จีนพยายามที่จะเพาะพันธุ์ทุเรียนอย่างจริงจังมาตั้งแต่ปี 1958 (พ.ศ. 2501) โดยเจ้าหน้าที่เพาะพันธุ์ของสถาบันวิจัยพืชผลเขตร้อนเป่าถิง ในมณฑลไห่หนาน หรือเกาะไหหลำ ได้นำต้นกล้าทุเรียนจากมาเลเซียเข้ามาปลูก แต่เนื่องจากเทคโนโลยีการปลูกและการคัดเลือกพันธุ์มีข้อจำกัด จึงมีเพียงต้นเดียวเท่านั้นที่รอดมาได้ ปัจจุบัน มันมีอายุมากกว่า 66 ปีแล้ว และถูกเรียกว่า 'แม่ทุเรียน'
สำนักข่าว 'ไห่หนานรื่อเป้า' (海南日报) รายงานว่าหลังจากยืนต้นมานานกว่า 6 ทศวรรษ ในปี 2022 นักวิจัยทางวิทยาศาสตร์ได้ทำการผสมเกสรเทียมและปฏิบัติการถนอมดอกไม้และผลไม้กับต้น 'แม่ทุเรียน' ต้นนี้ได้สำเร็จ และประสบความสำเร็จในการผลิตผลทุเรียนมากกว่า 40 ผล หลังจากผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้องได้ชิมแล้ว คุณภาพของทุเรียนถือว่าดี เรื่องนี้มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการเพาะปลูกพันธุ์ 'ทุเรียนในประเทศ'
ล่าสุด ไหหลำกลายเป็นพื้นที่ผลิต 'ทุเรียนในประเทศ' แห่งหลักของจีน โดยที่ภาคเอกชนก็ช่วยหนุนกันและกัน เช่น บริษัทเกษตรกรรมจื้อหนง (智农农业公司) ได้นำเกษตรกร 570 รายใน 9 เมืองของเป่าถิง มณฑลไหหลำ ทำการปลูกทุเรียนเกือบ 4,000 เอเคอร์ (10,120 ไร่) นอกจากนี้ บริษัทยังได้จัดพิมพ์หนังสือ "เทคโนโลยีการเพาะปลูกทุเรียนของจีน" ร่วมกับสถาบันวิทยาศาสตร์การเกษตรเขตร้อนของจีน และได้ร่วมมือในการบ่มเพาะทีมงานเทคนิคในท้องถิ่นที่มีจำนวน 50 คน
ความก้าวหน้าของการผลิตทุเรียนภายในประเทศจีนกำลังรุดหน้า จนกระทั่งสื่อของทางการจีน คือสำนักข่าวซินหัวตั้งคำถามว่าพัฒนาการการผลิตทุเรียนของไหหลำจะทำให้จีนมี 'อิสระภาพทุเรียน' กำลังจะมาถึงในเร็ววันหรือไม่
'อิสรภาพด้านทุเรียน' (榴莲自由) เป็นส่วนหนึ่งของ 'อิสรภาพด้านผลไม้' (水果自由) คือการที่จีนไม่ต้องนำเข้าผลไม้ราคาแพงๆ จากต่างประเทศเป็นหลัก แต่เมื่อจีนผลิตเองได้บางส่วน รวมถึงการนำเข้าจากแหล่งต่างๆ ที่หลากหลายมากขึ้น จะทำให้ราคาผลไม้แพงๆ ปรับลดลง เช่น ทำเรียนในเวลานี้ราคาปรับลดลงมากจากที่ The Better รายงานไปก่อนหน้านี้ ทำให้ผู้บริโภคชาวจีน มี 'อิสรภาพด้านทุเรียน' นั่นคือมีเสรีภาพมากขึ้นในการซื้อทุเรียน จากเดิมที่ต้องยับยั้งชั่งใจหรือแม้แต่ไม่มีโอกาสซื้อ เพราะมันแพงเกินไป
ตู้ไป่จง ประธานสมาคมทุเรียนไหหลำและผู้จัดการทั่วไปของบริษัทเกษตรกรรมโยวฉี (优旗农业公司) กล่าวกับสำนักข่าวซินหัว โดยแสดงความเชื่อมั่นว่าเมื่อเทียบกับทุเรียนนำเข้าที่ "สุกบนถนน" ที่นำเข้าจากต่างประเทศ ทุเรียนไหหลำสามารถ "สุกบนต้น" ได้ โดยมีความหวานมากกว่า กลิ่นหอมเข้มข้น และรสชาติที่นุ่มนวลกว่า แต่ทุเรียนที่ "สุกบนต้น" มีปริมาณน้อยและคุณภาพสูงจึงทำให้ราคาสูง และราคาทุเรียนที่ผลิตในประเทศจีนทัดเทียมกับทำเรียนระดับไฮเอนด์นำเข้า
