คนไทยรักช้างมากกว่าเก่า แต่เราไม่รู้จัก 'วิถีแห่งช้าง' กันอีกแล้ว

คนไทยรักช้างมากกว่าเก่า แต่เราไม่รู้จัก 'วิถีแห่งช้าง' กันอีกแล้ว

ในหนังสือของชาวตะวันตกเล่มหนึ่งซึ่งแต่งไว้เมื่อกลางศตวรรษที่ 19 บอกว่า "ในสยาม ซึ่งเป็นประเทศในเอเชีย ผู้คนรักช้างอย่างมาก"

คนสยามไม่ใช่แค่รัก แต่ยังเคารพช้าง โดยเฉพาะช้างเผือก อย่างที่ อองรี มูโอต์ (Henri Mouhot) นักสำรวจชาวฝรั่งเศสกล่าวไว้ระหว่างการสำรวจสยามเมื่อปลายศตวรรษที่ 19 ว่า "คนสยามไม่ยอมรับพระเจ้าผู้สร้างโลกหนึ่งเดียว ไม่ยอมรับกระทั่งพระพุทธเจ้า (ว่าเป็นพระเจ้าสูงสุด) แต่พวกเขาเชื่อว่าช้างเผือกนำโชคลาภมาสู่บ้านเมือง"

ทุกวันนี้คนสยามหรือคนไทยก็ยังรักช้าง และอาจจะมากขึ้นด้วยเพราะผสมกับ 'แนวคิดเรื่องสิทธิสัตว์' แบบตะวันตกเข้าไป ทำให้ห่วงใยช้างมากกว่าเดิมเข้าไปอีก 

แต่หลายๆ กรณีที่ 'แนวคิดเรื่องสิทธิสัตว์' เป็นการคุ้มครองสัตว์แบบที่ไม่รู้ใจสัตว์และคนที่ดำรงชีวิตร่วมกันอย่างกลมเกลียว แต่กลับพยายามแยกคนออกจากสัตว์ และทำให้คนที่เลี้ยงสัตว์ตามวิถีเดิมกลายเป็น 'ผู้ร้าย' เพียงเพราะวิถี 'อารยะตะวันออก' ของพวกเขาไม่ใช่ 'อารยะแบบตะวันตก'

ด้วยแนวคิดแบบนี้ จึงทำให้คนไทยที่เคยรักช้างกลับรู้จัก 'วิถีแห่งช้าง' น้อยลง หรือเรียกได้ว่าแทบไม่รู้กันอีกแล้ว

วิธีแห่งช้างเรียกอย่างเป็นทางการว่า 'คชศาสตร์' หรือวิชาว่าด้วยช้างที่สืบทอดมานับพันปี จนกระทั่งเมื่อเร็วๆ นี้คชศาสตร์ถูกท้าทายจากแนวคิดแบบตะวันตกว่า "ล้าหลัง" และ "ไม่เป็นมิตรกับช้าง" 

หากแนวคิดของบรรพบุรุษคนไทยเป็นอันตรายต่อช้างแล้ว เหตุใดคนต่างชาติจึงบันทึกไว้คนไทยรักชาติและบูชาช้าง?

วิชาเลี้ยงช้างของบรรพบุรุษในแผ่นดินไทยจากชาติพันธุ์ต่างๆ เป็นสิ่งที่ตกผลึกมาแล้วจากการใช้ชีวิตร่วมกับช้างมาตั้งแต่ก่อนยุคประวัติศาสตร์ ในแผ่นดินไทยนี้ไม่ว่าชนชาติไหนก็รู้จักวิธีเลี้ยงช้างและมีองค์ความรู้ของตนเอง ไม่ว่าจะเป็นคนไทยวน (ภาคเหนือ) ชาวกูย (อีสานใต้) ชาวลาวล้านช้าง (อีสานเหนือ) คนไทยสยาม (ภาคกลาง) และคนไทยปักษ์ใต้ ไปจนถึงคนไทยเชื้อสายมลายูก็รู้วิธีเลี้ยงช้างตามคติของตน 

