ผมเดินทางไปชายแดนบ่อย เพราะชอบเรื่อง "ชายขอบ" และได้เห็นกับตาเรื่องความลำบากของประเทศเพื่อนบ้านเรื่องขาดแคลนแพทย์และโรงพยาบาล
เมื่อเร็วๆ นี้ ผมไปเมืองจีนเพื่อร่วมประชุม 6 ประเทศแม่น้ำโขง ก็ได้คุยกับนักข่าวประเทศเพื่อนบ้านแห่งหนึ่ง ซึ่งลูกของเธอมีปัญหาสุขภาพซึ่งจำเป็นต้องอาศัยเครื่องมือแพทย์ในไทย และคิดที่จะมารักษาที่จังหวัดชายแดนหนึ่งแห่ง
ผมจึงแนะนำว่าอย่าไปเลยจังหวัดนั้น ให้ข้ามมาอีกจังหวัดหนึ่งซึ่งมีสาธารณูปโภคทางการแพทย์ครบครันกว่า
คนๆ นี้เป็นกึ่งพนักงานของรัฐซึ่งมีเงินเดือนประจำและมีสวัสดิการ ดังนั้นจึงมีเงินมารักษาได้ในไทยและไปเบิกรัฐได้
แต่มีชาวบ้านอีกมากมายจากประเทศรอบๆ เมืองไทยที่เงินทั้งปีอาจจะยังไม่พอค่าเดินทางมารักษาที่ไทยด้วยซ้ำ
ผมเคยเห็นกับตาว่าที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งของเพื่อนบ้าน มีฝูงคนหลายพันมารอกันที่โรงพยาบาลขนาดเท่าอนามัยตำบลใหญ่ๆ ของไทย ไม่รู้ว่าต้องรอกันกี่วันถึงจะได้รักษา
ที่จังหวัดชายแดนแห่งหนึ่งทางภาคอีสาน ริมแม่น้ำโรงนั้นเต็มไปด้วยโรงพยาบาลและคลีนิคเพื่อรองรับคลื่นมหาชนจากเพื่อนบ้านที่ "หนีร้อนมาพึ่งเย็น"
ตอนนี้ในเมืองไทยเกิดความไม่พอใจใจหลังจาหกมีบุคคลากรทางแพทย์ชายแดนแห่งหนึ่งเปิดเผยกับเพจ Drama-addict มีใจความโดยย่อว่า ตอนนี้คนต่างชาติจากเพื่อนบ้านแห่กันเข้ามา "แย่งสิทธิ์การรักษา" ของคนไทย และยังทำให้ระบบสาธารณสุขจะล่มเอาด้วย เพราะคนป่วยมากขึ้น แต่บุคคลากรแพทย์เท่าเดิม แถมยังต้องแบกรับคนนอกด้วย เนื้อความตอนหนึ่งเธอเผยไว้ว่า
"กองทุนสิทธิ ท.99 (สิทธิบุคคลผู้มีปัญหาสถานะและสิทธิ)จริง จัดตั้งขึ้นเพื่อใช้รับรองปัญหาต่างด้าวที่ไม่มีสิทธิการรักษาใดๆ ซึ่งเมื่อคนไข้ได้สิทธินี้จะไม่ได้จ่ายเงินค่าการรักษาเลย โดยจะดึงเงินจากกองทุนมาช่วย support ค่าใช้จ่ายของคนไข้ให้กับโรงพยาบาลที่มีปัญหาเรื่องค่าใช้จ่ายจากคนไข้เหล่านี้ ซึ่งตอนนี้ปัญหาคือ คนต่างด้าวส่งต่อกันไปทั่วแล้วว่าประเทศไทยเราสามารถ support พวกเขาได้จากสิทธิตรงนี้ ไหนจะการซื้อบัตร UC ที่ได้สิทธิการรักษาเทียบเท่ากับบัตรทองคนไทยทุกอย่าง อีกไม่นานระบบสาธารณสุขไทยคงล่มจม ถ้ารัฐบาลหรือกระทรวงไม่ take action ปัญหาตรงนี้ สงสารแต่บุคลากรไทยที่ต้องทำงานหนักมากขึ้น และคนไทยที่เสียภาษีอย่างถูกต้องที่ต้องมาเสียผลประโยชน์จากช่องโหว่ที่ประเทศเราทำขึ้นมา สำหรับบุคลากรสาธารณสุขคนนึง เราว่าตอนนี้มันเกินคำว่ามนุษยธรรมไปมากแล้วนะ #เอนดูเขาเอนเราขาด"
