บทวิเคราะห์เกาหลีเหนือเตรียมทำสงครามหรือไม่ หลังถูกเกาหลีใต้ส่งโดรนบุกถึงเมืองหลวง? 

บทวิเคราะห์เกาหลีเหนือเตรียมทำสงครามหรือไม่ หลังถูกเกาหลีใต้ส่งโดรนบุกถึงเมืองหลวง? 

สถานการณ์เบื้องหลัง 
กระทรวงต่างประเทศเกาหลีเหนือเผยว่าพบโดรนของเกาหลีใต้บรรทุกสื่อโฆษณาชวนเชื่อเป็นใบปลิววิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลเกาหลีเหนือ บินในตอนกลางคืนเหนือกรุงเปียงยางถึง 3 ครั้งในเดือนนี้ ทำให้เกาหลีเหนือขู่ที่จะโจมตีเกาหลีใต้ด้วยกำลังทหาร 

ในตอนแรก รัฐมนตรีกลาโหมเกาหลีใต้ปฏิเสธคำกล่าวอ้างของรัฐบาลเกาหลีเหรือ แต่ต่อมาคณะเสนาธิการทหารร่วมได้ออกแถลงการณ์ว่า “พวกเขาไม่สามารถยืนยันได้ว่าข้อกล่าวหาของเกาหลีเหนือเป็นความจริงหรือไม่”

อย่างไรก็ตาม นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่มีการยั่วยุกันแบบนี้ ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เกาหลีใต้กล่าวหาว่าเกาหลีเหนือใช้โดรนบินในน่านฟ้าของตน ในเดือนธันวาคม 2022 เกาหลีใต้ได้ส่งเครื่องบินรบเข้าประกบอย่างรวดเร็วหลังจากพบโดรนของเกาหลีเหนือ 5 ลำเหนือพื้นที่กรุงโซล

มันจะเกิดสงครามหรือไม่?
หลังจากเกิดกรณีโดรนเกาหลีใต้บินเข้าไปในเกาหลีเหนือ ฝ่ายเกาหลีเหนือมีปฏิกิริยาตอบโต้อย่างรุนแรง โดยขู่ว่าจะใช้กำลังทหาร โดยในตอนแรก คิมยอจอง น้องสาวของ คิมจองอึน ผู้นำสูงสุดของเกาหลีเหนืออกมาข่มขู่เกาหลีใต้ก่อนโดยบอกว่าเกาหลีใต้จะต้อง  "ต้องเสียหายอย่างหนักจากการรุกราน" ครั้งนี้ จากนั้นพี่ชาย คือ คิมจองอึน ได้เรียกประชุมระดับสูงด้านความมั่นคงแห่งชาติเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม  โดยกำหนดแผนปฏิบัติการทางทหารทันทีในช่วงเวลาที่ความตึงเครียดระหว่างเกาหลีเหนือและใต้ทวีความรุนแรงขึ้น 

สำนักข่าวกลางเกาหลี (KCNA) รายงานว่า "(คิมจงอึน) กำหนดแนวทางปฏิบัติการทางทหารทันทีและระบุภารกิจสำคัญที่ต้องปฏิบัติในการยับยั้งสงครามและการใช้สิทธิในการป้องกันตนเอง" ข่าวนี้ตามมาด้วยการระเบิดถนนและเส้นทางรถไฟที่เชื่อมต่อระหว่างสองประเทศที่พรมแดนเขตปลอดทหาร (DMZ)ในวันที่ 15 ตุลาคม 

ต่อมาในวันที่ 16 ตุลาคม สำนักข่าว KCNA รายงานว่า เยาวชนราว 1.4 ล้านคน รวมถึงนักศึกษาและเจ้าหน้าที่สหพันธ์เยาวชนของเกาหลีเหนือได้เข้าร่วมหรือกลับเข้าประจำการกองทัพในสัปดาห์นี้ โดยระบุว่าเยาวชนมุ่งมั่นที่จะต่อสู้ใน "สงครามศักดิ์สิทธิ์เพื่อทำลายล้างศัตรูด้วยอาวุธของการปฏิวัติ" 

รายงานของสำนักข่าวเคซีเอ็นเอระบุว่า “หากเกิดสงครามขึ้น สาธารณรัฐเกาหลี (เกาหลีใต้) จะถูกลบออกไปจากแผนที่ เนื่องจากสาธารณรัฐเกาหลีต้องการสงคราม เราจึงพร้อมที่จะยุติการดำรงอยู่ของสาธารณรัฐเกาหลี”

