ตื่นตูมธรรมด้วย'คำหยาบ' มันจะได้หรือ? ดูมุมมองเถรวาทในลังกาและมหายานแบบจีน

ตื่นตูมธรรมด้วย'คำหยาบ' มันจะได้หรือ? ดูมุมมองเถรวาทในลังกาและมหายานแบบจีน

แม้ว่าตอนนี้จะยังมีเรื่องวุ่นวายมากมายในบ้านเมือง แต่วันนี้ผมจะขอละทางโลกชั่วคราวเพื่อมาเข้าทางธรรม เพราะเห็นว่าทางโลกก็โกลาหลแล้ว วงการธรรมะก็จลาจลพอๆ กัน

โดยเฉพาะเรื่อง "ฆราวาสสอนธรรม" ที่แพร่หลายเหลือเกินในยุคนี้ มีโยมตั้งสำนักสอนธรรมะมากมาย บ้างก็สอนถูก บ้างก็สอนผิด บางสำนักสอนด้วยคำหยาบจนได้รับความนิยมล้นหลาม ท่ามกลางความกังขาว่า "สอนธรรมะต้องพูด มึงๆ กูๆ ด้วยหรือ?"

ผมเองไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญด้านพุทธศาสนา แต่ก็ผ่านหูผ่านตาตำราทางศาสนามาบ้างทั้งฝ่ายเถรวาท (หินยาน) และอาจาริยวาท (มหายาน) และได้เขียนเรื่อง 'คำหยาบ' ในทางพุทธศาสนามาพอสมควร จะขอนำข้อมูลมาแบ่งปันเพื่อความเข้าใจที่ถูกต้อง

โดยสรุปก็คือ ไม่ว่าจะเป็นพุทธศาสนาฝ่ายไหน เรื่องการกล่าวคำหยาบล้วนแต่ "ยอมรับไม่ได้" เพราะเป็นสิ่งที่เกิดจาก "โทสะ"

ก่อนอื่นต้องนิยาม 'คำหยาบ' หรือ 'ผรุสวาจา' เสียก่อนว่าหมายถึงอะไร? ในเรื่องนี้จะต้องขอพึ่งพา "อรรถกถา ธรรมสังคณีปกรณ์" (บทว่าด้วยจิตตุปปาทกัณฑ์ กุศลธรรม กามาวจรมหากุศลจิต 8 จิตดวงที่ 1) ซึ่งมีคำอธิบายแลละอุทาหรณ์บอกชัดว่า อะไรคือคำหยาบและอะไรที่ไม่ใช่

อรรถกถาธรรมสังคณีปกรณ์นั้น ชื่อว่าตำรา "อัฏฐสาลินี" แต่งขึ้นโดยพระพุทธโฆสะ เป็นปรมาจารย์ท่านหนึ่งของสำนักวิภัชวาทในอินเดียและเถระวาทฝ่ายมหาวิหาร หรือ "ลังกาวงศ์" ในศรีลังกา อันเป็นวงศ์ของคณะสงฆ์ที่แพร่หลายในไทยทุกวันนี้ 

บางคนอาจจะไม่เชื่อ "อรรถกถา" เพราะเห็นว่าไม่ใช่พุทธพจน์และแต่งโดยเกจิอาจารย์ต่างๆ แต่โปรดทราบว่าผู้ที่บันทึกพุทธพจน์ก็คือคณาจารย์แต่โบราณ และหากไม่มีคำอธิบายหรืออรรถกถาโดยอาจารย์รุ่นต่อๆ มา ก็อย่าหวังว่าจะเข้าใจพุทธพจน์ได้อย่างชัดเจน 

เอาล่ะ อรรถกถา ธรรมสังคณีปกรณ์กล่าวถึงคำหยาบว่าอย่างไร? 

ก่อนอื่นโปรดทราบว่าศีลข้อมุสาวาทาเวรมณี (ศีลข้อ 4) มิได้หมายความแต่การพูดคำเท็จ แต่การพูดคำหยาบยังทำให้ศีลข้อนี้ไม่บริสุทธิ์อีกด้วย ซึ่งส่งให้จิตใจหม่นหมอง การปฏิบัติธรรมไม่ก้าวหน้า ผู้รักษาศีลอย่างเคร่งครัด จึงต้องหลีกเลี่ยงการพูดคำหยาบ 

แต่แบบไหนที่เรียกว่าหยาบ?

