"ตะวันออกผงาด ตะวันตกล่มสลาย" จีนกำลังรุ่งเรืองและสหรัฐจะล่มจม

"ตะวันออกผงาด ตะวันตกล่มสลาย" (東升西降) เป็นแนวคิดทางการเมืองที่เสนอโดยสีจิ้นผิงเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีนตั้งแต่เดือนมกราคม 2021 หมายความว่าสาธารณรัฐประชาชนจีนในฐานะตัวแทนของอารยธรรมตะวันออกได้ฟื้นคืนชีพและจะเข้ามาแทนที่อารยธรรมตะวันตกที่เสื่อมลงเรื่อย ๆ ซึ่งมีตัวแทนคือสหรัฐอเมริกา

สีจิ้นผิงกล่าวไว้ว่า "โดยทั่วไป หลังจากการศึกษาต่อเนื่องตั้งแต่การประชุมสมัชชาใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีนครั้งที่ 18 โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากข้อเท็จจริงที่ว่าพรรคและประเทศได้สร้างความสำเร็จทางประวัติศาสตร์และประสบการเปลี่ยนแปลงทางประวัติศาสตร์ในยุคใหม่ และจากความแตกต่างที่เห็นได้ชัดเจนยิ่งขึ้นระหว่าง "ตะวันออกผงาด ตะวันตกล่มสลาย"  (東升西降) กับ "จีนเป็นระเบียบ ตะวันตกโกลาหล" (中治西乱) สมาชิกพรรคและแกนนำได้เสริมสร้างอุดมคติและความเชื่อของตนให้แข็งแกร่งขึ้น..."

สีจิ้นผิงเอ่ยถึงแนวคิดนี้อีกครั้งเมื่อไม่กี่วันก่อน ในบทความเรื่อง  “ส่งเสริมการสร้างประเทศที่แข็งแกร่งและสาเหตุที่ยิ่งใหญ่ของการฟื้นฟูชาติอย่างครอบคลุมด้วยการพัฒนาสมัยใหม่แบบจีน” ในนิตยสาร “แสวงหาความจริง” 「求是」 ซึ่งตีพิมพ์ในวันปีใหม่ 2025 โดยเน้นย้ำอีกครั้งถึง “ความแตกต่างอย่างชัดเจนระหว่าง "ตะวันออกผงาด ตะวันตกล่มสลาย" กับ "จีนเป็นระเบียบ ตะวันตกโกลาหล" ในยุคใหม่” พร้อมเรียกร้องให้ประชาชนดำเนินการอย่างมั่นใจและสู้ต่อไปเมื่อเผชิญกับการกดขี่ของชาติตะวันตก 

ในบทความ สีจิ้นผิงชี้ให้เห็นว่าการพัฒนาสมัยใหม่ในยุคแรกในโลกตะวันตกมีลักษณะเฉพาะคือการสะสมความมั่งคั่งในด้านหนึ่ง และการขาดศรัทธาและความต้องการทางวัตถุในอีกด้านหนึ่ง ปัจจุบัน ประเทศตะวันตกกำลังประสบปัญหาเพิ่มมากขึ้น เหตุผลสำคัญประการหนึ่งก็คือ พวกเขาไม่สามารถควบคุมธรรมชาติของทุนที่โลภมากได้ และไม่สามารถแก้ไขปัญหาเรื้อรัง เช่น การขยายตัวทางวัตถุและความยากจนทางจิตวิญญาณได้ ตั้งแต่ยุคใหม่เป็นต้นมา ความแตกต่างอย่างชัดเจนระหว่าง "ตะวันออกผงาด ตะวันตกล่มสลาย" กับ "จีนเป็นระเบียบ ตะวันตกโกลาหล" ทำให้ประเทศกำลังพัฒนาจำนวนมากมีทางเลือกใหม่ๆ

และสีจิ้นผิงชี้ว่า จากมุมมองระหว่างประเทศ โลกได้เข้าสู่ยุคแห่งความปั่นป่วนและการเปลี่ยนแปลงใหม่แล้ว ดังนั้น "เราต้องมีจิตใจแจ่มใสเป็นพิเศษและพร้อมเสมอสำหรับการต่อสู้ และเราจะต้องไม่นิ่งนอนใจหรือนั่งเฉยๆ และผ่อนคลาย" และ “เราควรต่อสู้ด้วยความมั่นใจและมีเหตุผล”

คำถามก็คือ เอาอะไรมาวัดว่าสังคมตะวันตกกำลังล่มสลาย และจีนกำลังรุ่งเรือง?

