คนอเมริกันแปรพักตร์ไปรักแอปจีน เพราะว่า Land of the Free มันไม่มีอยู่จริง!

คนอเมริกันแปรพักตร์ไปรักแอปจีน เพราะว่า Land of the Free มันไม่มีอยู่จริง!

ผมเคยเขียนไว้ในบทความหนึ่งว่า การต่อสู้ระหว่างฝ่ายจีนกับสหรัฐ (รวมถึงรัสเซียกับยุโรป) จะทำให้โลกตะวันตกกลายสภาพเป็นระบอบ "อำนาจนิยม" มากขึ้น หรืออย่างน้อยก็จะต้องเป็น "ขวา" มากขึ้น

นั่นเพราะการเป็นเสรีประชาธิปไตยไปเรื่อยๆ ในภาวะสงครามที่เริ่มก่อตัวจะทำให้การควบคุมเอกภาพของชาติเป็นไปได้ยากลำบาก ตรงกันข้ามกับจีนที่มีเอกภาพในชาติสูงด้วยค่านิยมเดียวกันและชาตินิยมที่แกร่งขึ้นเรื่อยๆ เมื่อปะทะกัน ประเทศที่ไร้เอกภาพจะถูก "ตีแตก" ได้ง่าย ดังนั้นพวกฝ่ายการเมืองจึงเริ่มเอียงไปทางขวาและกุมอำนาจเข้าศูนย์กลางทีละน้อยๆ 

ประชาชนที่รักเสรีภาพจอมปลอมและภักดีกับฝ่ายขวาจะ "ยอมหยวนๆ" ให้รัฐบาลริบเสรีภาพของตนไปเพราเชื่อว่า "รัฐบาลมีความจำเป็นที่จะต้องปกป้องเราเรามีหน้าที่จ่ายภาษีและเสียเสรีภาพบางส่วนให้" 

แต่การทำแบบนี้ ประชาชนที่รักเสรีภาพอย่างแท้จริงจะขัดขืนอย่างรุนแรง 

กรณีตัวอย่างคือการแบน "ติ๊กต็อก" ทำให้คนอเมริกันรู้สึกว่าประเทศตัวเองกำลังทรยศหลักการเสรีภาพในการแสดงความเห็น และริดรอนสิทธิของประชาชน 

ยูสเซอร์อเมริกันรายหนึ่งจึงบอกว่า "มีแต่ประเทศฟาสซิสต์เท่านั้นที่แบนเว็บไซต์ มีแต่ประเทศฟาสซิสต์เท่าน้นที่แบนแอป" 

ในเมื่อประเทศตัวเองกลายเป็นฟาสซิสต์ที่ทรยศหลักการแห่งเสรีประชาธิปไตย คนอเมริกันพวกนี้เลย "ทรยศ" บ้างด้วยการแห่ไปใช้แอปเสี่ยวหงชูของจีน ทำให้ยอดดาวน์โหลดแอปนี้ขึ้นอันดับหนึ่งเมื่อไม่กี่วันก่อน

ปรากฏการณ์นี้ผมว่าอยู่ไม่ยืด เพราะเสี่ยวหงชูออกแบบมาเพื่อให้คนในจีนใช้เป็นหลักและมีมาตรฐานที่ใช้กับโลกภายนอกไม่ได้ ดังนั้น เมื่อคนแห่ไปใช้มากๆ สักพักจะมีการละเมิดข้อห้ามในอัตราสูง (ตอนนี้ก็มีคนล้อเล่นกับระบบเยอะแล้ว เช่น โพสต์เรื่องกรณีเทียนอันเหมิน) แล้วจะต้องปะทะกันในที่สุด เว้นว่าเสี่ยวหงชูจะผลิตแอปจำเพาะให้คนนอกจีนใช้ เหมือนโต่วอินผลิตติ๊กต็อกออกมา

แต่เรื่องนั้นต้องรอดูกันต่อไป แต่ตอนนี้เราจะเห็นคนอเมริกัน "ตาสว่าง" กับประเทศตัวเองมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะเรื่องเสรีภาพนั้นไม่มีอยู่จริง เพราะมันถูกควบคุมโดยรัฐและทุนมาโดยตลอด ตราบใดที่ "อะไรก็ตาม" ไม่เป็นภัยต่อรัฐและทุนอเมริกัน ตราบนั้นมันจะมีเสรีภาพต่อไป

