ประเทศแห่งนี้ถึงกับเกิดสงครามกลางเมือง เพราะรัฐบาลละเลยภัยจาก 'ธุรกิจแบบพีระมิด'

ประเทศแห่งนี้ถึงกับเกิดสงครามกลางเมือง เพราะรัฐบาลละเลยภัยจาก 'ธุรกิจแบบพีระมิด'

ในปี 1997 ประเทศแอลเบเนียประสบกับความไม่สงบทางการเมืองในวงกว้างเนื่องจากปัญหาเศรษฐกิจที่เกิดจากการล่มสลายของ 'โครงการพีระมิด' หรือ ธุรกิจพีระมิด โดยเงินจำนวนมากที่ถูกรัฐบาลยักยอกไปเพื่อระดมทุนสำหรับโครงการเหล่านี้ ส่งผลให้รัฐบาลพรรคประชาธิปไตยล่มสลายในเดือนมกราคม 1997 และเกิดความขัดแย้งซึ่งกินเวลานานจนถึงเดือนสิงหาคม 1997 ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 2,000 คน ความรุนแรงที่เกิดขึ้นบางครั้งถูกเรียกว่าเป็น 'การกบฏ' หรือแม้กระทั่ง 'สงครามกลางเมือง' 

ธุรกิจพีระมิดคืออะไร?
โครงการพีระมิด หรือ ธุรกิจพีระมิด (Pyramid scheme) เป็นรูปแบบธุรกิจที่แทนที่จะสร้างรายได้ (หรือให้ผลตอบแทนจากการลงทุน) จากการขายสินค้าที่ถูกต้องตามกฎหมายให้กับผู้บริโภคปลายทาง กลับสร้างรายได้หลักจากการรับสมัครสมาชิกใหม่พร้อมคำมั่นสัญญาว่าจะจ่ายเงิน (หรือบริการ) เมื่อจำนวนสมาชิกเพิ่มขึ้น การรับสมัครก็กลายเป็นเรื่องยากขึ้นอย่างรวดเร็ว จนเป็นไปไม่ได้ และด้วยเหตุนี้ ผู้สมัครใหม่ส่วนใหญ่จึงไม่ได้รับผลกำไร ดังนั้น ระบบพีระมิดจึงไม่ยั่งยืน ลักษณะที่ไม่ยั่งยืนของระบบพีระมิดทำให้ประเทศส่วนใหญ่ประกาศห้ามไม่ให้ใช้ระบบนี้เนื่องจากถือเป็นรูปแบบหนึ่งของการฉ้อโกง

สาเหตุที่มันถูกเรียกว่า 'ธุรกิจแบบพีระมิด' ก็เพราะลักษณะการหาสมาชิกเพิ่มไปเรื่อยๆ โดยมียอด (หรือ 'บอส') เป็นคนเริ่มต้น จากนั้นก็จะโน้มน้าวให้คนสนใจเรียกว่า 'สมาชิกลูกข่าย' สมาชิกลูกข่ายแต่ละคนต้องสรรหาคนอื่นอีกสองคน อีกสองคนก็จะหาสมาชิกลูกข่ายไปเรื่อยๆ ทวีคูณไปทีละสอง จนกระทั่งเกิดเป็นโครงสร้างเครือข่ายรูปพีระมิดโดยมีบอสอยู่บนยอดคนเดียวและมีสมาชิกลูกข่ายที่ทวีคูณไปเรื่อยๆ เป็นฐานที่ขายกว้างเป็นรูปสามเหลี่ยมแบบพีระมิด

เกิดอะไรขึ้นกับแอลเบเนีย?
ในปี 1992 พรรคประชาธิปไตยแห่งแอลเบเนียได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งเสรีครั้งแรกของประเทศ โดยซาลี เบริชาได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดี เป็นช่วงเวลาเดียวกับที่ในกลางทศวรรษ 1990 แอลเบเนียกำลังเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบเศรษฐกิจตลาดหลังจากอยู่ภายใต้ระบบเศรษฐกิจสังคมนิยมมาหลายทศวรรษ แต่เพราะยังอ่อนด้อยกับระบบทุนนิยมหรือระบบตลาด ทำให้ในไม่ช้าระบบการเงินขั้นพื้นฐานของแอลเบเนียก็ถูกครอบงำโดยโครงการแชร์ลูกโซ่ และแม้แต่เจ้าหน้าที่ของรัฐยังรับรองกองทุนการลงทุนแบบพีระมิดหลายกองทุน