แต่วิชาเลี้ยงช้างเหล่านี้จะสูญพันธุ์ไปก่อนช้างไทยเสียอีก เพราะช้างไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตอีกต่อไป 

เพียงแต่ช้างไม่ได้หมดไป และองค์ความรู้เก่าๆ ยังมีความมีสำคัญ โดยเฉพาะ 'วิชาบังคับช้าง' เพราะช้างเป็นสัตว์ใหญ่ แม้จะทำให้เชื่องแล้วก็ยังดุร้ายได้ แม้ไม่ตั้งใจดุร้ายก็สามารถทำอันตรายได้โดยไม่ตั้งใจ

ทุกวันนี้การควบคุมช้างชั้นสูงยังคงรักษาไว้ในราชสำนัก ซึ่งมีตำราและผู้เชี่ยวชาญพร้อมสรรพ แต่นั่นมีไว้เฉพาะ 'ช้างสำคัญ' เช่นช้างเผือก

องค์ความรู้เรื่องช้างแบบสามัญนั้นเข้าถึงยากแล้ว เพราะมันไม่จำเป็นสำหรับชีวิตผู้คนสมัยนี้อีก 

แม้ว่าการเลี้ยงช้างเพื่อการพาณิชย์ก็ยังมีอย่างแพร่หลาย ผู้คนทั้งไทยและต่างชาติต่างก็เข้าถึงช้างด้วยวิธีการนี้ แต่เราคนธรรมดาๆ รู้จักช้างน้อยเหลือเกิน และไม่รู้กระทั่งว่าควรจะควบคุมพวกมันอย่างไร

ดังนั้น เวลาเกิดเรื่องกับช้าง บางคนจึงไม่รู้ว่าผู้เชี่ยวชาญจริงๆ นั้น (ที่เชี่ยวชาญทั้งสัตวศาสตร์สมัยใหม่และคชศาสตร์โบราณ) เขาจัดการกับช้างอย่างไร

ในฐานะที่เรา (ผู้เขียนและผู้อ่าน) เป็น 'คนนอก' วงการคนเลี้ยงช้างเหมือน ก็ได้แต่ถามกันเองว่า "ผู้เชี่ยวชาญรู้จักวิธีการควบคุมช้างได้อย่างไร?"

แต่บทความนี้เป็นเรื่องเชิงประวัติศาสตร์ จึงจะเน้นการแนะนำองค์ความรู้ที่เข้าถึงได้ง่ายเกี่ยวกับวิชาบังคับและควบคุมช้างที่สืบทอดมาแต่โบราณ

เพื่อที่เราจะรู้ว่าบรรพบุรุษไทยอยู่กับช้างมาอย่างไร และตอนนี้เราควรศึกษาจากบรรพบุรุษแค่ไหนเพื่อรักษาชีวิตของช้างไว้ 

มีหนังสือเล่มหนึ่งที่พอจะเข้าถึงได้จากห้องสมมุดออนไลน์ (เช่น หอสมุดธรรมศาสตร์) คือหนังสือชื่อ "ตำนานการจับช้าง" หรืออีกชื่อว่า "ช้าง: ภูมิรู้เรื่องช้างฉบับพิสดารที่สุด" เขียนเมื่อปี พ.ศ. 2481 โดย 'เฮง ไพรยวัล' ซึ่งมีชื่อเสียงในเรื่องเวทมนตร์คาถา คนในวงการไสยศาสตร์ต่างรู้จักชื่อของท่านดี 

