ความรุ่งเรืองและล่มสลายของ 'นิคมจีนเทา' ในเมียนมา กับประวัติศาสตร์ฉบับละเอียดยิบ

ความรุ่งเรืองและล่มสลายของ 'นิคมจีนเทา' ในเมียนมา กับประวัติศาสตร์ฉบับละเอียดยิบ

การฉ้อโกงโทรคมนาคมในเมียนมา ซึ่งเรียกอีกอย่างว่า 'ธุรกิจจีนเทาในเมียนมา' เริ่มต้นมาจากจากการกระทำผิดกฎหมายในภาคเหนือของเมียนมา ตอนแรกส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นในพื้นที่โกกั้ง รัฐว้า เมืองลา และพื้นที่อื่น ๆ ในรัฐฉานตอนเหนือ และต่อมาลุกลามเข้าไปจังหวัดเมียวดีและพื้นที่อื่น ๆ ในรัฐกะเหรี่ยงทางตะวันออกของเมียนมา

นี่คือประวัติศาสตร์คร่าวๆ ของการเกิดขึ้นและรุ่งเรืองขึ้นมาของ 'ธุรกิจจีนเทาในเมียนมา'

1. กิจกรรมฉ้อโกงโทรคมนาคมเริ่มต้นครั้งแรกโดย 'แก๊งจินกวง' (金光党 หรือ พรรคแสงทอง) เดิมทีนั้นหมายถึงกลุ่มฉ้อโกงแบบดั้งเดิมในไต้หวันที่เคลื่อนไหวตั้งแต่ช่วงปี 1950 ถึง 1990 นอกจากนี้ยังเป็นกลุ่มฉ้อโกงกลุ่มแรกๆ ในไต้หวันอีกด้วย โดยวิธีการแรกๆ ที่แก๊งนี้ใช้หากินคือวิธีการ 'ตกทอง' ต่อมาก็พัฒนาเป็นการหลอกลวงด้วยการปั้นเรื่องโกหกเพื่อลวงเป้าหมายที่เป็นเหยื่อ ซึ่งเป็นรากฐานของวสแกมเมอร์ยุคปัจจุบัน จนกระทั่ง ในปี 1990 หลังจากถูกปราบปรามโดยรัฐบาลไต้หวันแก๊งนี้ค่อยๆหลบหนีไปยังจีนแผ่นดินใหญ่ หลังจากแข็งแกร่งขึ้นมาในจีนพวกนี้ก็เริ่มอพยพไปยังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยเฉพาะฟิลิปปินส์และประเทศในภูมิภาคแม่น้ำโขงเช่นกัมพูชาลาวและเมียนมา นอกจากแก๊งจินกวงแล้วยังมีพวกที่เกี่ยวข้องกับการฉ้อโกงรูปแบบต่างๆ รวมถึงธุรกิจพนันเข้ามาอาศัยพื้นที่เหล่านี้เพื่อทำมาหากิน เนื่องจากเป็น 'พื้นที่สีเทา' ที่อำนาจรัฐเอื้อมไปถึงได้ยาก หรือบางประเทศมีอำนาจรัฐที่ซื้อด้วยเงินได้ง่าย หนึ่งในแก๊งที่มีอิทธิพลที่สุดแก๊งหนึ่งในเอเชีย คือ 14K หรือ "ซันเหอฮุ่ย (三合会) ก็เข้ามายุ่งกับพื้นที่นี้