การลงทุนแบบพีระมิดในแอลเบเนียเริ่มดำเนินการในปี 1991 ที่มันทำให้น่าดึงดูดใจก็เพราะบางธุรกิจเสนออัตราดอกเบี้ยสูงถึง 100% แต่แน่นอนว่ามันเป็นเพียงแค่การต้มตุ๋นและ 'บอส' ของบางธุรกิจถึงกับหนีไปต่างประเทศเพื่อธุรกิจล้มในที่สุด (ตามครรลองของมัน) สาเหตุที่มันเฟื่องฟูได้เพราะกฎหมายของประเทศหละหลวม และผู้นำประเทศละเลยที่จะตรวจสอบและควบคุม แม้แต่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ก็ยังไม่เฉลียวใจกับสถานการณ์ในแอลเบเนียตอนที่เข้ามาช่วยวางระบบการเงินในปี 1994 แต่ในปี 1996 ก็เริ่มตระหนักหลังจากผลร้ายของการลงทุนแบบพีระมิดปรากฏชัดขึ้น แม้ว่ากองทุนการเงินระหว่างประเทศจะแนะนำให้ยุติแผนการเหล่านี้ แต่รัฐบาลก็ยังคงอนุญาตให้ดำเนินแผนการเหล่านี้ต่อไป โดยมักจะเข้าร่วมในแผนการเหล่านี้ด้วยซ้ำ

เมื่อถึงเดือนมกราคม 1997 ธุรกิจการลงทุนแบบพีระมิดต่างๆ (ซึ่งส่วนใหญ่ใช้อำพรางการฟอกเงินและการค้าอาวุธ) ไม่สามารถชำระเงินได้อีกต่อไป ส่งผลให้ธุรกิจการลงทุนแบบพีระมิดเหล่านี้ล้มละลาย เมื่อถึงเวลานั้น จำนวนนักลงทุนที่หลงเชื่อคำสัญญาว่าจะร่ำรวยอย่างรวดเร็วได้เพิ่มขึ้นจนรวมเป็นสองในสามของประชากร 3 ล้านคนของแอลเบเนีย คาดว่ามีการลงทุนเกือบ 1,500 ล้านดอลลาร์ในบริษัทธุรกิจการลงทุนแบบพีระมิดที่เสนออัตราดอกเบี้ยรายเดือนตั้งแต่ 10% ถึง 25% ในขณะที่รายได้เฉลี่ยต่อเดือนของประเทศอยู่ที่ประมาณ 80 ดอลลาร์เท่านั้น ชาวแอลเบเนียจำนวนมากหลงกับการต้องการลงทุนเพื่อได้เงินมากๆ จนถึงกับต้องขายบ้านของตนเพื่อลงทุน และยังมีการผู้ย้ายถิ่นฐานไปทำงานในกรีซและอิตาลีเพื่อที่จะได้หาเงินมาอัดฉีดเพิ่มเติมให้กับธุรกิจการลงทุนแบบพีระมิดเหล่านี้

หายนะมาเยือนในที่สุด
ธุรกิจการลงทุนแบบพีระมิดเหล่านี้เริ่มพังลงระหว่างวันที่ 8 ถึง 16 มกราคม 1997 จนเมื่อวันที่ 22 มกราคม รัฐบาลได้อายัดทรัพย์สินของบริษัทบางแห่ง แต่มันก็เริ่มจะสายเกินไปแล้ว การประท้วงของประชาชนเกิดขึ้นครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 16 มกราคมทางตอนใต้ของประเทศ เมื่อวันที่ 19 มกราคม ผู้ประท้วงได้ออกมาประท้วงแผนการของประธานาธิบดีในเมืองหลวงติรานา และเมื่อวันที่ 24 มกราคม การกบฏอย่างเปิดเผยได้เริ่มต้นขึ้น ผู้คนหลายพันคนในเมืองลุชน์เยทางตะวันตกได้เดินขบวนไปที่ศาลากลางเพื่อประท้วงการที่รัฐบาลยังอุ้มการลงทุนแบบพีระมิดเหล่านี้ และการประท้วงได้ลุกลามไปสู่ความรุนแรงอย่างรวดเร็ว กองกำลังตำรวจถูกกวาดล้างในเวลาต่อมา และศาลากลางและโรงภาพยนตร์ที่อยู่ติดกันก็ถูกเผาทำลาย

หนึ่งวันต่อมา ในวันที่ 25 มกราคม หัวหน้าพรรคประชาธิปไตยซึ่งเป็นพรรครัฐบาลถูกส่งไปที่เมืองลุชน์เยเพื่อแก้ไขสถานการณ์ เมื่อไปถึง เขากลับถูกผู้ประท้วงจับตัวและถูกจับเป็นตัวประกันที่สนามกีฬาซิตี้สเตเดียมเป็นเวลาหลายชั่วโมง ซึ่งเขาถูกทำร้ายร่างกายด้วย กองกำลังพิเศษของแอลเบเนียเข้ามาแทรกแซงเพื่อนำหัวหน้าพรรคประชาธิปไตยออกมา ในเช้าวันที่ 26 มกราคม เหตุการณ์ลุกลามหนักเมื่อสถาบันของรัฐบาลทุกแห่งในเมืองถูกปล้นและทำลาย

