อิหร่านยังไม่พร้อมชนกับอิสราเอล การสังหารผู้นำฮิซบอลเลาะห์คือบทพิสูจน์

อิหร่านยังไม่พร้อมชนกับอิสราเอล การสังหารผู้นำฮิซบอลเลาะห์คือบทพิสูจน์

ฮัสซัน นาสรัลเลาะห์  เลขาธิการใหญ่ หรือหัวหน้าของกลุ่มฮิซบัลเลาะห์  ถูกสังหารเมื่อวันที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2567 โดยกองกำลังป้องกันประเทศอิสราเอลประกาศว่ากองทัพอากาศของตนได้โจมตีสำนักงานใหญ่ของกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ด้วยเป้าหมายในการลอบสังหารนาสรัลเลาะห์ ต่อมากลุ่มฮิซบอลเลาะห์ยืนยันการเสียชีวิตของเขาในวันรุ่งขึ้น

การสังหาร นาสรัลเลาะห์ เกิดขึ้นในระหว่างการที่อิหาราเอลโจมตีฐานที่มั่นของฮิซบอลเลาะห์ในเลบานอนอย่างหนักในช่วงสัปดาห์นี้หลังจากทำการทำลายระบบสื่อสารของฮิซบอลเลาะห์นั่นคือการระเบิดเพจเจอร์และวอล์กกี้ทอล์กกี้ (ซึ่งอิสราเอลปฏิเสธว่าไม่เกี่ยวข้อง) จนในที่สุด อิสราเอลก็สามารถล็อคเป้าหมายใหญ่ นั่นคือในขณะที่ผู้นำกลุ่มฮิซบอลเลาะห์กำลังประชุมกันที่สำนักงานใหญ่แห่งหนึ่งในฮาเรตเฮรค์ ชานเมืองดาฮีเยห์ ทางตอนใต้ของเบรุต อิสราเอลส่งฝูงบินที่ 119 ของกองทัพอากาศอิสราเอล โดยใช้เครื่องบินขับไล่ F-16I ทำการทิ้งระเบิดมากกว่า 80 ลูก รวมถึงระเบิดบังเกอร์บัสเตอร์ขนาด 5,000 ปอนด์ (2,300 กิโลกรัม) ที่ผลิตโดยสหรัฐฯ โดยทำลายสำนักงานใหญ่ซึ่งรายงานว่าตั้งอยู่ใต้ดิน

ในวันที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2567 กองทัพป้องกันอิสราเอลได้ประกาศการเสียชีวิตของ นาสรัลเลาะห์ ซึ่งต่อมาได้รับการยืนยันจากกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ การโจมตีดังกล่าวส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 33 รายและได้รับบาดเจ็บมากกว่า 195 ราย ในเวลาเดียวกัน อาลี คารากี ผู้บัญชาการแนวรบด้านใต้ของกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ ก็เสียชีวิตในการโจมตีครั้งนี้เช่นกัน พร้อมด้วยผู้บัญชาการระดับสูงคนอื่นๆ รายงานของอิหร่านระบุว่าอับบาส นิลฟูรูซาน รองผู้บัญชาการกองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติอิสลาม (IRGC) และผู้บัญชาการกองกำลังคุดส์ในเลบานอน ก็เสียชีวิตด้วยเช่นกัน

นาสรัลเลาะห์คอยนำทางกลุ่มฮิซบอลเลาะห์มานานถึงสามทศวรรษ การเสียเชาไปจะทำให้การตอบโต้อิสราเอลมีปัญหาอย่างแน่นอน แต่สิ่งที่สำคัญกว่านั้นคือ มันสะท้อนให้เห็นว่าผู็สนับสนุนหลักของฮิซบอลเลาะห์ นั่นคือ อิหร่านยังไม่สามารถต่อกรกับอิสราเอลได้ ถึงขนาดที่ปล่อยให้มีการสังหารผู้นำของกลุ่มพันธุมิตของตน เช่น ผู้นำของฮิซบอลเลาะห์และฮามาสในถิ่นเลบานอนและในอิหร่านติดๆ กัน และการโจมตีเมื่อวันที่ 27 กันยายน ของอิสราเอล ยังปลิดชีพฝ่ายนำของฮิซบอลเลาะห์ได้มากมาย แม้แต่คนของอิหร่านที่เข้าไปช่วยเหลือฮิซบอลเลาะห์ก็ถูกสังหาร เรื่องนี้สะท้อนว่าการข่าวกรองของอิสราเอลมีประสิทธิภาพมาก ยังไม่นับอาวุธที่มีแสนยานุภาพสูง 