2. โดยเฉพาะประเทศเมียนมาอยู่ในภาวะสงครามมาเป็นเวลานานและพื้นที่ชายแดนส่วนใหญ่ถูกควบคุมโดยกองกำลังติดอาวุธท้องถิ่นชนกลุ่มน้อย ทำให้แก๊งต่างๆ สามารถอยู่ภายใต้การคุ้มกันของกองกำลังเหล่านี้ได้และกองกำลังเหล่านี้ก็ต้องการายได้ในการทำสงครามจึงคุ้มครองแก๊งพวกนี้ซึ่งค่อยๆ ใช้เมียนมาเป็นฐานในการวิวัฒนาการธุรกิจสแกมเมอร์ แต่พวกนี้ยังหากินกับความสีเทาเรื่องอื่นด้วย เช่นในปี 2019 เมียนมาได้เปิดตัวกฎหมายการพนันฉบับใหม่อนุญาตให้ชาวต่างชาติลงทะเบียนและดำเนินการคาสิโนในเมียนมาได้อย่างถูกกฎหมาย นี่จึงเป็นที่มาของการทำสแกมเมอร์แบบพนันออนไลน์ผิดกฎหมายตามมาด้วย นอกจากนี้ ยังมีการอนุมัติโครงการนิคมอุตสาหกรรมใหญ่ เช่น ในพื้นที่ของจังหวัดเมียวดีในรัฐกะเหรี่ยง ซึ่งโดยฉากหน้าแล้วดูเหมือนจะเป็นโครงการพัฒนาเศรษฐกิจ แต่มันกลับถูกคนจีนบางกลุ่มใช้ประโยชน์เพื่อทำธุรกิจสีเทา และกองกำลังในพื้นที่รู้เห็นเป็นใจโดยที่รัฐบาลกลางไม่ได้รู้เรื่องรู้ราวด้วย  

3. พื้นที่โกกั้งในรัฐฉานตอนเหนือเป็นแหล่งกบดานสำคัญของแก๊งเหล่านี้ โดยมีสี่ตระกูลหลักที่ควบคุมโกกั้งเอาไว้ ได้แก่ ตระกูลไป๋ (白家) ตระกูลเว่ย (魏家) ตระกูลหลิว (刘家) และตระกูลหมิง (明家) ได้ก่อตั้งนิคมธุรกิจฉ้อโกงและคัดเลือกสมาชิกอาชญากรจากจีนแผ่นดินใหญ่เพื่อจัดตั้งกลุ่มฉ้อโกงเครือข่ายโทรคมนาคมโกกั้งในภาคเหนือของประเทศเมียนมา นอกจากนี้ยังมีนิคมธุรกิจฉ้อโกงโทรคมนาคมที่ได้รับการคุ้มครองโดยกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์ในท้องถิ่นหรือองค์กรกองกำลังติดอาวุธในรัฐว้า เมืองลา, หมู่เจ้,  ตั้นยาน และสถานที่อื่นๆ ในรัฐฉาน รวมถึงพื้นที่หุบเขาเมียวดีและชเวก๊กโกในรัฐกะเหรี่ยง นิคมและองค์กรฉ้อโกงที่มีชื่อเสียง ได้แก่ KK Park ใกล้เมืองเมียวดี และยังมีกลุ่มเหิงลี่ (亨利集团) ของตระกูลเว่ยในโกกั้ง, กลุ่มไป่เซิ่ง (百胜集团), กลุ่มชังเซิ่ง (苍胜集团), กลุ่มฝูลี่ไหล (福利来集团) ของตระกูลหลิวในโกกั้ง, กลุ่มซินไป่ลี่ (鑫百利集团) ของตระกูลไป่ในโกกั้ง และมีกลุ่มคฤหาสน์เสือหมอบ (臥虎山莊) และอื่นๆ ในโกกั้ง 

4. จากการสอบสวนของนักข่าวสำนักข่าว Deutsche Welle พบว่าผู้อยู่เบื้องหลังกลุ่มฉ้อโกงบางกลุ่มเป็นชาวจีน เช่น หวางอี้เฉิง (王益承) นักธุรกิจชาวจีน, หัวหน้าแก๊ง 14K ของมาเก๊า คือ อิ่นกั๋วจวี (尹国驹) และคนอื่นๆ คนเหล่านี้เป็นผู้อยู่เบื้องหลัง KK Park และกิจกรรมอื่นๆ กลุ่มติดอาวุธในพื้นที่ให้การปกป้องด้วยอาวุธแก่นิคมธุรกิจฉ้อโกงแห่งนี้ โครงการธุรกิจฉ้อโกงเหล่านี้มีเสียงครหาว่าเกี่ยวข้องกับทางการจีน แต่ความจริงก็คือเจ้าหน้าที่จีนเคยยกย่องโครงการนิคมธุรกิจในหุบเขาเมียวดีว่าเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ One Belt, One Road แต่ภายหลังทางการจีนได้ถอนตัวออกจากโครงการนี้หลังจากถูกกล่าวหาว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการพนันขนาดใหญ่และการฉ้อโกงด้านโทรคมนาคม และหลังจากความลับของนิคมเหล่านี้ถูกเปิดโปง รัฐบาลประชาธิปไตยของเมียนมาก็สั่งให้ดำเนินการสอบสวนด้วย อย่างไรก็ตาม เพราะความขัดแย้งภายในของเมียนมา ทำให้นิคมพวกนี้ยังดำรงอยู่ต่อไปได้พร้อมกับขยายตัวด้วยการล่อลวงคนจีนมาทำงานเป็นสแกมเมอร์เพื่อหลอกลวงคนจีนด้วยกัน 