กู มึง อ้ายอี ห่าเหว ฯลฯ ถือเป็นคำหยาบหรือไม่ถ้าพูดด้วยความสนิทสนม หรือรักใคร่เอ็นดู?

ในอรรกถาธรรมสังคณี อธิบายพระอภิธรรมปิฎกได้อธิบายองค์ประกอบและลักษณะของคำหยาบ อันเป็นองค์ประกอบหนึ่งของการละเมิดมุสาวาทเอาไว้ ซึ่งผมขอเรียบเรียงให้เข้าใจง่ายๆ ขึ้นดังนี้ 

วาจาที่มีเจตนาหยาบคาย ต้องเป็นวาจาที่บั่นทอนความรักต่อผู้อื่น แบบนี้เรียกว่าเป็นผรุสวาจา เพื่อความแจ่มแจ้งแห่งผรุสวาจานั้น มีเรื่องนี้เป็นอุทาหรณ์ 

ได้ยินว่า เด็กชายคนหนึ่งไม่เชื่อฟังถ้อยคำของมารดาที่ห้ามไม่ให้ไปเที่ยวป่า มารดาไม่อาจให้เขากลับได้ จึงได้ด่าว่า "ขอให้แม่ควายดุร้ายจงไล่ตามมัน" 

ปรากฎว่าเด็กชายคนนั้นเจอแม่ควายในป่าเหมือนอย่างมารดานั้นกล่าวจริงๆ แต่ลูกชายได้ทำสัจจกิริยา (คือการตั้งสัจอธิษฐานโดยอ้างความสัจจริง) ว่า "ถ้าแม่ของข้าพเจ้าพูดคำใดที่ไม่คิดร้าย ขอคำนั้นจงอย่าเกิดขึ้นจริง ถ้าแม่คิดคำใดด้วยความตั้งใจที่คิดร้ายต่อลูก ก็ขอคำนั้นจงเป็นจริงอย่างแม่ว่าเถิด"

ปรากฏว่าแม่ควายยืนชะงักไม่เข้ามาทำร้ายเด็กชาย เหมือนถูกคนผูกไว้ในที่นั้นนั่นแหละ

อรรถกถาจึงสรุปว่า "ความพยายามแม้อันตัดเสียซึ่งความรักอย่างนี้ ย่อมไม่ชื่อว่าผรุสวาจา เพราะความที่จิตอ่อน หรือไม่ตั้งใจที่จะให้ลูกเกิดอันตรายขึ้นจริงๆ" หมายความว่า ต่อให้พ่อแม่พูดหยาบกับลูกให้ถูกควายไล่กวด แต่กล่าวคำแรงๆ นั้นเพราะความรักเป็นห่วง เมื่อเนื้อหาสาระเต็มไปด้วยความรักความเมตตา ต่อให้คำแรง แต่ก็ไม่ถือว่าหยาบ

ในบางครั้ง มารดาและบิดาอาจจะพูดกับลูกว่า "ขอให้พวกโจรจงตัดพวกเจ้าให้เป็นท่อนน้อยท่อนใหญ่" แต่ความจริงในใจ ท่านทั้งสองนั้นไม่ปรารถนาให้เกิดอันตรายกับบุตรจริงๆ 

"แม้แต่ปล่อยให้กลีบดอกอุบลที่เบาหวิวตกไปถูกบุตรให้ระคายเนื้อระคายตัวก็ยังไม่อาจทำได้" ซึ่งหมายความว่า พ่อแม่นั้นรักลูกดั่งแก้วตาดวงใจ อย่าว่าจะแช่งให้ตายไปจริงๆ แล้ว แม้จะมีกลีบดอกบัวที่เบาหวิวและนุ่มนวลหล่นใส่ตัว พวกท่านก็ยังเป็นห่วง ไม่อยากให้ลูกต้องระคายเคือง

อนึ่ง ในกาลบางคราว อาจารย์และอุปัชฌาย์ อาจจะบอกกับศิษย์ว่า "พวกนี้ไม่มีหิริ ไม่มีโอตตัปปะ พูดอะไร พวกเจ้าจงไล่เขาออกไปเสีย" แต่ที่แท้ท่านเหล่านั้นย่อมปรารถนาให้ศิษย์เหล่านั้นถึงพร้อมซึ่งการเล่าเรียนและการบรรลุมรรคผล จึงไม่ชื่อว่าเป็นผรุสวาจา เพราะท่านพูดด้วยความรักในศิษย์ อยากให้ศิษย์ได้ดี 