ตามหลักการที่สหรัฐอเมริกาและโลกตะวันตกชอบโพนทะนา ธุรกิจและการลงทุนจะต้องเคลื่อนย้ายอย่างเสรีใช่ไหม? แน่นอนว่า มันจะเสรีสำรับพวกเขาเท่านั้น เมื่อธุรกิจของคู่แข่งทำท่าจะไปได้ดีกว่า เมื่อนั้นหลักการนี้จะถูกริดรอนโดยใช้ข้ออ้างสารพัด

การแบนติ๊กต็อกครั้งนี้อ้างเรื่องความมั่นคงจากการเก็บข้อมูลโดย "แอปจีน" 

แต่เอาจริงๆ "แอปอเมริกัน" เก็บข้อมูลผู้ใช้มากกว่าอีก

คนอเมริกันบางคนก็เลยทำคอนเทนต์ประกาศว่า ต่อให้ "จีนแดง" ล้วงข้อมูลไปถึงโคตรเหง้าเหล่ากอ พวกเขาก็ยอม ขอแค่มีติ๊กต็อกใช้เหมือนเดิมก็พอ - จากนั้นก็ตามด้วยการแห่ไปใช้เสี่ยวหงชูกัน 

แน่นอนว่ามันเป็นการประชดด้วย แต่บางคนไม่ใช่แค่ประชด เพราะใจอาฆาตรุนแรงขนาดขุดเบื้องหลังนักการเมืองที่กระเหี้ยนกระหือรือกับการแบนแอปจีน แล้วเปิดโปงว่าพวกที่สนับสนุนการแบนบางคนไปกว้านซื้อหุ้นแอปอเมริกันบางตัวหลายครั้ง

นัยว่าเมื่อแอปจีนไป คนจะแห่ไปใช้แอปอเมริกันแน่ๆ 

แอปที่ว่านั้นก็สนองด้วยการเปลี่ยนหน้าตาให้เหมือนติ๊กต็อกเมื่อไม่กี่วันก่อน ส่วนบอสของแอปนี้ก็ออกมาแอ็กทีฟด้วยการออกมาแสดงทัศนะตามสื่อดัง ซึ่งทัศนะนั้นทำให้คนยิ่งดูถูกเขาว่าเป็น "พวกไม่มีกระดูกสันหลัง" เพราะจู่ๆ ก็เปลี่ยนจุดยืนจากซ้ายนิดๆ (เพราะจะสนับสนุนความหลากหลาย) มาเป็นขวาจะตกขอบ (ออฟฟิศเรานี่มันออกสาวเกินไปหน่อยแล้วนะ) และน่าจะเปลี่ยนท่าที่เพื่อเอาใจรัฐบาลใหม่ที่เป็นฝ่ายขวา ซึ่งในสมัยที่แล้วผู้นำคนนี้เป็นตัวการเริ่มแบนติ๊กต็อกคนแรก

เพราะมัน "อั๊กลี่ อเมริกัน" แบบนี้เอง ดังนั้น โปเจกต์ต่อมาหลังจากหันไปใช้เสี่ยวหงชู ก็คือการทำแคมเปญลบแอปอเมริกันของบริษัทนั้นทุกตัว ผลก็คือหุ้นของแอปนั้นร่วงหนัก ทั้งนี้ก็เพื่อที่จะทำลายมูลค่าหุ้นที่นักการเมืองพวกนั้นถือไว้นั่นเอง

กรณีนี้สะท้อนว่าคนอเมริกันไม่เชื่อถือ "วาทกรรมการเมือง" ที่พวกนักการเมืองและนายทุนเป่าหูพวกเขาอีกไป "วาทกรรม" ที่ว่านั้นคือ "เราเป็นประเทศเสรี แต่ต้องควบคุมเสรีภาพเอาไว้บ้าง เพื่อความมั่นคง" แต่ประชาชนเห็นว่าพวกนี้โป้ปดชัดๆ เพราะนักการเมืองมีผลประโยชน์ทับซ้อน บางคนซื้อหุ้นแอปอเมริกันรอไว้ บางคนมีข่าวว่าได้เงินสนับสนุนจากแอปอเมริกัน และมีโอกาสที่แอปอเมริกันจะทุ่มเงินเพื่อ "ล็อบบี้" นักการเมืองเพื่อให้แบนแอปคู่แข่งจากจีนที่กำลังมาแรงขึ้นเรื่อยๆ ส่วนแอปของพวกเขานั้นคนเบื่อหน่ายเต็มที

