ถามคนไทยหรือยังว่าอยากมี 'วัฒนธรรมร่วม' กับพวกเคลมวัฒนธรรมไทยหรือเปล่า?

ถามคนไทยหรือยังว่าอยากมี 'วัฒนธรรมร่วม' กับพวกเคลมวัฒนธรรมไทยหรือเปล่า?

เป็นเรื่องเหลือเชื่ออย่างหนึ่ง ที่ขณะที่คนไทยพร้อมใจกันปกป้อง 'ความเป็นไทย' จากการถูกบางประเทศ "เคลมความเป็นไทย" เป็นของตัวเอง แถมยังสร้างความเท็จว่าไทย "ขโมยวัฒนธรรมพวกเรามา" 

แต่แล้วกลับมีผู้ใหญ่ในบ้านเมืองบางคนจะไปเสนอแบ่ง 'วัฒนธรรมไทย' ให้เป็น 'วัฒนธรรมร่วม' กับประเทศที่บ่อนทำลายบ้านเมืองเราเสียอย่างนั้น

คนไทยมากมายแทบไม่เชื่อสายตาเมื่อเห็นข่าวนี้ จนส่งเสียงสะท้อนว่า "ตอนที่เราปกป้องวัฒนธรรมไทยจากพวกนั้น คุณไปซุกหัวอยู่ที่ไหน?"

เขาไม่รู้หรือว่าบางประเทศ "สวมทับความเป็นไทย" กันแบบไร้ยางอายเพราะมีคนไทยบางคนช่วยหนุน  ไม่ผิดอะไรกับพวกข้าราชการที่ช่วยคนต่างด้าว "สวมสิทธิบัตรประชาชนไทย" ยังไงยังงั้น

แม้แต่ในระหว่างงานพระราชพิธีที่เพิ่งผ่านพ้นไป ยังมีคนพาลจากข้างๆ บ้านมาอ้างหน้าตาเฉยว่า กระบวนเรือพระราชพิธีที่บรรพบุรุษของคนประเทศไทยสร้างขึ้นมานั้น "เป็นวัฒนธรรมของเรา" และไม่ใช่แค่กรณีนี้ แต่มักจะเสียดสีคอนเทนต์เกี่ยวกับเรื่องไทยๆ ว่า "ขอบคุณที่คนไทยส่งเสริมวัฒนธรรมของเรา"

นิสัยมนุษย์แบบนี้มันสมควรแบ่งปันวัฒนธรรมด้วยกันหรือ? 

คำว่า 'วัฒนธรรมร่วม' เป็นคำที่มีปัญหามาก เพราะสถานะของมันเป็นทั้ง "สิ่งที่มีอยู่จริง" กับ "สิ่งที่ไม่มีอยู่จริง" 

มันมีอยู่จริงในแง่ของการศึกษาทางวิชาการ เช่น เทศกาลสงกรานต์ เป็นการเฉลิมฉลองร่วมกันของประเทศในแผ่นดินใหญ่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ไทย เขมร ลาว พม่า ฯลฯ)

แต่ในแง่การเมือง 'เทศกาลสงกรานต์' ในฐานะวัฒนธรรมร่วมไม่มีอยู่จริง เพราะมันถูกประกาศเป็น 'เทศกาลแห่งชาติ' ของไทย ถูกพัฒนารูปแบบการเฉลิมฉลองแบบไทย และใช้เงินภาษีของคนไทยในการโปรโมทให้คนทั่วโลกมาเที่ยว

ในแง่นี้ วัฒนธรรมร่วมไม่มีอีกแล้ว มีแต่ 'วัฒนธรรมไทย' ที่สร้างโดยคนไทยยุคใหม่

ทำไมวัฒนธรรมที่เคยใช้ร่วมกันถึงกลายเป็นของเฉพาะของประเทศไทย (หรือประเทศอื่นๆ) ไปได้? 