อรรถกถาสรุปว่า ผรุสวาจานั้นมีองค์ประกอบ 3 อย่างคือ จะต้องมี 1. อกฺโกสิตพฺโพ ปโร (มีคนอื่นที่ตนพึงด่า) 2. กุปิตจิตฺตํ (มีจิตโกรธ) 3. อกฺโกสนา (การด่า) 

โดยเฉพาะข้อ 2 กับ 3 นั้นมีปัจจัยหลัก คือผู้พูดคำหยาบจะต้องมีจิตที่โกรธและกล่าวคำที่สะท้อนความโกรธ ถามว่าจะรู้ได้อย่างไร? ก็ต้องให้คนพูดถามใจตัวเองว่ามีจิตโกรธหรือโทสะหรือไม่ ถ้ามีสักนิดก็ถือว่าเป็นคำหยาบที่ทำให้ศีลด่างพร้อยๆ แต่ถ้ากล่าวคำหยาบเพราะต้องขู่อีกฝ่ายให้เกรงกลัวความชั่วหรือภัยอันตรายด้วยความรักความห่วงดั่งลูก แบบนี้ไม่ถือว่ากล่าวคำหยาบ

ส่วนคำฟังนั้นก็ต้องอาศัยสัญชาติญาณหยั่งเอาเองว่าคนที่พูดหยาบกับตนนั้น เขาพูดเพราะรักเพราะห่วง หรือเขาพูดเพราะมีจิตโทสะและไม่ได้ห่วงหาอาทรอะไรกับใคร

ดังนั้น ตามปกติคนที่ไม่รู้จักไม่ควรจะพูดคำหยาบต่อกัน เพราะไม่รู้ใจกัน คนฟังมีโอกาสสูงที่จะคิดว่า "กำลังถูกด่า" ไม่ทางที่จะโยนิโสมนสิการได้ทันว่า "อ๋อ นี่คืออุปายโกศล" โดยใช้คำหยาบเพื่อกระทุ้งธรรม

"อุปายโกศล" (สันสกฤตว่า อุปายะ ชญาณะ กุศละห์ หรือภาษาจีนมหายานว่า 方便) คือ อุบายในทางดีเพื่อช่วยเหลือสรรพสัตว์ แต่นี่คือหลักของพระโพธิสัตวจริยา อันเป็นแนวทางของมหายานที่ต้องอาศัยภูมิธรรมที่สูงมากเพราะต้องรู้วาระจิตคน 

ถ้าคนอ้าง "อุบาย" ไม่ใช่โพธิสัตว์ที่ช่ำชองในเรื่องนี้ โอกาสจะสร้างกรรมมีสูงมาก จึงต้องอาสัยสังคหวัตถุ 4 (四摄法) มาประกอบอยู่ตลอด และหนึ่งใน 4 ข้อนั้น คือ "ปิยวาจา" (爱语) คือ การพูดจาด้วยถ้อยคำไพเราะอ่อนหวาน จริงใจ ไม่พูดหยาบคายก้าวร้าว

ในทางมหายาน ตามอวตัมฺสกสูตร 《华严经》 และทศภูมิกสูตร 《十地经》 จะแบ่งระดับของโพธิสัตว์ออกเป็น 10 ภูมิ (十地) โดยแบ่งตามความสามารถในการปฏิบัติธรรม โพธิสัตว์ที่สามารใช้อุปายโกศลได้อย่างช่ำชองนั้นอยู่ในภูมิที่ 8 (八地) ขึ้นไป ภูมิที่ 8 นั้นบ้างครั้งเรียกว่า อุปายะภูมิ (方便地)

การจะมีความสามารถระดับภูมินี้จะต้องเปี่ยมด้วยปัญญาหยั่งรู้ เปี่ยมด้วยมหากรุณาคือรักสงสารสรรพชีวิตไม่มีประมาณ และเปี่ยมด้วยโพธิจิต คือจิตที่ต้องการช่วยเหลือสรรพสัตว์อย่างไร้เงื่อนไข

