"ราชาแห่งการกลืนกินคู่แข่ง" ฉายาของ BYD จากความเหนือชั้นในการทำ 'สงครามราคา'

สื่อของจีน คือ 36kr ได้ตั้งข้อสังเกตว่า ตั้งแต่ในช่วงต้นปีนี้ BYD เป็นผู้นำในสงครามราคา นั่นคือการหั่นราคาแข่งกับคู่แข่งในวงการเพื่อที่จะมทำลายคู่แข่งพร้เอมกับแย่งชิงลูกค้า โดยเน้นที่การลดราคายานยนต์พลังงานใหม่ หรือ NEV การลดราคาเพื่อฆ่าคู่แข่งเริ่มจากรุ่นใหม่ๆ ก่อน จากนั้นก็ลามไปถึงรุ่นเก่าในอัตราค่อนข้างมาก สื่อจีนรายนี้ชี้ว่าการทำสงครามราคาแบบนี้ส่งผลให้อุตสาหกรรมรถยนต์ในประเทศจีนได้รับผลกระทบอย่างมาก

จากการทำสงครามราคาแบบนี้ ทำให้ BYD ได้รับการขนานนามว่าเป็น "ราชาแห่งการกลืนกินคู่แข่ง" หรือ "เจวี่ยนหวาง" (卷王) มาโดยตลอด  ซึ่งการทำ "เจวี่ยน" (卷) หมายถึงการบีบคั้นหรือแข่งกับตนเองและบีบและแข่งกับคู่ต่อสู้อย่างหนัก เหมือนกับการกลืนกินคู่แข่งจนหมดสิ้น ซึ่งเป็นลักษณะสำคัญของการทำสงครามราคา

ในเรื่องนี้ อวี๋เฉิงตง (余承东) ประธานหน่วยงานด้านข้อมูลทางธุรกิจสำหรับเป็นทางออกด้านยานยนต์ของ Huawei เคยกล่าวไว้ว่า BYD เป็นราชาแห่งการทำเจวี่ยนหรือการบีบคั้นวงการอันดับ 1 ของโลก เนื่องจากมีต้นทุนต่ำเป็นพิเศษและสามารถทำกำไรได้ แม้ว่ารถยนต์ของบริษัทจะขายในราคาหลักหมื่นหยวนก็ตาม

ในเรื่องนี้ แม้แต่ หวางเฉวียนฝู (王传福) ประธานบริษัท BYD ก็ดูเหมือนจะรู้สึกยินดีที่ได้รับตำแหน่ง "เจวี่ยนหวาง" เขาเคยกล่าวไว้ว่า “เจวี่ยน” คือการแข่งขันและเป็นแก่นแท้ของเศรษฐกิจแบบตลาด และเราต้องยอมรับและมีส่วนร่วมใน "เจวี่ยน" และสร้างแบรนด์ระดับโลกในการแข่งขัน

หวางเฉวียนฝู เชื่อว่าผู้ประกอบการทุกคนต้องยอมรับ "“เจวี่ยน” เพราะยอมรับการแข่งขัน การสร้างความโดดเด่นในการแข่งขัน จะมีส่วนสนับสนุนประเทศ สนับสนุนแบรนด์จีน และสร้างแบรนด์ระดับโลก "นี่คือกฎธรรมชาติ" เขายังกล่าวว่าการปฏิวัติทางเทคโนโลยีของรถยนต์พลังงานใหม่และแรงผลักดันหลักของเทคโนโลยี คือนวัตกรรม และใช้นวัตกรรมทางเทคโนโลยีเพื่อส่งเสริมการพัฒนาองค์กร

เคล็ดลับการเป็นราชาแห่งการบีบคั้นคืออะไร? 36kr ได้วิเคราะห์ว่า ไทักษะการลดต้นทุนของ BYD ถือเป็นความลับที่ไม่ใช่ความลับ มันครอบคลุมทุกอย่างตั้งแต่การจัดหาวัตถุดิบ การผลิตชิ้นส่วน ไปจนถึงการผลิตยานยนต์ ด้วยการบูรณาการห่วงโซ่อุปทานยานยนต์อย่างสูง จึงทำให้มีข้อได้เปรียบด้านต้นทุนชั้นนำ นอกจากนี้ BYD ยังลดต้นทุนการผลิตแบตเตอรี่ผ่านการผลิตจำนวนมาก และแบตเตอรี่ที่พัฒนาขึ้นเองช่วยให้บริษัทประหยัดต้นทุนได้มาก"

