เราจะแก้ปัญหาต่างด้าวเข้ามาแย่งโรงพยาบาลคนไทยอย่างไร?

เราจะแก้ปัญหาต่างด้าวเข้ามาแย่งโรงพยาบาลคนไทยอย่างไร?

ตอนนี้ระบบสาธารณสุขบ้านเรากำลังจะล่มแล้ว เพราะขาดเงิน และขาดคนรักษา แต่คนป่วยเพิ่มขึ้นทุกๆ และปัญหามาเพิ่มขึ้นอีกจากต่างด้าวที่ทะลักเข้ามาใช้ระบบของเราอย่างไม่ถูกต้อง

ระบบสาธารณสุข (ที่พยายามจะ universal) ของไทยที่ว่าดีๆ นั้น ตั้งไว้บนพื้นฐานทางการเงินที่ไม่ดี หากจะให้ดีต้องเก็บภาษีรายได้บุคคลธรรมดาให้ครอบคลุมกว่านี้จากตอนนี้ที่มีแค่ 4 ล้านกว่าคน

แม้ว่ารากฐานของภาษีจำนวนมากกว่าจะมาจากภาษีส่วนอื่นๆ เช่น ภาษีที่เกี่ยวข้องกับบริโภคก็ตาม แต่แรงงงานต่างด้าวในไทยบริโภคมากแค่ไหนในไทย? และจ่ายภาษีส่วนนี้มากพอหรือไม่ที่จะเอามาหนุนระบบสาธารณสุข? เพราะแรงงานต่างด้าวมักจะเขียมและส่งเงินกลับบ้านกันมากกว่า แถมยังนิยมส่งด้วยระบบโพยก๊วน ทำให้รอดระบบภาษีได้ง่ายๆ 

ตัวเลขประเมินจาก "กลุ่มนายจ้างสีขาว" ที่นำเสนอกับคณะอนุกรรมาธิการศึกษาและติดตามการใช้เงินกองทุนในสังกัดกระทรวงแรงงงาน และการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าว ของสภาผู้แทนราษฎร ระบุว่า เงินค่าบัญชีรายชื่อและค่าอนุมัติแรงงาน 4,000 ล้านบาท บวกกับภาษีทางการเมียนมา 4,800 ล้านบาท

สรุปว่า "เกือบ 9,000 ล้านเงินไทยที่ไหลออกสู่พม่า" นี่เฉพาะเงินที่เกี่ยวข้องกับการลงทะเบียนแรงงานเมียนมาเท่านั้น 

เงินจึงไหลออกจากไทยเข้าประเทศรอบๆ โดยที่ไทยเก็บคืนไม่ได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย เงินไหลออกไม่ว่า ยังมีคนเข้ามาใช้เงินภาษีของเราตามโรงพยาบาลต่างๆ อีก

ปัญหานี้แก้ได้ถ้าคิดจะทำ

ยกตัวอย่างสหรัฐฯ ซึ่งทำท่าจะไล่แรงงานต่างด้าวครั้งใหญ่ในปีหน้าเป็นต้นไป แม้แรงงานคือเสาหลักหนึ่งของระบบเศรษฐกิจไปแล้ว (เหมือนไทย) ก็ตาม หากไม่นับเรื่องชาตินิยมเหลวๆ แหลกๆ ของทรัมป์ ระบบของเขาก็วางมาดี (ไม่เหมือนไทย) คือเก็บภาษีจากแรงงานต่าวด้าวได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย 

ปรากฏว่ามีการวิเคราะห์ที่แสดงให้เห็นว่าผู้อพยพที่ไม่มีเอกสาร (หนีเข้าเมือง) มีส่วนสนับสนุนภาษีของรัฐบาลกลาง (รวมแล้ว 96,700 ล้านดอลลาร์) ภาษีระดับมลรัฐ และภาษีท้องถิ่น (รวม 37,300 ล้านดอลลาร์) รวมแล้วต่างด้าวจ่ายภาษีหลายพันล้านดอลลาร์ทุกปี (อ้างอิง 1)

