"ต้องคุกเข่าให้เป็น รอวันผงาดอีกครั้ง" พลังปลุกระดมของ'เจี่ยเจี้ยนซวี่'ในวันที่ SAIC เจองานหิน 

เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม บริษัท  SAIC Motors รัฐวิสาหกิจผู้ผลิตยานยนต์ของจีนซึ่งเป็น "สี่บริษัทใหญ่" ของรัฐวิสาหกิจจีน โดยมียอดขาย 5.02 ล้านคันในปี 2023 ได้มีการการปรับเปลี่ยนผู้นำระดับสูงสองคนของบริษัท หนึ่งในนั้น คือ เจี่ยเจี้ยนซวี่ (贾健旭) ที่ตอนนี้มีอายุเพียง 46 ปี  เข้ารับตำแหน่งประธานกลุ่ม SAIC 

ด้วยความที่เป็นคนหนุ่มไฟแรงทำให้ เจี่ยเจี้ยนซวี่ ถูกจับตามองอย่างมากและเขามักแสดงวิสัยทัศน์ที่แหลมคมจนเป็นที่กล่าวขานอยู่บ่อยๆ ท่ามกลางสถานการณ์ของบริษัทที่น่ากังวลมากขึ้นเรื่อยๆ 

ในช่วงสามไตรมาสแรกของปีนี้ SAIC Motor มียอดขายสะสม 2.649 ล้านคัน จึงเท่ากับถูกแซงหน้า BYD ที่มียอดขาย 2.748 ล้านคัน นอกจากนี้ ยอดขายส่งออกต่างประเทศยังแพ้บริษัท Chery 

สื่อจีนบางแห่งชี้ว่าในตอนนี้ กำลังเผชิญกับวิกฤตการเข้าให้แล้ว หรือพูดแบบเบาๆ ก็คึอกำลังอยู่ในช่วงขาลง (ชั่วคราว?)  

เพื่อกระตุ้นเร้าการต่อสู้ในสงครามรถยนต์จีนที่ดุเดือดเลือดพล่าน เจี่ยเจี้ยนซวี่ จึงต้องออกแรงปลุกระดมมากขึ้น ตามรายงานล่าสุดของสื่อจีน เจี่ยเจี้ยนซวี่ ประธานบริษัท SAIC Motors ซึ่งดำรงตำแหน่งมาได้เพียง 3 เดือน กล่าวในการประชุมคณะทำงานกลางปี ​​2024 ว่า “เราต้องคุกเข่าให้เป็น คุกเข่าให้เป็นหมายความว่าอย่างไร? หมายความว่าอย่าให้คนอื่นเห็นว่าเราสูงส่งเพียงใด ตอนนี้เรามีผู้นำจำนวนมากที่เย่อหยิ่งและเชิดหน้าชูคอเหนือฟ้า แล้วมันจะมีประโยชน์อะไร? (ทำแบบนี้) คุณจะถูกอิฐขว้างหัวตายเสียก่อนเป็นคนแรก”

เขากล่าวว่า "เราต้องเรียนรู้ที่จะคุกเข่าลง ใช้ชีวิตอย่างเรียบง่ายและทำงานอย่างมีเกียรติ คนอื่นจะไม่มีทางรู้ว่าคุณสูงแค่ไหนก็ต่อเมื่อคุณคุกเข่าเท่านั้น แต่เมื่อคุณลุกขึ้นยืนในวันหนึ่ง คุณจะกลายเป็นยักษ์อย่างแท้จริง"

เขาชี้ให้เห็นว่า เมื่อถ่อมตัวหรือต้องเป็นคนที่คุกเข่าได้ จากนั้นก็ค่อยรอเวลาผงาดขึ้นมาอีกครั้งเมื่อโอกาสมาถึง แต่หนทางผงาดของ SAIC Motor คืออะไร? เขาบอกว่า 

"สร้างความเชื่อมั่น แสวงหาความอยู่รอด และแสวงหาการพัฒนา ประการแรกคือความเชื่อมั่นของพนักงานซึ่งก็คือครอบครัวของเราเอง และเราต้องสร้างความเชื่อมั่นให้กับพนักงาน ประการที่สองคือความเชื่อมั่นของตัวแทนจำหน่ายและซัพพลายเออร์ ความเชื่อมั่นมีค่ามากกว่าสิ่งอื่นใดใน SAIC-GM ในเวลานี้" 

