'ฟรังโก'เผด็จการที่ตายไปแล้ว 50 ปี แต่ยังทำให้สเปนแตกแยกจนทุกวันนี้

'ฟรังโก'เผด็จการที่ตายไปแล้ว 50 ปี แต่ยังทำให้สเปนแตกแยกจนทุกวันนี้

ข้อมูลเบื้องหลังข่าว

  • ฟรานซิสโก ฟรังโก (Francisco Franco) เป็นนายพลทหารชาวสเปนที่นำกองกำลังชาตินิยมโค่นล้มสาธารณรัฐสเปนที่สองในช่วงสงครามกลางเมืองสเปน และปกครองสเปนในฐานะเผด็จการตั้งแต่ปี 1939 ถึง 1975 โดยใช้ตำแหน่ง Caudillo (หมายถึงขุนศึกที่มีอำนาจเผด็จการ) ช่วงเวลานี้ในประวัติศาสตร์สเปนตั้งแต่ชัยชนะของชาตินิยมจนถึงการเสียชีวิตของฟรังโก มักเรียกกันว่า "สเปนยุคฟรังโก" หรือ "เผด็จการฟรังโก"
  • ในช่วงเริ่มต้นของสงครามเย็น ฟรังโกได้นำสเปนออกจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำในช่วงกลางศตวรรษที่ 20 โดยใช้แนวทางเทคโนแครตและนโยบายเสรีนิยมทางเศรษฐกิจ ซึ่งนำไปสู่ยุคสมัยแห่งการเติบโตอย่างรวดเร็วที่เรียกว่า "ปาฏิหาริย์สเปน" (Spanish miracle) ในเวลาเดียวกัน ระบอบการปกครองของเขาได้เปลี่ยนผ่านจากรัฐเผด็จการเบ็ดเสร็จมาเป็นรัฐเผด็จการที่มีความหลากหลายทางสังคมและการเมืองในระดับจำกัด
  • มรดกของฟรังโกในประวัติศาสตร์สเปนยังคงเป็นที่ถกเถียงกัน เพราะสมัยของเขาเต็มไปด้วยการปราบปรามอย่างรุนแรงซึ่งมีผู้เสียชีวิตหลายหมื่นคน แต่ก็มีความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจซึ่งช่วยปรับปรุงคุณภาพชีวิตในสเปนอย่างมาก รูปแบบการปกครองแบบเผด็จการของเขามีความยืดหยุ่นจนเอื้อต่อการปฏิรูปทางสังคมและเศรษฐกิจ แต่ยังคงเน้นที่รัฐบาลที่รวมอำนาจสูงสุด อำนาจนิยม ชาตินิยม นิกายโรมันคาธอลิกแห่งชาติ และต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์
  • ฟรานโกเสียชีวิตในปี 1975 ขณะอายุได้ 82 ปี และถูกฝังไว้ในหุบเขา Valle de los Caídos เขาฟื้นฟูสถาบันพระมหากษัตริย์ในช่วงบั้นปลายชีวิต และจัดให้ ฆวน คาร์ลอส กษัตริย์แห่งสเปนสืบทอดตำแหน่งต่อจากเขา ซึ่งพระองค์เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงของสเปนไปสู่ระบอบประชาธิปไตยจนกระทั่งทุกวันนี้
     

การที่ฝ่ายค้านอนุรักษ์นิยมของสเปนจะคว่ำบาตรการเริ่มต้นการรำลึกอย่างเป็นทางการเนื่องในโอกาสครบรอบ 50 ปีการเสียชีวิตของฟรานซิสโก ฟรังโก เผด็จการฝ่ายขวา เป็นท่าทีที่แสดงให้เห็นพึงความแตกแยกที่คงอยู่ยาวนานแม้ว่าเผด็จการรายนี้จะตายไปนานถึงครึ่งศตวรรษแล้วก็ตาม

นายพลผู้นี้โค่นล้มสาธารณรัฐประชาธิปไตยในสงครามกลางเมืองอันโหดร้ายที่คร่าชีวิตผู้คนไปหลายแสนคน และปกครองด้วยกำปั้นเหล็กตั้งแต่ปี 1939 จนกระทั่งเขาเสียชีวิตในปี 1975

