ครั้งหนึ่ง 'นายพลโบเมียะ' ประธานของสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง หรือ KNU กล่าวว่ากองทัพของเขานั้นเปรียบเสมือน "กองกำลังต่างด้าว" หรือ "ทหารอาสาต่างชาติ" (A foreign legion) ของไทย
เรื่องนี้ไม่เกินความจริงเลย เพราะก่อนทศวรรษที่ 2000 ฝ่ายความมั่นคงในไทยก็ใช้กองกำลังกะเหรี่ยงเป็น 'รัฐกันชน' (Buffer state) ระหว่างไทยกับกองทัพ 'ตะมะดอ' ซึ่งเป็นผู้ปกครองเมียนมามาตลอดหลายสิบปีในฐานะรัฐบาลเผด็จการทหาร
ผมไม่ได้เป็นคนพูดเองเออเอง เพราะมีงานข่าวและงานวิชาการมากมายที่พูดถึงเรื่องนี้
เช่น งานของ Anne Decobert นักมานุษยวิทยาและผู้เชี่ยวชาญด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แห่งมหาวิทยาลัยเมลเบิร์น ระบุว่า
"นโยบายกันชนของไทยยังคงมีผลบังคับใช้ตลอดช่วงทศวรรษ 1990 และ 2000 ดังนั้น ไทยจึงยังคงให้ที่พักพิงอย่างไม่เป็นทางการแก่กลุ่มฝ่ายค้านประชาธิปไตยและกลุ่มชาตินิยมชาติพันธุ์ เช่น KNU/KNLA (Fong 2008) ผู้นำเมียนมามักตั้งคำถามเกี่ยวกับจุดยืนอย่างเป็นทางการของไทย โดยกล่าวหาว่าทางการไทยยังคงให้ที่พักพิงและขายอาวุธผิดกฎหมายให้กับ "กบฏ" ชาวกะเหรี่ยงอย่างลับๆ (Kavi 2001) ในช่วงปลายทศวรรษ 1990 มีรายงานว่าไทยยังคงส่งอาวุธและข่าวกรองปฏิบัติการให้กับกลุ่มติดอาวุธชาวฉานและกะเหรี่ยง ซึ่งต่อต้านกลุ่มค้ายาชาวว้าและ DKBA อย่างต่อเนื่อง (Ball 2003) สถานการณ์ยาเสพติดทำให้ความตึงเครียดระหว่างทั้งสองประเทศเพิ่มมากขึ้น โดยรัฐบาลไทยมุ่งมั่นที่จะหยุดยั้งการผลิตและการค้ายาเสพติดในพื้นที่ชายแดน และคณะทหารเมียนมาอ้างว่าตนพึ่งพาเงินจากยาเสพติดมากเกินไปจนไม่สามารถปราบปรามการค้ามนุษย์ได้ (Ball, 2003)"
มาถึงตอนนี้ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า กองกำลังกะเหรี่ยงแตกเป็นกลุ่มต่างๆ กลุ่มหลักที่เป้นแกนนำมาตั้งแต่หลังจากเมียนมาได้รับเอกราชและเคลื่อนไหวเพื่อเอกราชของรัฐกะเหรี่ยง คือ KNU ต่อแต่มาเกิดความขัดแย้งภายใน จึงแตกออกเป็นกระเหรี่ยงคริสต์ (ซึ่งนำโดย โบเมียะ ฝ่ายกอกำลังของ KNU เรียกว่า KNLA) และกระเหรี่ยงพุทธ หรือ กองทัพกะเหรี่ยงพุทธประชาธิปไตย (DKBA)
DKBA นั้นแทนที่จะสนับสนุนเอกราชของรัฐกะเหรี่ยง กลับไปให้ความร่วมมือกับ 'ตะมะดอ' หรือกองทัพเมียนมา ในเวลาต่อมา DKBA กลายสภาพเป็นกองทัพกะเหรี่ยงแห่งชาติ (KNA) และต่อมาสวามิภักดิ์กับกองทัพเมียนมาอย่างเต็มตัว แล้วได้รับการ "แต่งตั้ง" ใหม่ให้เป็นกองกำลังพิทักษ์ชายแดน หรือ Karen BGF ซึ่งเป็นหนึ่งใน BGF หลายกลุ่มของชนกลุ่มน้อยที่ยอมมาเป็นพวกเดียวกับกองทัพเมีนยนมา
จากข้อมูลในหนังสือของ Decobert พบว่า แม้ไทยจะใช้กะเหรี่ยงเป็นรัฐกันชนกับกองทัพเมียนมา แต่เพราะในกลุ่มกะเหรี่ยงขัดแย้งกันเอง ไทยจึงเลือกที่จะส่งอาวุธให้กลุ่มที่ต่อต้านกองทัพเมียนมา นั่นคือ KNU/KNLA