ก่อนหน้ายุคสมัยใหม่ ประเทศแถบนี้เคยเป็นแว่นแคว้นต่างๆ ที่มีอาณาเขตไม่ชัดเจนแถมยังมีการโยกย้ายผู้คนบ่อยครั้ง ทำให้เกิดการแบ่งปันประเพณีและวัฒนธรรมกัน แต่เชื้อชาติต่างๆ ก็ยังคงเอกลักษณ์ของตนเองไว้

ต่อมาเมื่อเข้ายุคสมัยใหม่ เกิดการสถาปนารัฐชาติ (Nation state) แบบตะวันตกขึ้น นั่นคือการมีอาณาเขตของดินแดนชัดเจน มีการทำแผนที่กำหนดตายตัว มีการทำสำมะโนประชากร และระบุชัดเจนว่าชนชาติในรัฐชาตินั้นๆ จะต้องมีเชื้อชาตินี้ มีวัฒนธรรมแบบนี้ และมีภาษาแบบนี้เป็นหลัก หรือ "แบบนี้เท่านั้น"

เช่น เมื่ออาณาจักร 'กรุงเทพทวารวดีศรีอยุธยา' แปรสภาพเป็นรัฐชาติสมัยใหม่ที่ชื่อ 'ประเทศสยาม' (ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นประเทศไทย) ก็มีการกำหนดสัญชาติคนในดินแดนให้เป็น "คนสยาม (ไทย) ทั้งหมด" ไม่ว่าจะเคยเป็นมอญ เขมร ลาว ญวน มลายู ฯลฯ ก็ตาม และคนเหล่านี้จะต้องพูดภาษาไทยทั้งหมด และมีวัฒนธรรมแบบเดียวกันทั้งหมด - นี่คือจุดเริ่มของสิ่งที่เรียกว่า 'วัฒนธรรมแห่งชาติ'

การเกิดขึ้นของวัฒนธรรมแห่งชาติ คือการสิ้นสุดของวัฒนธรรมร่วมนับแต่บัดนั้น

ต่อให้ไทยและเพื่อนบ้านเคยมีโขน ละคร ศิลปะกรรม การละเล่นอะไรก็ตามที่ "คล้ายกัน" นับแต่นั้นมาก็ได้แต่คล้ายกัน ไม่สามารถแบ่งกันได้อีก เพราะวัฒนธรรมของแต่ละชาติกลายเป็นสมบัติของชาตินั้นๆ ไปแล้ว และต่างคนต่างพัฒนาต่อยอดตามแนวทางโมเดิร์นของตัวเอง

โดยที่ไทยไม่เคยตกเป็นเมืองขึ้นใครและไม่เคยผ่านสงคราม จึงมีศักยภาพในการพัฒนาวัฒนธรรมแห่งชาติได้มากกกว่าใครและโดดเด่นมากขึ้นทุกที

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเทศที่หากินกับการท่องเที่ยวและการขายวัฒนธรรมอย่างไทย ถ้าวันดีคืนดีมีคนบอกว่า "ไปแบ่งวัฒนธรรมของเรากับเพื่อนบ้านกันเถอะ" ลองคิดตรองดูดีๆ เถอะครับ คนที่ทำแบบนี้ไม่เท่ากับชวนพวกเรากันเองไปทุบหม้อข้าวตัวเองหรือ? 

พูดในนี้บางคนอาจจะมองว่า "เห็นแก่เงิน" เกินไป ถ้าอย่างนั้นขอพูดอีกแง่ คือ ถ้าเอาวัฒนธรรมไทยเราไปแชร์กับคนอื่น ไม่เท่ากับเราไร้รากเหง้าของตัวเองหรือ ถึงต้องไปโยงรากเรากับเหง้าคนอื่น?

และนับแต่ศตวรรษี่ 19 ที่เราสร้างรัฐชาติขึ้นมา ไทยก็ต้องแยกออกจากเพื่อนบ้าน (เคยเป็นประเทศราชและรับวัฒนธรรมชั้นสูงของเราไป) เพื่อนบ้านต่างๆ ตกเป็นเมืองขึ้นฝรั่ง แล้วได้ฝรั่งสร้างวัฒนธรรมแห่งชาติขึ้นมาตอนที่เริ่มจะได้เอกราช

ส่วนไทยเรานั้นพอตัดขาดกับเพื่อนบ้านแล้วสร้างวัฒนธรรมของตัวเองขึ้นมาจนเป็นเอกลักษณ์เฉพาะแล้ว ความเฉพาะนี้ไม่มีอะไรที่เหมือนคนอื่น ดังนั้นจะไปแชร์ได้อย่างไร? 