ความรุ่งเรืองและล่มสลายมีวิธีวัดหลายแบบ เอาเฉพาะ "ความล่มสลาย" ก็มีการเอ่ยถึพอสมควรเรื่อง American decline และ Chinese Century ในโลกสากล ซึ่งคล้ายๆ กับสิ่งที่สีจิ้นผิงกล่าวถึงนั่นเอง

Chinese Century หมายถึง การผงาดขึ้นของจีนในศตวรรษนี้จากการขยายตัวทางเศรษฐกิจ อิทธิพลทางการเมืองที่เพิ่มขึ้น (โดยเฉพาะในหมู่ประเทศกำลังพัฒนา) และการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา 

American decline หมายถึงการถดถอยของสหรัฐอเมริกาในฐานะมหาอำนาจของโลก ทั้งในทางการเมืองก็ถูกท้าทายและถูกพันธมิตรเดิมละทิ้ง เศรษฐกิจที่ถดถอยและอุตสาหกรรมล่มสลายจนกระทั่งต้องริเริ่ม "สงครามการค้า" เพื่อใช้วิธีลัดในการทวงคืนความยิ่งใหญ่ แต่ในเวลาเดียวกันการสร้างเทคโนโลยีใหม่ๆ ก็น้อยลง ทำให้รากฐานเศรษฐกิจสั่นคลอน และโดยเฉพาะอย่างยิ่งเกิดความแตกแยกรุนแรงในสังคมอเมริกันเรื่องแนวคิดทางการเมืองและค่านิยมในสังคม จนเสี่ยงที่จะเกิด "สงครามกลางเมือง"

ต่างจากจีนที่มีการปกครอง (治) ที่เป็นเอกภาพและสังคมมีระเบียบ ส่วนสหรัฐฯ และชาติตะวันตกตกอยูในภาวะโกลาหล (乱) เพราะความแตกยแกในสังคมและค่านิยมที่เสรีสุดกู่

คำว่า "โกลาหล" หรือ "ล่วน" (乱) เป็นสิ่งที่จีนให้ความสำคัญมากเป็นพิเศษ เพราะหากเกิดสิ่งนี้ กลไกการปกครองหรือระเบียบสังคมก็จะรวน ดังนั้นจีนจึงต้องทำทุกวิถีทางเพื่อไม่ให้เกิดภาวะ "ล่วน" ขึ้นมาได้ หนึ่งในวิธีการนั้นคือการสร้างชาตินิยมให้แข็งแกร่งและแคมเปญ "การฟื้นฟูชาติ" (ให้พ้นจากภาวะตกต่ำ และให้รุ่งเรืองยิ่งใหญ่) ซึ่งเป็นแนวคิดแรกๆ ของสีจิ้นผิง

ตรงกันข้ามกับสังคมตะวันตกที่นับตั้งแต่ทศวรรษที่ 2000 ก็ไหลไปตามกระแสเสรีนิยม (Liberalism) จนกระทั่งนำไปสู่ความโกลาหลวุ่นวายต่างๆ นานา เพราะ "เสรีมากเกินไป" และ "เอียงไปทางซ้าย" จนกระทั่งฝ่ายปฏิกิริยา คือพวกขวาจัดเริ่มตอบโต้รุนแรงขึ้นในทศวรรษที่ 2020 จนมาถึงช่วงพีคในเวลานี้

อีดหนึ่งควาฒโกลาหลมาจากการปล่อยให้พวกเสรีนิยมใหม่ในทางเศรษฐกิจ (Neoliberalism) กอบโกยมากเกินไป โดยอ้างเสรีภาพแห่งทุนนิยม 