แต่สิ่งที่อิหร่านทำได้ก็แค่เพียงประกาศว่าจะ "ล้างแค้น" และชักธงประกาศทำสงครามล้างแค้น แต่ก็ยังไม่สามารถตอบโต้อิสราเอลได้อย่างมีประสิทธิภาพเลย และสิ่งที่อิหร่านสามารถทำได้ในขณะนี้ (ซึ่งเป็นภาวะสงครามอย่างเก็นได้ชัด) กลับเป็นการเรียกร้องให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติประชุมฉุกเฉินในวันที่ 27 กันยายน ตามเวลาท้องถิ่นนิวยอร์ก (หรือวันที่ 28 กันยายนตามเวลาไทย) เพื่อประท้วงการสังหาร นาสรัลเลาะห์ 

ในจดหมายนั้น นายอามีร์ ซาอิด อิราวานี ทูตพิเศษของอิหร่านประจำสหประชาชาติ เรียกร้องให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ "ดำเนินการทันทีและเด็ดขาดเพื่อหยุดยั้งการรุกรานที่ยังคงดำเนินอยู่ของอิสราเอล และป้องกันไม่ให้...ลากภูมิภาคนี้เข้าสู่สงครามเต็มรูปแบบ"

ท่าทีของอิหร่านนี้ถือว่าไม่มีพลัง เพราะต้องอาศัยคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติเขามาช่วย แต่อิสราเอลนั้นไม่แยแสคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติเอาเลย เพราะรู้ว่าสหรัฐฯ ซึ่งมีสิทธิวีโต้ในคณะมนตรีความมั่นคงฯ จะขัดขวางไม่ให้อิหร่านทำอะไรก็ตามได้สำเร็จ อิหร่านจึงได้แต่ใช้วิธีง่ายๆ และไม่รุนแรง ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะอิหร่านเริ่มตระหนักว่า "ตัวเองไม่พร้อม" งานข่าวกรองของตนมีปัญหาถึงขนาดปล่อยให้สายลับอิสราเอลเข้ามาสังหาร อิสมาอิล ฮานิเยห์ ประธานสำนักงานการเมืองฮามาส เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2567  โดยเขาถูกลอบสังหารด้วยอุปกรณ์ระเบิดที่ถูกฝังไว้ในเกสต์เฮาส์ของเขาในกรุงเตหะราน เมืองหลวงของอิหร่าน จากนั้นก็เป็นปฏิบัติการของอิสราเอลที่สร้างความช็อคด้วยการระเบิดเพจเจอร์และวอล์กกี้ทอล์กกี้ของกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ก่อนจะตามมาด้วยการถล่มฐานที่มั่นของกลุ่มแทบจะในทันที และต่อมาก็ถึงคราวสังหารผู้นำฮิซบอลเลาะห์ถึงใน "รังเสือ" โดยใช้ระเบิดเจาะบังเกอร์อันทรงอานุภาพ 

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นติดๆ กันนี้ แทบจะมีแต่ฝ่ายอิสราเอลเท่านั้นที่ลงมือกระทำต่อฝ่าย "Axis of Resistance" (เป็น" อักษะ" หรือ "แกน"ทางการเมืองและการทหารที่นำโดยอิหร่านอย่างไม่เป็นทางการในตะวันออกกลาง มีเป้าหมายที่จะเล่นงานอิสราเอล) ขณะที่อักษะกลุ่มนี้แทบจะตอบโต้อะไรไม่ได้เป็นชิ้นเป็นอัน แมีแต่การที่กลุ่มฮูษีในเยเมน ซึ่งเป็นสมาชิกของอักษะ ยิงขีปนาวุธไปที่สนามบินเบน กูเรียนของอิสราเอลเมื่อวันเสาร์ โดยหวังว่าจะยิงเข้าเป้าขณะที่นายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮูเดินทางกลับมาจากการเยือนนิวยอร์ก แต่กองทัพอิสราเอลระบุว่าสามารถสกัดกั้นขีปนาวุธที่ยิงมาจากเยเมนได้ 

