อย่าภูมิใจอะไรผิดๆ ระบบสาธารณสุขไทยไม่ได้ดีอย่างที่คิด (ข้อคิดจากกรณี'ต้าเอส')

อย่าภูมิใจอะไรผิดๆ ระบบสาธารณสุขไทยไม่ได้ดีอย่างที่คิด (ข้อคิดจากกรณี'ต้าเอส')

หลังการเสียชีวิตที่ประเทศญี่ปุ่นของ "ต้าเอส" สวีซีหยวน นักแสดงชาวไต้หวันที่โด่งดังในหมู่คนไทยจากเรื่อง "รักใสใส หัวใจสี่ดวง" เมื่อปี 2544 ผมเห็นคนไทยจำนวนไม่น้อยตกใจที่ระบบสาธารณสุขของญี่ปุ่น "ที่น่าจะดีเลิศกว่าใคร" กลับช่วยชีวิตต้าเอสไม่ได้ 

ข้อสรุปนี้มาจาการที่โรงพยาบาลญี่ปุ่นปฏิเสธไม่รับต้าเอสเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลถึง 2 ครั้ง ทำให้เธอต้องเสียชีวิตในที่สุดจากไข้หวัดและแทรกซ้อนด้วยอาการปอดบวม

คนไทยจำนวนหนึ่งจึงบอกว่า "ถ้าต้าเอสป่วยที่ไทยอาจจะหายก็ได้" และว่า "ระบบสาธารณสุขไทยดีกว่า เพราะไม่มีวันปฏิเสธคนไข้แบบนี้"

แต่ผมไม่เห็นด้วยกับการสรุปแบบนี้ แน่นอนว่าระบบสาธารณสุขของไทยนั้น "ดี" แต่ "มันไม่ได้ดีอย่างที่คิด" 

ก่อนอื่นเรามาฟังความเห็นของผู้เชี่ยวชาญของไต้หวันกันก่อน ซึ่งอธิบายความสงสัยของชาวไต้หวันที่ว่าทำไมต้าเอสถึงเสียชีวิตได้ทั้งๆ ที่เป็นแค่ไข้หวัดและอายุยังไม่มาก "ปัญหาอยู่ที่ระบบสาธารณสุขของญี่ปุ่นหรือเปล่า?"

จากการรายงานของ CTWANT สื่อของไต้หวันระบุว่า แพทย์คนหนึ่งชื่อจาง ซึ่งประกอบอาชีพอยู่ที่ประเทศญี่ปุ่นตอบว่า "ทำไมต้าเอสถึงเสียชีวิตทั้งๆ ที่อายุน้อยมาก ทั้งที่อายุเพียง 48 ปี แต่กลับมีอาการป่วยร้ายแรง" คุณหมอจางกล่าวว่า เขาเคยเห็นคนอายุ 20 กว่าเสียชีวิตภายในไม่กี่วันจากโรคไข้หวัดใหญ่และปอดบวม นอกจากนี้ เขายังเคยเห็นปู่ที่อายุ 90 กว่าที่เข้ามาที่ห้องฉุกเฉินด้วยผลตรวจ PCR เป็นบวก แต่มีไข้เพียงเล็กน้อย และยังมีจิตใจแจ่มใส เขาได้รับยาและกลับบ้านอย่างปลอดภัยในเวลาไม่นาน คุณหมอจางเน้นย้ำว่าประวัติทางการแพทย์ในอดีตและประวัติการใช้ยาของแต่ละคนจะมีผลต่อการรักษา และไม่มีใครสามารถอธิบายได้ว่าทำไมอาการจึงรุนแรงขึ้น

"ส่วนข้อสงสัยที่ว่า “ทำไมถึงไม่ได้รับการรักษาในโรงพยาบาลที่ชนบทญี่ปุ่น?” คุณหมอจางอธิบายว่าการจัดประเภททางการแพทย์ของญี่ปุ่นนั้นเข้มงวดมาก ไม่เหมือนไต้หวัน คุณไม่สามารถไปที่ศูนย์การแพทย์โดยตรงเพื่อลงทะเบียนได้ ปกติแล้วโรงพยาบาลหรือคลินิกขนาดเล็กจะต้องเขียนจดหมายแนะนำตัวคนไข้ หรือไม่ก็ต้องจ่ายเงินเพิ่มอีกหลายพันดอลลาร์ แม้จะไม่มีการเรียกเก็บค่าบริการใดๆ นอกจากนี้ การรักษาฉุกเฉินในญี่ปุ่นยังต้องนัดหมายด้วย การรักษาฉุกเฉินที่ไม่ต้องนัดหมายเป็นสิทธิ์ที่มีให้เฉพาะผู้ป่วยที่ป่วยหนักระดับ 1 หรือ 2 ตามที่กำหนดในไต้หวันเท่านั้น นอกจากนี้ ทรัพยากรของญี่ปุ่นยังมีจำกัด และโรงพยาบาลมักไม่สามารถรับผู้ป่วยวิกฤตได้ ดร.จางยอมรับว่าเขาเคยประสบกับสถานการณ์นี้หลายครั้งตั้งแต่เขาไปญี่ปุ่น ดังนั้นชาวไต้หวันอาจไม่สามารถจินตนาการถึงเรื่องนี้ได้" CTWANT รายงาน

