ชัยชนะของทรัมป์เป็นชัยชนะพร้อมๆ กันของแนวคิดหลายๆ อย่าง
มันคือชัยชนะเหนือแนวคิดความหลากหลายทางเพศและชาติพันธุ์ หรือพวก Woke
ชัยชนะของฝ่ายกลุ่มทฤษฎีสมคบคิดที่เชื่อว่ามี Deep state และจะต้องกำจัดมัน
และการผงาดของแนวคิดที่สหรัฐฯ ควรจะอยู่ลำพังและไม่แทรกแซงประเทศอื่น Isolationism
แนวคิดพวกนี้คือองค์ประกอบสำคัญของ 'ลัทธิทรัมป์' (Trumpism) เวอร์ชั่น 2.0 รวมๆ แล้วมันคือการบดขยี้ฝ่ายเสรีนิยมสุดโต่ง หรือพวก 'ซ้ายจัด' นั่นเอง
ที่จริงแล้ว สังคมอเมริกันไม่ควรรจะวิวัฒนาการมาเป็นฝ่ายจัดๆ อะไรพวกนี้ เพราะแต่ไรมาสังคมอเมริกันเป็นอะไรที่แบ่งซ้ายและขวาแบบอ่อนๆ มาหลายทศวรรษอยู่แล้ว แต่เพราะหลังสงครามเย็นสิ้นสุด พวกเสรีนิยมเชื่อมั่นในตัวเองมากเกินไป และดูหมิ่นแนวคิดอื่นๆ ว่าเป็นความผิดพลาดบ้าง เป็นพิษร้ายต่อสังคมบ้าง และจะต้องทำการกวาดล้างให้สิ้น
การคิดแบบนี้จึงนำไปสู่การถีบแต่ละฝ่ายให้ร่วงจากเวทีการเมือง จนแต่ละฝ่ายต้องตอบโต้กันแบบสุดลิ่มทิ่มประตู ไมได้ประนีประนอมเหมือนเมื่อก่อนได้อีก เพราะการร่วงจากเวทีการเมืองหมายถึง "การสิ้นอำนาจการเมือง"
อย่างที่ฝ่ายทรัมป์ถูกเรียกว่าเป็นพวก 'ขวาจัด' และฝ่ายเสรีนิยมถูกเรียกเป็นพวก 'ซ้ายจัด' และต่อมาวิวัฒนาการเป็นการเรียกขวาจัดว่า 'พวกขยะ' และเรียกซ้ายจัดว่า 'พวกบ้า'
สังคมอเมริกันเข้าสู่ภาวะสุดโต่งจนหยวนๆ กันไม่ได้แบบนี้แล้ว จนดูเหมือนว่า "สังคมการเมืองอเมริกันกำลังเสื่อมถอยลงจนฟื้นคืนให้ดีไม่ได้แล้ว"
แต่ท่ามกลางการต่อสู้กันของพวก Neocon และพวก Woke ยังมีอีกพวกหนึ่งก่อตัวขึ้นมาเงียบๆ แต่เพิ่งถูกค้นพบเมื่อไม่นานมานี้เอง
การค้นพบคนพวกนี้เกิดขึ้นในช่วงที่ทรัมป์เสนอชื่อ เจดี แวนซ์ เป็นว่าที่รองประธานาธิบดี
คนพวกนี้คือกลุ่มที่ต้องการให้ยุติระบอบสาธารณรัฐ ระบอบสหพันธรัฐ และระบอบประธานาธิบดี
แล้วแทนที่ด้วยระบอบกษัตริย์ (Monarchy)
หนึ่งในมันสมองของขบวนการนี้ คือ เคอร์ติส ยาร์วิน (Curtis Yarvin)
แนวคิดหลักๆ ของยาร์วิน คือสิ่งที่เรียกว่า Dark Enlightenment (แสงสว่างแห่งการตื่นรู้อันดำมืด) ซึ่งเป็นการตั้งชื่อที่ดูเหมือนล้อกับพวก Woke เพราะ Enlightenment มีความหมายถึงแสงสว่างทางปัญญา ส่วน Woke หมายถึงอาการตาสว่างจากการถูกกดทับทางสังคมการเมือง
