สัปดาห์นี้มีเรื่องเหนือความคาดหมายเกิดขึ้นมากมาย ตั้งแต่ที่เกาหลีใต้ ตามมาด้วยโรมาเนีย และจบลงแบบดุๆ ที่ซีเรีย
ที่เกาหลีใต้เกิดการ "ยึดอำนาจ" ด้วยการใช้กฎอัยการศึกโดยประธานาธิบดี ยุน ซอก-ยอล ซึ่งจบลงในเวลาอันสั้นเพียง 3 ชั่วโมง นอกจากงานจะไม่ลุล่วงแล้ว เขายังถูกรัฐสภาดำพเนินการถดถอนจากตำแหน่ง
แต่แล้ว พรรค PPP ของเขาก็ช่วยเอาไว้ด้วย ด้วยการถอนตัวจากการประชุม ทำให้องค์ประชุมไม่ครบ 200 เสียง และทำให้กระบวนการโหวตถอดถอนต้องล้มไปด้วย
เรื่องนี้ไม่ใช่แค่ "พวกเดียวกันคุ้มหัว" เท่านั้น ยังอาจมีมหาอำนาจภายนอกสั่งการมาให้คอยคุ้มครอง "ปฏิบัติการชิงพื้นที่" ในเกาหลีใต้อีกด้วย
มันเกิดอะไรขึ้นกันแน่?
เบื้องลึกจริงๆ ของสิ่งที่เกิดขึ้นในเกาหลีใต้คือการแย่งชิงพื้นที่ยุทธศาสตร์ในเอเชียตะวันออก
ก่อนหน้านี้ ผมตั้งข้อสังเกตว่าการประกาศกฎอัยการศึกของประธานาธิบดี ยุน ซอก-ยอล อาจได้รับแรงกดดันจากมหาอำนาจภายนอก แม้ว่ามันจะล้มเหลวก็ตาม แต่มันสะท้อนถึงความเร่งรีบในการยึดหัวหาดทางการเมืองระหว่างประเทศของฝ่ายตะวันตก เพื่อที่จะควบคุมสถานการณ์การเมืองในเกาหลีใต้เอาไว้
พรรคฝ่ายค้านก็เคยเผยว่า ยุน ซอก-ยอลต้องการจะยึดอำนาจเพื่อรับมือกับการที่เกาหลีเหนือส่งทหารไปช่วยยูเครน ซึ่งผมมองว่าเป็นส่วนต่อขยายของสงครามเกาหลี (ที่ยังไม่สิ้นสุดลง) ดังนั้น รัฐบาลเกาหลีใต้จะต้องทำอะไรสักอย่างเพื่อลงไปสู่สมรภูมิด้วย ถ้าไม่ส่งทหารไป ก็ต้อง Militarized ประเทศให้แกร่งขึ้น
ประเด็นนี้มีน้ำหนักมากขึ้น ถ้ามองไปที่ผู้นำฝ่ายค้านที่เป็นเสียงข้างมากในสภา คือ อี แจ-มยอง (Lee Jae-myung / 이재명) จากพรรคประชาธิปไตย ซึ่งถูกกล่าวหาว่าเป็นฝ่าย "โปรจีน" และต่อต้านการเกี่ยวข้องกับยูเครน
อี แจ-มยอง คนนี้แหละที่จะอาจจะเป็นประธานาธิบดีคนต่อไป หากรัฐสภาถอดถอน ยุน ซอก-ยอลจากตำแหน่ง (และประเคนข้อหาล้มล้างการปกครองให้ ซึ่งจะทำให้ฝ่ายอนุรักษ์นิยมเสื่อมลงในทันที)
อี แจ-มยอง ถูกกล่าวหาว่า "โปรจีน" เพราะเคยกล่าวว่า ความขัดแย้งระหว่างแผ่นดินใหญ่กับไต้หวัน “เกี่ยวอะไรกับเรา?” และว่า “ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นในช่องแคบไต้หวัน ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับจีนและปัญหาภายในประเทศของไต้หวัน เรื่องนี้สำคัญกับเราอย่างไร”
