วงการพระกำลังใช้เงิน 'เผาวัด' กรณี The Icon ทำให้ญาติโยมตาสว่างแต่บางสงฆ์ถึงคราวดับ

วงการพระกำลังใช้เงิน 'เผาวัด' กรณี The Icon ทำให้ญาติโยมตาสว่างแต่บางสงฆ์ถึงคราวดับ

แน่นอนว่าเงินเป็นสิ่งจำเป็นในการเลี้ยงดูพระ ดูแลวัด และเผยแพร่ศาสนา แต่พระสงฆ์ 'บางรูป' ต้องทบทวนตัวเองแล้วล่ะว่า "เราควรจะรับเงินได้แค่ไหน?" 

จากกรณี The Icon ที่มีพระสงฆ์บางรูปไปพัวพัน (ทางอ้อม?) รวมถึงมีข่าวเสียหายเรื่องรับปัจจัยเป็นเงินนับล้าน ยิ่งทำให้ญาติโยมยิ่งปักใจเชื่อว่า "พระเป็นอาชีพที่ลงทุนน้อย แต่ได้ผลกำไรมาก" 

ดังนั้น ถ้าพระสงฆ์ยิ่งรับปัจจัยมากๆ เกินความจำเป็น ก็เท่ากับรับเงินมา "เผาพระศาสนาให้วอดวาย"

การเผาพระศาสนา หรือ 'เผาวัด' หมายถึงการทำลายพุทธศาสนา ศาสนาพุทธคือทางรอดของคนทุกข์ พระสงฆ์มีหน้าที่บอกทางพ้นทุกข์ ถ้าพระสงฆ์ทำลายศาสนา ก็เท่ากับปิดทางพ้นทุกข์ของผู้คน เท่ากับทำลายชีวิตคนมากมายไปด้วย 

ในแง่ของศาสนา นี่คือเป็น 'มหันตโทษ'

เงิน (ที่เกินความจำเป็น) จึงไม่ใช่สิ่งที่บำรุงศาสนาอย่างที่บางคนอ้าง แต่คือสิ่งที่ทำลายศาสนาชัดๆ ถ้าหากพระรับเงินมาโดยไม่ไตร่ตรอง

ผมไม่อยากจะทำตัวเป็นโยมสอนพระ แต่รู้สึกว่าวงการสงฆ์เริ่มมีคนเคารพน้อยลงไปทุกที ยิ่งคนเคารพพระน้อยลง ศาสนาพุทธก็จะสั่นคลอน หากปล่อยให้เป็นแบบนี้ ผมเองก็จะผิดด้วยในฐานะพุทธบริษัทสี่

เนื่องจากผมสนใจประวัติศาสตร์ จะขอยกตัวอย่างกรณี 'เผาวัด' ให้ฟังสักเรื่องหนึ่ง ซึ่งสะท้อนความละโมบโลภมากของวงการสงฆ์ จนกระทั่งต้องถูก "ชำระมลทินด้วยไฟ" 

ในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นสมัยศตวรรษที่ 16 โอดะ โนบุนางะ ถือเป็นขุนศึกคนแรกในยุคที่ญี่ปุ่นแตกเป็น 'ก๊ก' ต่างๆ ที่พยายามรวมก๊กให้เป็นหนึ่งเดียวกัน แต่การรวมก๊กต่างๆ ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะไม่ได้มีแค่ก๊กของพวกขุนศึก แต่พวกวัดใหญ่ๆ ยังมีกองทัพและอำนาจการเมืองคอยแทรกแซงด้วย 

พวกวัดที่มีอำนาจบาตรใหญ่เหล่านี้ คอยจะอุ้ม 'นักการเมือง' ที่เป็นลูกศิษย์ในการแสวงหาอำนาจและรบราฆ๋าฟัน ทั้งๆ ที่ไม่ใช่หน้าที่ของตัวเอง แต่ทำไปเพราะ "เงินมันดี" 

ตัวอย่างเช่น หมู่อารามบนภูเขาฮิเอซัน นอกกรุงเกียวโต (ปัจจุบันคือเมืองโอสึ จังหวัดชิงะ) เป็นที่ตั้งของอารามหลวงของนิกายเทนไดซึ่งถือเป็นผู้ประกอบพิธีบำรุงขวัญประเทศชาติและค้ำชูพระราชวงศ์ 

หมู่อารามบนภูเขาฮิเอซันมีแบ๊คอัพเป็นวังหลวง จึงมักจะเล่นการเมืองและยังมีกองทัพ ' พระนักรบ' ของตัวเองโดยอ้างว่าเพื่อปกป้องพระศาสนา แต่พอมีกองทัพและมีลูกศิษย์เป็นคนมีอิทธิพลก็ลงมาเล่นกับไฟสงครามด้วย ไม่ใช่แค่ปีสองปี แต่ทำแบบนี้มาหลายร้อยปี 