โดยสรุป ถ้าถามทัศนะของผมแล้ว หากไม่ใช่พ่อแม่ (ที่เลี้ยงเรามาทั้งชีวิตและรักเราอย่างไร้เงื่อนไข) หรือครูบาอาจารย์ในทางศาสนา (มีภูมิธรรมสูงหยั่งรู้วาระจิตศิษย์ได้และรักเราอย่างไร้เงื่อนไขเช่นกัน) เราไม่ควรจะยอมรับคำหยาบของใคร เพราะไม่มีทางรู้ว่า "เขาเมตตากรุณาต่อเราจริงหรือไม่"

และผู้ปฏิบัติธรรมนั้น อย่าว่าแต่คำหยาบเลย แม้แต่การพูดพล่อยๆ ก็ไม่ควรทำ นั่นหมายถึงการพูดคุยไปเรื่อยๆ ด้วย แม้แต่เรื่องธรรมะก็ไม่ควรคุยไม่หยุดไม่หย่อน (การเสวนาธรรมนั้นมีเวลาที่จำกัดและไม่นาน) เพราะธรรมะคือแนวทางการปฏิบัติให้พ้นทุกข์ ไม่ใช่เรื่องที่ผู้ปฏิบัติธรรมจะเอามาพูดไปเรื่อยได้ เพราะจะทำให้ "ฟุ้งซ่าน" 

อย่างพระในฝ่ายมหายานที่จีนท่านนิยมภาวนา "พระนามพระพุทธเจ้า" เช่น พระนามพระอมิตาภพุทธเจ้า พระศากยมุนีพุทธเจ้า ทำนองเดียวกับเถรวาทสายพระป่าในบ้านเราสอนให้ภาวนาว่า "พุทโธ" แล้วกำชับว่า "อย่าพูดคุยเพ้อเจ้อเหมือนคนทางโลกให้มากนัก" เพราะหน้าที่ของคนมีธรรมคือการนำธรรมไปปฏิบัติ

ผมจะขอยกคำสอนของภิกษุณีอายุกว่าร้อยปีจากภูเขาจิ่วหัว (九华山) มณฑลอันฮุย ประเทศจีน ซึ่งเป็นสถานที่บำเพ็ญเพียรของพระกษิติครรภโพธิสัตว์ ว่ากันว่าท่านมีอายุ 100 กว่าปีและมีสุขภาพแข็งแรง ท่านไม่เคยพูดเรื่องซุบซิบใดๆ ชื่อเสียงของภิกษุณีชราคนนี้เป็นแรงบันดาลใจให้สถานีโทรทัศน์หลายแห่งในจีนรีบไปสัมภาษณ์ท่าน ต่อหน้ากล้องภิกษุณีชราก็ยังคงเน้นภาวนาพระนามพระพุทธเจ้า ท่านยังคงสงบและไม่สะทกสะท้าน ท่านอนุญาตให้นักข่าวสัมภาษณ์ท่านได้

ในฐานะผู้ปฏิบัติธรรมสตรี ท่านสอนไว้ว่า 

“กรรมทางวาจา” เป็นกรรมที่ยากที่สุดที่ผู้หญิงจะเอาชนะได้ในปฏิบัติธรรม
“กรรมทางวาจา” ถือเป็นอุปสรรคใหญ่ที่สุดสำหรับผู้หญิงในการปฏิบัติสู่การตรัสรู้
“กรรมทางวาจา” เป็นพลังที่ร้ายแรงที่สุดในการปฏิบัติธรรมของผู้หญิง
“กรรมทางวาจา” เป็นกรรมหลักที่จะทำให้ผู้หญิงต้องตกไปอยู่ในภพภูมิของปีศาจ
“กรรมทางวาจา” เป็นพลังการต่อต้านที่ยิ่งใหญ่ที่สุดที่จะขัดขวางผู้หญิงไม่ให้ไปบังเกิดยังสุขาวดีพุทธเกษตร
“กรรมทางวาจา” ขัดขวางไม่ให้สถานที่ปฏิบัติธรรมปราศจากมลทิน ทำให้เกิดปรุงแต่งว่านี่ดีนั่นดี
“กรรมทางวาจา” ขัดขวางความสามัคคีของคณะสงฆ์และก่อให้เกิดความเสื่อมโทรมของธรรม
“กรรมทางวาจา” ทำให้สิ่งมีชีวิตทั้งปวงถอยห่างจากจิตที่มุ่งสู่มรรคผล และทำลายรากเหง้าที่ดีของผู้คน

