เมื่อ 'ไทย' ถูกด้อยค่า เพราะไม่ยอมสนอง "ผลประโยชน์บางประเทศ"

เมื่อ 'ไทย' ถูกด้อยค่า เพราะไม่ยอมสนอง

คนที่ชอบอ่านข่าวคงจะทราบว่า Nikkei Asia เป็นสื่อญี่ปุ่นที่เผยแพร่ในภาษาอังกฤษ เน้นเรื่องเศรษฐกิจและธุรกิจในเอเชีย 

สำนักข่าวในไทยก็มักจะ "ขอยืม" ข่าวของ Nikkei Asia มาใช้บ่อยๆ โดยไม่กลั่นกรองให้ดีว่ามันถูกต้องหรือมีวาระซ่อนเร้นอะไรหรือไม่?

บอกในฐานะคนที่เคยติดตามและอ่าน Nikkei Asia ต้องบอกข่าวเกี่ยวกับไทยของ Nikkei Asia มักจะมีแต่เรื่องทะแม่งๆ หรืออย่างน้อยก็ทำให้คนกังขาต่อความเจริญก้าวหน้าของไทย 

พูดง่ายๆ ก็คือค่อนขอดประเทศไทยมาโดยตลอด จะหาข่าวที่ถูกใจผมที่เป็นพวกชอบอ่านเรื่องดีๆ เกี่ยวบ้านเกิดเมืองนอนนั้นยาก 

อย่างล่าสุด Nikkei Asia ทำพลาดครั้งใหญ่ด้วยการเล่นข่าวการชำระเงินผ่าน QR code ในประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 

ข้อมูลครั้งแรกทำเป็นกราฟฟิกปรากฏว่าไทยแทบจะรั้งท้าย ซึ่งขัดต่อการรับรู้ของคนไทยเป็นจำนวนมากที่ทราบดีว่าไทยใช้ระบบสแกนจ่ายเป็นประเทศแรกๆ ในอาเซียน และใช้มากในอันดับต้นๆ ของเอเชีย 

แต่ Nikkei Asia ไปเอาข้อมูลจากไหนทำให้ไทยถึงรั้งท้าย แม้แต่กัมพูชายังมียอดสแกนจ่ายมากกว่าไทย

เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ เพราะหากข้อมูลผิดๆ ออกไปสู่สายตาชาวโลก จะทำให้คนภายนอกมองว่าไทยยังไม่พัฒนา และไม่อยากมาเที่ยว มาลงทุน

แถมยังทำให้ประเทศที่เป็นแกนหลักของระบบสแกนจ่ายของโลก กลายเป็นประเทศด้อยพัฒนาในเรื่องไปเสียอย่างนั้น มันน่าเจ็บใจจริงๆ 

ในขณะที่กัมพูชาที่ยังหาเอกราชทางการเงินการคลังไม่เจอ เพราะใช้ระบบ Dollarization และใช้เงินบาทกันทั่วไป สื่อญี่ปุ่นรายนี้กลับอวยเสียใหญ่โตราวกับว่าเป็นผู้นำนวัติกรรมสแกนจ่าย

ความผิดเพี้ยนนี้ถูกคนไทยประท้วงอย่างหนัก ซึ่งน่าชื่นใจที่คนไทยที่เข้าไปแสดงความเห็นกันมากมาย ต่างก็ใช้ภาษาอังกฤษในการตอบโต้ แสดงถึงคุณภาพของคนไทยที่ใช้เหตุผลอย่างผู้มีปัญญา และวิจารณ์ความด้อยคุณภาพของสื่อญี่ปุ่นอย่างสุภาพ

ความเห็นจำนวนไม่น้อยผิดหวังที่สื่อญี่ปุ่นทำไมถึงคุณภาพแย่ลง ซึ่งขัดต่อการรับรู้ของคนไทยว่าญี่ปุ่นนั้นแสนศิวิไลซ์ และ "รักเมืองไทย" 

การทำงานของสื่อรายนี้ทำให้คนไทยต้องหันมาถามตัวเองว่า "ญี่ปุ่นรักเมืองไทยจริงหรือ?" 