และเขายังบอกว่า "ทำไมต้องคอยรังควานจีนอยู่เรื่อย” และเสนอว่าเกาหลีใต้ควรแค่ทำ “เซี่ยเซี่ย” (ขอบคุณ) ต่อจีนและแสดงความขอบคุณไต้หวันก็เพียงพอแล้ว “ทำไมต้องยุ่งวุ่นวายไปทุกหนทุกแห่ง”
โปรดทราบว่าเขาแสดงท่าทีโปรจีนตั้งแต่หาเสียงเมื่อเดือนมีนาคมปีนี้ และพรรคของเขาก็ได้เสียงข้างมากในสภาฯ
นี่อาจเป็นเหตุผลว่าทำไม "พลังงานภายนอก" จึงกังวลกับ อี แจ-มยอง เพราะนอกจจะสนับสนุนนโยบายรวมเกาหลีทั้งสองแบบสันติแล้ว (ส่วนยุน ซอก-ยอล ต่อต้านเกาหลีเหนือสุดลิ่มทิ่มประตู) เขายังญาติดีกับจีน ไม่ช่วยไต้หวัน และฝ่ายตรงข้ามยังโจมตีเขาว่า "ระบบเศรษฐกิจของพรรคประชาธิปไตย คือระบบเศรษฐกิจแบบจีน"
ในกรณีของยูเครน อี แจ-มอยง ยังบอกว่า “เมื่อใดก็ตามที่เราเอนเอียงไปทางยูเครนและหันหลังให้กับรัสเซีย ความมั่นคงของคาบสมุทรเกาหลีจะแย่ลงมาก”
พูดสั้นๆ คือ ว่าที่ผู้นำใหม่ของเกาหลีใต้เอียงไปทางจีน ทำท่าจะช่วยรัสเซียทางอ้อม และไม่เอา "สงครามโลกครั้งที่ 3" ที่มีแนวโน้มจะทำให้คาบสมุทรเกาหลีเป็นสมรภูมิแนวหน้า
ดังนั้น ยุน ซอก-ยอล จึงต้องรีบทำการรวบอำนาจด้วยการประกาศกฎอัยการศึก ซึ่งเปิดช่องให้ปิดปากและกำจัดฝ่ายค้าน โดยอ้างว่า "เพื่อกำจัดฝ่ายสนับสนุนเกาหลีเหนือ" แต่ที่จริงคือการกวาดล้างพวก "โปรจีน" ต่างหาก
แต่ ยุน ซอก-ยอล ไม่มีเสียงข้างมากในสภา ทั้งยังมีความนิยมที่ตกต่ำ สั้นๆ คือไม่มีแรงหนุนอะไรเลย "กลุ่มชุงอัม" หรือฝ่ายความมั่นคงที่เป็นเส้นสายของเขาที่ตั้งขึ้นมาเพื่อปฏิบัติการนี้ ก็มีคนไม่กี่คน
หลักการง่ายๆ ของการยึดอำนาจก็คือ ถ้าประชาชนไม่หนุนก็อย่าทำ หรือถ้าไม่มีกองทัพช่วยหนุนก็อย่าทำเช่นกัน
การยึดอำนาจในเกาหลีใต้สมัยก่อนต้องใช้ผู้บัญชาการทหารเก๋าๆ ทั้งนั้น แต่ยุน ซอก-ยอล เป็นแค่อัยการเก่า ส่วนความศรัทธาของประชาชนต่อเขานั้นยิ่งไม่ต้องพูดถึง
ในเมื่อ ยุน ซอก-ยอล ตัวเปล่าๆ ขนาดนี้แล้วเขาจะลงมือทำไปไมทำไม ถ้าไม่มีแรงกดกดันจากภายนอกให้ "กวาดล้างฝ่ายซ้าย ทำลายพวกโปรจีน" เพื่อควบคุมสถานการณ์ในเกาหลีใต้เอาไว้ ในช่วงที่ฝ่ายจีน-รัสเซียแกร่งมากขึ้นในการระดมพันธมิตร (โปรดดูความเคลื่อนไหวของ BRICS)