แต่ Dark Enlightenment ไม่ใช่ศัตรูของ Woke โดยตรง พวกเขาเล็งเป้าหมายไปที่พวก 'วรรณะพราหมณ์' (Brahmin) ซึ่งเป็นคำที่เขาขอยืมมาจากแนวคิดเรื่องวรรณะของอินเดีย ซึ่งมีพวกวรรณะพราหมณ์คอยควบคุมสังคมและอำนาจการเมืองด้วยศาสนา
ในสหรัฐฯ ก็มีพวก 'วรรณะพราหมณ์' เช่นกัน คือพวกนักวิชาการมหาวิทยาลับและสื่อกระแสหลักซึ่งคอยชี้นำกระแสสังคม แนวคิดหรือค่านิยมที่ถูกยัดเยียดนี้ไม่ต่างอะไรกับศาสนาที่พวก 'วรรณะพราหมณ์' ในอินเดียยัดเยียดให้วรรณะอื่นเชื่อและต้องเชื่อโดยห้ามตั้งคำถาม หาไม่แล้วจะเป็นบาป
ลักษณะของพวกอีลีท (Elite) หรือชนชั้นนำที่กำหนดค่านิยมในสังคมแบบนี้ทำให้ยาร์วินเรียกรวมๆ ว่าเป็นกลุ่ม the Cathedral (อาสนวิหาร อันเป็นสถิตของนักบวชและพระเจ้า หรือศูนย์กลางการบงการสังคมด้วยความเชื่อ)
แนวคิดของพวก the Cathedral ก็คือการเรียกร้องสังคมที่เท่าเทียมกันและความยุติธรรมที่สุดโต่งเกินไปในแบบที่เหมือนกับขบวนการ Woke นั่นเอง ยาร์วินเชื่อว่าการยัดเยียดค่านิยมแบบนี้ทำให้สังคม (อเมริกัน) เสื่อมถอยลง
เพื่อต่อต้านพวกที่เขาเห็นว่าเป็นพวกตาสว่างแบบผิดๆ จึงต้องตั้งขบวนใหม่ที่ชื่อ Dark Enlightenment หรือตาสว่างที่ถูกทำนองคลองธรรมขึ้นมา เรียกสั้นๆ ว่า NRx
Dark Enlightenment ไม่ใช่แค่การตั้งชื่อล้อพวก Woke แต่ยังเป็นการต่อต้านแนวคิดจากยุค Enlightenment หรือยุคแสงสว่าทางปัญญาที่เริ่มต้นในศตวรรษที่ 18 และเป็นจุดกำเนิดของเสรีนิยม สาธารณรัฐนิยม และประชาธิปไตยนิยม และต่อต้านระบอบกษัตริย์ ระบอบเผด็จการทุกรูปแบบ
เป็นเวลาหลายร้อยปีมาแล้วที่พวกตะวันตกบูชายุค Enlightenment ว่าเป็นบิดาแห่งสังคมการเมืองในยุคของเรา แต่มาถึงเวลานี้แล้วยาร์วินและพรรคพวกมองว่า มันนำไปสู่ยุคมืดต่างหาก และควรถึงเวลาโค่นล้มอะไรพวกนี้ได้แล้ว
เมื่อโค่นล้มระบอบเสรีนิยมประชาธิปไตยที่ทำให้สังคมสับสนวุ่นวาย ก็แทนที่ระบอบราชาธิปไตย (Monarchy) แต่ไม่ใช่ระบอบกษัตริย์แบบโบราณ มันคือรัฐบาลที่ประกอบด้วยประมุขที่คล้ายกษัตริย์ มีอำนาจเบ็ดเสร็จประหนึ่งซีอีโอของบริษัท (monarchical government/CEO model of government)
ดังนั้นแนวคิดนี้จึงเรียกอีกอย่างว่า 'ราชาธิปไตยแบบใหม่' (neo-monarchist)