บางคนถึงกับบอกว่าที่ญี่ปุ่นถูกจีนแซงหน้า และเริ่มถอยหลังทุกทีนั้น เป็นเพราะสื่อทำงานกันแบบนี้นั่นเอง

ในเวลาต่อมา ธนาคารแห่งประเทศไทยถึงกับต้องเข้ามาชี้แจงและให้ข้อมูลที่ถูกต้อง Nikkei Asia ถึงได้ยอมแก้ไข โดยที่กว่าจะแก้ถูกนั้น มีช่วงหนึ่งถึงกับถอนไทยออกจากกราฟฟิกข้อมูลไปซะอย่างนั้นด้วยซ้ำ แถมยังแก้แค่เนื้อหาในบทความ ไม่ยอมลบกราฟฟิกที่เป็นประเด็นในเฟซบุ๊ค

หากใครยังไม่เคยเห็นข้อมูลที่ผิดเพี้ยน โปรดคลิกได้ที่นี่ ส่วนข้อมูลที่แก้แล้วหลังการทักท้วงโดยธนาคารแห่งประเทศไทย โปรดคลิกได้ที่นี่

เจตนาของ Nikkei Asia เป็นอย่างไรผมไม่อาจทราบ แต่ถ้าเป็นแบบกรณีที่เกิดขึ้น ผมกลัวว่ามันก็จะทำให้ Nikkei Asia เสียความน่าเชื่อถือ ได้แต่หวังว่าจะไม่ทำเรื่องแบบนี้อีก "ให้เสียน้ำใจคนไทยที่มีต่อญี่ปุ่น"

ที่จริงแล้วเราไม่ควรจะเอาสื่อต่างประเทศมาเป็นสรณะมากเกินไป เพราะเราไม่รู้ว่ารายงานข่าวจากสื่อต่างประเทศที่เกี่ยวกับไทยนั้น มีเจตนาอะไรแอบแฝงหรือไม่

คนไทยควรตระหนักว่า "สื่อนอก" ไม่ใช่เทวดาที่ไหน เวลาที่เขารายงานเรื่องเศรษฐกิจและการเมืองไทย หรือประเทศที่เป็นศัตรูกับเขา บางสื่อนั้นเอียงยิ่งกว่าหอเอนปิซ่า แต่กระทำตนว่าเป็นเจ้าหลักการแห่งความเที่ยงตรง

เพื่อให้เห็นภาพผมจะยกการวิเคราะห์จากเว็บไซต์ Media Bias/Fact Check ที่ทำการตรวจสอบระดับความเอียงของสื่อ 

ในส่วนของ Nikkei Asia หรือ Nikkei Asian Review นั้นได้รับการประเมินว่าเอียงมาทาง Right-Center หรือฝ่ายขวาค่อนข้างกลาง หมายถึงสนับสนุนแนวทางเศรษฐกิจแบบอนุรักษ์นิยม คล้ายๆ กับญี่ปุ่นหรือบางรัฐบาลของสหรัฐฯ 

ดังนั้น Media Bias จึงตั้งข้อสังเกตด้วยว่า Nikkei "มีชื่อเสียงในเรื่องมุมมองอนุรักษ์นิยม" 

แต่ว่าอนุรักษ์นิยมแบบไหน? ในที่นี้ผมขอวิเคราะห์ว่ามันคือการอนุรักษ์ผลประโยชน์ของนายทุนญี่ปุ่นนั่นเอง

ฮิโรโกะ ทาบูจิ (Hiroko Tabuchi) ผู้สื่อข่าวของนิวยอร์กไทมส์ที่ได้รับรางวัลจากการทำข่าวเรื่องโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ กล่าวหลังจากที่ Nikkei ซื้อ Financial Times ว่า “น่ากังวลว่า Nikkei เป็นเพียงเครื่องจักรประชาสัมพันธ์สำหรับธุรกิจญี่ปุ่น"

การที่ Nikkei ถูกมองว่าช่วยประชาสัมพันธ์ให้ธุรกิจญี่ปุ่น ดังนั้น ข่าวที่ออกมาจึงดีต่อญี่ปุ่น 