โดยไม่มีใครกล้าสั่งสอนพระในวัดนี้ เพราะถือกันผิดๆ ว่า หมู่อารามบนภูเขาฮิเอซันคอยทำพิธีค้ำชูประเทศชาติเอาไว้ หากทำอะไรลงไปก็เท่ากับทำลายบ้านเมือง

อีกทั้ง คำว่า 'พระภูเขา' ยังมีความนับเท่ากับคำว่า 'พระป่า' ถือกันว่าเป็นพระสอนธรรมะสอนวิปัสสนา เป็นพระที่ชาวบ้านชาวเมืองเคารพบูชา แม้ว่าพฤติกรรมจะตรงกันข้ามก็ตาม แต่ "ชื่อมันขายได้" ตราบใดที่ผู้คนไม่สำนึกว่ามันเป็นเรื่องจอมปลอม ก็พร้อมที่จะกราบไหว้โดยไม่ตรวจสอบ

แต่ โอดะ โนบุนางะ ไม่เชื่อแบบนั้น เพราะเล็งเห็นว่าพระสงฆ์บนหมู่อารามบนภูเขาฮิเอซัน เป็นพวกอลัชชี และเห็นว่าหากปล่อยไว้พระพวกนี้จะใช้อิทธิพลการเมืองทำลายเขาได้ เช่น ไปเป็นผู้ประสานงานกับฝ่ายตรงข้ามเพื่อทำการปิดล้อมแล้วฆ่าทิ้งเสีย

ดังนั้น เพื่อตัดไฟแต่ต้นลม เมื่อวันที่ 12 เดือน 12 ค.ศ. 1571 กองกำลังของโอดะ โนบุนางะจึงโจมตีวัดเอ็นเรียคุจิ ศูนย์กลางของหมู่อารามบนภูเขาฮิเอซัน กล่าวกันว่ากองกำลังของโนบุนางะได้เผาทำลายอาคารของวัดและตัดศีรษะพระภิกษุ นักรบพระ และเด็กๆ ทั้งหมด นับแต่นั้นมาหมู่อารามบนภูเขาฮิเอซันที่เล่นการเมืองและร่ำรวยมาหลายร้อยปี ก็พังพินาศ 

ต่อมามีการรื้อฟื้นขึ้นมาอีก ก็กลายเป็น 'วัดจริงๆ' ไม่ใช่กองบัญชาการสงฆ์ที่เกลือกกลั้วทางโลกอีกต่อไป การเผาวัดครั้งนั้นจึงเป็นการ "ชำระมลทินด้วยไฟ" อย่างแท้จริง ใช่แค่ทำลายเสี้ยนหนามของโนบุนางะ

ต่อให้โนบุนางะไม่ทำการ "ชำระมลทินด้วยไฟ" พระศาสนาก็มัวหมองลงมากแล้ว แค่รอเวลาผู้มีอำนาจในบ้านเมืองมาชำระให้สะอาดเท่านั้น 

จากบันทึกประวัติศาสตร์ยุคนั้นที่ชื่อ "บันทึกทะมงอิน" กล่าวไว้ว่า “(พระภิกษุแห่งภูเขาฮิเอ) ละเลยการศึกษาพระธรรม ทำให้ภูเขาแห่งนี้ตกอยู่ในสภาวะพินาศ”

จากบันทึกชื่อ "ชินโจ โคกิ" ซึ่งบันทึกประวัติศาสตร์เกี่ยวกับโนบุนางะ กล่าวว่า "พระบนเขาและเชิงเขา (หมายถึงพระในนิกายเทนไดทั้งหมด) แม้ว่าพวกเขาจะเป็นผู้พิทักษ์วังหลวง แต่กลับไม่ละอายที่จะเลียนแบบการกระทำอย่างพวกฆราวาส ไม่สนใจหนทางสู่สวรรค์ เป็นพวกนักเลงผู้หญิง (หมายถึงเสพเมถุน) กินปลาและนก (ศีลของพระมหายานคือห้ามฉันเนื้อสัตว์) ติดสินบนด้วยทองและเงิน และชักนำตระกูลอาไซและอาซากุระตามที่พวกเขาต้องการ"

ตระกูลอาไซและอาซากุระคือศัตรูของโอดะ โนบุนางะ หากสองตระกูลนี้ซัดกันตรงๆ กับโนบุนางะก็ดีไป แต่นี่มีพระบนภูเขามาคอยช่วยเหลือด้วย ทำให้โนบุนางะต้องเผาทำลายวัดเท่านั้น 