ได้วาทกรรมที่ว่า "เราเป็นประเทศเสรี แต่ต้องควบคุมเสรีภาพเอาไว้บ้าง เพื่อความมั่นคง" มันเป็นคำพูดที่เอาไว้หลอกประชาชนได้ในยุคสงครามเย็นครั้งแรก ซึ่งตอนนั้นประชาชนเข้าไม่ถึงข้อมูลข่าวสารและคิดเองไม่ค่อยจะเป็น ดังนั้นจึงถูกหลอกจากโฆษณาชวนเชื่อได้ง่าย

ดังนั้น ในยุคสงครามเย็นครั้งแรก รัฐบาลอเมริกันป่าวประกาศว่า "เราคือโลกเสรี" ก็ประกาศแต่ปาก เพื่อที่จะวางหมากกันประเทศคอมมิวนิสต์เอาไว้ จึงสนับสนุนรัฐบาลเผด็จการอำนาจนิยมที่เลวร้ายพอๆ กับพวก "แดง" ไม่ว่าจะเป็นเผด็จการในไทย ในเกาหลีใต้ ในอินโดนีเซีย ในชิลี และอีกมากมายแม้แต่การหนุนรัฐบาลฝ่ายขวาในยุโรปที่ทำลายความกินดีอยู่ของประชาชน แต่เป็นสมุนที่ดีของ "กลุ่มโลกเสรี" 

แต่ในยุคสงครามเย็นครั้งที่สอง ประชาชนมีจิตวิเคราะห์สูง และเข้าถึงข้อมูลได้ทุกทิศทุกทาง นักการเมืองอเมริกันก็ยังใช้สูตรเดิมสมัยสงครามเย็นครั้งแรก ดังนั้น พอประชาชนล่วงรู้ข้อมูลจึงตาสว่างว่า "พวกนี้มันทรราชย์ดีๆ นี่เอง" แต่ซ่อนรูปว่าเป็นวีรบุรุษแห่งเสรีภาพ

ผมเชื่อว่าคนอเมริกันไม่ได้หลงรักติ๊กต็อกขนาดยอมถวายดาต้าส่วนตัวได้ไม่จำกัด เพียงแต่พวกเขาเห็นว่าการแบนแอปที่ไม่มีพิษมีภัยอะไรในสายตาพวกเขา คือการ "กลั่นแกล้ง" ประชาชน เพื่อรักษาผลประโยชน์ของนายทุนสายเทค

คนอเมริกันจึงแปรพักตร์ไปทางจีนยิ่งขึ้น แม้ผมจะบอกว่าเป็นแค่การประชด และไม่น่าจะยั่งยืน แต่มันสะท้อนว่า "การกบฏ" ได้ก่อตัวขึ้นมาแล้วในสหรัฐอเมริกา 

บางคนบอกวานี่คือการก่อตัวอีกครั้งของ "การปฏิวัติ" เช่นเดียวกันเมื่อบิดาผู้ก่อตั้งชาติสหรัฐอเมริกาคว่ำบาตรเผด็จการอังกฤษด้วยการเอาชาไปทิ้ง คราวนี้คนอเมริกันที่รักชาติก็ต้องก่อกบฏกต่ออำนาจนิยม+นายทุนไร้หัวใจ ด้วยการไม่ใช้ของอเมริกันมันซะเลย 

ยูสเซอร์อเมริกันบางคนถึงขนาดปลุกเร้าให้เพื่อร่วมชาติอย่าไปยอมพวก "อีลีท" ที่ใช้อำนาจข่มเหงประชาชนมากขึ้นทุกวัน และลงมือทำอะไรที่จริงจังมากกว่านี้เพื่อ "สำเร็จโทษ" นักการเมืองและนายทุน