บาปแห่งกรรมทางวาจานั้นร้ายแรงอย่างยิ่ง หากผู้หญิงปฏิบัติกรรมวาจาทั้งสี่ ได้แก่ "การโกหก พูดคำหยาบ นินทา และพูดไร้สาระ" พวกเธอจะต้องทนทุกข์ "ทุกข์ไม่จำกัด" ในแดนอบายภูมิตลอดไป และจะไม่มีโอกาสหลีกหนี (พ้นอบาย) ดังนั้น เมื่อปฏิบัติธรรม ผู้หญิงควรระมัดระวังคำพูดและการกระทำของตนเอง เพื่อจะได้หลีกเลี่ยงการตกไปสู่แดนแห่งความชั่วร้ายแห่งการเวียนว่ายตายเกิด และความทุกข์ทรมาน และบรรลุโพธิยังสุขาวดีพุทธเกษตร

คำสอนของภิกษุณีแห่งภูเขาจิ่วหัวท่านนี้แม้จะสอนสตรีเพราะตัวท่านเป็นสตรี แต่เป็นคำสอนที่ใช้ได้กับทั้งบุรุษ สตรี และไม่ใช่บุรุษและสตรี พูดสั้นๆ ก็คือเป็น "ธรรมะครอบจักรวาล"

ไม่ว่าจะผู้ชายหรือไม่หญิง หากปล่อยตัวเองให้พูดไปเรื่อยๆ โอกาสที่จะก่อ  “กรรมทางวาจา” นั้นมีสูงมาก 

ยกเว้นว่าจะเป็นพระขีณาสพ ได้อรหันต์ผลแล้ว ซึ่งคำกล่าวของท่านพ้นไปจากความหยาบและความละเอียด และทรงไว้ซึ่งมหาสติและพรหมวิหารอยู่ตลอดเวลา เป็นคุณต่อผู้ฟังทุกถ้อยคำ

จะข้อยกตัวอย่างสุดท้ายจากปริศนาธรรมของนิกายเซนเรื่องคำหยาบ คำไม่หยาบ และเสียงแห่งถ้อยคำต่างๆ นานา ว่า ต่างหรือไม่ต่างกัน 

เรื่องนี้บันทึกไว้ในหนังสือ "บันทึกผาเขียวคราม" 《碧岩录》 เป็นปริศนาธรรมในทำนองการสนทนาซักถามของพระภิกษุในนิกายเซน เรียบเรียงขึ้นในสมัยราชวงศ์ซ่ง เรื่องนี้มีชื่อว่า "ท่านโถวจื่อตีให้ถูกต้อง" (投子是打)  โถวจื่อในที่นี้หมายถึงพระฌานาจารย์ (พระอาจารย์นิกายเซน) ชื่อว่า โถวจื่อ ต้าถง  (投子大同) เป็นคนสมัยราชวงศ์ถัง เกิดเมื่อ ค.ศ. 819 มรณภาพ ค.ศ. 914

พระรูปหนึ่งถามท่านโถวจื่อว่า "ทุกสรรพเสียงคือเสียงแห่งพุทธะ ใช่หรือไม่?"

ท่านโถวจื่อตอบว่า "ถูกต้อง"

พระรูปนั้นถามว่า "ถ้าเช่นนั้นพระอาจารย์ เสียงตดของท่านไม่ใช่เสียงบาตรพระพุทธองค์ลั่นหรอกหรือ?"

ท่านโถวจื่อตีพระรูปนั้น (การตีสั่งสอนเป็นวิธีการปลุกจิตของนิกายเซน) 

พระรูปนั้นถามอีกว่า "คำหยาบคำละเอียดล้วนหวนคืนสู่ความนัยดั้งเดิม ใช่หรือไม่"

ท่านโถวจื่อตอบว่า "ถูกต้อง"

พระรูปนั้นถามว่า "ถ้าเช่นนั้น กระผมเรียกพระอาจารย์เป็นลาตัวหนึ่งจะได้ไหม?" (การด่าคนอื่นว่าลา ถือเป็นเรื่องหยาบคายยิ่ง เพราะเท่ากับด่าว่าโง่)

ท่านโถวจื่อตีพระรูปนั้น

เรื่องนี้อาจจะเข้าใจได้ยาก เพราะเป็นปริศนาธรรมของนิกายเซน แต่ก็มีคำอธิบายที่พอจะให้คนนอกวงการได้เข้าใจได้มากขึ้น 