4. นับตั้งแต่การรัฐประหารในเมียนมาในปี 2021 ความขัดแย้งของสงครามกลางเมืองที่ยืดเยื้อในเมียนมาทวีความรุนแรงขึ้น กลุ่มติดอาวุธต่างๆ เข้าร่วมในสงครามกลางเมืองกับรัฐบาลทหารเมียนมา และการควบคุมของทางการเมียนมาในพื้นที่เมียนมาตอนเหนือและตะวันออกก็อ่อนแอลง กลุ่มฉ้อโกงโทรคมนาคมได้หลั่งไหลเข้ามาในเมียนมาตอนเหนือ ซึ่งค่อยๆ กลายเป็นพื้นที่หลักสำหรับการฉ้อโกงโทรคมนาคม การพนันและการฉ้อโกงโทรคมนาคมค่อยๆ กลายเป็นอุตสาหกรรมเศรษฐกิจในโกกั้ง รัฐว้า และเมืองลา พวกนี้จ่ายภาษีและค่าธรรมเนียมให้กับกองกำลังท้องถิ่น และกองกำลังท้องถิ่นในเมียนมาตอนเหนือยังจัดหาโครงสร้างพื้นฐาน ใบอนุญาตธุรกิจ และการรับประกันความปลอดภัยให้กับกลุ่มฉ้อโกงโทรคมนาคม ในอดีตเขตปกครองตนเองโกกั้ง กองกำลังที่มีอำนาจในท้องถิ่นได้จัดตั้ง "กลุ่ม" (集团) และ "บริษัท" (公司) เพื่อทำกิจกรรมต่างๆ เช่น การพนันและการฉ้อโกงออนไลน์ สวนสาธารณะฉ้อโกงภายใต้ชื่อ "นิคมธุรกิจเทคโนโลยี" (科技园) และ "นิคมธุรกิจอัจฉริยะ" (智能园) ยังปรากฏในรัฐว้าและเขตปกครองพิเศษที่ 4 ของรัฐฉานตะวันออก เป้าหมายหลักคือการทำธุรกิจล่อลวงคนจีนในประเทศจีนและประเทศใกล้เคียง

5. ไม่เพียงเท่านั้น  ยังมีคนจีนได้ลงทุนสร้าง "เมืองอัจฉริยะแห่งใหม่" และ "นิคมอุตสาหกรรม" ใกล้กับเมียวดี ในปี 2023 จำนวนคนที่เกี่ยวข้องกับการฉ้อโกงด้านโทรคมนาคมในภาคเหนือและภาคตะวันออกของเมียนมามีจำนวนเพิ่มขึ้นถึงหลายหมื่นคน และจำนวนนิคมฉ้อโกงทั้งหมดเพิ่มขึ้นเป็นมากกว่า 1,000 แห่ง โดยมีนิคมฉ้อโกงหลายร้อยแห่งใกล้เมียวดีเพียงแห่งเดียว ตามรายงาน คดีฉ้อโกงด้านโทรคมนาคมที่ทางการจีนเปิดเผยมากกว่า 60% ในแต่ละปีเกิดขึ้นในภาคเหนือของเมียนมา คือโกกั้ง รัฐว้า และพื้นที่อื่นๆ ของรัฐชาน จนสร้างความเสียหายให้แก่ปีะชาชนจีนที่ตกเป็นเหยื่ออย่างมาก ดังนั้นตั้งแต่ปี 2021 ตำรวจจีนได้เริ่มปราบปรามการฉ้อโกงทางโทรคมนาคมและอินเทอร์เน็ตในภาคเหนือของเมียนมา กระทรวงความมั่นคงสาธารณะของจีนได้เปิดตัวแคมเปญทั่วประเทศเพื่อโน้มน้าวผู้คนที่ติดค้างอยู่ในภาคเหนือของเมียนมาซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องกับการฉ้อโกงทางโทรคมนาคมและอินเทอร์เน็ตให้กลับประเทศ ในปีนั้น ผู้คน 18,000 คนถูกสกัดกั้น และผู้คน 54,000 คนจากแหล่งฉ้อโกงในภาคเหนือของเมียนมาได้รับการศึกษาและโน้มน้าวให้กลับประเทศจีน

