เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2567 เวลาประมาณ 22:30 น. ประธานาธิบดี ยุน ซอกยอล ประกาศกฎอัยการศึกในเกาหลีใต้ เป็นครั้งแรกในรอบ 45 ปี
ในแถลงการณ์ประกาศว่า "ข้าพเจ้าประกาศกฎอัยการศึก เพื่อปกป้องสาธารณรัฐเกาหลีให้เป็นอิสระจากภัยคุกคามของกองกำลังคอมมิวนิสต์เกาหลีเหนือ เพื่อกำจัดกองกำลังต่อต้านรัฐที่ไร้ยางอายซึ่งสนับสนุนเกาหลีเหนือที่กำลังปล้นสะดมเสรีภาพและความสุขของประชาชนของเรา และเพื่อปกป้องระเบียบรัฐธรรมนูญที่เป็นอิสระ"
หลังจากที่ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ประกาศกฎอัยการศึกแล้ว เมื่อถึงเวลาประมาณ 01:01 น. ของวันที่ 4 ธันวาคม ประมาณ 3 ชั่วโมงหลังการประกาศกฎอัยการศึก รัฐสภามีมติเห็นชอบ 190 เสียงจากสมาชิก 190 คนที่เข้าร่วมประชุมใหญ่สมัยที่ 15 ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติสาธารณรัฐเกาหลี ให้ถอนการประกาศกฎอัยการศึก
แต่ยังมีเรื่องที่ต้องพิจาณาอยู่ เนื่องจากกฎอัยการศึกต้องถูกยกเลิกโดยประธานาธิบดี กฎอัยการศึกจึงยังคงมีผลบังคับใช้จนกว่าประธานาธิบดีจะยกเลิก
ในกรณีของเกาหลีใต้ สถาบันตามรัฐธรรมนูญเพียงแห่งเดียวที่สามารถยกเลิกกฎอัยการศึกได้คือประธานาธิบดีก็จริง แต่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (รัฐสภา) ก็มีอำนาจด้วยยกเว้นว่าอาคารรัฐสภาถูกกองกำลังกฎอัยการศึกยึดไว้จะทำการเช่นนั้นไม่ได้ ปรากฏว่าสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติส่วนใหญ่ถูกปิดกั้นไม่ให้มารวมตัวกันในสถานที่ใดสถานที่หนึ่ง ขั้นตอนการยกเลิกกฎอัยการศึกจะไม่สามารถดำเนินการต่อไปได้
อย่างไรก็ตาม ในที่สุดรัฐสภาก็ได้ลงมติให้ยกเลิกกฎอัยการศึก กฎอัยการศึกจึงหมดผลทางกฎหมาย
ทั้งนี้ หากมีการร้องขอจากสมาชิกรัฐสภาส่วนใหญ่ ประธานาธิบดีจะต้องยกเลิกกฎอัยการศึกทันที และหากเขาเพิกเฉยต่อการร้องขอจากรัฐสภา ถือเป็นการละเมิดรัฐธรรมนูญ จึงสามารถเป็นเหตุในการถอดถอนได้
กระนั้นก็ตาม ประธานาธิบดียุน ซอก ยอลจะยอมรับมติและยกเลิกกฎอัยการศึกหรือไม่? และมีความเป็นไปได้ที่เขาจะประกาศกฎอัยการศึกต่อไป โดยอ้างว่าการประชุมสมัชชาใหญ่ครั้งที่ 15 ที่จัดขึ้นหลังจากประกาศกฎอัยการศึกนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย
อนึ่ง มาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญแห่งสาธารณรัฐเกาหลี ระบุเงื่อนไขของการประกาศกฎอัยการศึกไว้ดังนี้
① เมื่อมีความจำเป็นต้องตอบสนองต่อความต้องการทางทหารหรือรักษาสันติภาพและความสงบเรียบร้อยของประชาชนโดยการระดมกำลังทหารในยามสงคราม เหตุการณ์ หรือสถานการณ์ฉุกเฉินอื่นๆ ของชาติ ประธานาธิบดีอาจประกาศกฎอัยการศึกตามที่กฎหมายกำหนด
