ประวัติศาสตร์ลึกลับของพระเขี้ยวแก้วแห่ง 'ศากยเจดีย์วัดพุทธมณเฑียร'

ประวัติศาสตร์ลึกลับของพระเขี้ยวแก้วแห่ง 'ศากยเจดีย์วัดพุทธมณเฑียร'

ช้อมูลประกอบ - รัฐบาลไทยและรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีนได้เห็นชอบร่วมกันให้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ (พระเขี้ยวแก้ว) จากวัดหลิงกวง กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน มาประดิษฐานที่กรุงเทพมหานครเป็นการชั่วคราว เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 และในโอกาสการครบรอบ 50 ปี แห่งการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตไทย - จีน ในปีพ.ศ.2568  โดยเปิดให้ประชาชนสักการะระหว่างวันที่ 4 ธันวาคม 2567 - 14 กุมภาพันธ์ 2568 รวมเป็นเวลา 73 วัน ณ ท้องสนามหลวง และจะอัญเชิญกลับสาธารณรัฐประชาชนจีนในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2568  

จีนยังมีพระเขี้ยวแก้วที่อื่นอีกหรือไม่?
กับคำถามว่า "จีนยังมีพระเขี้ยวแก้วที่อื่นอีกหรือไม่?" นั้น คำตอบก็คือมี ไม่เฉพาะที่วัดหลิงกวง กรุงปักกิ่งเท่านั้น เพียงแต่ของวัดหลิงกวงมีชื่อเสียงเลื่องลือมากกว่า 

อีกแห่งที่มีพระเขี้ยวแก้ว คือ "เจดีย์ไม้อำเภออิ้ง" (應縣木塔) หรือชื่อทางการคือ "ศากยเจดีย์วัดพุทธมณเฑียร" (佛宫寺释迦塔) อยู่ที่อำเภออิ้ง มณฑลซานซี ประเทศจีน สร้างขึ้นสมัยราชวงศ์เหลียว ในปีพ.ศ. 1599 เป็นเจดีย์ไม้ที่เก่าแก่ทีสุดในจีนที่ยังหลงเหลืออยู่ อายุกว่า 900 ปี ผ่านภยันตรายทั้งแผ่นดินไหว ศึกสงคราม และอัคคีภัยมาได้อย่างน่าอัศจรรย์ แต่มีเรื่องน่าสนเท่ห์อีกอย่างเกี่ยวกับเจดีย์นี้ 

ชาวอำเภออิ้งต่างเชื่อกันมานานว่า ในพระเจดีย์ไม้ จะต้องมีอะไรบางอย่างคอยปกปักษ์รักษาสถานที่แห่งนี้ไว้ จึงรอดพ้นจากการถูกทำลายมากครั้งแล้วครั้งเล่า  

ที่จริงแล้วมีเรื่องประหลาดๆ เกี่ยวกับเจดีย์ไม้ ในปี 2509 ตอนนั้นการปฏิวัติวัฒนธรรมรุนแรงหนัก พวกเรดการ์ดบุกเข้ามาทำลายสิ่งของในเจดีย์ไม้  ทุบพระอุระพระพุทธรูปชั้นล่างพบภายในมีคัมภีร์โบราณมากมาย จึงนำออกมาเผานานถึงหนึ่งวันเต็มๆ จึงไหม้จนหมด เดชะบุญที่นายกฯ โจวเอินไหลทราบเรื่อง จึงสั่งให้พวกเรดการ์ดหยุดความบ้าคลั่งเสีย เจดีย์ไม้จึงรอดมาได้ แต่อีกหนึ่งเดือนต่อมา มีบุคคลปริศนามาจากอำเภอใกล้ๆ แจ้งเจ้าหน้าที่ว่าพบกล่องใส่ของทำด้วยเงินบนชั้นสาม เจ้าหน้าที่จึงตรวจสอบพบในกล่องมีเหรียญเงินโบราณกับกระดูกเก่าๆ ชิ้นหนึ่ง