เปโดร ซานเชซ นายกรัฐมนตรีสังคมนิยมได้ประกาศจัดงานประมาณ 100 งานในปี 2025 เพื่อ "จัดแสดงการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้น" ในช่วงครึ่งศตวรรษนับตั้งแต่ประเทศในยุโรปแห่งนี้เริ่มเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตย

พิพิธภัณฑ์ศิลปะเรนาโซเฟียของมาดริดซึ่งเป็นที่ตั้งของภาพวาด "เกร์นิกา" ของปาโบล ปิกัสโซ ซึ่งเป็นผลงานต่อต้านฟรังโกที่โด่งดังที่สุดชิ้นหนึ่ง จะจัดพิธีแรกในวันพุธ

ซานเชซจะเป็นผู้นำในงานนี้ แต่ทว่า ทั้งกษัตริย์เฟลิเปที่ 6 และอัลแบร์โต นูเนซ เฟย์ฮู ผู้นำพรรคนิยมอนุรักษ์นิยมหลักจะไม่เข้าร่วม

เฟย์ฮูเชื่อว่าความคิดที่จะฉลองวันคล้ายวันเสียชีวิตของฟรังโก เป็นกลอุบายของของรัฐบาลฝ่ายซ้ายเสียงข้างน้อยเพื่อฉวยโอกาสที่จะเบี่ยงเบนความสนใจจากปัญหาทางการเมืองและกฎหมาย

เพราะในเวลานี้ การสืบสวนการทุจริตยังคงดำเนินต่อไปกับภริยาของซานเชซและพันธมิตรทางการเมืองของเขา ในขณะที่พรรคสังคมนิยมต้องเจรจาอย่างรอบคอบกับพรรคการเมืองสุดโต่งและพรรคแบ่งแยกดินแดนเพื่อผ่านกฎหมาย

มีแผนการที่จะจัดงานรำลึกถึงฟรังโกในโรงเรียนต่างๆ มหาวิทยาลัยต่างๆ พิพิธภัณฑ์ และถนนหนทางต่างๆ แต่เฟย์ฮูกล่าวมันเป็นผลงานของรัฐบาลที่ "มองไปยังอดีตตลอดเวลาด้วยความสิ้นหวัง" 

พรรคสังคมนิยมได้โต้แย้งโดยชี้ให้เห็นถึงที่มาของพรรค PP หรือพรรคอนุรักษ์นิยม ซึ่งก่อตั้งขึ้นในปี 1989 โดยเป็นพรรคที่สืบต่อมาจากพรรค Popular Alliance ซึ่งก่อตั้งขึ้นในปี 1976 โดยอดีตรัฐมนตรีของรัฐบาลฟรังโก

เหยื่อผิดหวัง
พรรค Vox ฝ่ายขวาจัด ซึ่งเป็นพรรคใหญ่เป็นอันดับสามในรัฐสภา จะเพิกเฉยต่อการรำลึกถึงฟรังโกเช่นกัน

ส.ส. คนหนึ่งของพรรคกล่าวในรัฐสภาเมื่อไม่นานนี้ว่าการปกครองของฟรังโก "ไม่ใช่ช่วงเวลาแห่งความมืดมนอย่างที่รัฐบาลนี้กล่าว แต่เป็นช่วงของการฟื้นฟู ความก้าวหน้า และการปรองดอง"

ในอีกด้านหนึ่งของกลุ่มการเมือง พรรค Podemos ฝ่ายซ้ายจัด เรียกการรำลึกดังกล่าวว่าเป็น "ฉากหน้า" เพื่อปกปิดการชดเชยเพียงเล็กน้อยสำหรับเหยื่อของระบอบเผด็จการ

ซานเชซผ่านกฎหมาย "ความทรงจำประชาธิปไตย" ในปี 2022 ซึ่งมุ่งหวังที่จะฟื้นความทรงจำของพวกเขา ซึ่งรวมถึงการลงทะเบียนเหยื่อจากระบอบการปกครองของฟรังโก และการลบสัญลักษณ์ของฟรังโก