ในบทความเรื่อง "ราชาธิปไตยตามสิทธิอันศักดิ์สิทธิ์สำหรับปัญญาชนโลกวิสัยสมัยใหม่" ยาร์วินเสนอว่า "ในฐานะประชาชน เราเชื่อในสิ่งที่บ้าๆ บอๆ เพราะประชาธิปไตยทำให้เราทุกคนบ้ากันหมด ท้ายที่สุดแล้ว ประชาธิปไตยก็ทำให้พวกเราบ้ากันหมดมาสองร้อยปีแล้ว โครงสร้างที่คิดอย่างมหัศจรรย์ของประชาธิปไตยนั้นเป็นสิ่งที่วิเศษมาก ประดับประดาอย่างปราสาทดิสนีย์ สมควรแก่การชื่นชมมากกว่าการทำลายล้าง น่าเศร้าที่นี่คือปราสาทแห่งความชั่วร้าย และไฟอันหอมหวานของพระเจ้าจะละลายมันในพริบตา"
แน่นอนว่า เขาหมดหวังกับระบอบประชาธิปไตยและคิดว่ามันซ่อมไม่ได้แล้ว วิธีเดียวที่จะจัดการกับมันคือ "นี่คือสามคำที่จะรักษาประชาธิปไตยของคุณให้หายขาดได้อย่างถาวร—ถ้าทำได้ สามคำนี้จะช่วยได้ คือ พิทักษ์อำนาจของราชันเอาไว้ (Imperium is conserved)"
คำว่า Imperium หมายถึงระบอบการปกครองสมัยโรมัน เดิมทีนั้นโรมปกครองด้วยระบบกษัตริย์ซึ่งมีอำนาจเบ็ดเสร็จที่เรียกว่า Imperium ต่อมาเมื่อเป็นระบอบสาธารณรัฐอำนาจ Imperium ก็ยังคงอยู่ แต่ใช้ร่วมกันโดย magistratus คือพวกอีลีทในสังคมที่เคยมีอำนาจรองจากกษัตริย์ลงมา ต่อมาระบอบสาธารณรัฐสิ้นไป แทนที่ด้วยระบอบจักรวรรดิ อำนาจ Imperium ก็อยู่ในมือของ imperator หรือจักรพรรดิหรือไคซาร์ (ซีซาร์) ซึ่งก็คือกษัตริย์นั่นเอง แต่เป็นกษัตริย์เหนือกษัตริย์พราะในเวลานั้นโรมมีอำนาจเหมือนสหรัฐฯ ในยุคนี้ คือเป็นมหาอำนาจเดี่ยวที่ปกครองประเทศอื่นเป็นมณฑลของตน
พูดง่ายๆ ก็คือ Imperium is conserved หมายถึงการแทนที่อำนาจสาธารณรัฐด้วยระบอบราชาธิปไตยหรือจักรพรรดินั่นเอง นี่คือแนวคิดของยาร์วินที่เสนอไว้ตั้งแต่ปี 2010
ว่าด้วยอำนาจของกษัตริย์ยุคใหม่ เขาชี้ว่าไม่ได้มาจากพระเจ้า (ตามคติของตะวันตก หรือสมมติเทพในตะวันออก) อีกต่อไป แต่ "นักกษัตริย์นิยมที่อิงกับสิทธิอันศักดิ์สิทธิ์ในยุคใหม่จึงกล่าวว่า ไม่ใช่ว่าพระเจ้าได้เลือกบุคคลหรือครอบครัวใดครอบครัวหนึ่งให้ปกครอง แต่กล่าวว่าอำนาจอธิปไตยมีอยู่จริงและต้องมีใครสักคนถือครองไว้ ยิ่งอำนาจ imperium ถูกยึดครองในวงจำกัด (โดยคนไม่กี่คน) มากเท่าไรและมั่นคงมากเท่าไร ก็ยิ่งปลอดภัยมากขึ้นเท่านั้น"