② กฎอัยการศึกจะแบ่งออกเป็นกฎอัยการศึกฉุกเฉินและกฎอัยการศึกเพื่อความมั่นคง (ตอนนี้ประกาศกฎอัยการศึกฉุกเฉิน)
③ เมื่อมีการประกาศกฎอัยการศึกฉุกเฉิน อาจใช้มาตรการพิเศษเกี่ยวกับระบบการออกหมาย เสรีภาพในการพูด การเผยแพร่ การชุมนุมและการสมาคม และอำนาจของรัฐบาลและศาลตามที่กฎหมายกำหนด
④ เมื่อมีการประกาศกฎอัยการศึก ประธานาธิบดีจะต้องแจ้งให้รัฐสภาทราบโดยไม่ชักช้า
⑤ เมื่อรัฐสภาร้องขอให้ยกเลิกกฎอัยการศึกโดยได้รับความยินยอมจากสมาชิกส่วนใหญ่ ประธานาธิบดีจะต้องยกเลิกกฎดังกล่าว
ผมคิดว่าเรื่องนี้ยังยื้อกันอยู่ ในทางพฤตินัยแล้ว แม้จะมีการลงคะแนนเสียงโดยรัฐสภาต่อต้านกฎอัยการศึก และทหารถอนตัวจากรัฐสภาแล้ว แต่การประกาศกฎอัยการศึกหมายความว่าประธานาธิบดีได้ยึดอำนาจและกองทัพ แต่ตอนนี้อำนาจนั้นยังไม่ชัดเจน
นอกจากนี้ หากประธานาธิบดียอมยกเลิกกฎอัยการศึกตามคำร้องของรัฐสภา ภยันตรายจะเกิดขึ้นกับประธานาธิบดีในทันที เพราะรัฐสภาจะดำเนินการถอดถอนเขาจากตำแหน่งในทันที และเมื่อไม่มีอำนาจเขาถูกดำเนินคดีในฐานะล้มล้างการปกครองได้
ตอนแรกมีสัญญาณก็คือน่าจะคุมได้อยู่ เพราะ ณ เวลา 02:25 น. ของวันที่ 4 กรกฎาคม กระทรวงกลาโหมยังคงใช้กฎอัยการศึก โดยเจ้าหน้าที่กระทรวงกลาโหมกล่าวว่า “กฎอัยการศึกจะยังคงใช้ต่อไป และคำสั่งกฎอัยการศึกจะยังคงใช้ต่อไปจนกว่าประธานาธิบดีจะยกเลิกกฎอัยการศึก”
นอกจากนี้ ณ ช่วง 3.00 น. ของเกาหลีใต้ยังมีรายงานว่าทหารที่ประจำการอยู่ที่รัฐสภาและสถานที่อื่นๆ ไม่ได้กลับเข้าหน่วยและอยู่ในสถานะสแตนด์บาย
นั่นหมายความว่า ณ เวลานั้น ประธานาธิบดีไม่ฟังเสียงของสภาแล้ว และเดินหน้าต่อไป
อย่างไรก็ตาม เมื่อถึงเวลา 04.30 น. ของวันที่ 4 ธันวาคม ประธานาธิบดี ยุน ซอก-ยอล ประกาศยกเลิกกฎอัยการศึกอย่างเป็นทางการ
แต่มันยังไม่จบแค่นั้นหรอก เพราะในเช้าวันที่ 4 ธันวาคม ผู้นำของพรรคพลังประชาชนได้มีมติเรียกร้องให้ประธานาธิบดี ยุน ซอก-ยอล ออกจากพรรค ให้สมาชิกสภารัฐทั้งหมดลาออก และปลดรัฐมนตรีกลาโหมออกจากตำแหน่ง และให้ตัดสินใจเกี่ยวกับมาตรการที่ตามมา เช่น การถอดถอนประธานาธิบดี โดยผ่านการประชุมใหญ่ของสมาชิกรัฐสภา
ข้อเรียกร้องนี้ไม่ธรรมดา เพราะเป็นการทำลาย "โครงสร้างอำนาจ" ที่ประธานาธิบดียุนสั่งสมมาในช่วงสองสามปีที่ที่ผ่านมา และนี่คือสาระหลักของบทวิเคราะห์นี้
เพราะในเวลานี้นักการเมืองและสื่อในเกาหลีใต้มีพูดถึงกันมากเรื่องกลุ่มบุคคลที่อาจเป็นมันสมองของการ "ยึดอำนาจ" เมื่อคืนนี้ นั่นคือกลุ่มที่เรียกว่า "ชุงอัมพา" (충암파)