ลักษณะการให้ความช่วยเหลือกะเหรี่ยงบางกลุ่มให้เป็นกันชนนั้น Kirsten McConnachie ศาสตราจารย์ด้านการศึกษาด้านสังคมและกฎหมายที่มหาวิทยาลัยอีสต์แองเกลีย ระบุไว้ในหนังสือว่า
"การให้ที่พักพิงแก่ผู้ลี้ภัยชาวกะเหรี่ยงถือเป็น "เขตกันชน" อันมีค่าระหว่างประเทศไทยกับเมียนมา ศัตรูทางประวัติศาสตร์ของประเทศไทยก็ถือเป็นเรื่องสำคัญทางการเมืองเช่นกัน ดังนั้น ในช่วงทศวรรษแรกหรือมากกว่านั้นของการตั้งค่าย รัฐบาลไทยจึงมีบทบาทน้อยมาก ผู้ลี้ภัยจากเมียนมาได้รับอนุญาตให้ตั้งถิ่นฐานด้วยตนเองและจัดระเบียบชุมชนของตนเองรอบๆ โครงสร้างหมู่บ้านที่มีอยู่ รัฐบาลไทยมีอิสระในการตัดสินใจค่อนข้างสูง โดยมีโอกาสหาอาหารกินนอกเขตค่าย และแสวงหาโอกาสในการสร้างรายได้ (ที่จำกัด) ในหมู่บ้านใกล้เคียงของประเทศไทย" และ "ในบริบทของกลยุทธ์กันชน รัฐบาลไทยให้การสนับสนุนโดยตรงและโดยอ้อมต่อกลุ่มกบฏกะเหรี่ยง รวมถึงอนุญาตให้ผู้นำ KNU และครอบครัวของพวกเขาอาศัยอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยโดยไม่มีการแทรกแซง"
สาเหตุที่ไทยต้องสร้าง "รัฐกันชน" ขึ้นมานั้น มีระบุไว้ในหนังสือของ Jack Fong ซึ่งเป็นรองศาสตราจารย์ด้านสังคมวิทยาที่มหาวิทยาลัยโปลีเทคนิคแห่งรัฐแคลิฟอร์เนีย เอาไว้ว่า
"รัฐบาลไทยยอมรับระบอบเผด็จการในเมียนมาแต่ไม่ต้องการให้มีเอกภาพและสันติภาพ ดังนั้น รัฐบาลไทยจึงสนับสนุนกลุ่มชนกลุ่มน้อยและจัดหาอาวุธให้แก่พวกเขา อย่างไรก็ตาม รัฐบาลไทยก็ไม่ไว้วางใจกลุ่มชนกลุ่มน้อยเช่นกัน ประเทศไทยไม่ต้องการให้กลุ่มชนกลุ่มน้อยชนะเพราะกลัวว่าความขัดแย้งระหว่างกันเองจะมีผลกระทบเชิงลบต่อประเทศไทย กล่าวอีกนัยหนึ่ง รัฐบาลไทยไม่ต้องการให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งชนะสงคราม SLORC (เผด็จการเมียนมา) อาจเป็นรัฐบาลได้ แต่ไม่ควรจะมีสันติภาพอย่างสมบูรณ์ในเมียนมา ด้วยวิธีนี้ ประเทศไทยจะบรรลุความมั่นคงและเป็นอิสระจากภัยคุกคามของเมียนมา (Phongpaichit et al. 1998, 129)"
อย่างไรก็ตาม เมื่อถึงทศวรรษที่ 2000 ไทยก็พยายามที่จะบอกกับชาวโลกว่าไทยยกเลิกนโยบายให้กะเหรี่ยงและชนกลุ่มน้อยอื่นๆ เป็นรัฐกันชน โดยเมื่อครั้งที่ ทักษิณ ชินวัตร ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสมัยแรกนั้น กล่าวว่า "ก่อนหน้านี้เราไม่ได้เน้นย้ำเรื่องนี้ แต่ตอนนี้เราจะชี้แจงให้ชัดเจนว่าเราต้องเลิกใช้นโยบายรัฐกันชน" (ดู Jack Fong) แต่ทาว่า "คำกล่าวนี้ก่อให้เกิดความวุ่นวายภายในรัฐบาลไทย เนื่องจากเป็นการสื่อเป็นนัยว่านโยบายเขตกันชนยังคงถูกใช้ ความวุ่นวายดังกล่าวบังคับให้พเอกชวลิต (ยุงใจยุทธ) ต้องชี้แจงว่า “เราได้เปลี่ยนจากนโยบายรัฐกันชนไปเป็นการปฏิบัติการข่าวกรองนอกพรมแดนไทย หรือที่รัฐบาลนี้เรียกว่าการทูตป้องกันประเทศ” (ดู Jack Fong)