แต่อาจารย์เฮง ไพรยวัลยังเก่งเรื่องช้างด้วย เพราะการควบคุมช้างจะต้องใช้ 'ไสยศาสตร์' หรือพูดให้เข้าหูคนสมัยนี้ก็คือต้องใช้ 'จิตตศาสตร์' นั่นคือจิตวิทยาในการกล่อมบ้างด้วยมนตร์บ้าง บางครั้งก็กล่อมด้วยการแต่ง 'ฉันท์ดุษฎีสังเวย' คือกล่อมช้างด้วยบทกวีสำหรับพระเป็นเจ้าเพื่อให้ช้างเชื่องลง

เพราะช้างนั้นแสนรู้ เมื่อคนใช้วิธีหนักๆ กำราบให้เชื่องแล้ว ก็ค่อยปลอบด้วยคำหวานๆ ทำให้ช้างเชื่อฟัง ไม่ใช่ว่าคนจะใช้กำลังกันเสมอไป แบบนั้น "ช้างกระทืบตายเอาได้" 

โปรดทราบว่า จางวางกรมช้าง (หรือเจ้ากรม) นั้นแต่โบราณมีบรรดาศักดิ์ว่า 'พระเพทราชา' คำว่า 'เพท' คำนี้มาจากคำว่า 'เวท' คือความรู้ขั้นสูงหรือเวทมนตร์ เพราะผู้ควบคุมกำลังช้างจะต้องมีความรู้ (วิท) และพลังจิตที่กล้าแข็ง (เวท) ถือเป็น 'เจ้าแห่งความรู้และวิทยาการเรื่องช้าง'

พระมหากษัตริย์อยุธยาที่พระนามว่า 'พระเพทราชา' นั้นก็ทรงควบคุมกรมช้างมาก่อน พระนามทางการนั้นมิใช่พระเพทราชา แต่เป็น 'สมเด็จพระมหาบุรุษ' เพราะพระเพทราชาเป็นบรรดาศักดิ์ขุนนาง มีมาจนถึงก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เช่น พระยาเพทราชาที่คอยออกไปจับช้างให้หลวงในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว 

กลับมาที่ "ตำนานการจับช้าง" ของอาจารย์เฮง ไพรวัล อธิบายอย่างละเอียดว่าการจับช้างป่ามาทำให้เชื่องต้องทำอย่างไรบ้าง ลำบากแค่ไหน และต้องใช้กลเม็ดควบคุมช้างอย่างไร 

เช่น ในบทว่าด้วย "วิธีการฝึกหัดช้างและบังคับช้าง" กล่างถึงกลหัดช้างวิธีการต่างๆ ซึ่งแม้เราจะไมได้เลีเยงช้าง แต่ถ้ารับทราบไว้ก็จะรู้ว่าการเลี้ยงช้างไม่ใช่เรื่องง่าย ท่านอธิบายว่า 

"กล ๑ ท่านว่าธรรมดาช้างทุกชนิดที่จับไว้ได้แล้ว เมื่อเอามาเลี้ยงรักษาไว้นั้น จะว่ากล่าวสั่งสอน มิสู้จะช้านัก พอให้ลืมกิริยาป่าเสียสักหน่อย ก็จะรู้จักภาษาคนได้ง่าย ผิดกว่าสัตว์ทั้งหลาย การบังคับเมื่อรู้จักทำแล้ว ก็กล้วว่ารักง่าย ถ้าไม่เรียนรู้วิธีบังคับ หรีอผ่อนปรนอย่างใดแล้วก็จะกลับเป็นผลร้ายไปเสียอีก ช้างที่จะบังคับยากนั้น มีอยู่ก็เป็นเวลาที่กำลังตกน้ำมัน เพราะช้างน้ำมันย่อมมีหัวใจดุร้ายฉุนเฉียว หัวใจไม่สู้จะเกรงกลัวต่อสิ่งใดๆ แทบทั้งหมด คล้ายกับเป็นช้างบ้า"