สีจิ้นผิงยังชี้ให้เห็นจุดอ่อนของสังคมตะวันตกก็คือ "ไม่สามารถควบคุมธรรมชาติของทุนที่โลภมากได้" ซึ่งนี้คือการชี้ให้เห็นถึงสิ่งที่ต่างกันระหว่าง "ทุนนิยมตะวันตก" ที่ปล่อยให้ความโลภทำงานอย่างเต็มที่แต่ทำให้เกิดการขูดรีดและความไม่เป็นธรรมในสังคม กระทั่งทำให้เกิดการเผชิญของคนกลุ่มต่างๆ ในสังคม ส่วน "ทุนนิยมและสังคมนิยมจีน" จะมีการถ่วงดุลมากกว่าเพื่อป้องกันไม่ให้สังคมเสียดทานกันมากเกินไป และยังเน้นตัดทอนความร่ำรวยที่มากเกินไปของภาคธุรกิจ และลดความยากจนภายในประเทศ 

อีกเรื่องคือตะวันตกเกิดภาวะ "ความยากจนทางจิตวิญญาณ" (精神貧困) ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงการขาดศาสนา เพราะลิทธิมาร์กซ์ (ที่เป็นปรัชญาของพรรคคอมมิวนิสต์จีน) ไม่เกี่ยวข้องกับศาสนา แต่ "ความยากจนทางจิตวิญญาณ" ที่สีจิ้นผิงหมายถึงนั่นมีคำอธิบายอยู่ในบทความเรื่อง สาระสำคัญของปรากฎการณ์ “ความยากจนทางจิตวิญญาณ” คือความล้มเหลวของปัจเจกบุคคล" โดยเผยแพร่ในเชคชั่นว่าด้วยปรัชญาของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ของสำนักข่าวพรรคคอมมิวนิสต์จีน ดังนี้ 

"เราให้คำจำกัดความของ "ความยากจนทางจิตวิญญาณ" ว่าเป็นปรากฏการณ์ทางพฤติกรรมที่คนจนขาดความทะเยอทะยาน มีความเชื่อเชิงลบ และมีการตัดสินใจทางพฤติกรรมที่ไม่สมเหตุสมผล ซึ่งส่งผลต่อความสามารถในการหลีกหนีจากความยากจน" โดยสรุปก็คือ "ความล้มเหลวจากการทะเยอทะยาน ... ซึ่งหมายถึงการขาดความทะเยอทะยาน ความเชื่อเชิงลบ และความพยายามต่ำของบุคคล"

ดังนั้น ความยากจนทางจิตวิญญาณจึงสะท้อนถึงการถ่วงดุลระหว่าง การลดอิทธิพลทุนนิยม และสร้างสังคมนิยมที่เป็นธรรมด้วยการลดความยากจน แต่เมื่อรัฐไปช่วยคนยากจนแล้ว คนยากจนก็ต้องขวนขวายช่วยเหลือตัวเองด้วย ไม่อย่างนั้นเท่ากับ "ขาดความทะเยอทะยาน" เรื่องนี้จึงสะท้อนดุลยภาพของทุนนิยมในแบบสังคมนิยมจีนได้เป็นอย่างดี

ในโลกตะวันตกนั้นไม่มีดุลยภาพแบบนี้ ทำให้ประชาชนเกิดภาวะไร้ที่พึ่ง ขาดความทะเยอทะยาน และไม่มีปรชญาที่ชี้นำชีวิต ตรงข้ามกับจีนที่มีการแนะนำโดยพรรคฯ เพื่อให้ประชาชนมีแนวทางดำเนินชีวิตที่ชัดเจน หรือนัยหนึ่ง มี "มัคคุเทศน์ทางจิตวิญญาณ" อยู่เสมอ