เพราะพระสงฆ์ทำตัวเป็นโยม ไม่ศึกษาพระธรรม แต่ประจบโยมเพื่อเล่นการเมือง ทำให้ผู้คนยุคหลังจำนวนหนึ่งมองว่าการเผาหมู่อารามบนเขาฮิเอเป็นเรื่องที่ชอบธรรมแล้ว เพราะเป็นการชำระพระศาสนาให้หมดสิ้นความโสมม 

ตัวอย่างเช่น อะระอิ ฮะคุเซกิ นักปราชญ์สำนักขงจื้อในสมัยยุคกลางเอโดะ (หลังจากโนบุนางะสิ้นชีวิตไปประมาณร้อยกว่าปี) ได้ประเมินเหตุการณ์นี้เอาไว้ว่า "ถึงแม้ (การเผาวัด) จะโหดร้าย แต่ก็สามารถขจัดความชั่วร้ายของพระชั้นสูง (พระสงฆ์แห่งภูเขาฮิเอ) ได้ตลอดกาล และนี่จะเป็นเหตุการณ์อันทรงคุณค่าสำหรับโลกอีกด้วย"

ในทัศนะของ นักปราชญ์สำนักขงจื้อที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับศาสนาพุทธ ก็ยังมองว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องดีต่อโลก เพราะพระที่ชั่วร้ายนั้นดีไม่ดีจะชั่วร้ายกว่าฆราวาสเสียอีก เพราะอาศัยผ้ากาสาวพัสตร์เป็นเกราะกำบัง ทำให้คนไม่กล้าวิจารณ์ เช่น พระบนอารามบนภูเขาฮิเอที่ถือตัวว่า "ใช้พระธรรมคุ้มครองจักรพรรดิและประเทศ" ทำให้ไม่มีคนกล้าทัดทาน 

สุดท้ายแล้ว เมื่อพระประจบผู้มีอำนาจและผู้มีเงิน ศาสนาพุทธในญี่ปุ่นจึงเสื่อมความนิยมอย่างรวดเร็วในหมู่สามัญชน แล้วคนสามัญก็ไปนับถือพวกฆราสาสที่สอนธรรมะมากขึ้น เพราะเห็นว่า ฆราวาสด้วยกัน "มีดีมีชั่วเท่าๆ กัน ถ้าจะหลอกกันก็รู้ทัน" แต่กับพระนั้นเมื่อห่มจีวรแต่กลับทำตรงกันข้ามกับที่สอน คนก็จะคิดว่า "เป็นราชสีห์ห่มหนังแกะเพื่อหลอกลวงโยม" 

ดังนั้น เมื่อศาสนามาถึงจุดนี้ พระที่รับเงินแบบไม่คิดหน้าคิดหลังก็เท่ากับเอาเงินมาเผาวัดนั่นเอง ต่อให้ไม่มี 'มารร้าย' แบบโนบุนางะ แต่สักวันวัดจะไม่มีใครเข้าไปทำบุญ เพราะโยมรังเกียจ สุดท้ายวัดก็จะร้าง พระศาสนาก็จะไร้คนดูแล นี่คือการทำลายที่เกิดตามครรลองของความละโมบ

หันกลับมาดูกรณีพระดังและพระไม่ดังที่เข้าไปพัวพันกับ The Icon มันอาจจะไม่ถึงขั้นสะท้อนเรื่อง 'ความละโมบ' แต่อย่างน้อยก็ทำให้เห็นว่าพระสงฆ์บ้านเราเริ่มทำอะไรไม่ควรแก่สมณสารูป (ทำเรื่องที่พระไม่ควรทำ) มากขึ้น เช่น มายุ่งการเมือง อุ้มชูศิษย์ที่ทำชั่ว เห็นแก่เงิน สอนในสิ่งที่ไม่ควรสอน ซื้อตำแหน่ง  ประจบโยมพระประจบพระผู้ใหญ่ แม้แต่การอยู่ในที่ที่ควรอยู่ก็ไม่ได้อยู่

คนไทยไม่น้อยในยุคนี้ไม่ได้เรียกพระว่าพระอีกแล้ว แต่เรียกว่า 'แครอท'บ้าง 'แซลมอน' บ้าง (ล้อตามสีของจีวร) วงการพระศาสนายังรับคนไม่ควรบวชเข้ามาเป็นพระ ดังเช่นเรียกพระบางรูปกันว่า 'หลวงเจ๊' กันอย่างแพร่หลาย

ศาสนาพระพุทธในบ้านเราตอนนี้มีคนเชื่อฆราวาสสอนธรรมมากกว่าพระสอนธรรมเสียอีก เพราะพระไม่ได้สอนธรรมะที่แก้ทุกข์ แต่บางรูปนำทุกข์มาให้โยมเสียอีก ส่วนโยมที่สอนธรรมะช่วยแก้ทุกข์ได้จริงๆ - นี่ยิ่งคล้ายกับญี่ปุ่นในยุคเผาวัดเข้าไปอีก  