เพียงเท่านี้ก็จะเข้าใจสิ่งที่อาจารย์เฮง ไพรวัลเขียนไว้ (จากประสบการณ์ของท่านและสิ่งที่สืบทอดมาจากบรรพชน) ว่า "ถ้าไม่เรียนรู้วิธีบังคับ หรีอผ่อนปรนอย่างใดแล้วก็จะกลับเป็นผลร้ายไปเสียอีก" ต่อให้ช้างนั้นทำให้เชื่องแล้วก็ตาม เพราะช้างก็ยังเป็นสัตว์ใหญ่ที่ทรงพลัง หากไม่ควบคุมด้วยองค์ความรู้ เช่น การบังคับอย่างถูกหลักวิชาคชศาสตร์ มันก็จะดุร้ายขึ้นมาได้

ข้อความตอนนี่สะท้อนให้เห็นว่าการเลี้ยงช้างนั้นจะเลี้ยงแบบ Pet ไม่ได้ แต่ต้องเลี้ยงเหมือนเป็น 'มนุษย์' เพราะช้างฉลาดและดุร้ายคละกันไปเหมือนมนุษย์ไม่มีผิด

แต่ช้างก็ยังเหมือนมนุษย์ตรงที่มีใจที่อ่อนโยนกว่าสัตว์ทั้งหลาย หากมี 'วิชาจิตตศาสตร์' ที่เข้าใจช้างแบบหมอปะกำ (ผู้รู้วิชาควบคุมช้าง) หรือควาญอาวุโส ก็จะรู้ใจช้างและควบคุมได้เพียงใช้แค่เสียง อาจารย์เฮง ไพรวัลบันทึกเรื่องนี้ไว้คราวตั้งเพนียดคล้องช้างที่กรุงเก่าอยุธยา สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เอาไว้ว่า

"พอเวลาเที่ยงคืนช้างเถื่อนอาละวาดกันไม่หยุดหย่อน เจ้าหน้าที่ไม่เป็นอันหลับนอน ต้องคอยร้องตวาดปรามกันร่ำไป ถึงกระนั้นช้างเถื่อนจะหยุดอาละวาดก็หามิได้ กลับกำเริบหนักขึ้นยิ่งกว่าเก่า คราวนี้ร้อนถึงหมอควาญผู้เฒ่าเป็นครูใหญ่ ต้องรีบรุกเดินเข้าไปนั่งอยู่บนพลับพลา แล้วส่งเสียงกล่อมช้างเป็นสำเนียงภาษามอญ"

"น่าเสียดาย บทกลอนคำกล่อมช้างนี้ ในหอพระสมุดไม่มีต้นฉบับบันทึกไว้ ทั้งข้าพเจ้าได้ฟังเพียงครั้งเดียวก็จำไม่ได้ ... หมอเฒ่าผู้ใหญ่ส่งเสียงกล่อมเป็นภาษามอญในครั้งนั้น สำเนียงโหยหวลละห้อยเยือกเย็นยิ่งนัก ยิ่งดึกกังาวลเสียงยิ่งดังคร่ำครวญขึ้นทุกที ทำนองกล่อมช้างที่หมอเฒ่ากล่อมนี้ ผิดกับการร้องกล่อมบทฉันท์ที่เป็นคำไทย บรรดาช้างเถื่อนทั้งหลาย เมื่อได้ยินเสียงกล่อมที่โอดครวญ ก็ชวนให้ตลึง ต่างตัวต่างก็ยืนหูผึ่งตรับสำเนียง หยุดจากการอาละวาดกันทันที สืบต่อไปจากนี้ พวกกรมช้างกองนอกทั้งหลาย ต่างก็เรียงรายอยู่เวรตามหน้าที่ ในคืนนี้สงบเรียบร้อยดีตลอดจนรุ่งสาง"

