เบื้องพลังอำนาจ 'รัฐว้า' มีวันนี้ได้เพราะคุ้มหัวแก๊งค้ายาและเป็น'สารตั้งต้น'ธุรกิจยาบ้า

เบื้องพลังอำนาจ 'รัฐว้า' มีวันนี้ได้เพราะคุ้มหัวแก๊งค้ายาและเป็น'สารตั้งต้น'ธุรกิจยาบ้า

เมื่อเดือนมกราคม 2024 มีหนังสือเล่มหนึ่งวางจำหน่าย มันเป็นหนังสือที่เปิดโปงเบื้องหลังพลังอำนาจของกองกำลังชนกลุ่มน้อยต่างๆ ในเมียนมา ซึ่งยังพึ่งพายาเสพติดเป็นรายได้หลัก ต่างจากความเชื่อของบางคนที่ว่าชนกลุ่มน้อยแถวสามเหลี่ยมทองคำเลิกผลิตยาเสพติดแล้ว

ความจริงไม่ใช่อย่างนั้นเลย ในหนังสือ  “Narcotopia: In Search of the Asian Drug Cartel That Survived the CIA” (ดินแดนแห่งยาเสพติด: การค้นหาแก๊งค้ายาแห่งเอเชียที่รอดชีวิตจาก CIA) 

ในหนังสือเล่มนี้ "ตัวเล่น" สำคัญที่สุดกลุ่มหนึ่งคือ "ว้า" 

แพทริค วินน์ (Patrick Winn) ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ ซึ่งเป็นนักข่าวชาวอเมริกันผู้ได้รับรางวัลซึ่งรายงานข่าวอาชญากรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวในรายการวิทยุ NPR ว่า "(รัฐว้า) เป็นโลกที่เป็นของตัวเองอย่างแท้จริง รัฐนี้มีกองทัพของตัวเองที่มีจำนวนทหารมากกว่าสวีเดน มีอาวุธไฮเทค พวกเขาเก็บภาษี พวกเขาถึงกับออกใบขับขี่ของตัวเองด้วยซ้ำ คุณจะไม่พบมันบนโลกไหนๆ คุณจะไม่พบมันบนแผนที่ไหนๆ แต่ว่ามันทำหน้าที่เหมือนกับรัฐชาติที่มีอำนาจอธิปไตยอย่างแท้จริง"

และ "พวกเขา (ว้า) แทบจะเป็นอิสระจากรัฐบาลเมียนมาร์โดยสิ้นเชิง หากทหารเมียนมาร์จำนวนหนึ่งเข้าไปในพื้นที่ พวกเขาอาจถูกจับกุมหรือยิงตายได้ ทุกคนรู้ดีว่าไม่ควรเข้าไปในพื้นที่นี้โดยไม่ได้รับคำเชิญ"

การเป็นรัฐที่เสมือนหนึ่งมีอธิปไตยจริงๆ จะต้องอาศัยงบประมาณมหาศาล ซึ่งเงินที่รัฐว้าหามาได้ ไม่ใช่เงินที่บริสุทธิ์ทั้งหมด แต่มีส่วนหนึ่งที่เกี่ยวข้องการผลิตและค้ายาเสพติด 

แพทริค วินน์ ให้สัมภาษณ์กับ The Diplomat ว่า "รัฐว้าเป็นรัฐค้ายา (narco-state) ... นับตั้งแต่ก่อตั้งรัฐว้าเมื่อ 35 ปีก่อน ยาเสพติดเป็นกลไกทางการเงินของรัฐว้า โดยอุดหนุนทุกอย่างตั้งแต่กระสุนปืน ยา ไปจนถึงคอนกรีต และทำให้เจ้าพ่อชาวว้าบางคนร่ำรวยไปด้วย แต่ถ้าไม่มีเฮโรอีนและยาบ้า รัฐว้าก็คงจะไม่มีอยู่ และชาวว้าก็คงเป็นเพียงชนพื้นเมืองอีกกลุ่มหนึ่งที่ตกเป็นเหยื่อของกองทัพเมียนมา"