น่าเสียดายที่ยุคเราไม่ใช่ยุคศักดินา ซึ่งจะมี 'ผู้กล้า' มาช่วยใช้ 'ไฟชำระมลทิน' ของคณะสงฆ์ เช่น ในสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงให้ทดสอบพระจริงพระปลอม แล้วเอาจีวรของพระอลัชชีมาเผาทำสมุก (ขี้เถ้าสำหรับลงรักปิดทอง) ทาบำรุงรักษาพระมหาธาตุเจดีย์เมืองสวางคบุรี นี่ก็นับเป็นการ "ชำระมลทินด้วยไฟ" แบบหนึ่ง ทำให้ศาสนาพุทธในไทยพ้นจากหายนะมาได้ในยุคหน้าสิ่วหน้าขวาน 

เมื่อศาสนาหมดเสี้ยนหนามจากพระชั่ว ถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก จึงค่อยมีการทำสังคายนาและตรา 'กฎพระสงฆ์' เพื่อป้องกันพระสงฆ์ไปยุ่งเรื่องทางโลก

ทุกวันนี้ ผมเห็นคนไทยบ่นกันว่า "คงถึงเวลาสังคายนาพุทธศาสนากันแล้ว" แต่ผมเห็นว่าถ้าไม่มีการลงโทษพระที่กระทำชั่ว ต่อให้สังคายนากันสิบครั้งร้อยครั้งก็ไม่เป็นผล เพราะพระธรรมนั้นเข้าถึงไม่ยาก แต่พระสงฆ์ที่รักษาธรรมนั้นที่ชั่วหาง่าย ที่ดีก็หายาก 

พอพระชั่วหาง่าย คนก็จะเข้าใจว่าพุทธศาสนาเลี้ยงคนชั่วไว้ ทำให้คนเหินห่างจากทางพ้นทุกข์ เป็นความผิดพลาดอย่างร้ายแรงต่อชีวิตของทุกฝ่ายที่โอกาสจะมาพบทางออกอย่างพุทธศาสนานั้นาหยากยิ่ง

แน่นอนว่า การหา 'ผู้กล้า' มาชำระความโสมมนั้นยาก แต่ผมอยากจะฝากไว้ว่า แม้วิธีการบางอย่างอาจจะดูดุดัน แต่มันอาจจะมีผลดีกว่าปล่อยให้เน่าเฟะแบบนี้ 

เหมือนกับที่ โคบายาชิ ทาคาอากิ หัวหน้านักบวชของนิกายเทนไดและหัวหน้านักบวชของวัดเอ็นเรียคุจิแห่งภูเขาฮิเอซันหลังสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 (ซึ่งถือเป็นผู้เสียหายคนหนึ่งก็ได้จากการเผาวัด) ได้ประเมินเหตุการณ์เผาวัดสมัยโนบุนนางะเอาไว้ว่า 

“แม้ว่าโนบุนางะจะไม่โจมตี พวกเขา (พระบนภูเขาฮิเอ) ก็คงได้รับการสั่งสอนจากพระพุทธองค์อย่างแน่นอน การเผาทำให้จิตใจของภิกษุแห่งภูเขาฮิเอเปลี่ยนแปลงไป ภิกษุที่มึนเมาและก้มหัวให้กับอำนาจของตนก็จากไป และภิกษุที่พยายามนำจิตวิญญาณของผู้ก่อตั้งภูเขาฮิเอกลับมาทำงาน (เพื่อพระศาสนา) อย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย พวกเขาแก้ไขกฎของภูเขาและอุทิศตนให้กับการศึกษาพระธรรม โนบุนางะควรได้รับการยกย่องว่าเป็นปราชญ์ผู้ชาญฉลาดที่สุดคนหนึ่งสำหรับภิกษุในรุ่นหลังอย่างไม่ต้องสงสัย”

ดังนั้น บางเรื่องจึงดูเหมือนว่า "เป็นพระกลับเป็นมาร" แต่ "เป็นมารกลับเป็นพระ" แบบนี้เอง

บทความโดย กรกิจ ดิษฐาน ผู้ช่วยบรรณาธิการบริหาร และบรรณาธิการข่าวต่างประเทศ The Better

Photo - ภาพประกอบข่าวไม่เกี่ยวกับเนื้อหา - พระสงฆ์ปล่อยโคมลอยเป็นส่วนหนึ่งของพิธีบรรพชาสามเณรประจำปี ซึ่งเป็นการอบรมศีลธรรมและธรรมะของสามเณรที่จะบวชเป็นเวลา 12 วัน ณ วัดโบโรบูดูร์ในเมืองมาเกลัง จังหวัดชวาตอนกลาง เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2023 (ภาพโดย DEVI RAHMAN / AFP)

TAGS: #TheIcon #พระสงฆ์