แต่กฎหมายดังกล่าวไม่ได้พิจารณาคดีหรือตัดสินอดีตเจ้าหน้าที่ของฟรังโกคนใดที่ถูกกล่าวหาว่าก่ออาชญากรรมและยังมีชีวิตอยู่ขณะที่พวกเขาได้รับประโยชน์จากการนิรโทษกรรมที่ได้รับการอนุมัติในช่วงเปลี่ยนผ่านจากระบอบเผด็จการมาเป็นระบอบประชาธิปไตย ซึ่งสร้างความผิดหวังให้กับผู้รอดชีวิต

โจแอน มาเรีย โธมัส ศาสตราจารย์ด้านประวัติศาสตร์ร่วมสมัยแห่งมหาวิทยาลัยโรวีรา อี วีร์จิลี กล่าวว่า ความทรงจำที่แตกแยกเกี่ยวกับสงครามกลางเมืองในปี 1936-1939 และฟรังโกมีต้นตอมาจากการล่มสลายของระบอบการปกครอง 

ฟรังโกซึ่งป่วยหนักด้วยวัย 82 ปี เสียชีวิตอย่างสงบในโรงพยาบาล ซึ่งต่างจากการล่มสลายอย่างน่าตกตะลึงของนาซีเยอรมนีและฟาสซิสต์อิตาลีในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง หรือการปฏิวัติคาร์เนชั่นที่โค่นล้มเผด็จการฝ่ายขวาของโปรตุเกสในปี 1974

การเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยตามมาในปี 1977 และชาวสเปนที่เพิ่งได้รับสิทธิในการออกเสียงได้อนุมัติรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ในการลงประชามติในปีถัดมา ซึ่งปัจจุบันมีการเฉลิมฉลองด้วยวันหยุดราชการในวันที่ 6 ธันวาคม

ก้าวที่ 'เป็นบวก'
ในสเปน "มีข้อตกลงใหญ่... ที่จะมองไปข้างหน้า" โดยไม่หวนคิดถึงความอยุติธรรมในอดีต โธมัสกล่าวกับ AFP

การรำลึกถึงการเสียชีวิตของฟรังโกถือเป็นเรื่อง "เชิงบวก" เพราะสเปนในปัจจุบัน "ไม่ได้คำนึงถึงความสำคัญของการฟื้นฟูระบบประชาธิปไตยในปี 1977 และความสามารถในการทำให้ระบอบแข็งแกร่งขึ้น" เขากล่าว

แต่ "เราไม่สามารถหลีกเลี่ยง... ความทรงจำเกี่ยวกับส่วนหนึ่งของประเทศที่สนับสนุนฟรังโก ซึ่งเป็นส่วนสำคัญมาก" เขากล่าวเสริม

กลุ่มคาทอลิกฟาสซิสต์และอนุรักษ์นิยมเป็นผู้สนับสนุนและผู้ภักดีต่อฟรังโก ซึ่งเคยแสดงความเคารพฟรังโกด้วยการจัดพิธีมิสซาและเยี่ยมชมหุบเขาแห่งผู้ล่วงลับ ซึ่งเป็นสุสานขนาดใหญ่ใกล้กับกรุงมาดริดที่ฝังศพของเขา

รัฐบาลซานเชซชุดก่อนได้ดำเนินการครั้งประวัติศาสตร์ในการเคลื่อนย้ายร่างของฟรังโกในปี 2019 และเปลี่ยนชื่อหุบเขานั้น ซึ่งถือเป็นอนุสรณ์สถานแห่งชัยชนะของจุดยืนของเขา

ในการสำรวจความคิดเห็นในปี 2018 โดยบริษัทสำรวจความคิดเห็น  Sigma Dos สำหรับหนังสือพิมพ์อนุรักษ์นิยม El Mundo  แผนดังกล่าวได้รับการสนับสนุนมากกว่าการไม่เห็นด้วยเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

Agence France-Presse

Photo - ภาพถ่ายเมื่อทศวรรษ 1960 ของนายพลฟรานซิสโก ฟรังโกแห่งสเปน นายพลผู้นี้โค่นล้มสาธารณรัฐประชาธิปไตยในสงครามกลางเมืองอันโหดร้ายที่คร่าชีวิตผู้คนไปหลายแสนคน และปกครองด้วยกำปั้นเหล็กตั้งแต่ปี 1939 จนกระทั่งเสียชีวิตในปี 1975 (ภาพโดย AFP)
 

TAGS: #สเปน #FranciscoFranco