เมื่อแม่น้ำโขงยิ่ง "ดุร้าย" เราจะควบคุมมันได้อย่างไรถ้ายังเข้าใจอะไรผิดๆ?

เมื่อแม่น้ำโขงยิ่ง
ความจริงอีกด้านเรื่องเขื่อนจีนกั้นแม่น้ำโขง เมื่อความเชื่ออยู่เหนือดาต้า แต่ทุกอย่างกำลังจะเปลี่ยนไป

ไม่ใช่เรื่องง่ายนักที่ชาวต่างชาติจะเข้าไปเยี่ยมชมเขื่อนสำคัญของจีนที่กั้นแม่น้ำโขงเอาไว้ และยังอธิบายวิธีบริหารจัดการน้ำโขงให้เกิดความกระจ่าง

ผมหนึ่งในเป็นคณะจากประเทศสมาชิกลุ่มน้ำโขง 6 ประเทศที่ได้รับการเชิญจาก "ความร่วมมือแม่น้ำหลันชัง-แม่น้ำโขง" (LMC) ให้เข้าร่วมสังเกตการณ์กิจกรรมของประเทศสมาชิกในระหหว่างการเยือนพื้นที่บริหารจัดการน้ำของจีนในเมืองผูเอ่อร์และเขตสิบสองปันนา มณฑลยูนนาน ประเทศจีน ระหว่างวันที่ 9 - 13 ธันวาคม 2024

กิจกรรมหลักอย่างแรกคือ "การเยี่ยมชมเขื่อนแม่น้ำโขง" แันเป็นประเด็นคาใจของประชาชนในบางประเทศรวมถึงไทย และตามด้วยการร่วมการประชุมรับมือกับอนาคตที่เลวร้ายที่อาจเกิดขึ้นกับสายน้ำแห่งนี้ ถ้าหากสมาชิกลุ่มน้ำโขง 6 ประเทศไม่ร่วมมือกัน หรือแม้แต่ขัดแย้งกันสักนิดเดียว

ภัยนั้นไม่ใช่เกิดจากเขื่อน แต่เกิดจากภัยธรรมชาติ

นี่คือเรื่องที่ตรงกันข้ามกับความเข้าใจของบางคนในบางประเทศที่เชื่อว่าเขื่อนคือศัตรูตัวร้ายของแม่น้ำ แต่ในทางตรงกันข้ามในที่ประชุม LMC กลับมองว่าหากปราศจากเขื่อน แม่น้ำโขงอาจจะ "ดุร้าย" ยิ่งกว่านี้

เพียงแต่การบริหารจัดการเขื่อนจะต้องทำร่วมกันทุกประเทศลุ่มน้ำหลันชังและน้ำโขง หรือ LMC 

เพราะสายน้ำแห่งนี้ไม่มีเจ้าของคนเดียว แต่เป็นเจ้าของร่วมกันของคนทั้งภูมิภาค

แม่น้ำโขงเกิดในจีน เรียกว่า "หลันชังเจียง" ซึ่งแปลว่าแม่น้ำล้านช้างอันหมายถึงชื่ออาณาจักรลาวโบราณ

เมื่อไหลเลยเข้ามาในเมียนมา ลาว ไทย กัมพูชา และเวียดนาม เรียกว่า "แม่ของและแม่น้ำโขง"

แม่น้ำสายนี้ไหลอย่างเป็นธรรมชาติมานานเกินกว่าเราจะคำนวณได้ 

แต่การไหลอย่างเป็นธรรมชาติไม่ได้หมายความว่ามันจะเป็นเรื่องที่ดีต่อมนุษย์เสมอไป 

เพราะธรรมชาติมีทั้งภาคที่ทะนุถนอมชีวิต และภาคที่ทำลายชีวิต นั่นคือน้ำท่วมและน้ำแล้ง 

ดังนั้น การปล่อยให้เป็นธรรมชาติจึงไม่ใช่เรื่องดีเสมอไป โดยเฉพาะแม่น้ำทรงพลังอย่างมากอย่างเช่นแม่น้ำโขง ซึ่งมีปริมาณน้ำมหาศาล และในยุคสมัยใหม่ที่เราไม่ได้อยู่ตามป่าตามทุ่งอีกต่อไป แต่อยู่อย่างสังคมเมืองที่ต้องควบคุมธรรมชาติมาตอบสนองความจำเป็น