ที่น่าสนใจก็คือ ในวันที่เกิดความพยายามยึดอำนาจนั้น นักการเมืองกลุ่มต่อต้านจีน เช่น Luke de Pulford ซึ่งเป็นผู้อำนวยการบริหารพันธมิตรรัฐสภาเพื่อจีน อันเป็นพันธมิตรที่รวบรวม ส.ส. ในรัฐสภาทั่วโลกเพื่อต่อต้านจีนและหนุนไต้หวัน ได้ทวีตใน X ว่า
"สถานการณ์ในเกาหลีใต้นั้นอันตรายอย่างยิ่ง ประธานาธิบดีคนต่อไปที่มีแนวโน้มจะเป็นฝ่ายสนับสนุนรัฐบาลจีนอย่างสุดโต่ง ผมเคยพบกับสมาชิกพรรคที่บอกว่า "พรรคประชาธิปไตยยอมรับหลักการจีนเดียวตามที่จีนประกาศ"
ต่อมาเขาชี้แจงว่า ที่ทวีตแบบนั้น ไม่ได้หมายความสนับสนุนการประกาศกฎอัยการศึก แต่ "ทวีตนี้ไม่ได้เป็นการรับรองกฎอัยการศึกที่บังคับใช้อยู่ แต่เป็นการแสดงความกังวลว่าจะเกิดอะไรขึ้นต่อไป"
อย่างไรก็ตาม ผมมองว่าเขาแก้ตัวให้พ้นจากความยอกย้อนในฐานะที่เขาเป็นผู้นำ "นักการเมืองฝ่ายประชาธิปไตย" แต่กลับดูเหมือนจะยอมให้ฝ่ายประชาธิปไตยยึดอำนาจ เพื่อวางแนวร่วมต้านจีนให้แกร่งขึ้น
โปรดอย่าลืมว่า "ฝ่ายโลกเสรี" คือสหรัฐฯ ปากก็บอกว่าสนับสนุนเสรีภาพ แต่ส่งเสริมการยึดอำนาจมาหลายครั้งในช่วงสงครามเย็น - และในช่วงสงครามเย็นใหม่และปฐมบทของสงครามโลกครั้งใหม่ สหรัฐฯ หวนกลับมาทำแบบนี้อีกครั้ง ในรูปแบบที่แนบเนียนขึ้น
ดังนั้น นี่คือเกมแห่งการชิงพื้นที่ของมหาอำนานแท้ๆ หากมองไม่พ้นการเมืองภายในก็จะวิเคราะห์สถานการณ์ไม่ได้
ที่สำคัญไปกว่านั้น คือ สิ่งที่เกิดขึ้นในเกาหลีใต้ยังเกิดขึ้นในฝั่งยุโรปด้วยในอีกไม่กี่วันต่อมา ยิ่งทำให้การตั้งข้อสังเกตเรื่องการชิงพื้นที่และการยึดอำนาจ มีน้ำหนักยิ่งขึ้น
หลังจาก "การยึดอำนาจ" ในเกาหลีใต้ ล่าสุด คือ "ทำรัฐประหารด้วยศาลรัฐธรรมนูญ" ในโรมามาเนีย ในระยะเวลาห่างกันไม่กี่วัน
ที่โรมาเนียมีการเลือกตั้งประธานาธิบดี ตั้งแต่โพลก่อนการเลือกตั้งและผลหลังหลังเลือกตั้ง ปรากฏว่า Călin Georgescu นักการเมือง "โนเนม" ฝ่ายขวามีคะแนนนำคู่แข่งคือ Elena Valerica Lasconi ในโพลและชนะในที่สุดในการเลือกตั้งรอบแรก ด้วยอัตราคะแนนนำประมาณ 30-40% ต่อ 50-60%
Lasconi เป็นพวกลิเบอรัล โปรอียู สนับสนุนนาโต
ส่วน Călin Georgescu มีแนวคิดต่อต้านสหภาพยุโรป โปรรัสเซีย เป็นฝ่ายชาตินิยม ต่อต้านการให้ความช่วยเหลือยูเครน และแน่นอนว่าต่อต้านนาโตด้วย
โปรดทราบว่า นาโตมีแผนการที่จะฐานทัพที่ใหญ่ที่สุดในโรมาเนีย และจะแซงหน้าฐานทัพทหารสหรัฐฯ ในเมืองแรมสเตน ประเทศเยอรมนี ในด้านขนาด ฐานทัพนี้จะเสริมความแข็งแกร่งของนาโตในแถบทะเลดำ และแน่นอนว่ามีไว้เพื่อเผชิญกับรัสเซียโดยตรงในทะเลดำ