บทวิเคราะห์ความขัดแย้ง
หลังจากที่สถานการณ์เริ่มคุกรุ่นเมื่อต้นสัปดาห์นี้ สิ่งที่น่าสังเกตอย่างหนึ่งก็คือ โซเชียลมีเดียของจีนมีการพูดถึงความขัดแย้งนี้ในวงกว้างอย่างมากถึงขนาดที่ประเด็นเกี่ยวกับเกาหลีเหนือติดแฮชแท็กอันดันต้นๆ นั่น สะท้อนว่าสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องกับเกาหลีเหนือจะทำให้จีนสะเทือนไปด้วย เพราะหากเกาหลีเหนือก่อสงครามขึ้นมาจริงๆ ก็คงไม่แคล้วที่จีนจะต้องเข้าไปมีส่วนด้วยเหมือนในสมัยสงครามเกาหลีในทศวรรษที่ 1950 เนื่องจากเกาหลีเหนือมีสถานะเป็น 'รัฐกันชน' ให้กับจีน โดยกันไม่ให้สหรัฐฯ ใช้เกาหลีใต้เป็นฐานที่มั่นคุกคามจีน โดยเฉพาะในระยะหลังเกาหลีใต้ถูกใช้เป็นฐานที่มั่นคุกคามจีนชัดเจนขึ้น จนกระทั่งจีนลดระดับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับเกาหลีใต้ และทำให้กระแสวัฒนธรรมป๊อปของเกาหลีใต้ที่เคยรุ่งเรืองในจีนถึงกับ "ตายสนิท"

เนื่องจากเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับจีนโดยตรง จีนจะไม่มีทางปล่อยให้เกาหลีเหนือทำตามใจชอบได้ ดังนั้น เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม เหมาหนิง โฆษกกระทรวงต่างประเทศจีน  กล่าวในการแถลงข่าวว่า “ความตึงเครียดบนคาบสมุทร (เกาหลี) แห่งนี้ไม่เป็นผลดีต่อทุกฝ่าย และสิ่งสำคัญที่สุดคือการป้องกันไม่ให้ความขัดแย้งรุนแรงขึ้นอีก” และย้ำว่า “จุดยืนของจีนในการแก้ไขปัญหาคาบสมุทรด้วยวิธีการทางการเมืองยังคงเหมือนเดิม และเราหวังว่าทุกฝ่ายจะร่วมมือกันในเรื่องนี้” - นี่คือการส่งสัญญาณไปยังเกาหลีเหนือว่าอย่าผลีผลามทำอะไร เพราะจีนไม่ต้องการสงครามในเวลานี้ 

แม้ว่าเกาหลีใต้จะส่งโดรนเข้ามา "ล้วงคองูเห่า" เพื่อหยามศักดิ์ศรีของเกาหลีเหนือ แต่เกาหลีเหนือก็เคยทำแบบนี้มาก่อนกับเกาลีใต้ และอันที่จริงแล้วเกาหลีเหนือยังส่งบอลลูนบรรทุกของสกปรกลอยข้ามไปฝั่งใต้เพื่อทำการโจมตี "แบบเบาะๆ" อย่างต่อเนื่อง (เพื่อตอบโต้ที่เกาหลีใต้มักจะเปิดลำโพงเสียงโฆษณาชวนเชื่อและเพลงเคป๊อปเข้าไปในฝั่งเกาหลีเหนือเพื่อยั่วยุ) จึงไม่น่าแปลกใจที่ความขัดแย้งครั้งนี้จะไม่สมเหตุผลที่จะลุกลามเป็นสงครามใหญ่ เพราะมีเหตุมาจากการทำ 'สงครามวาจา' แต่ที่เกาหลีเหนือต้องมีท่าทีกราดเกรี้ยวขนาดนี้ ก็เพื่อรักษาศักดิ์ศรีเอาไว้ เนื่องจากเมืองหลวงถูกบุกเข้าไปโดยโดรนจากฝ่ายตรงข้าม 