"ชุงอัมพา" หรือ "กลุ่มชุงอัม" หมายถึงกลุ่มการเมืองที่ใกล้ชิดกับประธานยุน ซอก-ยอล ซึ่งเคยเรียนที่โรงเรียนมัธยมชุงอัมมาด้วยกัน
และการยึดอำนาจมักจะใช้ "เพื่อนร่วมรุ่น" เช่นเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นบ่อยๆ ในการยึดอำนาจและก่อบกบฏไทย แม่แต่ในวงการเมืองก็เช่นกัน
ผมจะสรุปสั้นๆ แบบนี้ก่อนจากข้อมูลของสื่อเกาหลีใต้เพื่อความเข้าใจในสถานการณ์
1. ตั้งแต่ประธานาธิบดียุน ซอก-ยอล ซึ่งสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนมัธยมชุงอัมเข้ารับตำแหน่ง ก็เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าศิษย์เก่าของโรงเรียนมัธยมชุงอัมมีอิทธิพลเหนือตำแหน่งสำคัญทางทหาร และในองค์กรตำรวจได้เช่นกัน
2. ในรัฐบาลของยุนซอกยอล ตำแหน่งทหารระดับสูงจำนวนมากเต็มไปด้วยศิษย์เก่าจากโรงเรียนมัธยมชุงอัม ซึ่งมีทั้งรุ่นพี่และรุ่นน้องของประธานาธิบดี จนเรียกกันว่า 'กลุ่มชุงอัม' ไม่ว่าจะเป็น
•รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม คิม ยอง-ฮยอน
•ผู้บัญชาการกองบัญชาการข่าวกรองกองทัพ ยอ อิน-ฮยอง
•ผู้บัญชาการกองพลที่ 777 พัค จอง-ซอน
• รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยและความมั่นคง อี ซัง-มิน ซึ่งสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติภายใต้พระราชบัญญัติองค์กรรัฐบาล สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนมัธยมชุงอัมเช่นกัน
• ผู้บัญชาการกองพลความมั่นคงที่ 101 ซึ่งรับผิดชอบด้านความปลอดภัยของสำนักงานประธานาธิบดี ก็ได้รับการยืนยันว่าสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนมัธยมชุงอัมเช่นกัน
3. เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม มีการได้รับการยืนยันว่าผู้บัญชาการกองพลความมั่นคงที่ 101 ของสำนักงานตำรวจนครบาลโซล ซึ่งรับผิดชอบด้านการรักษาความปลอดภัยและคุ้มครองสำนักงานประธานาธิบดี เป็นศิษย์เก่าของโรงเรียนมัธยมชุงอัม
4. รัฐบาลของยุน ซอก-ยอลผลักดันให้มีการแก้ไขพระราชกฤษฎีกาบังคับใช้กฎหมายหน่วยข่าวกรองของประธานาธิบดีในเดือนพฤศจิกายน 2022 เพื่อให้หน่วยข่าวกรองของประธานาธิบดีมีอำนาจสั่งการและกำกับดูแลกองทหารและตำรวจที่ปฏิบัติหน้าที่รักษาความปลอดภัย พรรคฝ่ายค้านคัดค้านการแก้ไขดังกล่าวอย่างหนัก และผ่านสภารัฐในเดือนพฤษภาคมปีที่แล้ว
5. ตั้งแต่ประมาณ 2 เดือนก่อนหน้านี้แล้ว พรรคฝ่ายค้านได้หยิบยกประเด็นการประกาศ "กฎอัยการศึก" ขึ้นมาอีกครั้ง หลังจากที่เปิดเผยว่าผู้บัญชาการกองพลความมั่นคงที่ 101 ซึ่งรับผิดชอบด้านการรักษาความปลอดภัยและคุ้มครองสำนักงานประธานาธิบดี เป็นศิษย์เก่าของโรงเรียนมัธยมชุงอัม