ดังนั้น ถ้า Georgescu ชนะ แผนสร้างฐานทัพจะล่ม ไม่เพียงเท่านั้นนาโตและสหภาพยุโรปจะเสียโรมาเนียอันเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญในการต้านรัสเซียไป
หลังจากผลเลือกตังออกมาว่า Georgescu ชนะ ทำเนียบประธานาธิบดีโรมาเนีย (ซึ่งเป็นฝ่ายโปรอียู-นาโต) จึงเปิดเผยเอกสารลับที่ทำให้ไม่ลับในเวลาอันสั้นผิดปกติ ซึ่งระบุว่ามีความเคลื่อนไหวที่ผิดปกติเกี่ยวกับการหาเสียงผ่านโซเชียลมีเดียของ Georgescu
แม้จะไม่ระบุชัดแต่สื่อตะวันตกประสานเสียงพร้อมกันว่า "รัสเซียอยู่เบื้องหลังการปั่นคะแนนนิยมของ Georgescu"
ในเวลาอีกไม่กี่ชั่วโมงต่อมา ศาลรัฐธรรมนูญโรมาเนียก็ประกาศให้การเลือกตั้งประธานาธิบดีเป็นโมฆะ (เอาไว้ก่อน)
ต่อจากนั้นจะมีการเลือกตั้งใหม่ แต่ถ้า Georgescu โปรดจับตาดูว่า ศาลรัฐธรรมนูญจะประกาศคว่ำอีกหรือไม่ หรือจะทำไปเรื่อยๆ จนกว่าฝ่ายโปรตะวันตกจะชนะก็ไม่ทราบ?
ดังนั้น ในโซเชียลมีเดียจึงวิพากษ์วิจารณ์ว่าการล้มผลเลือกตั้งครั้งนี้คือการ "ทำรัฐประหาร" หรือการยึดอำนาจด้วยฝ่ายตุลาการ ด้วยการสนับสนุนจากฝ่ายบริหาร ซึ่งทั้งหมด "โปรตะวันตก ต่อต้านรัสเซีย"
การใช้ศาลรัฐธรรมนูญล้มการเลือกตั้ง หรือ "นิติสงคราม" ถ้าเกิดในประเทศกำลังพัฒนาก็ว่าไปอย่าง แต่นี่เกิดขึ้นในบ้านของ "อู่อารยธรรมเสรีประชาธิปไตย" คือสหภาพยุโรป นั่นหมายความว่าอะไร?
หมายความว่า โลกของเราเข้าสู่ภาวะสงครามเย็นครั้งใหม่และปฐมบทของสงครามระดับโลก ในสภาพเช่นนี้อุดมการณ์ไม่มีความหมาย สิ่งสำคัญคือการยึดจุดยุทธศาสตร์เอาไว้ก่อน
แม้ว่าจะอ้างว่ามีการแทรกแซงสื่อโซเชียลฯ โดยฝ่ายปฏิปักษ์ แต่การทำงานโดยสื่อกระแสหลักของตะวันตกนั้นแทรกแซงความเห็นของสาธาณะพอๆ กัน
สิ่งที่เกิดขึ้นในโรมาเนียกับเกาหลีใต้ แสดงให้เห็นว่า "ฝ่ายประชาธิปไตย" ต้องหันมาใช้ลูกไม้แบบ "ฝ่ายอำนาจนิยม" นั่นคือการยึดอำนาจ แต่พวกเขาไม่ใช้อาวุธและทหาร แต่ใช้นิติสงครามแทน นั่นคือ อำนาจศาลและกฎกมาย
ในเกาหลีใต้จำเป็นต้องยึดอำนาจ เพราะฝ่ายต่อต้านสงครามยูเครน-เอียงซ้าย-ไม่เอาสหรัฐฯ ครองเสียงข้างมากและทำท่าจะล้มฝ่ายขวา ประธานาธิบดีฝ่ายขวาจึงประกาศกฎหมายอัยการศึกหมายจะยึดอำนาจด้วย "นิติสงคราม" คือการหาช่องใช้อำนาจของประธานาธิบดีตามรัฐธรรมนูญ แต่แล้วก็พลาดท่าไป