อีกเรื่องก็คือ มนุษยชาติมาถึงยุคที่มีประชากรมหาศาลและมีความต้องการน้ำมากมายทั้งเพื่อการเกษตรและการผลิตพลังงาน หากไม่ควบคุมกระแสน้ำแล้วปล่อยให้มันไหลไปตามยถากรรม ก็เท่ากับเทเงินทิ้งลงแม่น้ำ

การควบคุมน้ำเพื่อความรุ่งเรือง
คณะของเราไปถึงเขื่อนจิ่งหง ที่เมืองจิ่งหง หรือเชียงรุ่ง เขตปกครองตนเองชนชาติไตสิบสองปันนา ที่ใกล้กับสันเขื่อนมีคำขวัญเขียนไว้ว่า "น้ำเขียว เขาคราม ก็คือภูเขาเงินภูเขาทอง"

"น้ำเขียว" ที่ว่านี้หมายถึงแม่น้ำโขงในส่วน "หลันชังเจียง" ซึ่งมีความเขียวสดและใสกระจ่างเหมือนน้ำทะเลในภาคตะวันออกของไทย เย็นสดชื่นเพราะไหลจากเทืออกเขาสูงสีคราม

ปัจจุบัน เพราะการสร้างเขื่อนแม่น้ำโขงเพื่อบริหารน้ำให้ได้ประโยชน์สูงสุด ภูเขาเกือบจะตลอดเส้นทางเต็มไปด้วยสวนยางพาราและไร่กาแฟ 

ภูเขาที่ปลูกพืชเศรษฐกิจเต็มทั้งเทือกแบบนี้ สมแล้วกับชื่อ "ภูเขาเงิน ภูเขาทอง" 

ในขณะที่แม่น้ำสีเขียวเหมือนหยก สะอาดปราศจากสิ่งปฏิกูลตลอดทั้งสายระหว่างทางที่เชื่อมต่อระหว่างเขื่อนสองแห่งที่คณะของเราได้รับเชิญไปเยือน คือ เขื่อนหนัวเจียตู้ทางตอนเหนือน้ำ และเขื่อนจิ่งหงทางใต้น้ำ

แม่น้ำช่วงนี้ได้รับการดูแลจากผู้บริหารเขื่อน นั่นคือบริษัท Huaneng (หัวเหนิง) ซึ่งบริหารเขื่อนส่วนใหญ่ที่กั้นแม่น้ำโขงเอาไว้ในมณฑลยูนนาน 

คณะทำงาน LMC และ Huaneng ได้เชิญเราไปชมการทำงานของเขื่อน และหลังจากนั้นจึงขึ้นเรือยอทช์ล่องจากเขื่อนหนัวเจียตู้ไปยังเขื่อนจิ่งหงทางใต้น้ำ เพื่อชมทิวทัศน์และสังเกตการณ์พื้นที่ระหว่างเขื่อน

สิ่งที่เราได้พบเห็นระหว่างการเดินทางทำให้ต้องคิดใหม่เรื่อง "ปัญหาเขื่อนจีน"

เขื่อนจีนสร้างปัญหาจริงหรือ?
คนไทยจำนวนไม่น้อยคงจะคิดว่าการที่จีนสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขง ถือเป็การบงการน้ำเพื่อผลประโยชน์ของตัวเอง บนความเสียของประเทศปลายน้ำ

เวลาเกิดภัยแล้งในไทย สื่อก็มักจะรายงานเสียงบ่นของผู้คนจำนวนหนึ่งที่ "เชื่อว่า" จีนกักน้ำไว้เพื่อใช้เอง ส่วนประเทศปลายน้ำก็ปล่อยให้แล้งกันไป

เมื่อเกิดน้ำท่วม คนไทยก็จะเชื่อว่าเพราะจีนระบายน้ำตามใจชอบ เพราะเชื่อว่าแม่น้ำโขงตอนบนคงจะน้ำล้นเขื่อน และจีนต้องระบายออกมาให้ท่วมตอนล่าง 

