนั้น ประเทศไทยจึงกลายเป็นตัวเลือกแรกสำหรับบริษัทจีนแผ่นดินใหญ่ที่จะย้ายออกไปต่างประเทศ"
นักเศรษฐเศรษฐศาสตร์ชี้ให้เห็นในบทความของ Le Monde ว่า แทนที่สงครามการค้าจะทำให้โลกาภิวัฒน์ (คือการที่ทุนและสินค้าไหลเวียนโดยไม่มีการปิดกั้น) สิ้นสุดลง มันกลับแปรสภาพไปเป็นโลกาภิวัฒน์แบบใหม่ที่มีความหลากหลายรูปแบบมากขึ้น โดยการลงทุนจากต่างประเทศที่จีนสูญเสียไปนั้น จะถูกประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ เข้ามาแทนที่ ประเทศเหล่านี้จะคอยเป็นคนกลางระหว่างจีนกับสหรัฐฯ หรือระหว่างจีนกับยุโรปในอนาคต
เพียงแต่สงครามการค้าระหว่างจีนกับยุโรป (ที่อาจจะเกิดขึ้น) เป็นสงครามกาารค้าจริงๆ ในขณะที่สงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ เป็นการอำพรางสงครามจริงๆ ที่แย่งชิงความเป็นมหาอำนาจหนึ่งเดียวของโลก (Hegemony) ในอนาคต
ทีมข่าวต่างประเทศ The Better
Photo - นักท่องเที่ยวสวมชุดไทยถ่ายรูปที่วัดอรุณราชวรารามฯ เนื่องในวันอาสาฬหบูชา กรุงเทพมหานคร วันที่ 20 กรกฎาคม 2567 (ภาพโดย Chanakarn Laosarakham / AFP)