นอกจากนี้ยังมีการวิจัยเพิ่มเติมพบว่าผู้อพยพจ่ายเงินเข้าระบบดูแลสุขภาพผ่านทางภาษีและเบี้ยประกันสุขภาพมากกว่าที่พวกเขาใช้จริง ซึ่งช่วยอุดหนุนค่ารักษาพยาบาลสำหรับพลเมืองที่เกิดในสหรัฐฯ ได้ ดังนั้น จึงสรุปว่าควรให้ต่างด้าวเข้าถึงประกันและการรักษาพยาบาลมากขึ้นแทนที่จะให้น้อยลง เพราะยิ่งเข้าถึงง่าย เงินในระบบก็จะยิ่งมาก (อ้างอิง 2)

เอาเข้าจริงการเก็บภาษีนี้ก็ยังไม่เหมาะ จะต้องเก็บ "ประกันสังคม" หรือเงินสมทบระบบสาธารณสุขเป็นการเฉพาะด้วย สถานการณ์ที่น่าสนใจ คือ อิตาลี

ประเทศอิตาลี ซึ่งต้องแบกรับผู้อพยพจำนวนมหาศาลในฐานะด่านหน้าการเข้ายุโรปของคนแอฟริกา

จากงานวิจัยหนึ่งพบว่า เมื่อจำนวนผู้อพยพเพิ่มขึ้น 1 คน ค่าใช้จ่ายด้านสาธารณสุขต่อหัวในอิตาลีจะลดลงประมาณ 69 ยูโร นั่นหมายความว่า ต้นทุนการรักษาคนอิตาลีท้องถิ่นลดลง (หมายถึงคุณภาพที่จะลดลง) เพราะมีคนนอกเข้ามา "แจม" หนึ่งคน (อ้างอิง 3)

เพื่อแก้ปัญหานี้ รัฐบาลอิตาลีจึงประกาศเก็บเงินค่าใช้ระบบสาธารณสุขกับคนต่างชาติเสียเลยคนละ 2,000 ยูโร ต่อปี เพื่อจะได้ไม่ต้องแย่งเงินภาษีเจ้าของประเทศ แถมยังได้เงินมาแบ่งเบาภาระงบประมาณ แล้วยังนำเงินที่ได้มาเป็นโบนัสให้กับบุคคลากรทางการแพทย์ในประเทศที่ต้องแบกรับภาระเพิ่มอีกด้วย (อ้างอิง 4)

สำหรับไทยก็เรียกเก็บสวัสดิการแบบนี้จากแรงงานอยู่แล้ว แค่ทำให้ระบบกระชับขึ้นก็พอ เช่น เรียกเก็บจากคนที่มารักษาในโรงพยาบาลรัฐของไทยด้วยในอัตราที่เหมาะสมแบบที่เราไม่เจ๊ง และภาษีที่คนต่างด้าวเสียในไทยจะต้องเพิ่มขึ้นหรือมีการหลีกเลี่ยงน้อยลง 

ถ้าแก้ได้แบบนี้เราจะมีระบบที่แรงงานต่าวด้าวภายในและคนต่างด้าวภายนอก ช่วยค้ำชูระบบสาธารณสุขของไทยได้ด้วยซ้ำ ส่วนบุคคลากรแพทย์ก็จะมีโบนัสเอาไว้เยียวยากายและใจที่อ่อนล้า (ถ้ารัฐบาลไทยใจดีแบบอิตาลี)

ที่อิตาลีนั้น มีปัญหางบประมาณขาดดุลจึงต้องหาเงินเพิ่มด้วยวิธีการนี้ ส่วนไทยเราหาเงินไม่เป็นเอาเลย ทั้งๆ ที่จะถังแตกเอาง่ายๆ เพราะนักการเมืองไม่กล้าขึ้นภาษีด้วยกลัวเสียฐานเสียง (ขู่จะขึ้นไปงั้นแหละครับ) ครั้นภาษีมาถึงรัฐก็จัดการกันไม่ดีอีก 