จะมีเหตุผลที่ใหญ่กว่านั้นที่จีนจะไม่ห้ามปรามหรือทำนิ่งๆ กับการโจมตีของเกาลีเหนือ ตัวอย่างเช่น การโจมตีเกาะยอนพยองของเกาหบีใต้โดยเกาหลีเหนื ซึ่งเป็นการยิงปืนใหญ่ถล่มเกาะแห่งนี้อย่างหนักเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2010 โดยเกาหลีเหนืออ้างว่าทำการยิงตอบโต้ปืนใหญ่ของเกาหลีใต้ที่ยิงเข้าไปในน่านน้ำอาณาเขตของเกาหลีเหนือระหว่างที่เกาหลีใต้กำลังซ้อมรบ แต่มีการวิเคราะห์กันว่า เกาหลีเหนือกระทำรุนแรงขนาดนี้ ก็เพื่อแสดงแสนยานุภาพในช่วงเวลาที่ คิมจองอึน เพิ่งจะรับตำแหน่งผู้นำสูงใหม่ๆ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องแสดงความแข็งแกร่งออกมาให้เห็น ด้วยสาเหตุที่ที่หนักแน่นแบบนี้ (ถ้าหากเป็นเช่นนั้นจริง) จะสังเกตได้ว่ากระทรวงการต่างประเทศจีนกล่าวว่ารัฐบาลจีนเรียกร้องให้ทั้งสองฝ่าย "ดำเนินการเพื่อสันติภาพและเสถียรภาพบนคาบสมุทรเกาหลี" แต่ไม่ได้ประณามการกระทำของเกาหลีเหนืออย่างชัดเจน

ในเวลานี้ ทั้งเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ต่างเร่งพัฒนาเทคโนโลยีโดรนเพื่อใช้รับมืออีกฝ่าย แต่มันจะไม่เหมือนการทำสงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครนที่ตัวเอกไม่ใช่อาวุธในการทำสงครามแบบเก่า แต่เป็นการส่งโดรนลุกล้ำเข้าไปเพื่อเล็งเป้าหมายเฉพาะ ในกรณีของเกาหลีเหนือมีลักษณะต่างจาก 'รัฐที่สมประกอบ' ทั่วๆ ไป นั่นคือ เกาหลีเหนือคาดเดาได้ยาก มักทำการข่มขู่อย่างดุเดือด และตัดสินทำอะไรที่เหนือความคาดหมาย (เช่น ตอบโต้ด้วยการระเบิดถนน) ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกที่เกาหลีเหนือจะถูกเรียกว่าเป็น Rogue state โดยสหรัฐฯ แม้ว่าจะเป็นการเรียกในทำนองที่กำหนดเกาหลีเหนือเป็นศัตรู แต่มันก็สะท้อนความ Rogue (ไม่มีหลักการและดุร้ายจนคาดเดาไม่ได้) ของเกาหลีเหนือได้ดี

ดีไม่ดี จีนอาจะเริ่มมองเห็นแล้วว่าเกาหลีเหรือเป็น Rogue ที่ควบคุมได้ยาก ดังนั้น น้ำเสียงคำเตือนของจีนไม่ให้ความขัดแย้งครั้งนี้ลุกลาม จึงค่อนข้างตรงไปตรงมา

ส่วนชาติตะวันตกไม่เห็นเกาหลีเหนือเป็นรัฐที่ควบคุมได้อยู่แล้ว เราจะเห็นได้จากการนิยามของสื่อตะวันตกบางแห่ง เช่น RFI ที่ตั้งคำถามว่า "การทิ้งระเบิดถนนของคิมจองอึน เป็นการกระทำของทารกในร่างยักษ์หรือไม่?" พร้อมชี้ว่า "การทิ้งระเบิดถนนครั้งนี้เป็นเสมือนพฤติกรรมของเด็กยักษ์ที่ไม่มีนัยสำคัญใดๆ เลยนอกจากการข่มขู่และสิ้นเปลืองทรัพยากรของประเทศ" ซึ่งเท่ากับด้อยค่า คิมจองอึน ว่าเป็นแค่เด็กน้อยตัวใหญ่ที่ทำอะไรไร้เหตุผล 

บทวิเคราะห์โดย กรกิจ ดิษฐาน ผู้ช่วยบรรณาธิการบริหาร และบรรณาธิการข่าวต่างประเทศ The Better 

Photo - ภาพนี้ถ่ายเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2024 และเผยแพร่โดยสำนักข่าวกลางเกาหลี (KCNA) อย่างเป็นทางการของเกาหลีเหนือผ่าน KNS เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2024 แสดงให้เห็นผู้นำเกาหลีเหนือ คิมจองอึน (กลาง) เข้าร่วมการประชุมปรึกษาหารือเกี่ยวกับการป้องกันประเทศและความมั่นคง ณ สถานที่ที่ไม่เปิดเผยในเกาหลีเหนือ สื่อของรัฐรายงานว่าผู้นำเกาหลีเหนือ คิมจองอึน ได้เรียกประชุมระดับสูงด้านความมั่นคงแห่งชาติเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม โดยกำหนดแผน "ปฏิบัติการทางทหารทันที" ในช่วงเวลาที่มีความตึงเครียดกับเกาหลีใต้เพิ่มขึ้น (ภาพโดย KCNA VIA KNS / AFP)

TAGS: #เกาหลีเหนือ #เกาหลีใต้