ทั้งหมดนี้เป็น "ความเชื่อ" ที่ตรงกันข้ามกับข้อเท็จจริง 

ข้อเท็จจริงก็คือ จีนได้ส่งข้อมูลเรื่องการระบายน้ำจากเขื่อนแม่น้ำโขงมาให้ไทยโดยตลอด ทำให้หน่วยงานด้านการจัดการน้ำน้ำของไทยรับทราบ และได้แจ้งหน่วยงานที่รับผิดชอบให้เตรียมพร้อม ในกรณีที่มีการระบายน้ำลงมา

อย่างไรก็ตาม บางหน่วยงานที่รับคำเตือนนั้นมาแล้ว กลับไม่ยอมปรับใช้มาตรการที่สอดคล้องกับคำเตือน ในบางกรณีเป็นเพราะหน่วยงานรับมือกับภัยพิบัติเชื่อมั่นโดยประสบการณ์ว่าจะไม่เกิดน้ำท่วมหนัก

แต่แล้วการรับมือด้วยประสบการณ์ก็พลาดไป เรื่องนี้สะท้อนให้เห็นว่าการรับมือของไทยยังขึ้นอยู่กับ "ความเห็น" ไม่ใช่ "ดาต้า"

จากข้อมูลของผู้บริหารเขื่อนจิ่งหงพบว่าในปีนี้ระดับการปล่อยน้ำในปีนี้มีเสถียรภาพมาโดยตลอดแม้ในช่วงที่เกิดฝนตกหนักโดยเฉพาช่วงที่พายุไต้ฝุ่นยางิพัดเข้ามาตอนเหนือของภาคพื้นแผ่นดินใหญ่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 

ระดับการปล่อยน้ำจากเขื่อนจิ่งหงนั้นอยู่ที่ 1,000 คิวบิกเมตรต่อวินาที 

ในขณะที่ระดับน้ำที่วัดได้ที่อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงรายของประเทศไทย และระดับน้ำที่นครหลวงเวียงจันทน์พุ่งขึ้นมาอย่างเห็นได้ชัด (ดูกราฟฟิกประกอบ) และจากข้อมูลนี้ ทำให้สามารถวิเคราะห์ได้ว่าน้ำท่วมที่เกิดขึ้นในบริเวณตอนล่างของแม่น้ำโขงเป็นผลมาจากฝนที่ตกหนักในพื้นนั้น เช่นจากไต้ฝุ่นโมคา

ในช่วงที่เกิดพายุไต้ฝุ่นและน้ำฝนตกหนักและน้ำท่วมตอนล่างของแม่น้ำโขง (คือในไทยและลาว) จากข้อกำหนดของรัฐบาลจีน เขื่อนจิ่งหงจึงลดการระบายน้ำจาก 1,000 คิวบิกเมตรต่อวินาที เหลือ 800 คิวบิกเมตรต่อวินาที เมื่อวันที่ 14 กันยายน นี่คือระดับน้ำที่ต่ำที่สุดที่จำเป็นต่อการสัญจรทางเรือ 

นั่นหมายความว่าจีนซึ่งประสบกับฝนตกหนักเช่นกัน แต่ก็ยังปล่อยน้ำให้น้อยที่สุด เพื่อให้กระทบต่อประเทศตอนล่างของแม่น้ำโขงให้น้อยที่สุดนั่นเอง

นี่คือดาต้า ไม่ใช่ความเชื่อ

ความเชื่ออยู่เหนือข้อมูลเพราะมองคนละมุม
หนึ่งในกรณีศึกษาเรื่อง "ความเชื่อ" เรื่องจีนปล่อยน้ำให้ไทยแบกรับปัญหา คือ กรณีน้ำท่วมภาคเหนือบริเวณอำเภอแม่สาย ซึ่งเป็นทางน้ำคนละสายกับแม่น้ำโขงที่ไหลมาจากจีน แต่กลับมีการปล่อยข่าวว่า "จีนปล่อยน้ำแม่น้ำโขง" จนเกิดน้ำท่วมใหญ่ 

หนึ่งในคนที่เชื่อเรื่องนี้ยังเป็นถึงคนระดับผู้นำระดับรัฐบาลด้วยซ้ำ สะท้อนถึง "ความไม่รู้" (Ignorace) เรื่องเขื่อนแม่น้ำโขงอย่างร้ายแรง