6. ในขณะที่ธุรกิจพวกนี้กำลังรุ่งเรือง ทางการจีนก็เริ่มเข้ามายุ่งเกี่ยวมากขึ้น เพราะการฉ้อโกงเหล่านี้ทำร้ายชาวจีนเป็นจำนวนมากจนไม่อาจนิ่งนอนใจได้ ทั้งพวกที่ถูกหลอกมาทำงานฉ้อโกงและคนจีนนับไม่ถ้วนที่ถูกหลอกเงินเก็บทั้งชีวิต แต่ทางการเมียนมาก็ยังบอกว่าปัญหานี้ไมได้รุนแรงอย่างที่สื่อรายงาน แต่ทางการจีนไม่คิดแบบนั้น เพราะเมื่อวันที่ 15-16 สิงหาคม 2023 กระทรวงความมั่นคงสาธารณะของจีน สำนักงานตำรวจแห่งชาติของประเทศไทย กองบัญชาการตำรวจเมียนมา และกระทรวงความมั่นคงสาธารณะของลาว ได้ร่วมกันจัดการประชุมเปิดตัวที่เชียงใหม่ เพื่อเปิดตัวการปราบปรามร่วมกันเป็นพิเศษต่ออาชญากรรมต่างๆ เช่น การฉ้อโกงการพนัน การค้ามนุษย์ การลักพาตัว และการกักขังที่ผิดกฎหมาย และได้ตัดสินใจร่วมกันจัดตั้งศูนย์ประสานงานที่ครอบคลุมสำหรับปฏิบัติการพิเศษในเชียงใหม่ ประเทศไทย และตั้งจุดปฏิบัติการร่วมกันในพื้นที่ที่เสี่ยงต่อการฉ้อโกงการและการพนัน

7. ต่อมารัฐว้าเริ่มตระหนักถึงพลังของจีนในการกวาดล้างธุรกิจฉ้อโกงในเมียนมาตอนเหนือ ว้าซึ่งรับความช่วยเหลือจากจีนมาโดยตลอดจึงเริ่มเปลี่ยนท่าที โดยเมื่อวันที่ 6 กันยายน 2023 คณะกรรมการบริหารกิจการส่วนกลางของรัฐว้าได้ออกเอกสารภายในที่เรียกร้องให้มีการปราบปรามอาชญากรรมฉ้อโกงด้านโทรคมนาคมอย่างเข้มงวด โดยเฉพาะการฉ้อโกงที่กำหนดเป้าหมายเป็นพลเมืองจีน  ในเวลาเดียวกัน เจ้าหน้าที่จีนในกรุงปักกิ่งได้ออกคำขาดถึงเมียนมา โดยเรียกร้องให้เมียนมากำจัดศูนย์กลางการฉ้อโกง มิฉะนั้นจีนจะดำเนินการ หลังจากนั้นไม่นาน เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2023 สำนักงานสอบสวนคดีอาญา กระทรวงความมั่นคงสาธารณะของจีน ได้ออกประกาศเสนอรางวัล 100,000 ถึง 500,000 หยวนสำหรับการจับกุมผู้นำการฉ้อโกงทางไซเบอร์ในภาคเหนือของเมียนมา 2 คน ได้แก่ เฉินเหยียนป่าน (陈岩板) หรือ เป่าเหยียนป่าน (鲍岩板) และเซี่ยวเหยียนไคว่ (肖岩块) หรือ เหอชุนเทียน (何春田)  ซึ่งทั้งคู่ดำรงตำแหน่งด้านการบริหารในรัฐบาลรัฐว้า  