นวันที่ 26–27 มกราคม เกิดความรุนแรงในเมืองอื่นๆ ทางตอนใต้ รวมทั้งเมืองท่าสำคัญอย่างวลอเรอ ในวันที่ 30 มกราคม พรรคฝ่ายค้านได้จัดตั้งกลุ่มเพื่อประชาธิปไตยขึ้นเพื่อพยายามเป็นผู้นำการประท้วง นอกจากนี้ พรรคการเมืองต่างๆ ยังแสดงความโกรธแค้นต่อประธานาธิบดีและรัฐบาลที่ปล่อยให้ธุรกิจการลงทุนแบบพีระมิดดำเนินการต่อไป แม้ว่ากองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) จะเตือนแล้วก็ตาม ในเวลาเดียวกันมีการกล่าวงหาว่าคนในรัฐบาลได้รับผลประโยชน์ส่วนตัวจากโครงการเหล่านี้ จึงเริ่มมีการก่อหวอดเพื่อที่จะใช้กำลังโค่นล้มรัฐบาล

ในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ รัฐบาลเริ่มแจกจ่ายเงินชดเชยบางส่วนที่สูญเสียไปให้กับบริษัทลูกของธนาคารแห่งชาติพาณิชย์ซึ่งเป็นของรัฐ แทนที่จะระงับการประท้วง การกระทำของรัฐบาลดังกล่าวกลับส่งผลเสียและทำให้ประชาชนยิ่งสงสัยมากขึ้น ยิ่งไปกว่านั้นบางบริษัทกลับล้มละลายเร็วขึ้นกว่าเดิม ทำให้ในวันที่ 6 กุมภาพันธ์ การประท้วงรุนแรงก็กลับมาเกิดขึ้นอีกครั้งในเมืองวลอเร ในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ ตำรวจถูกโจมตีในเมืองวลอเร และหนึ่งวันต่อมา ทางตอนใต้ กองกำลังพิเศษจำนวน 50 นายได้โจมตีและสลายการชุมนุมของผู้ประท้วงอย่างรุนแรง

แอลเบเนียกลายเป็นแดนเถื่อน
กลุ่มอาชญากรใช้ประโยชน์จากสถานการณ์ที่วุ่นวายโดยติดอาวุธและเข้ายึดเมืองทั้งเมือง ผู้นำส่วนใหญ่ถูกคุมขังในประเทศกรีซ ซึ่งเป็นเพื่อนบ้านของแอลเบเนีย แต่แล้วคนเหล่านี้กลับสามารถหลบหนีออกมาได้และกลับมายังแอลเบเนีย ในเมืองวลอเรอ มีกลุ่มอาชญากร 5 กลุ่มเกิดขึ้น แต่มีอยู่ 2 กลุ่มที่มีอิทธิพลสามารถครอบครองเมือง ได้แก่ กลุ่มซานีและกลุ่มกาซาย โดยการควบคุมเมืองมีลักษณะดังนี้ คือกิจกรรมในเมืองจะเริ่มต้นขึ้นเมื่อเวลา 10.00 น. โดยผู้คนจะมารวมตัวกันที่จัตุรัสในเมืองเพื่อฟังการประชุมคณะกรรมการกู้ภัย และสิ้นสุดในเวลา 13.00 น. หลังจากนั้น ท้องถนนในเมืองจะเงียบเหงา มีเพียงสมาชิกกลุ่มอาชญากรเท่านั้นที่ยังคงเคลื่อนไหว กลุ่มอาชญากรจะประกาศผ่านเครื่องขยายเสียงและแผ่นพับโฆษณาว่ากลุ่มอื่นๆ ควรอยู่แต่ในบ้านเนื่องจากอาจมีการสู้รบเกิดขึ้น และในแต่ละคืนมีการโจมตีด้วยระเบิดและปืน ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตหลายสิบราย

ในขณะที่บางเมืองถูกกลุ่มอาชญากรรมควบคุม แต่บางเมืองมีการตั้ง 'คณะกรรมการแห่งความรอด' (เรียกอีกอย่างว่าคณะกรรมการประชาชนหรือคณะกรรมการแห่งความรอดสาธารณะ) คณะกรรมการเหล่านี้ก่อตั้งขึ้นในหลายภูมิภาคทั่วประเทศ โดยมุ่งหวังที่จะแย่งชิงอำนาจการปกครองของรัฐแอลเบเนีย คณะกรรมการเหล่านี้มีอิทธิพลอย่างมากในภาคใต้ ซึ่งในช่วงต้นของวิกฤต คณะกรรมการแห่งความรอดในท้องถิ่นได้รวมตัวกันเพื่อก่อตั้งคณะกรรมการแห่งความรอดแห่งชาติ ซึ่งเรียกร้องให้ปลดประธานาธิบดีจากตำแหน่ง โดยสรุปก็คือ กลุ่มเหล่านี้คือกบฏที่ต้องการโค่นล้มรัฐบาลนั่นเอง