ยกเว้นว่า บางประเทศที่อยากจะ "ร่วมกับของไทย" คิดจะโหนวัฒนธรรมไทยเพื่อให้ตัวเองมีหน้ามีตาขึ้นมา 

ในเวลาเดียวกัน ประเทศที่ว่านี้ก็ทำลายความน่าเชื่อถือ (หรือดิสเครดิต) ไทย โดยโพนทะนาว่า วัฒนธรรมที่พวกเขารับมาจากไทยนั้น เขาคือต้นฉบับ ส่วนไทยขโมยไป เป็นการมุสาที่กลับหน้ามือเป็นหลังเท้าโดยแท้ 

ประเทศที่ว่านี้ไม่ใช่เพิ่งจะพัฒนาพฤติกรรมอันน่ารังเกียจ แต่ทำมาตั้งแต่ยุคของผู้นำคนหนึ่งที่ไทยเคยช่วยเหลือยามยาก แต่แล้วก็ทรยศหักหลักไทย โดยชิงเขาพระวิหารไป (โดยการช่วยเหลือของมหาอำนาจบางชาติ) 

ในยุคของผู้นำเพื่อนบ้านคนนั้น ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เคยเขียนไว้ในหนังสือ "โลกส่วนตัว (ของผม)" ว่า "นาฏศิลป์ของไทยเรานั้นเวลานี้กําลังถูกขโมยอย่างหนัก เขมรซึ่งเคยเรียนวิชาและแบบฉบับนาฏศิลป์ไปจากไทยเมื่อไม่นานมานี้ ถึงบัดนี้ก็กําลังประกาศต่อโลกว่านาฏศิลป์ของไทยนั้นที่แท้ก็เป็นนาฏศิลป์ของเขมรและทางเขมรก็กําลังส่งเสริมอยู่เป็นอย่างยิ่ง ... "

หนังสือเล่มนี้เขียนเมื่อปี  เมื่อ พ.ศ. 2511 ตราบจนถึงปัจจุบันนี้ปัญหาเรื่อง "เขมรเคลมวัฒนธรรมไทย" ก็ยังดำเนินอยู่

เรื่องนี้น่าจะเป็นปัญหาขัดใจไทยมาระยะหนึ่งแล้วในยุคนั้น อย่างที่ท่านเขียนถึงการที่นาฏศิลป์เขมรไปประชันกับไทยที่สิงคโปร์ว่า "ไปสิงคโปร์คราวนี้ มีเขมรไปร่วมประชันด้วย แต่ถึงจะไปประชันกันที่ไหน ครูย่อมเหนือกว่าศิษย์ ... เพราะเหตุที่ว่าศิลปะทางนี้ของเขมรความจริงนั้นก็ได้ไปจากไทยนั้นเอง ครูก็ย่อมจะดีเหนือลูกศิษย์เป็นธรรมดา" - ความตอนนี้เขียนไว้ในหนังสือ "เมืองไทยในสังคมโลก" เมื่อปี พ.ศ. 2506 

เรื่องเขมรอ้างเป็นเจ้าของวัฒนธรรมไทยนั้น เรามีหลักฐานยืนยันว่าเขมรรับไปจากเราในสมัยต้นกรุงจนถึงรัชกาลที่ 7 (หรืออาจะล่ากว่านั้นด้วยซ้ำ) ก็ยังมีครูของไทยไปสอนวิชารำและดนตรีให้ 

แต่แล้วประเทศนั้นก็ทรยศและไม่สำนึกบุญคุณที่ไทยไปช่วยฟื้นฟูวัฒนธรรมให้ ด้วยการปั่นเรื่องโกหกกับชาวโลกว่า "ไทยก็อปปี้เราไป" และ "ไทยขโมยวัฒนธรรมเรา"

ความร้ายกาจของพฤติกรรมนี้อาจกล่าวได้ว่า "ผู้ที่หักหลังไทย ถือว่าคบไม่ได้ฉันใด คนที่ช่วยพวกที่ทรยศบ้านเมืองเราก็ถือเป็นพวกทรยศบ้านเมืองด้วยฉันนั้น"