แต่ถ้าข่าวเกี่ยวกับประเทศอื่นที่ญี่ปุ่นเห็นว่าไม่มีประโยชน์นั้น ขอให้ลองพิจารณากันเองที่เว็บไซต์ของสำนักข่าวนี้เอง แล้วท่านก็จะรู้เอง

ยกตัวอย่างข่าวเกี่ยวกับ EV ของจีน (หรือแม้แต่อะไรก็ตามที่เกี่ยวกับจีน) ข่าวมักจะออกมาในแง่ตั้งข้อสงสัย ตัวอย่างเช่นข่าวที่บอกว่า EV makers offer deep discounts as Thai auto market weakens

รายงานนี้ต้องการจะบอกว่า รถยนต์ EV ที่หั่นราคาถูกๆ โดยค่ายรถยนต์จีนส่งผลต่อตลาดรถยนต์ในไทย ทำให้ยอดขายรถยนต์ในไทยลดลง

โปรดทราบว่ารถยนต์ในไทยก็คือรถญี่ปุ่นนั่นเอง เมื่อรถจีนถูกๆ เข้ามา รถญี่ปุ่นแพงๆ จะมีใครซื้อ นี่คือความจริงของระบบตลาด

รายงานนี้พยายามบอกว่าจีนทำลายตลาดไทย แต่ผมขอให้มองความจริงข้อหนึ่ง ตลาดรถยนต์ในไทยถูกผูดขาดโดยค่ายรถยนต์ญี่ปุ่นมาเกือบครึ่งศตวรรษ แม้จะบอกว่าสร้างงานสร้างรายได้ แต่กลับขายรถยนต์ราคาแพงให้คนไทยมานาน การที่คนไทยจะ "ปลดแอก" ตัวเองจากการถูกขูดรีดโดยรถแพงๆ ของญี่ปุ่น มันถือเป็นเรื่องไม่ดีตรงไหน? 

ตอบว่า ไม่ดีตรงที่ธุรกิจของญี่ปุ่นเสียประโยชน์นั่นเอง 

ผมไม่ได้บอกว่า Nikkei เป็นกระบอกเสียงให้ธุรกิจญี่ปุ่น เพียงแต่สงสัยว่า Nikkei น่าจะมีค่านิยมที่สอดคล้องกับภาคธุรกิจญี่ปุ่นมากเกินไป

ส่วนคนไทยมีหน้าที่ตรวจสอบดูว่าค่านิยมของญี่ปุ่นมันสมประโยชน์กับของเราหรือไม่ก็เท่านั้น

ธุรกิจต่างประเทศนั้นก็ย่อมทำงานสนองประโยชน์ประเทศของเขา ต่อให้บอกว่า "ประเทศ A คือมิตรแท้ของไทย" แต่ถ้าประเทศไทยหันไปทำธุรกิจกับประเทศอื่นที่แย่งรายได้ของเขา ประเทศ A ก็เลิกเป็นมิตรแท้ของเราได้เหมือนกัน 

ดีไม่ดีจะแว้งกัดเราเสียอีก เช่นปล่อยข่าวในทำนองว่าว่าประเทศไทยหมดอนาคตเสียแล้ว และประโคมข่าวให้กับเพื่อนบ้านที่ใช้เงินซื้อตัวได้ว่าดีกว่าไทยอยางนั้นอย่างนี้ 

แบบนี้มันไม่ใช่มิตรครับ มันคือศัตรูที่ซ่อนดาบในรอยยิ้ม

ไม่ใช่ว่าเรามีความสัมพันธ์มาตั้งแต่ยุคโบราณนานกัลป์แล้วจะรักใคร่กันไว้ใจกันได้ตลอดไป  ทุกอย่างมันขึ้นอยู่กับผลประโยชน์ล้วนๆ 

ในโลกการเมืองและเศรษฐกิจไม่มีมิตรแท้และศัตรูถาวรหรอกครับ 

บทความทัศนะโดย กรกิจ ดิษฐาน ผู้ช่วยบรรณาธิการบริหาร และบรรณาิการข่าวต่างประเทศ The Better 

Photo by MANAN VATSYAYANA / AFP

TAGS: #ญี่ปุ่น #Nikkei