โดยสรุปก็คือ คนต่างด้าวพอรู้ว่ามี "กองทุนสิทธิ ท.99" ซึ่งสงวนไว้สำหรับยามจำเป็น ก็ใช้โอกาสนี้เอาเปรียบระบบสาธารณสุขของไทยในทันที
กรณีนี้ ต่างจากบางประเทศเพื่อยบ้านที่เข้ามารักษาด้วยเงินของงตัวเอง เพียงแต่มาพึ่งพาเทคโนโลยีการแพทย์ของไทยด้วยความจำเป็น
แต่กรณีที่เกิดขึ้นกับเพื่อนบ้านบางประเทศ เป็นการเอาเปรียบคนไทยแท้ๆ เพราะการรักษาพยาบาลไม่ใช่ของฟรี คนไทยก็ต้องจ่ายด้วย หากไม่จ่ายด้วยภาษี ก็ต้องควักจ่ายเอง แม้แต่เรื่องภาษีคนไทยก็ยังซัดกันเอง เพระคนเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในไทยจริงๆ แล้วมีแค่ไม่เกิน 4 ล้านคน แต่ต้องไปเฉลี่ยกับประชาชนทั้งประเทศ
มาตอนนี้ไม่ใช่แค่ต้องแบ่งกับคนไทยด้วยกัน ยังต้องแบ่งกับคนต่างประเทศด้วย เรื่องนี้จึงก่อให้เกิดกระแสความไม่พอใจขึ้นมา กระทั่งจะก่อหวอดเป็นการ "ต่อต้านคนต่างด้าว" และบ่มเพาะ "ชาตินิยมไทย"
ประเทศไทยนี้โชคดีที่ที่เป็นประเทศรายได้ปานกลางค่อนข้างสูง และเกือบจะเป็นประเทศพัฒนาแล้ว เพียงแต่เคราะห์ไม่ดีที่ต้องแวดล้อมไปด้วยประเทศติดอันดับจนที่สุดในโลกถึง 3 ประเทศ มีเพียงเพื่อนบ้านทางใต้เท่านั้นที่ไทยไม่ต้องคอยอุ้ม
ด้วยความที่มันเหลื่อมล้ำกันสูงมาก เพื่อนบ้านบางแห่งจึงไม่มีจิตสำนึกเพราะขาดการศึกษาและเพราะความจำเป็นจากความจน จึงเอาเปรียบระบบสาธารณสุขของไทย ยิ่งเข้าใจผิดๆ ว่า "ไทยจะช่วยจ่ายค่ารักษาให้กับทุกคน" ซึ่งแม้แต่ประเทศมหาอำนาจเรื่องทุนนิยมอย่างสหรัฐฯ ก็ยังไม่ทำ (แถมมีเรื่องการฆาตกรรมผู้บริหารบริษัทประกันเสียอีก เพราะระบบสาธารณสุขอเมริกันนั้นแย่ที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศพัฒนาแล้ว)
ประเทศไทยมักติดอันดับประเทศที่มีการรักษาพยาบาลดีที่สุดแห่งหนึ่งในโลก ฝรั่งมังค่าที่มาไทยแล้วต้องเข้าโรงยาบาลไทย ร้อยทั้งร้อยมักจะชมความก้าวหน้าของไทยเรื่องนี้
แต่ระบบที่ดีมาจากเงินของคนไทยที่จ่ายไป และออกมาแบบเพื่อคนไทยเท่านั้น
ดังนั้น การทะลักเข้ามารักษาฟรีของเพื่อนบ้านจึงไม่ใช่เรื่องถูกต้อง แต่การผลักดันคนป่วยที่ไร้ทางออกก็เป็นเรื่องที่ไร้มนุษยธรรมเกินไป ดังนั้น เราควรแก้ปัญหานี้อย่างไร?