นี่คือความอ่อนโยนของช้างที่มื่อได้ยินเสียงกล่อมของหมอควาญที่มีวิชาก็จะหยุดนิ่งเหมือนต้องมนต์สะกด แต่แท้จริงแล้วมันคือเพลงกล่อมนั่นเอง เหมือนฉันท์กล่อมในภาษาไทยที่ส่วนใหญ่จะเขียนไว้ในทำนองว่า "ช้างทั้งหลาย อย่าอยู่ป่าเลย มันลำบาก มาอยู่ในเมืองเถิด อยู่กับพระเจ้าแผ่นดิน จะอยู่ดีกินดี เป็นพระน้ำพระยา ได้ผาสุกตลอดไป" 

ในเวลาจับช้างคราวนั้น  อาจารย์เฮง ไพรวัลกล่าวถึงเรื่องความฉลาดอย่างน่าประหลาดของช้างเอาไว้ว่า

"เวลานั้นเป็นเวลา 11 นาฬิกาเศษ ข้าพเจ้ากำลังดูช้างเถื่อนในโขลงเพลินอยู่ หาได้ทันสังเกตสิ่งใดไม่ แต่พอได้ยินแตรงอน แตรฝรั่ง บรรลือเสียงอยู่บนพลับพลา ข้าพเจ้าจึงหันหน้าไปตามเสียงแตรนั้น ได้เห็นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กับแขกเมืองที่มาจากประเทศรัสเซีย พร้อมด้วยข้าราชบริพารเฝ้าแหนอยู่เป็นขนัด พระองค์เสด็จประทับลงบนพระเก้าอี้ตรงมุขหน้าพลับพลา สำหรับทอดพระเนตรการจับช้างในวงพาศ ในทันใดนั้นเอง ข้าพเจ้ามองไปในโขลง เห็นช้างเกือบทุกตัว ยกงวงขึ้นจบเหนือกระพอง ทำให้ข้าพเจ้าเต็มตื้นไปด้วยความปีติในพระบารมี ใจคอสั่นนึกแต่ในใจว่า แม้แต่สัตว์ป่าแท้ๆ ยังรู้จักเคารพพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงคุณธรรมอันประเสริฐด้วยเหมือนกัน ด้วยความปลาบปลื้มนี้เอง ข้าพเจ้าจึงยกมือขึ้นพนมน้อมศีรษะถวายความเคารพ" 

พูดถึงพระเจ้าแผ่นดินแล้ว ทรงเป็นประมุขของชาติที่ไม่เพียงจะดูราษฎร์เหมือนลูกแล้ว ยังทรงเอ็นดูช้างทั้งหลายเช่นกัน แม้ว่าช้างจะมีสถานะเป็น 'ยุทธภัณฑ์' (เทียบได้กับรถถัง) ในการสงครามก็ตาม แต่ช้างก็มีสถานะร่วมเป็นร่วมตายกับพระเจ้าแผ่นดินและไพร่พลทั้งหลาย 

การจับช้างเพื่อนำมาควบคุมนั้นหากมีการทำร้ายช้างขึ้นมาโดยพวกควาญ เมื่อรู้ไปถึงพระเจ้าแผ่นดิน ผู้ที่ลงมือกับช้างจะถูกลงโทษอย่างหนัก ต่อให้ช้างเถื่อนดุร้ายแค่ไหน ก็ไม่อาจใช้กำลังจนเลือดตกยางออกได้ จะต้องใช้วิชาบังคับล้วนๆ  อาจารย์เฮง ไพรวัลบันทึกเรื่องนี้ไว้ว่า 