สาเหตุที่ทำให้ไทยเปลี่ยนนโยบายรัฐกันชน (หรืออย่างน้อยคือเปลี่ยนสภาพเป็นรูปแบบอื่น) เกี่ยวข้องกับการที่ทักษิณหันมากระชับมิตรกับเผด็จการทหารเมียนมา แลงรัฐบาลหลังจากนั้นแม้ว่าจะมีอุดมการณ์ต่างกัน ก็ยังต้องพึ่งพาทหารเมียนมามากขึ้น สาเหตุสำคัญอยู่ที่ความต้องการพลังงานที่มากขึ้นเรื่อยๆ ของไทยรวมถึงความต้องการแรงงานเมียนมาเข้ามาในระบบเศรษฐกิจไทย
หลังจากนั้นนโยบายรัฐกันชนก็เงียบไป พร้อมๆ กับที่ไทยไปมาหาสู่รัฐบาลทหารเมียนมามากขึ้น แม้แต่หลังจากที่เมียนมาเปลี่ยนแปลงไปสู่ระบอบประชาธิปไตย ไทยก็ยังเน้นผูกสัมพันธ์กับรัฐบาลเมียนมาและกลบเกลื่อนเรื่องรัฐกันชน เพื่อหวังผลทางเศรษฐกิจกับเมียนมา
แต่ในช่วงเวลานั้นเอง เกิดความเปลี่ยนแปลงหลายครั้งในความสัมพันธ์ของกองทัพเมียนมาและกองกำลังกะเหรี่ยงฝ่ายที่ภักดีกับกองทัพ นั่นคือ Karen BGF ที่นำโดย 'ซอ ชิต ตู' พร้อมๆ กับการเข้ามาถึงของ 'จีน' ในฐานะผู้มีอิทธิพลทางการเมืองในเมียนมา และการเข้ามาของ 'จีนเทา' ในพื้นที่รัฐกะเหรี่ยง
ในหนังสือของ Yizheng Zou รองศาสตราจารย์มหาวิทยาลัยเซินเจิ้น ประเทศจีน ชี้ให้เห็นว่า รัฐบาลกลางที่ดูแลแดนไทย-เมียนมาได้แจ้งเรื่องไปยังรัฐบาลกลางว่ามีการดำเนินการคาสิโนในแถบเมียวดีที่ควบคุมโดย ซอ ชิต ตู แต่ก็ไม่มีการปิดคาสิโนเหล่านั้นที่ดำเนินการโดยบริษัท/เมืองย่าไท่ของ 'เสอจื้อเจียง' เพราะ "การดำเนินการต่อเนื่องของคาสิโนนั้นเกี่ยวข้องกับจุดยืนที่สนับสนุนการพนันของหัวหน้าคณะรัฐมนตรีของรัฐกะเหรี่ยง ซึ่งอ้างว่าหากคาสิโนถูกกฎหมายและถูกควบคุม คาสิโนจะสร้างรายได้ภาษีและเพิ่มการเงินของรัฐบาล ดังนั้น ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลรัฐกะเหรี่ยงและนิคมธุรกิจย่าไท่จึงเป็นมิตรกันเสมอมา" เรื่องนี้เกิดขึ้นในช่วงที่เมียนมามีรัฐบาลในระบอบประชาธิปไตย แต่กองทัพยังมีอำนาจเอกเทศในการควบคุมพื้นที่ของตนโดยเฉพาะอำนาจเหนือกองกำลัง Karen BGF แม้ว่ารัฐบาลประชาธิปไตยจะสั่งให้มีการตรวจสอบโดยแนะไปที่กองทัพก็ตาม
Yizheng Zou ชี้ว่า"กองทัพเมียนมาและ BGF มีความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนกับโครงการชเวก๊กโก ในความเป็นจริงแล้ว พวกเขาได้รับประโยชน์จากโครงการนี้ด้วย เหตุการณ์นี้ยังส่งผลให้การสอบสวนโครงการล่าช้าอีกด้วย เมื่อกองทัพเมียนมาดำเนินการสอบสวนโครงการ Karen BGF พวกเขาได้เตือนซอ ชิต ตู ให้ระมัดระวังอิทธิพลภายนอก และแนะนำให้เขาพิจารณาเกษียณจากกองทัพเพื่อทำธุรกิจ ในเวลาต่อมา ผู้ช่วยคนสนิทของซอ ชิต ตู ซึ่งเป็นผู้อำนวยการของ Yatai International Holdings Group Co., Ltd. ได้บอกกับสื่อเมียนมาว่ากองทัพเมียนมาได้กดดัน ซอ ชิต ตู แะแนะนำให้เขาลาออก (จากการเป็นผู้นำ Karen BGF)"