กรณีที่เกิดขึ้นนั้น ผมเชื่อว่าเกิดขึ้นที่ชายแดนไทย-เมียนมา ซึ่งตอนนี้ผมถือว่าเป็นรัฐที่ล้มเหลวแล้ว นั่นคือรัฐบาลช่วยอะไรประชาชนแทบไม่ได้โดยเฉพาะแถบชายขอบ ยิ่งตามรัฐที่ลุกฮือต่อต้านรัฐบาลเผด็จการด้วยแล้วยิ่งไม่มีพื้นฐานการแพทย์ดีๆ
สงครามที่เมียนมาจึงทำให้คนต้องทะลักเข้าไทย เพราะเป็นทางรอดทางเดียว ดังนั้นไทยควรจัดการในลักษณะ "ผู้ลี้ภัย" ควรมีสิทธิ์ในระดับผู้ลี้ภัย ไม่ใช่ผู้มาเยือน
ดังนั้น รัฐบาลไทยและรัฐบาลท้องถิ่นตามชายแดนจะปล่อยเรื่องนี้ให้เลยตามเลยไม่ได้ จะต้องจัดระเบียบคนต่างด้าวที่มารักษาในไทย
เช่น มีโรงพยาบาลชั่วคราวสำหรับ "ผู้ลี้ภัย" โดยเฉพาะอย่ามาปะปนกัยคนไทย หาก "ผู้ลี้ภัย" มีเงินพอก็ให้ทรานสเฟอร์มายังโรงพยาบาลสำหรับคนไทยได้ แต่ก็ควรจะส่งไปโรงพยาบาลเอกชนมากกว่า
เพื่อไม่ให้บุคคลากรไทยต้องแบกรับจนกระอักเลือด ก็ควรเปิดรับแพทย์อาสาจากต่างประเทศมาทำงานในโรงพยาบาลผู้ลี้ภัยเหล่านี้ เพราะ "หมอไทยมีไว้เพื่อนคนไทย" แต่เราก็ไม่ได้ใจไม้ไส้ระกำ
ตอนที่มีกระแสต่อต้านคนเมียนมาใหม่ๆ เมื่อไม่กี่เดือนก่อน ผมเคยเสนอไปนานแล้วว่า รัฐบาลไทยควรจะขอความช่วยเหลือจากองค์กรกระหว่างประเทศเพื่ออุดหนุนการรักษาพยาบาลคนต่างด้าวที่แห่มาไทย เอาจำเพาะเจาะจงไปเลยว่า ที่แม่สายต้องมี ที่แม่สอดต้องมี ที่ด่านเล็กด่านน้อยต้องมี
แล้วห้ามต่างด้าวบางประเทศเข้ามารักษาโรงพยาบาลไทยเป็นการชั่วคราวจนกว่าสถานการณ์สงครามในบ้านเมืองนั้นจะดีขึ้น หาไม่แล้วไทยจะพังพินาศไปด้วย
ด้วยความสงสารและเห็นใจเพื่อนบ้านที่ยากจน ผมจึงเริ่มต้นบทความด้วยความยากลำบากของพวกเขาที่ผมได้เห็นมา สาบานว่าผมไม่อาจปล่อยให้พวกเขามาไทยแล้วถูกไล่กลับไปป่วยตายที่บ้านเกิดได้
ว่ากันทางพระทางเจ้าแล้ว การที่ไทยรับรักษาคนตกทุกข์ได้ยากมันคือบุญกุศลต่อประเทศแท้ๆ ต่อให้ไม่เชื่อบุญและบาปก็ตาม ในชาตินี้และโลกนี้ผู้คนจะสรรเสริญยกย่อง และเกรงใจ "คนใจใหญ่" อย่างไทยแน่นอน
เว้นแต่การช่วยนั้นจะต้องทำอย่างมี "ลิมิต" และควรแก่สถานะของประเทศ
ประเทศเราเองก็ควรจะไปบี้พวกนักการเมืองด้วย ให้ทำงานสมกับภาษีเสียที โดยเฉพาะพรรคการเมืองไทยที่ไร้กระดูกสันหลัง ก็ควรจะนำเสนอนโยบายบายที่ชัดสักทีว่าจะไปทาง "ขวา" (ผลักดันต่างด้าวออกไปแล้วช่วยคนไทยก่อน) หรือ "ซ้าย" (ช่วยต่างด้าวเหมือนคนไทยด้วยมนุษยธรรม) ประชาชนจะได้มีแนวทางชัดๆ ว่าควรเลือกรัฐบาลแบบไหนมาจัดการกับปัญหานี้