นอกจากนี้ CTWANT ยังยกประสบการณ์ของชาวไต้หวันที่ไปเจ็บป่วยในญี่ปุ่นแล้วไม่สามารถรับการรักษาในโรงพยาบาลได้ ดังนั้นชาวไต้หวันบางคนจึงแสดงความเห็นว่า “การดูแลรักษาทางการแพทย์ของไต้หวันทำให้ผู้คนรู้สึกสบายใจมากกว่าจริงๆ” ซึ่งความเห็นทำนองนี้ไม่ต่างจากคนไทยที่บอกว่าระบบสาธารณสุขของไทยดีกว่าเช่นกัน 

ประเด็นอยู่ที่ว่า มาตรฐานการรับคนไข้เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลของญี่ปุ่นนั้นยากกว่า แต่ไม่ได้หมายความว่าระบบสาธารณสุขของพวกเขาแย่กว่าไทย (หรือไต้หวัน)

ในทางกลับกัน การที่โรงพยาบาลในไทยรับคนเข้ารับการรักษาแบบที่เรียกว่าไม่ปฏิเสธเลยนั้น ไม่ได้แปลว่าระบบสาธารณสุขของเราดีเลิศ ตรงกันข้าม มันอาจหมายความว่าระบบของเราหละหลวมเกินไปจนปล่อยให้ผู้ป่วยที่อาการไม่เหมาะจะเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล กลับไปแย่งพื้นที่สำหรับคนจำเป็นมากกว่า

ยังไม่นับการที่ไทยไม่คัดกรองแบบญี่ปุ่น ทำให้บุคลากรแพทย์ของเราต้องแบกรับงานที่หนักเกินไป บวกกับจำนวนบุคลากรที่น้อยอยู่แล้ว ทำให้โรงพยาบาลล้น คนมารับการรักษาเยอะเกินเหตุจนกระทั่งแพทย์และพยาบาลทนไม่ได้ 

ผลคืออะไรครับ? คือการลาออกครั้งใหญ่ของบุคลากรแพทย์ในบ้านเรา แบบนี้จะเรียกว่า "ดี" ได้อย่างไร?

ยังไม่นับการที่ระบบสาธารณสุขของไทยต้องไปแบกรับต่างด้าวอีกเป็นล้าน (บ้านเมืองอื่นเขาไม่ทำกันนะครับ) ในขณะเดียวกันระบบประกันสุขภาพของเราก็ไม่มีประสิทธิภาพพอ และเงินที่มาหนุน "การรักษาฟรี" ก็ไม่ยั่งยืน เพราะเอาเงินภาษีของคนกระหย่อมหนึ่งมารองรับคนทั้งประเทศที่ไม่ได้เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา วันดีคืนดี เศรษฐกิจแย่ขึ้นมาล้วเก็บภาษีได้น้อย ระบบรักษาพยาบาลไม่พังเอาหรือครับ?

นี่คือ "ความไม่ดี" ของระบบสาธารณสุขบ้านเรา 

ที่บอกว่ามันไม่ดีจริง ไม่ใช่ว่าผม "ชังชาติ" แต่ทั้งตัวและใจรักชาติอย่างดื่มด่ำ เพียงแต่ผมทนเห็นความเข้าใจผิดแบบนี้ทำลายระบบสาธารณสุขที่ "เกือบจะดีอยู่แล้ว" ของบ้านเมืองเราไม่ได้

ที่ญี่ปุ่นเจอปัญหาคล้ายๆ กับเราคือ บุคลากรแพทย์มีน้อยที่เหลืออยู่ก็ "เบิร์นเอาท์" และญี่ปุ่นตอนนี้ขาดแคลนแพทย์ในพื้นที่นอกเมือง ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ต้าเอสไปป่วยอยู่พอดี  

ญี่ปุ่นยังแก้ปัญหานี้ไม่ได้ เพราะมีการเสนอให้ลดสวัสดิการแพทย์ในเมืองเพื่อเพิ่มแรงจูงใจให้แพทย์ไปทำงานนอกเมือง ปรากฏว่าแพทย์ประท้วงหาว่าละเมิดสิทธิ์ตามรัฐธรรมนูญ

นี่ก็เป็นเรื่องหนึ่ง อีกเรื่องก็คือ การพบแพทย์หรือเข้าโรพยาบาลในประเทศพัฒนาแล้ว เป็นเรื่องที่ยากกว่าเมื่อเทียบกับการที่คนไทยไปโรงพยาบาลกันง่ายๆ 