กรณีนี้เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดความขัดแย่งระหว่างกองทัพเมียนมาและ BGF เพราะ "ผู้นำกองทัพเมียนมาและกองทัพกะเหรี่ยง BGF พบกันสามครั้ง โดยกองทัพกะเหรี่ยง BGF ถูกขอให้ไม่ดำเนินกิจกรรมทางธุรกิจ แต่ผู้บังคับบัญชากองพันบางคนกล่าวว่าทหารกะเหรี่ยง BGF 7,000 นายจำเป็นต้องดำเนินกิจกรรมเหล่านี้เพื่อหารายได้เพิ่ม หลังจากที่กองทัพพยายามสั่งให้ ซอ ชิต ตู ลาออก เจ้าหน้าที่และทหารของกองทัพกะเหรี่ยง BGF ทั้งหมดก็ลาออกพร้อมกันเพื่อประท้วง" (ดู Yizheng Zou)
แม้ว่าจะมีการประนีประนอมกันได้แต่ก็เป็นช่วงสั้นๆ ก่อนที่จะเกิดการรัฐประหาร และ BGF ก็แยกตัวออกมาจากกองทัพเมียนมา จนกระทั่งในช่วงชุลมุนของการรุกไล่กองทัพเมียนมาครั้งใหญ่ในช่วงต้นปีที่แล้ว ก่อนที่กองกำลังชนกลุ่มน้อยรวมถึงกองกำลังกระเหรี่ยงอื่นๆ จะแย่งชิงนิคมจีนเทาในรัฐกะเหรี่ยงได้ ปรากฏว่า BGF สวมบท 'ตาอยู่' เข้าควบคุมเมียวดีและธุรกิจจีนเทาในถิ่นนั้นอีกครั้ง
หลังจากที่ BGF เข้าควบคุมพื้นที่ดังกล่าว ก็แสดงท่าทีเป็นอิสระจากการควบคุมโดยกองทัพเมียนมา และยังไม่สนใจที่จะเป็นแนวกันชนให้กับไทยด้วย (ซึ่งแน่นอนอยู่แล้วในฐานะที่กลุ่มนี้ไม่เคยภักดีต่อไทย) BGF จึงแสดงท่าทีแข็งแกร้าวเมื่อไทยประกาศจะตัดไฟฟ้าเข้ามาในรัฐกะเหรี่ยง จึงน่าสนใจว่า เมื่อสถานการณ์เป็นเช่นนี้แล้วไทยจะหันกลับไปใช้นโยบายรัฐกันชนโดยสนับสนุนกะเหรี่ยงกลุ่มอื่นที่เป็นปรปักษ์กับ BGF หรือไม่?
แต่เรื่องนี้ไม่ใช่ง่ายๆ เพราะแนวพื้นที่ของ 'รัฐกันชน' กำลังมีกลุ่มอิทธิพลใหม่เข้ามา นั่นคือ จีน ซึ่งการเข้ามาของจีนอาจทำให้ไทยต้องจำพิจาณาอย่างถ้วนถี่มากขึ้น และแม้ว่าจะมีการฟื้นแนวคิดรัฐกันชนอีกครั้ง แต่รัฐกันชนที่ว่านี้จะไม่ได้เอาไว้กันกองทัพเมียนมาอีกต่อไป
Jack Fong ชี้ว่า "และด้วยความพยายามของประเทศไทยที่จะถ่วงดุลอิทธิพลของจีนที่เพิ่มมากขึ้นในภูมิภาคนี้ ทำให้มี "นโยบายกันชน" รูปแบบใหม่เกิดขึ้น "เนื่องจากประเทศไทยเคยใช้นโยบายเขตกันชนกับชาวกะเหรี่ยงในการจัดการกับย่างกุ้ง ตอนนี้ประเทศไทยจึงจำเป็นต้องใช้ย่างกุ้งเป็นกันชนกับจีน ความสัมพันธ์ทางการทูตที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วทำให้ชาวกะเหรี่ยงกลายเป็นอุปกรณ์ที่ไม่จำเป็น"
'ปัญหาจีนเทา' จึงไม่ใช่แค่เรื่องของการตัดไฟ ตัดเน็ต ตัดทุกสิ่งทุกอย่างแล้วปัญหาจะจบลงได้ ตั้งแต่แรกแล้วที่มันเกี่ยวข้องกับเรื่องภูมิรัฐศาสตร์ แต่จนกระทั่งทุกวันนี้ มันก็ยังเป็นปัญหาในเชิงภูมิรัฐศาสตร์ เพียงแต่อำนาจใหม่ที่เข้ามาท้าทายรัฐกันชนของไทยก็คือ - พญามังกร
โดย กรกิจ ดิษฐาน ผู้ช่วยบรรณาธิการบริหาร และบรรณาธิการข่าวต่างประเทศ The Better
Photo - ซอ ชิต ตู ผู้นำกองกำลัง BGF (ภาพสกรีนช็อตจากคลิปวิดิโอ)