การที่ BYD สามารถควบคุมต้นทุนและห่วงโซ่อุปทานของตัวเองได้ ก็เหมือนทำให้วกเขามีชัยไปแล้วในทางปฏิบัติ เพราะ"แม้ว่า BYD จะขายได้กำไรน้อยแต่มีปริมาณมาก ก็ยังรักษาคุณภาพและประสิทธิภาพของธุรกิจยานยนต์ได้ในเวลาเดียวกัน และไม่จำเป็นต้อง “เลือก” ระหว่างรายได้และกำไรเหมือนบริษัทอื่นๆ หลายๆ แห่ง" 36kr ระบุ 

นั่นหมายความว่า BYD พร้อมที่จะตัดราคา ลดต้นทุน แต่จะไม่เข้าเนื้อเหมือนกับบริษัทอื่นๆ พวกเขาจึงมีอาวุธพร้อมสรรพที่จะกำจัดคู่แข่ง เพราะนี่คือการแข่งขันในระบบเศรษฐกิจแบบตลาด ซึ่ง "ใครอ่อนแอก็ต้องพ่ายแพ้กันไป" 

และมันก็เป็นแบบนั้นจริงๆ หลังจากผ่านสงครามราคามานานกว่าครึ่งปี บริษัทผลิตรถยนต์บางแห่งเลือกที่จะถอนตัว โดยบริษัทรถยนต์จากต่างประเทศเริ่มที่จะยกธงขาวกันก่อน เริ่มจาก BMW ที่ไม่สามารถทำสงครามราคาได้อีกต่อไป ตามมาด้วย Mercedes-Benz, Audi, Cadillac, Volkswagen เป็นต้น 36kr ชี้ว่า การถอนตัวของค่ายรถเหล่านี้ ทำให้สงครามราคาระยะกลางที่รุนแรงที่สุดนับตั้งแต่ปีนี้สิ้นสุดลง

แต่มันจะจบลงจริงหรือ 36kr ชี้ว่าเมื่อพิจารณาจากข้อมูลรายงานทางการเงินของ BYD ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้แล้ว บริษัทยังคงสามารถรับมือกับสงครามราคาได้อย่างง่ายดาย แม้ว่าราคาเฉลี่ยของ BYD ต่อคันจะอยู่ที่ 142,000 หยวน ซึ่งลดลง 14.46% เมื่อเทียบเป็นรายปี แต่กำไรสุทธิโดยรวมของบริษัทยังคงเพิ่มขึ้น 24.44% เมื่อเทียบเป็นรายปี

BYD กล่าวว่าการเพิ่มขึ้นของอัตรากำไรขั้นต้นของบริษัทนั้นส่วนใหญ่เกิดจากการเพิ่มขึ้นของธุรกิจรถยนต์พลังงานใหม่ หรือ NEV

ล่าสุด ค่ายรถอื่นๆ เริ่มการทำสงครามราคารอบใหม่กันอีกแล้ว จากการรายงานของ Sina ระบุว่า Geely Auto และ Changan Automobile ปล่อยรถออกมาด้วยราคาค่อนข้างต่ำ แต่ความรุนแรงของการทำสงครามราคาอาจจะไม่ได้มาจากการแข่งกันตัดราคาให้ตายกันไปข้างหนึ่งเท่านั้น แต่ยังอาจมาจากการทำลายตัวเองโดยไม่รู้ตัวด้วย 

แม้แต่ BYD ที่ว่าแข็งแกร่งและมีคลังแสงมากพอที่จะทำสงครามไปเรื่อยๆ แต่ 36kr ชี้ว่า การสร้างระบบนิเวศที่พึ่งพาตนเองในแบบบูรณาการจนพร้อมที่จะทำสงคราม แต่ระบบนี้ "ก็นำมาซึ่งโทษเมื่อขนาดการผลิตของบริษัทลดลง กล่าวอย่างง่ายๆ ก็คือ หากไม่สามารถรักษาอัตราการเติบโตของยอดขายไว้ได้ สายการผลิตที่ไม่ได้ใช้งานจะทำให้เกิดการสูญเสีย" หมายความว่า BYD จะต้องประคองให้ยอดขายสูงไปเรื่อยๆ ไม่อย่างนั้นจะเริ่มไม่คุ้มทุนในแง่ economies of scale หรือ "การผลิตได้มากขึ้น จนทำให้ต้นทุนต่อหน่วยต่ำลง" 

โดยทีมข่าวต่างประเทศ The Better 

Photo - พนักงานทำงานในสายการประกอบยานยนต์พลังงานใหม่ (NEV) ที่โรงงาน BYD ในเมืองหวยอัน มณฑลเจียงซู ทางตะวันออกของจีน เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2024 (ภาพถ่ายโดย AFP) / CHINA OUT
 

TAGS: #BYD #จีน