ฟังดูเผินๆ แล้วเป็นเรื่องเหมือนจะ "ด้อยพัฒนา" กว่าไทย แต่จริงๆ แล้วมันมีข้อดีตรงที่ช่วยไม่ให้ระบบสาธารณสุขล้นเกิน และอีกข้อคือ เมื่อการไปหาหมอมันยากขึ้น ประชาชนก็จะดูแลสุขภาพของตัวเองมากขึ้น ไม่ใช่ปล่อยเนื้อปล่อยตัว พอป่วยขึ้นมาก็ไปออกันที่โรงพยาบาล ถึงตอนนั้นอาจจะสายเกินไป 

World Health Survey (WHS) พบว่า การเข้ารับบริการผู้ป่วยนอกของประเทศ OECD หรือประเทศอุตสาหกรรม (หรือประเทศพัฒนาแล้ว) หลายประเทศมีอัตราการรักษาในโรงพยาบาลต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศกำลังพัฒนา (27.52%) 

แต่ขณะเดียวกัน การเข้ารับการรักษาของผู้ป่วยในในหมู่ประเทศ OECD ส่วนใหญ่มีค่าเฉลี่ยสูงกว่าประเทศกำลังพัฒนา (6.98%) 

ข้อมูลของ WHS ยังพบว่า ประเทศกำลังพัฒนาบางประเทศ เช่น อินเดียและปากีสถาน มีแพทย์ต่อประชากร 1,000 ซึ่งคนต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศกำลังพัฒนา แต่อัตราการเข้ารับบริการผู้ป่วยนอกสูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศกำลังพัฒนาด้วยกัน นั่นหมายความว่า "การเข้าถึงบริการจะไม่ใช่ปัญหาเร่งด่วน ... คุณภาพที่ย่ำแย่กลับเป็นปัญหาใหญ่กว่า" จากการระบุของ Adam Wagstaff อดีตเจ้าหน้าที่ของ World Bank

ในทางกลับกัน ประเทศพัฒนาแล้ว "อาจจะ" มีปัญหาในการเข้าถึงโรงพยาบาล แต่ไม่มีปัญหาเรื่องคุณภาพ แต่ที่ผมใช้คำว่า "อาจจะ" เพราะการเข้าถึงยากเป็นความตั้งใจของผู้ออกแบบระบบ เพื่อให้มีรักษาตัวเองอย่างเคร่งครัดขึ้น จากนั้นค่อยไปรักษาขั้นต้นตามคลินิกท้องถิ่น หรือ Primary care จากนั้นค่อยไปโรงพยาบาลเมื่อจำเป็นจริงๆ ไม่ใช่ทำให้การเข้าโรงพยาบาลยากเพื่อให้หมอสบายและคนไข้ตายไวขึ้น  

แน่นอนว่า เมื่อเข้าโรงพยาบาลยากขึ้น โอกาสที่จะเกิดกรณีป่วยหนักไม่คาดฝันแบบต้าเอสก็มีได้เช่นกัน 

แต่มันเป็นดาบสองคมทั้งสองแบบ เพราะหากทำให้คนเข้าโรงพยาบาลยากขึ้นก็อาจเกิดกรณีแบบต้าเอสได้ แต่ถ้าปล่อยให้โรงพยาบาลแออัดเกินไป บุคลากรแพทย์ก็จะแห่กันลาออก ผลก็คล้ายๆ กัน คือ เมื่อหมอไม่พอ โอกาสที่คนป่วยจะตายมีมากกว่าเดิม

เราจะแก้ปัญหากันแบบไหนดี? เพราะถึงที่สุดแล้วแม้แต่ระบบสาธารณสุขที่ดีมากๆ อันดับที่ 2 ของโลกอย่างญี่ปุ่น (จากการจัดอันดับโดย The Legatum Prosperity Index 2023) ก็ยังไม่เพอร์เฟกต์ 

อย่างที่สำนักข่าว Phoenix New ของจีนอ้างการรายงานของสำนักข่าวตี้อีไฉจิง (第一财经) ซึ่งสอบถามไปยังแพทย์คนหนึ่งถึงกรณีการเสียชีวิตของต้าเอส ว่า "เมืองฮาโกเนะที่ต้าเอสกำลังมุ่งหน้าไปนั้นอยู่ห่างจากโตเกียวประมาณสองชั่วโมงครึ่งโดยรถยนต์ และแม้แต่ในญี่ปุ่นซึ่งการแพทย์มีความก้าวหน้ามากกว่า ระดับการรักษาในโรงพยาบาลทั่วไปก็ไม่ควรถูกประเมินสูงเกินไป" 

บทความทัศนะโดย กรกิจ ดิษฐาน ผู้ช่วยบรรณาธิการบริหาร และบรรณาธิการข่าวต่างประเทศ The Better

Photo - ภาพถ่ายของ "ต้าเอส" จากบัญชีเวยปั๋ว 大S ของเธอ 

TAGS: #ต้าเอส #ระบบสาธารณสุข #ไต้หวัน