"คนโกงไม่เคยเจ็บ ถูกโกงไม่เคยจำ" ประวัติศาสตร์ย่อของแชร์ลูกโซ่ที่ใช้กลเม็ดซ้ำๆ แต่คนก็ยังเชื่อ 

ต่อไปนี้เป็นประวัติศาสตร์ของแชร์ลูกโซ่ตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 จนถึงศตวรรษที่ 21 ซึ่งจะเห็นว่า แม้เวลาจะผ่านมากว่า 200 ปี ผู้คนก็ยังไม่รอดพ้นจากการถูกต้มตุ๋นด้วยวิธีการแบบเดิมๆ ที่ใช้มาเป็นร้อยๆ ปีแล้ว 

ปี ค.ศ. 1878 - ซาราห์ ฮาว (Sarah Howe) นักต้มตุ๋นหญิงชาวอเมริกัน เปิดธนาคารออมทรัพย์ชื่อว่า Ladies' Deposit Company (LDC บริษัทฝากเงินสำหรับสตรี) ในปี 1878 โดยมีจุดประสงค์เพื่อเล็งเป้าหมายการล่อลวงไปที่ผู้หญิงที่ยังไม่แต่งงาน เธออ้างว่าธนาคารทำงานร่วมกับองค์กรการกุศลของกลุ่มเควกเกอร์ (Quaker คริสเตียนเคร่งศาสนาที่เน้นสันติภาพ) ที่ต้องการช่วยเหลือผู้หญิงที่ด้อยโอกาส เธอสัญญาว่าจะให้ดอกเบี้ยสูง 8% ต่อเดือน แต่ในความเป็นจริงไม่มีองค์กรการกุศลดังกล่าวเกิดขึ้นเลย ซาราห์ ฮาวสามารถดึงดูดลูกค้าได้มากกว่า 1,200 รายและเงินฝาก 500,000 เหรียญสหรัฐ ก่อนที่สื่อมวลชน คือ หนังสือพิมพ์ Boston Daily Advertiser จะเริ่มเปิดโปงว่า LDC เป็นการฉ้อโกงในปี 1880 หลังจากนั้น ซาราห์ ฮาว ถูกจับกุม ถูกตัดสินว่ามีความผิด และถูกจำคุกสามปี เธอพยายามที่จะดำเนินการแผนการล่อลวงอื่นๆ หลังจากได้รับการปล่อยตัวในช่วงทศวรรษปี 1880 แต่ก็ถูกจับหรือหลบหนีเพื่อหลีกเลี่ยงการถูกจับกุม ในที่สุดก็เปลี่ยนอาชีพมาเป็นหมอดู จนกระทั่งเสียชีวิตในปี 1892

ปี ค.ศ. 1899 - เกิดกรณี วิลเลียม มิลเลอร์ (William Miller) เจ้าของฉายา "มิลเลอร์ 520 เปอร์เซ็น" (520% miller) มิลเลอร์ได้เปิดธุรกิจในชื่อ "Franklin Syndicate" ในย่านบรู๊คลิน, นครนิวยอร์ก มิลเลอร์สัญญาว่าจะให้ดอกเบี้ย 10% ต่อสัปดาห์จากการลงทุนคนละ  10 เหรียญสหรัฐต่อสัปดาห์ โดยในยุคนั้นผลตอบแทนการลงทุนที่อัตรา 6% ก็นับว่ามากแล้ว แต่เท่านั้นยังไม่พอ มิลเลอร์ถึงขนาดโอ้อวดว่าผู้ลงทุนจะสามารถได้ผลตอบแทนสูงถึง 520% นั่นคือการหลอกลวงว่า หากฝากเงิน 10 เหรียญสหรัฐและเก็บเงินปันผล 1 เหรียญสหรัฐไว้ทุกสัปดาห์ เมื่อสิ้นปี ก็จะมีเงิน 52 เหรียญสหรัฐ ซึ่งคิดเป็นอัตราผลตอบแทนจากการลงทุนประจำปีมากถึง 520% ผลลัพธ์ที่น่าเย้ายวนใจนี้ทำให้เขาสามารถหลอกลวงผู้ลงทุนมากถึง  13,000 คน รวมเป็นเงินไป 1 ล้านเหรียญสหรัฐในสมัยนั้น และถูกตัดสินจำคุก 10 ปี หลังจากได้รับการอภัยโทษ เขาก็เปิดร้านขายของชำบนเกาะลองไอส์แลนด์ ใช้ชีวิตเหมือนคนปกติต่อไป