ก่อนอื่นนั้นที่กล่าว "ทุกสรรพเสียงคือเสียงแห่งพุทธะ" เทียบได้กับประโยคว่า "ทุกสรรพเสียงคือวิถีแห่งธารณี ทุกสรรพเสียง บอกกล่าวธรรมะอันประมาณมิได้" มาจาก "อวตัมฺสกสูตร" 《华严经》 อันเป็นพระสูตรสำคัญของมหายาน หมายความว่าเสียงทุกเสียง คำทุกคำ คือคำและเสียงทำให้รู้แจ้งได้ 

และ "คำหยาบคำละเอียดล้วนหวนคืนสู่ความนัยดั้งเดิม" มาจาก "มหาปรินิรวาณสูตร" 《大般涅槃经》อีกหนึ่งพระสูตรของมหายาน ความว่า "พระพุทธเจ้าทั้งหลายล้วนตรัสคำอ่อนโยน สรรพสัตว์นั้นกล่าวหยาบกระด้าง คำหยาบกระด้างและคำอ่อนโยน ทั้งมวลล้วนกลับสู่ปรมัตถ์"

โลกธาตุหรือจักวาลนั้นประกอบขึ้นมาด้วยปรมัตถ์ คือ ธาตุที่เป็นสัจจริงไม่ปรุงแต่ง และสมมติ คือการนิยามปรุงแต่งขึ้นมา

"พระพุทธเจ้าทั้งหลายล้วนตรัสคำอ่อนโยน" ย่อมหมายความว่าผู้มีภูมิธรรมสูงย่อมอ่อนโยนไม่กล่าวผรุสวาท เพราะมีศีลและมีพรหมวิหาร 

"สรรพสัตว์นั้นกล่าวหยาบกระด้าง" สรรพสัตว์หมายถึงสิ่งมีชีวิตทั่วไปที่ยังไม่บรรลุพุทธะ หรือแม้แต่การเป็นพระอริยเจ้า คนหรือสัตว์เหล่านี้ย่อมมีสันดานพูดหยาบเป็นปกติ เพราะไม่ได้มีศีล

ผู้รู้แจ้งกล่าวคำอ่อนโยน คนธรรมดากล่าวคำหยาบ เรื่องนี้ยังเป็นสมมติเพราะเป็นการปรุงแต่งให้ดีและไม่ดี ชอบและไม่ชอบ งามและไม่งาม ฯลฯ คือความเป็นคู่นั่นเอง

เมื่อถึงระดับ "ล้วนกลับสู่ปรมัตถ์" พ้นดีพ้นชั่ว พ้นละเอียดพ้นหยาบ หรือถึงความไม่เป็นคู่ (不二) แล้ว ก็จะทราบว่าทุกอย่างเป็นแค่สิ่งปรุงแต่ง เมื่อปรุงแต่งย่อมไม่มีตัวตนแท้จริง เป็นแค่ความว่างเปล่า 

ดังคำว่า "ในศูนยตามีความไม่มีคู่" (空有不二) เมื่อรู้ว่าทุกอย่างว่างเปล่า ที่คิดว่ามีตัวตนก็เป็นแค่สมมติแล้วเปรียบเทียบกันว่าเป็นแบบนี้แบบนั้น ทุกสิ่งนั้นมีสภาพเหมือนกันไม่ต่างกัน ไม่มีความเป็นคู่ให้เปรียบเทียบได้ ก็จะทราบว่า "ทุกสรรพเสียงคือเสียงแห่งพุทธะ"

แต่การเข้าถึงสภาวะนี้เป็นเรื่องส่วนบุคคล ไม่อาจจะมาป่าวประกาศได้ หรือใช้มาตรฐานการบรรลุธรรมปรมัตถ์นี้กับทุกคนที่ยังอยู่ในโลกสมมติได้

ส่วนใครยังติดสมมติ แล้วใครถึงแล้วซึ่งปรมัตถ์ คนนั้นย่อมรู้ตัวของตัวเองดี

บทความโดย กรกิจ ดิษฐาน ผู้ช่วยบรรณาธิการบริหาร และบรรณาธิการข่าวต่างประเทศ The Better

Photo - จิตรกรรมฝาผนังวัดกัลยานีราชมหาวิหาร ประเทศศรีลังก แสดงเหตุการณ์ตอนที่พระพุทธโฆสะถวายต้นฉบับคัมภีร์วิสุทธิมัคค์ให้กับคณะสงฆ์ลังกา (ภาพโดย Photo Dharma)

TAGS: #พุทธศาสนา #คำหยาบ