จากกรณีการโจมตีกลับของกลุ่มฮูษีในเยเมนหรือแม้แต่การยิงถล่มอิสราเอลตอนเหนือของฮิซบอลเลาะห์ก็ยังไม่สามารถทำลายเป้าหมายสำคัญๆ ของอิสราเอลลงได้ มีแต่อิสราเอลที่สวนกลับและทำลาย "กล่องดวงใจ" ของ Axis of Resistance จนพบกับความสูญเสียครั้งแล้วครั้งเล่า 

อิหร่านยังขนาดการสนับสนุนจากมหาอำนาจในการต่อกรกับอิสราเอล เพราะอิสราเอลมีทั้งสหรัฐฯ และชาติตะวันตกที่คอยสนับสนุนตลอดเวลาเพราะสิ่งที่อิหร่านมีในเวลานี้เป็นแค่อักษะของกลุ่มติดอาวุธที่ไม่สามารถทำสงครามระดับข้ามประเทศได้ ยังไม่นับแสนยานุภาพที่ด้อยกว่าอิสราเอลมาก เช่น กรณีของฮิซบอลเลาะห์ที่มีคลังแสงจรวดที่มากพอจะถล่มอิสราเอลได้ในระยะยาว แต่สุดท้ายแล้วเพราะขาดข่าวกรองที่ดี และยังอาจมีหนอนบ่อนไส้ที่ที่ช่วยล็อคเป้าหมายสังหารผู้นำกลุ่ม อีกทั้งอิสราเอลยังมีอาวุธที่ทรงพลังกว่าซึ่งใช้ไม่ต้องมา แต่มีพลังทำลายเป้าหมายสูง เพียงเท่านี้ฮิซบอลเลาะห์ก็ไม่สามารถต่อกรได้แล้ว 

ส่วนอิหร่านก็จะยิ่งสับสนในท่าทีของตัวเองว่า "ควรไปต่อหรือพอแค่นี้ก่อน" เพราะอิหร่านก็สามารถดึงรัสเซียและจีนเข้ามาช่วยหนุนเต็มตัวได้ ส่วนหนึ่งอิหร่านทีท่าทีไม่ชัดเจนกับประเทศเหล่านี้ และประเทศเหล่านี้โดยเฉพาะจีนก็ไม่อาจเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับความวุ่นวายในตะวันออกกลางหากไม่จำเป็นจริงๆ ดังนั้นสิ่งที่เรียกว่า "อักษะอิหร่าน-รัสเซีย-จีน" จึงถูกมองว่าเป็นแค่ "มายาคติ" (Myth) โดยบางฝ่าย 

เช่น จากการวิเคราะห์ของ Nicole Grajewski ผู้เชี่ยวชาญด้านรัสเซียและอิหร่านของ Harvard University ที่ชี้ว่า แม้ว่ารัสเซีย จีน และอิหร่านจะมีผลประโยชน์รวมกันในกาารต่อต้านประเทศตะวันตก มีระบอบการปกครองแบบอำนาจนิยม และควบคุมการปกครองประเทศให้เข้มงวดขึ้น และสนับสนุนการเลิกใช้ดอลลาร์ "ซึ่งทั้งหมดนี้ทำให้ทั้งสามฝ่ายใกล้ชิดกันมากขึ้น แต่แกนรัสเซีย จีน และอิหร่านยังไม่เกิดขึ้นจริง ในทางกลับกัน เนื่องจากขาดกลไกที่เป็นระเบียบและเป็นสถาบัน ความสัมพันธ์ไตรภาคีจึงยังคงเป็นข้อตกลงลวงตา ซึ่งขับเคลื่อนโดยความสัมพันธ์ทวิภาคีเป็นหลัก รองลงมาคือการประสานงานไตรภาคีที่ไม่เข้มงวดในสถานการณ์เฉพาะหน้า"

ดังนั้น แม้ว่าสามประเทศนี้จะสานความสัมพันธ์กันที่แนบแน่นในบางมิติ แต่ในมิติความมั่นคงยังห่างไกลกับคำว่า "ตายแทนกันได้"

ต่างจากชาติตะวันตก ที่พร้อมจะปกป้องผลประโยชน์ของอิสราเอลอย่างเต็มที่ 

ทีมข่าวต่างประเทศ The Better

Photo by JOSEPH EID / AFP
 

TAGS: #ฮิซบัลเลาะห์ #อิหร่าน #เลบานอน