ปี ค.ศ. 1920 -  ชาร์ลส์ พอนซี (Charles Ponzi) นักต้มตุ๋นด้านการลงทุนเริ่มถูกตั้งจ้อสงสัยในปีนี้ หลังจากที่แผนการเก็งกำไรของเขาถูกตั้งข้อสงสัยและถูกเปิดโปง ซึ่งท้ายที่สุดแล้วกลับกลายเป็นเพียงการหลอกลวง โดยจะจ่ายเงินให้กับนักลงทุนในช่วงแรกด้วยเงินฝากของนักลงทุนที่ถูกล่อลวงเข้ามาภายหลัง  เขาอ้างว่าเขาสามารถเพิ่มเงินของนักลงทุนเป็นสองเท่าภายใน 90 วันผ่านแผนการการซื้อและขายคูปองตอบกลับไปรษณีย์ระหว่างประเทศ (IRC) วิธีการทำงานของกาารต้มตุ๋นนี้ก็คือ พอนซีพบว่าการซื้อ IRC จากประเทศหนึ่งจะมีส่วนต่างราคาที่ต่ำมากเมื่อเทียบกับการซื้อ IRC ในสหรัฐฯ เขาจึงใช้ช่องโหว่นี้กว้านซื้อ IRC ในอิตาลีเพื่อนำมาขายต่อเพื่อขึ้นเงินในสหรัฐฯ การลงทุนที่ดูเหมือนจะได้เงินแบบเหนาะนี้ ทำใหมีคนเชื่อพอนซีว่าจะทำกำไรได้ ซึ่งพอนซีก็อ้างว่าจะสามารถกำไรสุทธิจากการทำธุรกรรมเหล่านี้หลังจากหักค่าใช้จ่ายและอัตราแลกเปลี่ยนแล้วอยู่ที่เกิน 400% ทำให้เขาเก็บเงินได้มากกว่า 8 ล้านเหรียญจากนักลงทุนประมาณ 30,000 คนในเวลาเพียงเจ็ดเดือน ก่อนที่แผนการจะล้มเหลวในที่สุด เขาถูกจำคุก 14 ปี ถูกเนรเทศออกจากสหรัฐอเมริกา และใช้ชีวิตที่เหลือไปกับการหาทางชดใช้เงินที่สูญเสียไปของนักลงทุน จนกระทั่งตายที่บราซิลในสถานะคนยากไร้ ในเวลาต่อมา คำว่า 'แชร์ลูกโซ่' หรือ 'แผนการพอนซี' (Ponzi scheme) ได้รับการตั้งชื่อตามเขา

ปี ค.ศ. 1980 -  เมื่อเข้าสู่ทศวรรษ 1980 การต้มตุ๋นก็วิวัฒนาการไปอีกระดับ เช่น กรณีของ ฌอง ปิแอร์ แวน รอสเซม (Jean Pierre Van Rossem) บริหารบริษัทการลงทุนในตลาดหุ้นที่มีชื่อว่า 'Moneytron"' ในเบลเยียม แวน รอสเซมอ้างว่าเขาได้พัฒนาแบบจำลองทางสถิติเพื่อทำนายพฤติกรรมของตลาดหุ้นและสามารถเอาชนะระบบทุนนิยมได้ นักลงทุนเชื่อคำกล่าวอ้างของแวน รอสเซม ประกอบกับพรสวรรค์ในการโปรโมตตัวเองของเขา ทำให้แวน รอสเซมสะสมเงินจากนักลงทุนได้มากถึง 860 ล้านเหรียญสหรัฐ ในช่วงที่ประสบความสำเร็จสูงสุด แวน รอสเซมเป็นเจ้าของเรือยอทช์ มีรถเฟอร์รารี 108 คัน และเครื่องบิน Falcon 900 จำนวน 2 ลำ ต่อมามีการขายทุกอย่างเพื่อชำระหนี้ ในปี 1991 เขาถูกตัดสินจำคุก 5 ปีในข้อหาที่เป็นส่วนหนึ่งของโครงการแชร์ลูกโซ่ แต่เขากลับอ้างว่าเจตนาที่เขาทำแบบนั้นคือต้องการที่ "จะทำให้ระบบพังพินาศ" 