วินน์ ยังเผยว่า "ลองนึกภาพว่ามันเป็นรัฐที่ผูกมัดกับกลุ่มค้ายา เพื่อให้ชัดเจนยิ่งขึ้น ในปัจจุบัน ผู้บัญชาการของว้าแทบจะไม่เคยดูแลห้องแล็ปผลิตยาบ้าโดยตรงเลย พวกเขาปล่อยให้กลุ่มค้ายาจีนบริหารห้องแล็ปในดินแดนของพวกเขาและเรียกเก็บค่าเช่าแทน กลุ่มค้ายาภายนอกยังจัดการการค้าระหว่างประเทศด้วย และนั่นคือจุดที่คุณจะได้กำไรมากที่สุด"

ในดินแดนอิทธิพลของว้า เฉพาะมูลค่าผลผลิต “ไอซ์” ต่อปีเพียงอย่างเดียวสูงถึง 6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งสูงกว่ามูลค่าการผลิตของรัฐจริงๆ บางแห่งเสียอีก 

ดังนั้นจึงมีคำกล่าวว่า  “ยาเสพติดเปรียบเสมือนน้ำมัน มันสามารถให้ชีวิตใหม่แก่ประเทศใหม่ และปรับเปลี่ยนระเบียบโลกได้!”

การผลิตยาบ้าจากรัฐว้าก็ไม่ได้ไปไหนไกล แต่ไหลบ่าเข้ามาในประเทศไทยและลาว จากตัวเลขเมื่อเดือนพฤษภาคม 2564 สำนักงานป้องกันยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) ระบุว่ามียาบ้าหลั่งไหลเข้ไทยและลาวปริมาณที่ไม่เคยมีมาก่อน 

จากรายงานของสำนักข่าว VOA เมื่อเดือนสิงหาคม 2024 ระบุว่า "UWSA (กองทัพว้า) ยังเป็นที่รู้จักในฐานะผู้มีบทบาทสำคัญในการค้ายาเสพติดผิดกฎหมายมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์ที่แผ่ขยายออกไปจากสามเหลี่ยมทองคำ ซึ่งเติบโตขึ้นเรื่อยๆ นับตั้งแต่เกิดการรัฐประหาร ตามข้อมูลของสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (ซึ่ง) UWSA ได้กล่าวซ้ำแล้วซ้ำเล่าว่าได้ยุติการค้ายาเสพติดไปนานแล้ว แต่ในปี 2008 กระทรวงการคลังของสหรัฐฯ เรียกกลุ่มนี้ว่า "องค์กรค้ายาเสพติดที่ใหญ่ที่สุดและทรงพลังที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้"

VOA ได้สัมภาษณ์ แอนโธนี่ เดวิส (Anthony Davis) นักวิเคราะห์ด้านความปลอดภัยจากบริษัทข่าวกรอง Jane's ซึ่งกล่าวว่า "UWSA ยังคงมีส่วนร่วมอย่างลึกซึ้ง โดยธุรกิจเมทแอมเฟตามีนส่วนใหญ่ตั้งอยู่ทางตะวันออกของแม่น้ำสาละวิน"

ในขณะที่ เจสัน ทาวเวอร์ (Jason Tower) ผู้อำนวยการโครงการเมียนมาของสถาบันสันติภาพแห่งสหรัฐอเมริกา (United States Institute of Peace) กล่าวว่าการขยายขอบข่ายของ UWSA จะช่วยให้สามารถให้บริการแก่กลุ่มอาชญากรที่ UWSA ปกป้องได้ เขากล่าวว่า “ชาวว้าเป็นหนึ่งในผู้เล่นหลักในแง่ของการให้ความคุ้มครองและการคุ้มกันแก่การค้าขายดังกล่าว ดังนั้นการขยายอำนาจของชาวว้าและการขยายอาณาเขตของชาวว้าจะทำให้… บุคคลที่เกี่ยวข้องกับการค้าขายดังกล่าวมีพื้นที่ใหม่ให้ใช้ประโยชน์”  

โดยทีมข่าวต่างประเทศ The Better

Photo - ทหารกองทัพผสมรัฐว้า (UWSA) เข้าร่วมขบวนพาเหรดทางทหารเพื่อรำลึกถึงการหยุดยิงที่ลงนามร่วมกับกองทัพเมียนมาในรัฐว้า 30 ปี ที่ปางซาง เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2562 (AFP / Ye Aung THU)

TAGS: #รัฐว้า #เมียนมา