ว่ากันในทางการเมืองมหภาค แนวคิดนี้ของสีจิ้นผิงคล้ายกับคำกล่าวของเหมาเจ๋อตุงในเดือนพฤศจิกายน 1957 ว่า "กระแสตะวันออกมีชัยเหนือกระแสตะวันตก" (东风压倒西风) ซึ่งในยุคสมัยของเหมาเจ๋อตง แม้ว่าจีนจะยัง "ล้าหลัง" อย่างมากเมื่อเทียบกับตะวันตกและส่วนอื่นๆ ของโลก แต่ในแง่ความมุ่งมั่นที่จะเป็นผู้นำของประเทศที่ต้องการปลดปล่อยตัวเองจากทุนนิยม (และค่านิยมตะวันตก) แล้วจีนถือเป็นผู้นำประเทศหนึ่ง

ปัจจุบันจีนกำลังรับสถานะผู้นำของ "กลุ่มประเทศทางเลือก" เพื่อช่วยนำทาง (เป็นมัคคุเทศน์ทางจิตวิญญาณ) ให้กับประเทศที่ถูกตะวันตกกดขี่และขูดรีดมาก่อน และกำลังนำกระแสลมแห่งตะวันออกให้เหนือกว่าตะวันตกมากขึนเรื่อยๆ เห็นจากความกระตือรือร้นของประเทศต่างๆ ที่จะร่วมมือกับจีนโดยตรงและผ่านองค์กรพหุภาคีที่จีนมีส่วนก่อตั้ง เช่น  BRICS

"กระแสตะวันออกมีชัยเหนือกระแสตะวันตก" เป็นอุปมาที่นำมาจากสำนวนในวรรณคดีคลาสสิกของจีน คือ 'หงโหลวเมิ่ง' 《红楼梦》 หรือ 'ความฝันในหอแดง' ตอนหนึ่ง ตัวเอก คือ หลินไต้อวี้ กล่าวว่า "เรื่องในครอบครัวนั้น หาไม่ลมตะวันออกกำราบลมตะวัน ตก ก็ย่อมเป็นลมตะวันตกกำราบลมตะวันออก" (不是东风压了西风,就是西风压了东风) ความหมายก็คือ ความสัมพันธ์อันวุ่นวายและเป็นปฏิปักษ์นั้น ย่อมมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งต้องพ่ายแพ้ไป "หากไม่ใช่ข้า ก็เป็นเจ้าที่พ่ายแพ้" ในทำนองนี้ 

เนื่องจากเหมาเจ๋อตงเป็นผู้ที่รอบรู้ในวรรณคดีโบราณ จึงมักจะอ้างสำนวนคลาวสิกหรือกรณีคลาสสิกในประวัติศาสตร์เพื่ออธิบายปราปฏการณ์ทางการเมืองอยู่เสมอ คำกล่าวที่ว่า "กระแสตะวันออกมีชัยเหนือกระแสตะวันตก" ก็เป็นหนึ่งในนั้น เพียงแต่มันมีนัยว่า กระแสลมตะวันออกคือฝ่ายดี ส่วนกระแสลมตะวันตกคือฝ่ายชั่ว ดังนั้นมันจึงมีความหมายเท่ากับประโยคที่ว่า "ความดีย่อมมีชัยเหนือความชั่ว"

แน่นอนว่า เราไม่อยู่ในฐานะที่จะบอกว่า เหมาเจ๋อตง, จอห์น เอฟ เคนเนดี, สีจิ้นผิง หรือ โดนัลด์ ทรัมป์ ใครที่เป็นพระเอก และใครคือตัวร้าย

เราทำได้แต่เพียงวิเคราะห์ว่า "ตะวันออกผงาด ตะวันตกล่มสลาย" มีนัยอะไร และมันจะส่งผลต่อชีวิตชาวโลก (รวมถึงคนไทย) อย่างไร?

บทความโดย กรกิจ ดิษฐาน ผู้ช่วยบรรณาธิการบริหาร และบรรณาธิการข่าวต่างประเทศ The Better

Photo - TOPSHOT - ประธานาธิบดีสีจิ้นผิงของจีนกล่าวสุนทรพจน์ในงานเลี้ยงต้อนรับก่อนถึงวันชาติจีน ณ มหาศาลาประชาชนในกรุงปักกิ่ง เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2024 (ภาพโดย ADEK BERRY / AFP)

TAGS: #จีน #สหรัฐ