แต่ประชาชนคนไทนมี 'อารยะ' (civil) สูง จึงเลี่ยงที่จะกล่าวรุนแรงแบบนั้น แต่ลึกๆ แล้วเชื่อว่าหลายคนคิดไม่ต่างจากนี้

พูดถึงความมีอารยะแล้ว คำว่าวัฒนธรรมร่วมมีองค์ประกอบอย่างหนึ่งที่สำคัญ คือ ประเทศที่ร่วมวัฒนธรรมกันนั้นจะต้องมี 'ค่านิยม' (Value) แบบเดียวกัน

ปรากฏว่า ตอนนี้ค่านิยมของไทยมีวิวัฒนาการสูงขึ้นทุกที แต่ประเทศที่เป็นคู่กรณีกับเรานั้นมีค่านิยมที่เป็นอารยะต่ำ เพราะมักจะโกหกโดยไร้ยางอาย และกล่าวหาผู้มีพระคุณ (ไทย) ว่าเป็นขโมยทั้งๆ ที่ช่วยฟื้นคืนตัวตนให้พวกเขาแท้ๆ ถ้าหากไม่นับว่าไร้อารยะแล้ว จะให้เรียกว่าอะไรได้อีก? 

ในเมื่อค่านิยมต่างกันราวฟ้ากับเหวแบบนี้ จะให้ร่วมอะไรกันได้? 

นี่จึงเป็นการเมืองระหว่างผู้มีอารยะสูงกับผู้มีอารยะต่ำ เป็นเรื่องการช่วงชิงวัฒนธรรม ไม่ใช่การแชร์วัฒนธรรม และเรื่องนี้เป็นเรื่องการเมืองระดับที่ส่งผลต่ออัตลักษณ์ความเป็นชาติ หากพลาดไปชาติอาจจะเสียหายอย่างหนักได้ 

ผมจึงไม่โทษนักวิชาการที่ตามไม่ทันเล่ห์กลการเมืองโลก คนที่เชื่อว่าชาติไม่มีอยู่จริงเพราะเป็นสิ่งที่มนุษย์นิยามขึ้นมา และคนที่สนใจแต่อุดมคติที่เลื่อนลอย ประเภทที่ว่า "โลกทั้งผองพี่น้องกัน" 

ในโลกของเราไม่มีสักวินาทีที่คิดเป็นพี่น้องกัน มีแต่จะช่วงชิงสิ่งมีค่าของกันและกัน ทั้งแผ่นดิน ผู้คน ไปจนถึงตัวตนของอีกฝ่าย

เพื่อป้องกันการกระทำอันก้าวร้าวนั้น เราจึงต้องสร้างชาติขึ้นมาและทำให้มันแข็งแกร่ง เพื่อความอยู่รอดของไทยเรา

'วัฒนธรรมร่วม' ในเวลานี้จึงไม่ใช่เรื่องโลกสวย แต่เป็นเรื่องชิงไหวชิงพริบทางการเมือง

ถ้านักการเมืองไทยคนไหนดันไปเสนอวัฒนธรรมร่วมกับประเทศอื่น เท่ากับมีวาระซ่อนเร้น เพราะตัวเองเป็นนักการเมืองอาชีพก็ควรจะรู้เล่ห์กลการเมืองของประเทศอื่น

หรือไม่อย่างนั้น (คิดในแง่ดี) อาจเพราะไม่มีประสีประสาเรื่องนี้ 

ถ้าไม่รู้เรื่องก็ไม่ควรเสนอ เพราะวัฒนธรรมแห่งชาติ (National Culture) ไม่ใช่เรื่องที่จะพูดพล่อยๆ ได้ เพราะมันมีค่าเท่ากับสมบัติชาติ (National Treasure)

ไม่มีประเทศไหนในโลกหรอกครับที่เอาสมบัติของชาติไปแบ่งให้กับคนอื่น 

ยกเว้นว่าคนๆ นั้นมีผลประโยชน์สอดคล้องกับผู้นำของชาติอื่น

บทความทัศนะโดย กรกิจ ดิษฐาน ผู้ช่วยบรรณาธิการบริหาร และบรรณาธิการข่าวต่างประเทศ The Better 

Photo - Siam (Thailand]): two dancers. Photograph by John Thomson, 1865. / Wellcome collection
 

TAGS: #วัฒนธรรมร่วม #กัมพูชา