"ประเด็นการเมือง" เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดการโทษแม่น้ำโขงในส่วนของจีนว่าเป็นตัวการภัยพิบัติตอนล่างของแม่น้ำ

เจ้าหน้า สปป. ลาวท่านหนึ่งซึ่งทำวิทยานิพนธ์เรื่องการบริหารจัดการแม่น้ำโขงของจีน ได้เปิดเผยว่า การสร้างเขื่อนของจีนทำให้มีการควบคุมระดับน้ำให้พอดีในช่วงที่น้ำมากเกินไป และระบายให้ตอนล่างในช่วงที่น้ำน้อยเกินไป การทำเช่นนี้ การทำเช่นนี้เป็นการแบ่งปันแม่น้ำอย่างเป็นระบบ ไม่ใช่ปล่อยตามยถากรรม 

เช่นเดียวกับเจ้าหน้าทีไทยท่านหนึ่งก็ได้เปิดเผยในทำนองเดียวกันว่า หากไม่มีการสร้างเขื่อนและควบคุมน้ำโดยจีน แม่น้ำโขงจะไหลโดยไม่มีการควบคุม เมื่อถึงฤดูน้ำท่วมก็จะเกิดการท่วมโดยไม่มีการกักไว้และส่งคำเตือนมาจากตอนบนของแม่น้ำ ส่วนเวลาแล้ง แม่น้ำโขงก็จะแล้งจัดจนบางช่วงไม่มีน้ำเลย แต่เมื่อมีการสร้างเขื่อนก็จะปล่อยน้ำมาหล่อเลี้ยงแม่น้ำได้ตลอดเวลา

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เขื่อนแม่น้ำโขงเขื่อนสุดท้ายของจีน มีระยะห่างจากจุดที่แม่น้ำโขงแยกเข้าสู่เมียนมาและลาว ซึ่งหมายความว่าจีนมีพื้นที่ใต้เขื่อนเช่นกัน การระบายน้ำโดยไม่พิจารณาผลกระทบใต้เขื่อน ก็จะส่งผลกระทบต่อผู้คนในดินแดนของจีนเองด้วย 

อย่างไรก็ตาม นักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมในไทยมองว่าการระบายน้ำจากจีนทำลายสมดุลตามธรรมชาติ เช่น การปล่อยน้ำในช่วงที่มีการฟักไข่ของปลาท้องถิ่น เป็นการทำลายแหล่งบริบาลสัตว์ หรือการกล่าวว่าจีนระบายน้ำลงมาเพื่อให้เรือสินค้าจากจีนที่จะมาไทยมีน้ำมาพอที่จะเดินเรือได้

ยังไม่นับปัญหาการปนเปื้อนสารเคมีจาการทำเกษตรอย่างหนักตลอดสองฝั่งแม่น้ำโขง ซึ่งเป็นประเด็นที่จะต้องศึกษาและหารือกับทางจีนถึงผลกระทบต่อประเทศตอนล่างแม่น้ำโขง

ปัญหาเหล่านี้ยังเป็นเรื่องที่ต้องถกเถียงและหาทางออกกันต่อไป แต่สิ่งที่ต้องพิจารณาถ้วนถี่ก็คือเป็นเรื่องยากที่มนุษย์จะดำรงชีวิต "ตามธรรมชาติ" ในช่วงเวลาเกือบทุกประเทศใน LMC ต่างใช้วิศวกรรมและวิทยาศาสตร์ในการควบคุมธรรมชาติ เพื่อให้ธรรมชาติสร้างประโยชน์ให้กับมนุษย์มากที่สุด แต่ภายใต้กรอบของ LMC พวกเขาก็พยายามที่จะทำลายธรรมชาติให้น้อยที่สุดด้วย 

แม่น้ำโขง "ดุขึ้น" เพราะแล้งหนักและท่วมไว
เมื่อพูดถึงสิ่งดุร้ายในแม่น้ำโขง อหลายคนคงนึกถึงสัตว์ในตำนานอย่าง "เงือก" และ "นาค" ซึ่งเป็น "เจ้าถิ่น" ในสายน้ำแห่งนี้