มาถึงทศวรรษนี้ ไม่ใช่แค่ยาร์วินจะไม่เปลี่ยนความคิด แต่ยังพัฒนาให้มันเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้นด้วย เขาเสนอแนวทางการสร้างประธานาธิบดีที่มีความคล้ายคลึงกับ "ระบอบกษัตริย์" เพื่อที่จะแก้ปัญหาความซับซ้อนและน่าเบื่อหน่ายของระบอบถ่วงดุลอำนาจสามฝ่ายทีทำให้อำนาจตัดสินของผู้นำแทบไม่มีพลัง
"ผู้มีสิทธิเลือกตั้งชาวอเมริกันมีทางเลือกที่สมจริงเพียงทางเดียว พวกเขาต้องเลือกประธานาธิบดีที่แสดงเจตนาและความพร้อมอย่างชัดเจนในการเข้ายึดครองรัฐบาลอเมริกันทั้งหมด โดยยึดอำนาจเต็ม ไม่ใช่เพียงแค่ตอบสนองต่อเหตุการณ์หรือสถานการณ์ฉุกเฉินใดๆ เท่านั้น แต่ต้องทันทีที่เข้ารับตำแหน่ง (เมื่ออำนาจตามระบอบประชาธิปไตยของเขาแข็งแกร่งที่สุด)"
จากนั้นด้วยการเข้ามาตามระบอบประชาธิปไตย ประธานาธิบดีที่ประชาชนเลือกเข้ามาและได้รับ 'อาณัติ' จากประชาชนผู้เลือกเขาเข้ามาด้วยความเชื่อมั่นในพระเจ้าที่นำทางพวกเขา (In God We Trust) ก็จะทำการปฏิรูปการเมืองเพื่อเก็บกวาดระบบถ่วงดุลอำนาจที่ทำให้สังคมการเมืองต้องเชื่องช้าลง จากนั้นก็เปลี่ยนรูปแบบของรัฐโดยไม่สร้างความวุ่นวายขึ้น ซึ่ง "แม้จะไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็ง่ายกว่าที่คนส่วนใหญ่คิด"
หลังจากนั้นสิ่งที่ตามมาคือ regime change คือการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 'ระบอบเก่า' แบบถอนรากถอนโคน จากระบบสาธารณรัฐแบบสหพันธรัฐ มาเป็นระบอบประธานาธิบดีที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จครอบคลุมทุกส่วนการบริหาร เป็นผู้สั่งการโดยตรงไปยังหน่วยงานต่างๆ และมีอำนาจควบคุมสูงสุดโดยไม่มีการแบ่งอำนาจกันดูแลแบบถ่วงดุลอีก (unitary executive)
ลักษณะแบบนี้เรียกแบบเบาะๆ ว่า CEO President แต่ถ้าเรียกแบบสุดคือ Elected King
ยาร์วินเสนอแนวคิดนี้อย่างละเอียด รวมถึงกระบวนการเปลี่ยนผ่านระบอบการปกครอง ในบทความชื่อ "บทสนทนาเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์" เมื่อเดือนมีนาคม 2024
หลังจากนั้นอีก 8 เดือน โดนัลด์ ทรัมป์ ก็ชนะเลือกตั้งเตรียมเป็นประธานาธิบดีอีกครั้ง ส่วน เจดี แวนซ์ ก็เตรียมเป็นรองประธานาธิบดี
ตั้งแต่ก่อนที่จะรู้แน่ว่าชนะ ทรัมป์ประกาศจะจัดการล้างบ้างสิ่งที่เขาเรียกว่า Deep state หรือ 'รัฐซ้อนรัฐ' ซึ่งเขาเชื่อว่าเป็นกลุ่มอีลีทที่บงการวาระทางการเมืองเอาไว้ผ่านระบอบราชการ นักการเมืองที่อยู่ในอำนาจนานๆ สื่อกระแสหลัก และนักวิชาการในมหาวิทยาลัย