"ในขณะที่ช้างต่อกับช้างเถื่อนชุลมุนกันอยู่นี้ หมอช้างมีกลเม็ดอยู่อย่างหนึ่งที่กระทำให้ช้างเจ็บโดยไม่มีใครได้ทันเห็น คือช้างเถื่อนตัวนั้นมีรอยถูกแทงด้วยหอกถึง 2 แผล แผลหนึ่งถูกตรงซอกกกหู อีกแผลหนึ่งถูกตอนเหนือกระบังงา แผลทั้งสองนี้เป็นแผลที่เจ็บที่สุด ถ้าช้างเถื่อนยังไม่ถูกที่เจ็บจริงๆ ก็คงไม่ยอมถอยไปง่ายๆ การที่จะแทงช้างเถื่อนด้วยหอกนั้น พวกหมอควาญต้องระวัง กระทำให้แนบเนียนและรวดเร็วที่สุดที่จะเร็วได้ เพราะเป็นหน้าที่พระที่นั่ง ถ้าแม้พระเจ้าแผ่นดินทอดพระเนตรเห็นพวกหมอควาญคนใดใจอำมหิตโหดร้ายกระทำแก่ช้างเถื่อน ซึ่งเป็นสัตว์ป่ายังไม่รู้จักภาษาคน ก็ต้องถูกกริ้วหรือลงโทษโบยตีต่อหน้าพระที่นั่งทีเดียว"

จากเรื่องนี้เราจะเห็นว่าพระเจ้าแผ่นดินและผู้บริหารบ้านเมืองนั้นกำหนดมาตรฐานการดูแลช้างไว้ด้วยความปราณี แต่เพราะหมอช้างบางคนคิดเป็นอื่น จึงใช้วิธีรุนแรงกับช้าง กรณีนี้ยังสะท้อนมาถึงปัจจุบัน แม้ว่าบ้านเมืองจะมีกฎหมายควบคุมสวัสดิภาพของช้างอย่างดี แต่ก็ยบังมีการทารุณช้างด้วยวิธีการต่างๆ 

ยิ่งในสมัยนี้ การทารุณไม่ได้มีแค่การแทงช้างให้เจ็บ แต่ยังรวมถึงการกักขังช้างเอาไว้เพื่อเป็น 'สินค้าบริการ' สำหรับนักท่องเที่ยว ภายนอกดูเหมือนจะใส่ใจช้างด้วยการ 'ปลดปล่อย' ช้างจากหมอควาญต่างๆ มาเลี้ยงตามปาง แต่การเลี้ยงแบบนั้นสอดคล้องกับธรรมชาติของช้างและหลักคชศาสตร์หรือไม่? เรื่องนี้ควรจะตั้งคำถามกันให้มาก

จากหนังสือของอาจารย์เฮง ไพรวัล เชื่อได้เลยว่าคนไทยหลายคนไม่รู้ถึงประสิทธิภาพของวิชาควบคุมช้างแต่โบราณ หลายคนอาจคิดว่าการเลี้ยงแบบโบราณเป็นการทำร้ายช้าง แต่มันอาจเป็นไปในทางตรงกันข้ามกันเลย เพราะวิชาช้างคือองค์ความรู้ที่ผู้เรียนรู้นั้น เข้าใจช้างและช้างก็เข้าใจคนเลี้ยง แม้ว่าบางเรื่องจะฟังดูลี้ลับ เช่น การกล่อมช้างและเวทมนต์ต่างๆ แต่ทั้งหมดคือวิชาจิตวิทยาช้างที่คนไทยตกทอดกันมานับพันปีนั่นเอง 

ทุกวันนี้คนไทยรักช้างโดยไม่รู้วิถีแห่งช้าง แต่รักช้างเพราะเป็นสัตว์เลี้ยงเหมือน Pet และรู้สึกว่าจะต้องปกป้องช้างด้วย 'ค่านิยมแบบตะวันตก' ที่สัตว์กับคนอยู่ร่วมกันเป็นสังคมเดียวกันไม่ได้ 

แต่ช้างไม่ใช่ Pet ช้างคือสมาชิกกลุ่มหนึ่งในสังคมไทย คนไทยมีค่านิยมจารีตแบบไหน การเลี้ยงช้างไทยก็มีจารีตแบบนั้นเช่นกัน  

บทความโดย กรกิจ ดิษฐาน ผู้ช่วยบรรณาธิการบริหาร และบรรณาธิการข่าวต่างประเทศ  The Better

Photo - Twentieth century impressions of Siam (1908)

TAGS: #ช้าง #ปางช้าง