ปี ค.ศ. 1994 - ในทศวรรษที่ 1990 เกิดกรณีบริษัท МММ ที่ถือเป็นบริษัทของรัสเซียที่ก่ออาชญากรรมแบบแชร์ลูกโซ่ที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก โดยประมาณการไว้ต่างกันว่ามีคนสูญเสียเงินมากถึง 5 ถึง 40 ล้านคน บริษัทเริ่มดึงดูดเงินจากนักลงทุนรายย่อย โดยให้ผลตอบแทนต่อปีสูงถึง 1,000% - 3000% และบริษัทได้เริ่มแคมเปญโฆษณาทางทีวีในเชิงรุก โดยใช้เงิน 330 ล้านรูเบิลในเดือนมีนาคม 1994 และยังแจกตั๋วรถไฟใต้ดินฟรีให้กับชาวมอสโกทุกคนโดยเลือกวันใดวันหนึ่ง ทั้งนี้เพื่อสร้างภาพจำให้กับโครงการนี้ ปรากฏว่ามีผู้หลงเชื่อหลายล้านคนดังที่กล่าวมา และยังทำให้มีธุรกิจแชร์ลูกโซ่เกิดขึ้นตามมามากมายในรัสเซีย มีรายหนึ่งอ้างว่าจะให้ผลตอบแทนสูงถึง 30,000% เลยทีเดียว แต่ในที่สุด МММ ก็ถูกรัฐบาลเข้าควบคุม โดยเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 1994 กระทรวงการคลังได้ออกแถลงการณ์ระบุ MMM ไว้ในรายชื่อบริษัทการลงทุนหลายแห่งที่ออกหลักทรัพย์ที่ไม่ได้จดทะเบียนอย่างผิดกฎหมาย นักลงทุนนับพันคนออกมาประท้วงหน้าสำนักงานใหญ่ของบริษัท จนทำให้ตำรวจปราบจลาจลต้องเข้ามาแทรกแซง ส่วนหุ้น MMM ร่วงจาก 115,000 รูเบิลเหลือ 1,000 รูเบิล หลังจากนั้น มีรายงานว่านักลงทุนบางรายขู่ว่าจะจุดไฟเผาตัวเอง โดยสรุปแล้ว MMM มีหนี้กับนักลงทุนอยู่ระหว่าง 100,000 ล้านถึง 3 ล้านล้านรูเบิล (ประมาณ 50 ล้านเหรียญสหรัฐถึง 1,500 ล้านเหรียญสหรัฐ)

ปี ค.ศ. 2008 - เบอร์นาร์ด แมดอฟฟ์ (Bernard Madoff) ถือเป็นบุคคลสำคีญคนหนึ่งของวอลล์สตรีท เขาเป็นผู้บุกเบิกในการซื้อขายอิเล็กทรอนิกส์และเป็นประธานของตลาดหลักทรัพย์ Nasdaq ในช่วงต้นทศวรรษ 1990 อีกด้วย ต่อมาเขาก่อตั้งบริษัทการเงินที่มีชื่อเสียงที่สุดแห่งหนึ่งแห่งวอลล์สตรีท แต่เจตนาก็คือเพื่อลอกลวงลูกค้าที่หลงเชื่อว่าถ้าลงทุนกับเขาแล้วจะได้ผลตอบแทนก้อนโต แต่จริงๆ แล้วสิ่งที่แมดอฟฟ์ทำคือการฝากเงินของลูกค้าเข้าบัญชีธนาคารเดียวที่เขาใช้จ่ายเงินให้กับลูกค้าที่มีอยู่แล้วที่ต้องการถอนเงิน จากนั้นเขาจะระดมทุนเพื่อรับมือกับการถอนเงิน ด้วยการดึงดูดนักลงทุนรายใหม่และเงินทุนของพวกเขาเข้ามาในบัญชีธนาคารของเขา แต่ระบบแชร์ลูกโซ่นี้ไม่ยั่งยืนเมื่อตลาดหุ้นพังพินาศในปี 2008 ทำให้นักลงทุนต้องการถอนเงินมากๆ ในคราวเดียวกัน เมื่อเห็นว่าจะไปไม่รอดแล้วในวันที่ 10 ธันวาคม 2008 แมดอฟฟ์ได้บอกกับลูกชายของเขาว่าการลงทุนของเขานั้น "เป็นเรื่องโกหกครั้งใหญ่" ในวันถัดมา เขาถูกจับกุมและถูกตั้งข้อหาฉ้อโกงหลักทรัพย์เพียงกระทงเดียว ณ เดือนธันวาคม 2008 คาดว่ามูลค่าความเสียหายอยู่ที่ 65,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ทำให้เป็นหนึ่งในการฉ้อโกงครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ แมดอฟฟ์ถูกตัดสินจำคุก 150 ปีเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2009 เขาเสียชีวิตในคุกในปี 2021

แมดอฟฟ์ เคยบอกว่า “ทุกคนเป็นคนละโมบ ทุกคนอยากจะทำไปเรื่อย ส่วนผมก็แค่ไปตามน้ำด้วยเท่านั้น” - นั่นสะท้อนว่า การฉ้อโกงและการถูกต้มจะเกิดขึ้นไม่ได้ ถ้าไม่มีความโลภคอยบงการ 

ทีมข่าวต่างประเทศ The Better

TAGS: #แชร์ลูกโซ่