นี่คือพระธาตุชิ้นแรกที่พบ แต่ผู้คนยังไม่ทราบจึงไม่มีการตรวจสอบ แต่คาดว่า ผู้ที่พบคนแรกแล้วนำออกไปคงทราบว่ามีความสำคัญจึงลักลอบนำกลับมาซ่อนไว้อีก แล้วทำทีเป็นแจ้งเจ้าหน้าที่ให้นำมาเก็บรักษาไว้ 

ต่อมาในปีพ.ศ. 2517 มีการค้นพบพระบรมสารีริกธาตุส่วนพระทันตธาตุ ที่พระอุระของพระพุทธรูปบนชั้นที่ 4 ของเจดีย์ เดิมนั้นถูกซ่อนไว้ แต่ช่างไม้ที่จ้างมาซ่อมลักลอบเจาะพระอุระ แล้วนำทรัพย์สมบัติออกไป ทว่า เจ้าหน้าที่สามารถติดตามนำกลับมาได้ 

พระธาตุรอดจากการถูกทำลายเพราะคนร้ายไม่เห็นว่าเป็นของมีค่า เป็นเพียงกระดูกเก่าๆ

 

พระทันตธาตุที่พบมี 2 องค์ ลักษณะคล้ายกับพระเขี้ยวแก้วที่วัดหลิงกวง กรุงปักกิ่ง แต่ที่แปลกไปคือปรากฎแก้วสีแดงเรื่อเกาะอยู่ตามพระธาตุ พระธาตุทั้ง 2 องค์ไม่ได้เปิดเผยให้สักการะหรือให้คนทั่วไปได้ชม ทั้งยังมีการรักษาความปลอดภัยเข้มงวด ถึง 3 ชั้น ต้องมีตำรวจเฝ้าควบคุมทุกครั้งที่มีการเปิด จึงไม่เป็นที่รู้จักกันแพร่หลายนัก แต่ที่น่าสังเกตคือ พระเขี้ยวแก้วในจีนที่วัดหลิงกวงและที่วัดฝอกง ต่างก็นำมาประดิษฐานโดยฮ่องเต้สมัยราชวงศ์เหลียวองค์เดียวกัน คือ พระเจ้าต้าวจง

นักวิชาการเชื่อว่า พระธาตุที่วัดหลิงกวงน่าจะเป็นของเดิม ที่พระมหาเถระต้าวเสวียน ได้รับจากพระสกันทะ  เชื่อกันว่านำมาจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ แต่ก็เชื่อกันอีกว่าน่าจะนำมาจากแคว้นอุทยานในชมพูทวีปมากกว่า ต่อมาประดิษฐานไว้ที่ฉางอัน สมัยเหลียวนำมาประดิษฐานไว้ที่ปักกิ่ง จนกระทั่งพบในกรุเมื่อปี 2443 

แล้วพระทันตธาตุที่วัดฝอกงเล่านำมาจากที่ใด?

ในสมัยเหลียวนั้นเมืองหลวงคือต้าถง ห่างจากพระเจดีย์เพียง 85 กิโลเมตร ส่วนปักกิ่ง หรือเมืองเหลียวหนานจิง แม้จะเป็นราชธานีแห่งที่ 2 แต่ห่างไปประมาณ 250 กิโลเมตร   และนักวิชาการต่างก็เชื่อว่า พระเจ้าซิ่งจงและต้าวจงสร้างพระเจดีย์ไม้อย่างวิจิตรอลังการ ก็เพื่อซ่อนพระบรมธาตุ โดยวางแปลนตามนัยโลกธาตุที่ปรากฎในอวตังสกสูตร ส่วนตัวแล้วผู้เขียนเชื่อว่าพระบรมธาตุที่เจดีย์ไม้ต้องมีนัยยะสำคัญมากแน่นอน

บทความและภาพถ่ายโดย กรกิจ ดิษฐาน บรรณาธิการข่าวต่างประเทศ The Better 
 

TAGS: #พระเขี้ยวแก้ว