“การอยู่รอดหมายความว่าอย่างไร? คือการขายอะไรก็ได้ที่สร้างรายได้ เราขาย Buick GL8 เราทำเงิน ตัวแทนจำหน่ายทำเงิน และซัพพลายเออร์ทำเงิน เราต้องมีความมั่นใจที่จะอยู่รอดและพัฒนาได้ การอยู่รอดเท่านั้นที่เราจะพัฒนาได้”

จากนั้นเขาก็อธิบายเป็นขั้นตอนว่า “รถยนต์ไฟฟ้ากำลังขาดทุน คุณต้องขายมันอย่างสม่ำเสมอ สนับสนุนแบรนด์และขายมันอย่างสม่ำเสมอ และใช้เงินที่ได้มาจากรถยนต์ที่ใช้น้ำมันเพื่ออุดหนุนรถยนต์ไฟฟ้า”

ดังนั้น เป้าหมายนี้คือการส่งเสริมรถน้ำมัน เพื่อสร้างเสถียรภาพให้กับรถไฟฟ้า

"[เพราะ] เราไม่มีสินค้า (ใหม่) เราทำได้แค่ขายรถยนต์ที่ใช้น้ำมันต่อไป ผมเสนอให้เพิ่มส่วนแบ่งการตลาดของรถยนต์ที่ใช้น้ำมันอยู่เรื่อย ทำไมน่ะหรือ? ก็เพราะมีผลิตภัณฑ์ที่แข่งขันกันน้อยลงเรื่อยๆ กลุ่มนี้เล็กลงเรื่อยๆ และช่องทางก็แคบลงเรื่อยๆ ที่ล้มหายตายจากไปก็มาก แล้วเราจะไม่สามารถเป็นผู้บุกเบิกได้หรือ?"

อีกหนทางหนึ่งคือการโอนถ่ายต้นทุนให้กับ "คนอื่น" เจี่ยเจี้ยนซวี่ อธิบายว่า "[ทีมผู้บริหาร] อยากจะเป็นนักขายใหญ่ แล้วจะขายเทคโนโลยีให้ใคร? ก็ขายให้กับบริษัทร่วมทุน ทำไมน่ะหรือ? เหนือขึ้นไปคือต้นทุนของเรา ข้างล่างคือตัวหาร ซึ่งก็คือผู้ใช้ของเรา ผมต้องการหารต้นทุนกับผู้ใช้จำนวนมาก และสร้างเทคโนโลยีหลักในเวลาเดียวกัน แต่ในปัจจุบัน ปริมาณรวมยอดขายในประเทศของเรามีจำกัด และเราต้องแบ่งต้นทุนของเรากับปริมาณรวมของแบรนด์ร่วมทุน เพื่อให้เราสามารถแข่งขันได้มากขึ้น และให้เรายืนหยัดได้สักวัน มิฉะนั้น เราจะทำได้แค่คุกเข่าต่อไป" 

ปัญหาใหญ่อีกอย่างของ SAIC Motor คือความไม่มีเอกภาพและความไม่คุ้มที่เกิดจากการร่วมทุน โดยเฉพาะการร่วมทุนโดยการจ่ายค่าถ่ายโอนเทคโนโลยี เจี่ยเจี้ยนซวี่ ชี้ว่า "บางครั้งคุณไม่สามารถลุกขึ้นได้หลังจากนอนบนเตียงเป็นเวลา 30 ปี ซึ่งความเป็นไปได้เพียงอย่างเดียวคือคุณจะเป็นอัมพาต แต่เรามีสถานการณ์เช่นนี้หรือไม่? หลังจากร่วมทุนกันมา 30 ปี (บางบริษัท) ก็ยังเป็นอัมพาตมาโดยตลอด หากเราต้องการแยกทาง ก็ให้แยกทางกับฝ่ายต่างประเทศของเรา มีอีกกี่คนที่ยังต้องจ่ายค่าธรรมเนียมการถ่ายโอนเทคโนโลยีกัน?"

โดยทีมข่าวต่างประเทศ The Better

TAGS: #SAIC