8. แต่สถานการณ์ในโกกั้งกลับเลวร้ายลง เพราะเกิดกรณีวันที่ 20 เดือนตุลาคม (1020事件) โดยแต่เดิมนั้นมีชาวจีนหลายร้อยคนติดอยู่ในนิคมธุรกิจฉ้อโกงกลุ่มคฤหาสน์เสือหมอบ (臥虎山莊) หรือ "ว่อหู่จวง" ที่ควบคุมโดยตระกูลหมิง นำโดย หมิงเสวียชาง  (明学昌) หนึ่งในผู้นำสี่ตระกูลใหญ่แห่งโกกั้ง  ภายใต้แรงกดดันจากแคมเปญต่อต้านการฉ้อโกงของจีน กองกำลังติดอาวุธของตระกูลหมิงได้โยกย้ายนักฉ้อโกงชาวจีนไปยังที่อื่น บางคนพยายามหลบหนีในระหว่างกระบวนการ เจ้าหน้าที่ตำรวจลับของจีนที่ให้ความช่วยเหลือพลเมืองจีนเปิดเผยตัวตนและพยายามหยุดไม่ให้กองกำลังติดอาวุธของตระกูลหมิงเคลื่อนย้ายเพื่อหลบหนี แต่กลับถูกสังหารแทน พลเมืองจีนหลายคนเสียชีวิตในเหตุการณ์นี้  โดยสื่อต่างๆ รายงานยอดผู้เสียชีวิตแตกต่างกัน โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบชาวจีนเสียชีวิต 1 ถึง 4 คน และมีพลเมืองจีนเสียชีวิตประมาณ 70 ถึง 80  คน อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2024 ตำรวจเวินโจวที่ทำการสอบสวนคดีนี้กล่าวว่าเหตุการณ์ดังกล่าวส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 4 รายและบาดเจ็บ 4 ราย ซึ่งทั้งหมดเป็นเจ้าหน้าที่ของศูนย์ฉ้อโกงทางไซเบอร์ 

9. หลังจากกรณี 1020 ภายใต้ความโกรธแค้นและแรงกดดันอย่างหนักของจีน ผู้นำโกกั้งตระกูลต่างๆ ต้องแสดงจุดยืนว่าพวกเขาจะเสริมสร้างการต่อสู้กับการฉ้อโกงออนไลน์และอาชญากรรมที่เกิดจากการฉ้อโกงออนไลน์ แต่มันสายไปแล้ว ในวันที่ 27 ตุลาคม กลุ่มติดอาวุธท้องถิ่นของชนเผ่าเมียนมา ในชื่อ 'ภราดรภาพสามพี่น้อง' (คือ AA ของอาระกัน, MNDAA ของโกกั้งฝ่ายตรงข้ามสี่ตระกูลใหญ่ และ TNLA ของชนชาติปะหล่อง) ได้เริ่มปฏิบัติการทางทหารร่วมกัน ชื่อปฏิบัติการ 1027 (วันที่ 27 เดือนตุลาคท) เพื่อต่อต้านเผด็จการทหาร และ "การปราบปรามการฉ้อโกงโทรคมนาคม" และจีนได้ใช้ประโยชน์จากสถานการณ์ดังกล่าวเพื่อกำจัดศูนย์การฉ้อโกงเครือข่ายโทรคมนาคมในรัฐฉานทางตอนเหนือที่ติดกับจีน พร้อมๆ กันนั้นจีนได้กดดันกองทัพเมียนมาบางส่วนที่เกี่ยวข้องกับนิคมธุรกิจฉ้อโกงในโกกั้ง โดยเฉพาะกองกำลัง MNDAA ของโกกั้งฝ่ายตรงข้ามสี่ตระกูลใหญ่และได้รับการสนับสนุนจากจีน ระบุว่าสาเหตุของการโจมตีคือเพื่อช่วยเหลือจีนในการปราบปรามกลุ่มฉ้อโกงที่ดำเนินการโดยตระกูลใหญ่สี่ตระกูลในภาคเหนือของเมียนมา