เรื่องนี้ทำให้ผมนึกถึงการสังหารซีอีโอของบริษัทประกันอเมริกันแห่งหนึ่ง ปรากฏว่าแทนที่จะมีคนเห็นใจคนตาย กลับมาแต่คนสาปส่งเห็นเห็นดีเห็นงามกับการสังหารนายทุนคนนี้ โทษฐานที่บริษัทของเขาปฏิเสธเงินประกันให้คนอเมริกันที่ต้องตกทุกข์ได้ยาก โดยอาศัยกลเม็ดของระบอบทุนนิยมที่อออกแบบโดยรัฐซึ่งเข้าข้างภาคธุรกิจแต่เอาเปรียบคนธรรมดา

คนธรรมดาเหล่านี้แหละที่บอกว่า พวกเขามี "แอปจีนแดง" เป็นที่ระบายความคับแค้นใจมาโดยตลอดเพราะไม่แบนความเห็นแบบสุ่มสี่สุ่มห้า ผิดกับแอปอเมริกันมักจะแบนคอนเทนต์ที่สะเทือนไปถึงพวกอีลีทโดยอ้าง "ความมั่นคง" เช่น หากมีการเปิดเผยการละเมิดสิทธิมนุษยชนของหรืออาชญากรรมสงครามโดยอิสราเอล แอปอเมริกันจะก็จะแอบๆ คอนเทนต์พวกนี้ไว้ หรือไม่ก็แบนไปเลย ส่วนติ๊กต็อกนั้นเต็มไปด้วยการเปิดโปงความชั่วร้ายพวกนี้ 

กลายเป็นว่า แอปจีนให้เสรีภาพในการแสดงความเห็นแก่คนอเมริกันมากกว่าแอปที่ผลิตโดยนายทุนอเมริกัน (เชื้อสายยิว) เสียอีก 

และคนอเมริกันก็เริ่มตระหนักว่า ในขณะที่พวกนักการเมืองโจมตีทางการจีนว่าควบคุมแอปอยู่เบื้องหลัง แต่ตัวเองก็รับเงินจากนายทุนทั้งหลายที่เป็นเจ้าของสื่อเดิมและสื่อใหม่ ซึ่งสามารถใช้อำนาจเงินและการเมืองเพื่อควบคุมวาระต่างๆ ได้ดีพอๆ กับการควบคุมของรัฐบาลอำนาจนิยม

คนอเมริกันจึงสิ้นหวังกับระบอบที่ผุพังของประเทศ

เกรงว่า "สงครามกลางเมืองอเมริกัน" ครั้งต่อไป จะไม่ใช่แค่การปะทะกันของอุมดการณ์ขวาและซ้าย แต่จะเป็นการโค่นล้มระบอบทุนนิยมแบบอเมริกันด้วย 

ผมไม่ได้เกลียดระบอบทุนนิยมและเห็นว่ามันมีคุณอยู่เหมือนกัน เพียงแต่เวอร์ชั่นอมเริกันของระบอบนี้มันเลงร้ายมาก ทำให้คนอเมริกันอยู่กันแบบชักหน้าไม่ถึงหลัง ระบอบสาธารณสุขถ้วนหน้าก็ไม่มีเพราะต้องทำประกันเอา แล้วระบบทุนมันก็ทำให้สถาบันการเงินเอาเปรียบประชาชนไปทุกทาง 

ผมนึกถึงเรื่องที่เคยเขียนไว้ว่า "โลกเสรี" (ที่่จริงมันไม่ได้เสรีอะไรขนาดนั้น) จะกลายเป็นอำนาจนิยมมากขึ้น เพราะทุนมีอำนาจเหนือเสรีภาพ ประชาชนเป็นแค่ลูกจ้างของบริษัทข้ามชาติที่ทรงพลัง และเอาเงินซื้อนักการเมืองเอาไว้หมด 

คนอเมริกันมาถึงจุดที่พวกเขาตระหนักแล้วว่า Land of the Free มันไม่มีอยู่จริง 

บทความทัศนะโดย กรกิจ ดิษฐาน ผู้ช่วยบรรณาธิการบริหาร และบรรณาธิการข่าวต่างประเทศ The Better

Photo by Chris DELMAS / AFP

TAGS: #tiktok #สหรัฐ