ในปัจจุบันความเชื่อเรื่องนี้เป็นเพียงเรื่องเล่าขานที่น่าตื่นเต้น แต่ปัจจุบัน สิ่งที่น่าหวาดดผวามากกว่า คือ แม้น้ำสายนี้เริ่มที่จะรับมือกับภาวะโลกร้อนไม่ไหว

แม้น้ำโขงมีจุดกำเนิดจากธารน้ำแข็งในที่ราบสูงทิเบต แต่เพราะภาวะโลกร้อนทำให้การละลายของน้ำแข็งเริ่มจะไม่เสถียร บางครั้งเกิดการละลายที่รุนแรงและรวดเร็วทำให้น้ำมากเกินปกติ บางครั้งก็น้อยเกินไป  

เมื่อบวกกับความไม่แน่นอนที่เกิดจาก "เอล นีโญ" (แล้งจัด) และ "ลา นีญา" (ฝนตกหนัก) ทำให้ปริมาณน้ำโขงและสาขาเริ่มจะเดาได้ยากขึ้น 

ในปีนี้มันยิ่งเลวร้าย เพราะจากข้อมูลของ ดร. โจวหนิงฟาง (Dr. Zhou Ningfang) หัวหน้าผู้พยากรณ์อากาศของศูนย์อุตุนิยมวิทยาแห่งชาติจีน (NMC) สำนักงานบริหารอุตุนิยมวิทยา (CMA) พบว่า อุณหภูมิเฉลี่ยของพื้นที่อ่างหลันชัง-แม่น้ำโขง (LMRB) ในปี 2024 อยู่ที่ 26.0 องศาเซลเซียส  ซึ่งสูงกว่าช่วงเวลาปกติที่ 25.1 องศาเซลเซียส ถือเป็นระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์

ในช่วงฤดูแล้งของปี 2024 ระหว่างเดือนมกราคม - เมษายน ระดับน้ำโขงตอนบนมีฝนตกน้อยลง 5% ส่วนตอนล่างน้อยลงถึง 13% ในขณะที่ระดับน้ำฝนเฉลี่ยอยู่ที่ 1517.5 มิลลิเมตร ซึ่งต่ำกว่าระดับปกติ 1.3% 

แต่แล้วมันกลับเกิดฝนตกหนักในบางพื้นที่ และน้ำท่วมรุนแรงที่ตอนล่างของแม่น้ำโขง นั่นหมายถึงภาวะปั่นป่วนที่เกิดขึ้นกับสายน้ำแห่งนี้ 

นี่คือดาต้า ไม่ใช่ความเชื่อ

หากปล่อยไปเช่นนี้โดยไม่มีการใช้วิทยาศาสตร์จัดการ แม่น้ำโขงอาจกลายเป็นฆาตกรที่ฆ่าผู้คนหลายร้อยหลายพันคนได้ในแต่ละปี 

ดังนั้น LMC จึงเร่งทำการสำรวจและศึกษาเพื่อจัดทำแผนแม่บทเพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้กับแม่น้ำโขงก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินไป

ในระดับผู้เชี่ยวชาญและเจ้าหน้าที่รัฐดูเหมือนจะมีความกลมเกลียวกันดีในเรื่องการรับมือร่วมกัน เพราะต่างก็ทราบข้อมูลเบื้องลึกเหมือนๆ กัน

แต่สิ่งที่ยังขาดไปคือ ความเข้าใจของประชาชนในประเทศต่างๆ โดยเฉพาะแถบใต้น้ำ ซึ่งยังมองว่าภาวะน้ำของแม่น้ำโขงเกิดจากการบงการของจีน และแทบจะไม่มองที่ตัวการสำคัญที่ทำให้ระดับน้ำควบคุมได้ยาก คือ ภาวะโลกร้อน

"ความไม่รู้" ในหมู่ประชาชน เกิดจากการเข้าไม่ถึงข้อมูล เกิดจากการทำงานที่ไม่รอบคอบของสื่อ เกิดจากการให้ข้อมูลด้านเดียวขององค์กรบางแห่ง และเกิดจากการเล่นการเมืองทั้งในและระหว่างประเทศ

ความไม่รู้ที่ว่านี้จะทำลายพลังแห่งการร่วมมือกันบริการแม่น้ำ และจะทำให้เราตกเป็นเหยื่อของภัยธรรมชาติในที่สุด