แต่ราคาทุเรียนมีแนวโน้มที่ลดลง ในแง่ของผลกระทบต่อประเทศที่ส่งออกทุเรียนไปยังจีน สามารถตั้งข้อสังเกตได้จากคำกล่าวของ เฉินเหล่ย เลขาธิการสมาคมการส่งผลไม้จีน กล่าวว่า ด้วยการปรับปรุงกำลังการผลิตของผู้ผลิตทุเรียนอย่างต่อเนื่อง การนำเข้าทุเรียนจะขยายตัวมากขึ้น ราคาทุเรียนโดยรวมลดลงเนื่องมาจากอุปทานที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม เขายังชี้ว่าผู้บริโภคยอมรับการบริโภคทุเรียนมากขึ้น ซึ่งจะส่งเสริมให้การบริโภคทุเรียนเติบโตต่อไป นั่นหมายความว่า แม้ทุเรียนจะมีในตลาดจีนมากขึ้น แต่จำนวนผู้บริโภคและขนาดของตลาดก็ขยายตัวตามไปด้วยเช่นกัน
เรื่องนี้จะเป็นข้อดีของ 'อิสรภาพด้านทุเรียน' ในจีนที่จะมีต่อไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรือไม่? ในเรื่องนี้ China International Import Expo (CIIE) ชี้ว่า "ทุเรียนเคยถูกมองว่าเป็นผลไม้เฉพาะกลุ่มเนื่องจากราคาสูงและมีปริมาณจำหน่ายจำกัด อย่างไรก็ตาม ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เนื่องจากราคาลดลงและมีปริมาณจำหน่ายเพิ่มขึ้นอย่างมาก ทุเรียนจึงค่อยๆ กลายมาเป็นผลไม้กระแสหลักในตลาดจีน และผู้บริโภคจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ก็เข้าถึง 'อิสรภาพด้านทุเรียน'"
จากสถิติของกระทรวงพาณิชย์ของไทย ระบุว่าตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเมษายนปีนี้ ทุเรียนของไทยส่งออกไปจีนเพียงประเทศเดียวเกิน 220,000 ตัน
นอกจากปริมาณการนำเข้าที่มหาศาลแล้ว ราคาขายยังคงลดลงอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่เดือนมิถุนายนแล้ว อิงเจี้ยนจวิน ผู้ช่วยผู้จัดการทั่วไปและผู้จัดการฝ่ายบริหารตลาดของตลาดผลไม้เจียซิ่ง (嘉兴水果市场) ซึ่งเป็นศูนย์กลางการจัดจำหน่ายและซื้อขายทุเรียนที่สำคัญในจีน กล่าวว่าราคาเฉลี่ยของทุเรียนนำเข้าจากไทยลดลงจาก 85.8 หยวนต่อกิโลกรัมเมื่อสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ มาอยู่ที่ 45.6 หยวนเมื่อสิ้นเดือนพฤษภาคม ซึ่งถือเป็นข่าวดีสำหรับผู้บริโภคชาวจีน
CIIE ยังชี้ให้เห็นด้วยว่าโอกาสอัน "แสนหวาน" ของทุเรียนจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในตลาดจีนนี้ยิ่งทวีคูณขึ้นจากอิสรภาพด้านทุเรียนในจีน อย่างไรดก็ตาม อาจจะยังเร็วเกินไปที่จะประเมินว่าอิสรภาพด้านทุเรียนในจีนจะส่งผลกระทบด้านบวกหรือลบต่อการส่งออกทุเรียนในไทย เพราะในขณะที่ราคามันลดลงทำให้การข้าถึงทุเรียนเพิ่มขึ้น แต่มันหมายถึงการที่ราคาทุเรียนของไทยที่ส่งออกไปจีนจะลดลงหรือไม่?
กับการผลิตที่เพิ่มขึ้นในจีนก็ต้องจับตาอย่างต่อเนื่องด้วย เพราะแม้ว่าการปลูกทุเรียนในจีนจะยังมีข้อด้อย ซึ่งสำนักข่าวซินหัวชี้ว่า ทุเรียนในประเทศจีนมีข้อเสียในแง่ของสภาพแวดล้อมการเจริญเติบโต ภูมิอากาศ และทรัพยากรพันธุ์พืช อย่างไรก็ตาม ประเทศของจีนก็มีข้อได้เปรียบที่ชัดเจนในด้านเทคโนโลยีอุปกรณ์การเกษตร โดยผู้สื่อข่าวของซินหัวพบว่าสวนผลไม้ของบริษัทเกษตรกรรมโยวฉีว่าได้นำอุปกรณ์และเทคโนโลยีต่างๆ มาใช้ เช่น ระบบตรวจสอบโดรน ระบบชลประทานอัจฉริยะที่ผสานน้ำและปุ๋ย เครื่องมือติดตามแมลง และปุ๋ยโปรตีนปลาคุณภาพสูง เพื่อให้การจัดการและติดตามทุเรียนแม่นยำยิ่งขึ้น
โดยทีมข่าวต่างประเทศ The Better
Photo by Mohd RASFAN / AFP