6. ครั้งแรกที่คิม มิน-ซอก สมาชิกสภาสูงของพรรคประชาธิปไตยแห่งเกาหลี (พรรคฝ่ายค้าน) กล่าวถึงความเป็นไปได้ของกฎอัยการศึก คือในเดือนสิงหาคม เมื่อประธานาธิบดียุนเสนอชื่อคิม ยอง-ฮยอน ผู้อำนวยการสำนักงานความมั่นคงของประธานาธิบดีในขณะนั้น ให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
7.ย้อนกลับไปอีกในเดือนสิงหาคม คิม มิน-ซอก เป็นคนแรกที่แสดงความสงสัยเกี่ยวกับ "ความพยายามใช้กฎอัยการศึก" ของรัฐบาลชุดปัจจุบัน และบอกว่า “ผมมีความเชื่ออย่างมั่นคงว่านี่คือการปฏิบัติการเตรียมพร้อมที่จะใช้กฎอัยการศึกโดยคำนึงถึงสงครามในพื้นที่และการสร้าง "กระแลลมเหนือ" เป็นหลัก”
8. "กระแลลมเหนือ" (북풍/ 北風) การใช้ข่าวที่เกินจริงเกี่ยวกับเกาหลีเหนือบ่อยครั้งเพื่อจุดประสงค์ทางการเมืองภายในประเทศ และเช่นเดียวกัน การประกาศกฎอัยการศึกครั้งนี้อ้างถึงภัยคุกคามจากเกาหลีเหนือ และอ้างว่าฝ่ายค้านเป็นพวกรู้เห็นเป็นใจกับเกาหลีเหนือ "กลุ่มชุงอัม" จึงก่อการในที่สุด
9. คิม บยองจู สมาชิกรัฐสภาจากพรรคประชาธิปไตยแห่งเกาหลี ซึ่งเคยเป็นนายพลระดับสี่ดาว อ้างว่ามีความเป็นไปได้สูงที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยและความมั่นคง ซึ่งเป็นรุ่นพี่และรุ่นน้องของประธานาธิบดีที่โรงเรียนมัธยมชุงอัม จะมีส่วนเกี่ยวข้อง เพราะ“มีเพียงรัฐมนตรีกระทรวงการบริหารสาธารณะและความมั่นคง และรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมเท่านั้นที่เสนอกฎอัยการศึก และทั้งคู่สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนมัธยมชุงอัม”
แต่การประกาศกฎอัยการศึกของเกาหลีใต้ มีระยะเวลาเพียงแค่ 2 ชั่วโมง 34 นาที ในระหว่างที่ทุกคนกำลังหลับใหลหลายคนไม่รู้ว่าเกาหลีใต้เกือบจะเกิด "รัฐประหาร" แต่ปรากฏว่ามันเป็นแค่ "การยึดอำนาจ 2.30 ชั่วโมง"
ณ เวลาที่เขียนนี้ สถานการณ์ยังไม่ชัดเจนว่าความพยายามยึดอำนาจมีจุดประสงค์อะไร? เพื่อหลีกเลี่ยงการถดถอน? เพื่อกุมอำนาจไว้นานขึ้น? หรือมีใบสั่งจากต่างแดน?
ติดตามกันต่อไป!
โดย กรกิจ ดิษฐาน ผู้ช่วยบรรณาธิการ และบรรณาธิการข่าวต่างประเทศ The Better
Photo - ทหารพยายามเข้าไปในห้องโถงหลักของรัฐสภาในกรุงโซลเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2024 หลังจากประธานาธิบดียุน ซอก ยอล แห่งเกาหลีใต้ประกาศกฎอัยการศึก ประธานาธิบดียุน ซอก ยอล แห่งเกาหลีใต้ประกาศกฎอัยการศึกเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม โดยกล่าวหาฝ่ายต่อต้านว่าเป็น "กองกำลังต่อต้านรัฐ" และกล่าวว่าเขากำลังดำเนินการเพื่อปกป้องประเทศจาก "ภัยคุกคาม" ที่เกิดจากเกาหลีเหนือ (ภาพโดย YONHAP / AFP)