ในประเทศไทย ว่ากันตามระเบียบแล้วการจะจ้างแรงงารต่างด้าวอย่างถูกกฎหมายจะต้องพ่วงประกันสังคมด้วย และด้วยจำนวนแรงงานต่างด้าวที่สูงมาก (เฉพาะชาวเมียนมาจำนวน 2 ล้านกว่าคนจากตัวเลขเดือนตุลาคม 2567) เงินที่เข้าสู่ระบบประกันสังคมจึงน่าจะมากไปด้วย แต่แล้วเงินส่วนนี้ทำไมถึงยังช่วยพยุงระบบสาธารณสุขของเราไม่ได้?

เมื่อดูจากประสบการณ์ของสหรัฐฯ และอิตาลี แล้ว สถานการณ์ของไทยเกิดจากความหละหลวมของระบบที่วางโดยรัฐด้วยส่วนหนึ่ง หากจะแก้ปัญหาจะต้องกลับไปแก้ที่ระบบ ซึ่งบางคนอาจจะคิดว่าเป็นการพูดเหมือนเอาหล่อเพราะจริงๆ แล้วเรื่องนี้แก้ยากที่สุด

ปัญหาอีกส่วนมาจากต่างด้าวที่ไม่ดี (ที่ดีๆ ก็มากนะครับ) เพราะความหละหลวมเปิดโอกาสให้มีการหนีภาษี ความไม่เอาใจใส่ของหน่วยงานบางแห่ง ทำให้คนต่างด้าวเอาเปรียบระบบของไทยด้วยการซื้อสวัสดิการถูกๆ แล้วมาใช้รักษาแพงๆ ทำให้โรงพยาบาลไทยจะเจ๊ง และระบบจะพังเอา

คนขี้โกงเหล่านี้ไทยควรจะจับกุมและขึ้นบัญชีดำทั้งหมด อย่าให้เข้าไทยได้อีก ให้หมดโอกาสที่จะรับการรักษาที่ดีกว่าบ้านเมืองตัวเองไปตลอดชีวิต

เรื่องนี้ต้องถามหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้วว่า "กล้าทำไหม?" ถ้าไม่ทำอะไร คนไทยจะโกรธเกรี้ยวขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งไม่ใช่เรื่องดีกับรัฐบาลไทยและคนต่างชาติในไทยและรอบๆ ไทย

บทความโดย กรกิจ ดิษฐาน ผู้ช่วยบรรณาธิการบริหาร และบรรณาธิการข่าวต่างประเทศ The Better

อ้างอิง
1. "Tax Payments by Undocumented Immigrants". ITEP. Published: July 30, 2024

2. Lila Flavin , Leah Zallman, Danny McCormick, and J. Wesley Boyd. "Medical Expenditures on and by Immigrant Populations in the United States: A Systematic Review". International Journal of Health. 2018. 

3. Giulia Bettin, Agnese Sacchi "Health spending in Italy: The impact of immigrants". European Journal of Political Economy Volume 65, December 2020, 101932.

4. "Italy: Government to charge foreigners to use health service". InfoMigrants. Published on : 2023/10/17

หมายเหตุ - บทความนี้เพิ่มเติมข้อมูลและรายละเอียดจากบทความที่โพสต์ในเฟซบุ๊คของผู้เขียน ที่ Kornkit Disthan

Photo - (TOPSHOT) - ผู้ลี้ภัยชาวเมียนมาที่ได้รับบาดเจ็บกำลังพักผ่อนหลังจากได้รับการรักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2564 หลังจากข้ามเข้าสู่ประเทศไทยผ่านแม่น้ำสาละวินหลังจากการโจมตีทางอากาศในรัฐกะเหรี่ยงของเมียนมา (ภาพโดย Lillian SUWANRUMPHA / AFP)

TAGS: #ต่างด้าว