ส่วนลูกไม้เดิมคือการทำ Color revolution คือการส่งเอเย่นต์ไปปลุกปั่นให้เกิดการต่อต้านรัฐบาลที่ไม่สมยอมพวกตน เรื่องนี้มีการเปิดเผยข้อมูลเมื่อเร็วๆ นี้ว่า สหรัฐฯ ส่งเอเย่นต์เข้ามาดำเนินการในบางประเทศของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่เบื้องต้นไม่สำเร็จสักงาน
แต่สหรัฐฯ ทำงานนี้สำเร็จได้ในบังคลาเทศ ซึ่งใช้โอกาสความไม่พอใจรัฐบาลโหนกระแสนี้แล้วทำ Color revolution โค่นรัฐบาลโปรจีนได้สำเร็จแล้วเอาคนของตัวเองไปคุมประเทศนั้น
ตอนนี้ Color revolution กำลังเกิดขึ้นในจอร์เจีย โดยฝ่ายโปรตะวันตกลุกขึ้นมาต่อต้านรัฐบาลไม่เอาตะวันตก (แม้ไม่ถึงกับโปรรัสเซียก็ตาม)
ฃ
ในช่วงสงครามเย็น "ฝ่ายประชาธิปไตย" เช่นสหรัฐฯ และพวกเจ้าอาณานิคมเดิมในยุโรปรวมหัวสนับสนุนการทำรัฐประหารหลายครั้งทั่วโลก เพื่อคุ้มหัวรัฐบาลที่เอื้อประโยชน์ต่อตน แม้ว่ารัฐบาลนั้นจะเป็นเผด็จการ-อำนาจนิยมก็ตาม และแม้พวกสนับสนุนการยึดอำนาจนั้นว่าปากจะบอกว่าตัวเองเป็น "ฝ่ายโลกเสรี" ก็ตาม
ดูเหมือนว่าแนวโน้มนี้จะกลับมาใหม่ เพราะตะวันตกต้องสู้รบปรบมือกับจีนและรัสเซียอีกครั้งเหมือนสงครามเย็นครั้งแรก การเอาชนะทั้งสองนี้จะต้องใช้ทุกวิถีทาง การจะมัวมาโปรโมทค่านิยมเสรีประชาธิปไตยโดยไม่ลงมาทำสงคราม (ทั้งนิติสงคราม และการทำปฏิวัติสี และการยึดอำนาจโดยทหาร) ไม่ได้แล้ว
ต่อจากนี้ ผมคิดว่าเราควรมองการเมืองแบบ realist มากขึ้น คือ มองผลประโยชน์เป็นหลัก ส่วนอุดมการณ์นั้นดูเหมือนทุกฝ่ายจะโยนทิ้งไปหมดแล้ว
บทความโดย กรกิจ ดิษฐาน ผู้ช่วยบรรณาธิการบริหาร และบรรณาธิการข่าวต่างประเทศ The Better
Photo - TOPSHOT - กองกำลังกบฏยิงขึ้นฟ้าขณะเฉลิมฉลองในเมืองโฮมส์ ทางตอนกลางของซีเรียเมื่อช่วงเช้าของวันที่ 8 ธันวาคม 2024 หลังจากที่พวกเขาเข้าสู่เมืองที่สามของซีเรียเมื่อคืนนี้ กลุ่มฮายัต ตาห์รีร์ อัลชาม (HTS) และกลุ่มพันธมิตรต่อต้านรัฐบาลได้รุกคืบอย่างรวดเร็วตั้งแต่วันที่ 27 พฤศจิกายน โดยยึดครองพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศจากการควบคุมของรัฐบาล รวมถึงเมืองใหญ่ๆ เช่น อเลปโป ฮามา โฮมส์ และกรุงดามัสกัส (ภาพโดย Aref TAMMAWI / AFP)