และเพื่อนบ้านก็ควรเข้าใจไทยด้วย ว่าไทยช่วยได้ในระดับนี้ระดับนั้น และไทยเองก็ควรทำงานเชิงรุก โดยแจ้งไปกับรัฐบาลเพื่อนบ้านว่า "จงสอนเรื่องการคุมกำเนิดเสียบ้าง" เวลาประชาชนมีลูกดกก็จะได้ไม่ต้องข้ามมาไทย เพราะการคลอดลูกแต่ละครั้งเสียเงินเป็นแสน แต่พอคลอดแล้ว ตะละแม่ก็เผ่นหนีไปบ้านเธอเสียอย่างนั้น
คนไทยได้ยินแล้วโกรธ เพราะไทยมีลูกกันน้อยเพราะค่าใช้สูงขนาดนั้น แต่แล้วเพื่อนบ้านตัวดีก็มาตีกินเฉย
ในเมื่อไทยต้องการเร่งการมีลูกในประเทศ แล้วไฉนจึงต้องไปแบกรับการสร้างลูกของประเทศอื่นด้วย? นี่เป็นจุดที่ต้องแก้ด่วน นั่นคือ อุดหนุนค่าใช้จ่ายการมีลูกของไทย และลดการเป็น "นางแบก" การมีลูกของชาติอื่น
และในโลกอันทุกข์ทรมานนี้ก็มีขอบเขตของการพ้นทุกข์เช่นกัน เช่น หากคุณเกิดในประเทศที่ยากจน หรือมีรัฐบาลที่เฮ็งซวย คุณจะมาโร่ให้ประเทศที่ดีกว่าข้างๆ กันมาแบกรับปัญหาของคุณทั้งหมดไม่ได้
ดังคำกล่าวของคนจีนว่า "ถ้าอยากได้ประเทศที่ดี ก็จงสร้างมันขึ้นมา"
เช่นกัน ถ้าอยากได้สาธารณสุขดีๆ ประชาชนจงร่วมใจสร้างขึ้นมา
ป.ล.
มีประเทศหนึ่งที่มีสถานการณ์คล้ายๆ กับประเทศอิตาลี ซึ่งต้องแบกรับผู้อพยพจำนวนมหาศาลในฐานะด่านหน้าการเข้ายุโรปของคนแอฟริกา
จากงานวิจัยหนึ่งพบว่า เมื่อจำนวนผู้อพยพเพิ่มขึ้น 1 คน ค่าใช้จ่ายด้านสาธารณสุขต่อหัวในอิตาลีจะลดลงประมาณ 69 ยูโร นั่นหมายความว่า ต้นทุนการรักษาคนอิตาลีท้องถิ่นลดลง (หมายถึงคุณภาพที่จะลดลง) เพราะมีคนนอกเข้ามา "แจม" หนึ่งคน
เพื่อแก้ปัญหานี้ รัฐบาลอิตาลีจึงประกาศเก็บเงินค่าใช้ระบบสาธารณสุขกับคนต่างชาติเสียเลยคนละ 2,000 ต่อปี เพื่อจะได้ไม่ต้องแย่งเงินภาษีเจ้าของประเทศ แถมยังได้เงินมาแบ่งเบาภาระงบปะระมาณ แล้วยังนำเงินที่ได้มาเป็นโบนัสให้กับบุคคลากรทางการแพทย์ในประเทศที่ต้องแบกรับภารเพิ่มอีกด้วย
บทความทัศนะโดย กรกิจ ดิษฐาน ผู้ช่วยบรรณาธิการบริหาร และบรรณาธิการข่าวต่างประเทศ The Better
Photo - ชายคนหนึ่งกำลังอุ้มแม่ที่ป่วยกลับมาจากโรงพยาบาลสนามในค่ายผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาในอูเคีย เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2024 (ภาพถ่ายโดย MUNIR UZ ZAMAN / AFP)