ดูเหมือนว่า Deep state จะคล้ายกับแนวคิด the Cathedral และพวกอีลีทของ Deep state ก็คล้ายกับ Brahmin
การกวาดล้างรัฐซ้อนรัฐคือการปฏิรูปครั้งใหญ่แน่นอน แต่ที่คนส่วนใหญ่ไม่ตระหนักคือ ดูเหมือนมันจะเดินตามรอยพิมพ์เขียวของยาร์วินที่เขียนไว้ในบทความข้างต้น ที่แนะนำประธานาธิบดีที่ควรตั้งตัวเป็นกษัตริย์ควรทำหลังจากได้ 'อาณัติ'จากเสียงประชาชนมาแล้ว ที่น่าสนใจก็คือ หลังจากรู้ผลเลือกตั้ง ทรัมป์บอกว่าเขาได้รับ Mandate (อาณัติ) มาเหมือนกัน
ทรัมป์ไม่ใช่คนที่เอ่ยถึงยาร์วินและแนวคิดกษัตริยย์นิยมใหม่โดยตรง คนที่พูดเรื่องนี้คือ เจดี แวนซ์ ซึ่งเขาก็ไมได้พูดถึงบ่อยครั้ง แต่เพียงพูดถึงไม่กี่ครั้งก็ทำให้บรรดาอีลีทใน 'ระบอบเก่า' เริ่มที่จะหวาดผวากัน
อีกคนที่ไม่ได้เอ่ยถึงยาร์วิน แต่ต้องการจะทำลาย Deep state และพวก the Cathedral แบบกระเหี้ยนกระหือรืออย่างมาก ก็คือ อีลอน มัสก์ ซึ่งในเวลาต่อมาทรัมป์แต่งตั้งเขาให้เป็นผู้นำของทยวงใหม่ที่ชื่อ Department of Government Efficiency ซึ่งมีเป้าหมายและอำนาจที่จะทำลาย Deep state โดยตรงนั่นเอง
ถามว่ามันเป็นไปได้แค่ไหนที่สหรัฐอเมริกาจะกลายเป็นรัฐที่มีเผด็จการผู้ประเสริฐ (benevolent dictator) หรือถึงขั้นมีกษัตริย์ที่ได้รับการ 'สมมติ' ขึ้นมาด้วยคะแนนเสียงประชาชน?
เรื่องนี้ขอให้ลองดูการเปลี่ยนแปลงของโรมของฝรั่งเศส ซึ่งเป็นต้นแบบประชาธิปไตยและผู้รับแนวคิดปฏิวัติอเมริกัน ทั้งสองประเทศนี้เปลี่ยนระบอบไปเรื่อยๆ จากระบอบกษัตริย์ ไปสู่ระบอบสาธารณรัฐ และระบอบจักรพรรดิ ในขณะที่ฝรั่งเศสเมื่อล้มกษตริย์แล้ว เป็นสาธารณรัฐ แล้วเป็นกษัตริย์อีก แล้วเป็นสาธารณรัฐ แล้วก็เป็นจีกวรรดิ และเป็นสาธารณรัฐ ฯลฯ
ประเด็นก็คือ ไม่มีระบอบการปกครองใดที่จะอยู่ค้ำฟ้า มันย่อมวิวัฒนาการไปตามความต้องการของเงื่อนไขสังคมแต่ละยุคสมัย
และมาถึงจุดนี้ คงไม่มีอะไรที่เป็นไปไม่ได้อีกแล้วสำหรับสหรัฐอเมริกา
บทความโดย กรกิจ ดิษฐาน บรรณาธิการข่าวต่างประเทศ The Better
Photo - The Coronation of Napoleon by Jacques-Louis David
[ชมคลิป] 'ระบอบกษัตริย์' อาจจะเข้ามาแทนที่ระบอบ 'ประธานาธิบดีสหรัฐ' | The Seeker