การควบคุมน้ำคือ DNA ของมนุษย์
มนุษย์ควบคุมกระแสน้ำมาตั้งแต่ก่อนที่เราจะจำความได้ในทางประวัติศาสตร์ แต่เมื่อถึงยุคประวัติศาสตร์ จากบันทึกที่ตกทอดมาถึงคนรุ่นเราและหลักฐานทางโบราณคดีที่ขุดขึ้นในยุคนี้ ทำให้ทราบว่า มนุษย์สร้างเขื่อนผันน้ำมาแล้วหลายพันปี

หนึ่งในเขื่อนที่เก่าที่สุดของโลกอยู่ในประเทศจีน นั่นคือเขื่อนสยงจยาหลิ่ง (Xiongjialing Dam) ที่สร้างขึ้นเมื่อ  5,100 ปีก่อน มีจุดประสงค์เพื่อการชลประทานสำหรับการเพาะปลูกข้าว

และหนึ่งในวีรบุรุษของชาติจีน ก็คือ อวี่ (Yu) ซึ่งรับภารกิจจากกษัตริย์เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมและสำเร็จลงด้วยการสร้างเขื่อน

ตรงกับคำกล่าวของ ดร. จางเฉิง (Dr. Zhang Cheng) วิศวกรอาวุโสของศูนย์วิจัยว่าด้วยการป้องกันและลดภัยพิบัติน้ำท่วมและภัยแล้ง ของกระทรวงทรัพยบากรน้ำของจีน  ที่กล่าวว่า จีนมีประวัติศาสตร์ยาวนานในการควบคุมน้ำ ปัจจุบันรัฐบาลกลางมีบมบาทในการควบคุมน้ำ โดยรัฐบาลมีความสนใจอย่างมากและความรับผิดชอบอย่างมากในการควบคุมน้ำ และมีประวัติศาสตร์ยาวนานในการสร้างโครงการต่างๆ ที่เกี่ยวกับน้ำ มีแนวทางที่เข้มแข็งในการสร้างเขื่อน ประตูน้ำ และมาตรการอื่นๆ 

การควบคุมน้ำมีความสำคัญยิ่งยวดมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะ ดร. จางเฉิง เตือนว่า "น้ำท่วมและภาวะแล้งเปลี่ยนสภาพเร็วมาก (หมายความว่าการเปลี่ยนจากภาวะแล้งมาเป็นน้ำท่วมเกิดขึ้นติดๆ กันแทนที่จะเว้นระยะห่าง) มันอาจเกิดในแม่น้ำโขงได้ ความเปลี่ยนแปลงสภาพของอากาศอย่างรุนแรงจึงเป็นเรื่องสำคัญมากในกลุ่มประเทศ LMC"

โดยเฉพาะจีน ซึ่งตามสถิติของ ดร. จางเฉิง เป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมมากที่สุด ในขณะที่เอเชียได้รับผลกระทบมากที่สุดในสัดส่วน 35%

ส่วน  ดร. โจวหนิงฟาง เสนอแนะว่า ควรร่วมกันสร้างแพลตฟอร์มแบ่งปันข้อมูลระดับชาติในพื้นที่แอ่งแม่น้ำโขง ร่วมมือกันให้มากขึ้นในเชิงเทคนิคเพื่อรับมือกับภาวะโลกร้อน 

จีนเป็นประเทศที่คุ้นเคยกับการบริหารจัดการน้ำมาตั้งแต่โบราณ แม้ว่าที่ผ่านมามันจะมีทั้งที่สำเร็จและล้มเหลว แต่ในปัจจุบันดูเหมือนว่าจีนจะพบกับความสำเร็จมากกว่า และความสำเร็จนี้ควรเป็นแบบอย่างให้ประเทศต่างๆ ได้เรียนรู้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศที่พบปัญหาเดียวกัน

และใช้สายน้ำเดียวกันจนเป็นเหมือนคนในครอบครัวเดียวกัน

บทความโดย กรกิจ ดิษฐาน ผู้ช่วยบรรณาธิการบริหาร และบรรณาธิการข่าวต่างประเทศ The Better
 

TAGS: #แม่น้ำโขง #LMC