นอกจากนี้ ยังมีการปล้นชิงทรัพย์สินของรัฐ เช่น ฐานทัพทางตอนใต้ของแอลเบเนียถูกปล้นโดยกลุ่มต่างๆ มีการประเมินว่าโดยเฉลี่ยแล้ว ผู้ชายทุกคนที่มีอายุตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไปจะมีอาวุธปืนอย่างน้อย 1 กระบอกและกระสุนเพียงพอ ในระหว่างการกบฏ อาวุธต่างๆ กว่า 656,000 ชิ้น กระสุน 1,500 ล้านนัด ระเบิดมือ 3.5 ล้านลูก และทุ่นระเบิด 1 ล้านลูกถูกปล้นจากคลังแสงของกองทัพ ตามข้อมูลของ UNDP 

สถานการณ์คลี่คลายอย่างไร?
จนกระทั่งเมื่อวันที่ 28 มีนาคม สหประชาชาติได้ผ่านมติ 1101 เพื่อให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่แอลเบเนีย เมื่อวันที่ 15 เมษายน 'ปฏิบัติการอัลบา' (Operation Alba) จึงเริ่มต้นขึ้นเพื่อรักษาความสงบในแอลเบเนีย โดยมีทหารประมาณ 7,000 นายจากชาติสมาชิกต่างๆ ของสหประชาชาติที่นำโดยอิตาลีได้ถูกส่งไปแอลเบเนียเพื่อฟื้นฟูความสงบเรียบร้อยและหลักนิติธรรม กองกำลังชุดแรกประจำการอยู่ที่เมืองดูร์เรส และสถานการณ์เริ่มกลับสู่ภาวะปกติในเมืองหลวงติรานา เมื่อสถานกาณณ์เริ่มคลี่คลทายลงกองกำลังปฏิบัติการอัลบาส่วนหนึ่งยังคงประจำการต่อไปเพื่อฝึกฝนกองทัพแอลเบเนียให้เป็นไปตามมาตรฐานสมัยใหม่ และตั้งแต่กลางเดือนพฤษภาคม หน่วยนี้ได้รับการเข้าร่วมโดยสมาชิกของกองกำลังตำรวจข้ามชาติแอลเบเนียของกองกำลังยุโรปตะวันตก (WEU) ซึ่งทำงานเพื่อปรับโครงสร้างตำรวจและฐานเสียงฝ่ายนิติบัญญัติที่ก่อให้เกิดวิกฤตการณ์ครั้งนี้ 

กองกำลังสหประชาชาติทั้งหมดออกจากแอลเบเนียภายในวันที่ 11 สิงหาคม ตามรายงานบางแหล่งข้อมูลระบุว่ามีผู้เสียชีวิต 2,000 คน บางรายงานระบุว่าระหว่างเดือนมีนาคมถึงพฤษภาคม 1997 มีผู้เสียชีวิตประมาณ 1,600 คน ส่วนใหญ่เสียชีวิตระหว่างการยิงต่อสู้ระหว่างกลุ่มอาชญากรที่เป็นคู่แข่งกัน เอกสารของ UNIDIR อ้างว่ามีผู้เสียชีวิตมากกว่า 2,000 คนในเดือนมีนาคมเพียงเดือนเดียว โดยมีผู้ได้รับบาดเจ็บประมาณ 3,700 ถึง 5,000 คน  

ความเสียหายจากการก่อกบฏนั้นประเมินไว้ที่ 200 ล้านดอลลาร์ 

โดยทีมข่าวต่างประเทศ The Better

Photo - พลเมืองอเมริกันเดินเป็นแถวเดียวผ่านแนวป้องกันที่แน่นหนาเพื่อขึ้นเฮลิคอปเตอร์โจมตี CH-53 Super Stallion ของนาวิกโยธินสหรัฐ จากสนามภายในบริเวณที่พักของสถานทูตสหรัฐฯ  ในเมืองติรานา หลังจากที่รัฐบาลแอลเบเนียสูญเสียการควบคุมกองทัพและสลายตัวลงสู่ภาวะไร้ระเบียบ ภาพถ่ายโดย Brett Siegel ของกองทัพเรือสหรัฐฯ ผู้ช่วยช่างภาพระดับ 2 

 

TAGS: #ธุรกิจพีระมิด #แชร์ลูกโซ่ #แอลเบเนีย