10. ผลกระทบที่คาดไม่ถึงของปฏิบัติการ 1027 ก็คือทำให้รัฐบาลทหารเมียนมาที่นำโดยมิน ออง หล่าย สูญเสียการควบคุมภาคเหนือของเมียนมา และตระกูลใหญ่สี่ตระกูลและตระกูลหมิง ของหมิงเสวียชาง ซึ่งได้รับการปกป้องโดยกองทัพเมียนมาก็สูญเสียอำนาจในความขัดแย้งเช่นกันและจากแรงกดดันนี้ ในวันที่ 30 ตุลาคม รัฐบาลทหารพม่าบุกเข้าค้นคฤหาสน์เสือหมอบ และจับกุมสมาชิกแก๊งฉ้อโกงชาวจีน 700 คน ในวันเดียวกัน มิน อ่อง หล่าย หัวหน้ารัฐบาลทหารพม่า ยอมให้สัมภาษณ์พิเศษกับ Phoenix TV ของจีนและยอมรับว่ารัฐบาลทหารพม่าไม่ได้ดำเนินการอย่างมีประสิทธิผลต่อผู้นำแก๊งฉ้อโกงในภาคเหนือของเมียนมา เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม สมาชิกแก๊งฉ้อโกงชาวจีนอีก 300 คนในคฤหาสน์เสือหมอบที่หนีไปได้ก็ถูกจับกุมทั้งหมด จากนั้น ในคืนวันที่ 15 พฤศจิกายน ฝ่ายเมียนมาได้เริ่มปฏิบัติการจับกุมครอบครัวของหมิงเสวียชาง และตามรายงานของฝ่ายเมียนมา หมิงเสวียชาง "ฆ่าตัวตาย" ระหว่างปฏิบัติการดังกล่าว เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน สมาชิกตระกูลหมิงที่เหลือถูกส่งตัวให้กับตำรวจจีนที่ท่าเรือหนานซานระหว่างจีน-เมียนมา

11. หลังจากนั้นกองทัพเมียนมาก็ให้ความร่วมมือกับจีนอย่างเต็มที่ เช่นเมื่อวันที่ 5 มกราคม 2024 จีนระบุว่าเมียนมาส่งตัวผู้ต้องสงสัยในคดีฉ้อโกงด้านโทรคมนาคมและอินเทอร์เน็ต 41,000 รายให้กับจีนในปี 2023 สำนักงานอัยการประชาชนสูงสุดของจีนระบุว่าได้มอบหมายคดีที่เกี่ยวข้องกับการฉ้อโกงด้านโทรคมนาคมและอินเทอร์เน็ตในภาคเหนือของเมียนมาให้กับ 28 มณฑลของจีนเพื่อดูแล ซึ่งมีผู้เกี่ยวข้อง 45,000 ราย  และเมื่อวันที่ 30 มกราคม ตำรวจเมียนมาร์ได้ส่งตัวผู้นำกลุ่มฉ้อโกงออนไลน์ 6 คน จากตระกูลหลักของโกกั้งไปให้จีน ได้แก่ ไป๋สั่วเฉิง (白所成), ไป๋อิงชัง (白应苍), เว่ยไหวเหริน (魏怀仁), หลิวเจิ้งเสียง (刘正祥), หลิวเจิ้งเม่า (刘正茂) และ สวีเหลาฟา (徐老发) เท่ากับทำลายแกนหลักของนิคมธุรกิจฉ้อโกงในเมียนมาตอนเหนือ หลังจากกำราบพื้นที่โกกั้งแล้ว  ในเดือนมีนาคม 2024 ตำรวจจีนและเมียนมาได้ร่วมกันปฏิบัติการปราบปรามในพื้นที่หมู่เจ้เป็นครั้งแรก โดยจับกุมผู้ต้องสงสัย 807 รายที่กระทำการฉ้อโกงโทรคมนาคมข้ามพรมแดน ในจำนวนนี้ มีผู้ต้องสงสัยสัญชาติเมียนมา 455 รายและผู้ต้องสงสัยสัญชาติจีน 352 ราย ผู้ต้องสงสัยในคดีอาญาชาวจีน 352 รายถูกส่งตัวให้จีนเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 

12. ปฏิบัติการนี้ยังข้ามไปในลาวและกัมพูชาและรัฐชานตอนในที่ปกครองโดยพวกว้าด้วย โดยในเดือนเมษายน ตำรวจจีนและลาวร่วมกันปราบปรามอาชญากรรมข้ามพรมแดน และผู้ต้องสงสัยรวม 250 รายที่ก่ออาชญากรรมการกรรโชกทรัพย์ทางแชทอนาจารข้ามพรมแดนและฉ้อโกงเครือข่ายโทรคมนาคมถูกส่งตัวให้ตำรวจจีน และต่อมาเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2024 มีรายงานจากสื่อของทางการจีนว่ากระทรวงความมั่นคงสาธารณะของจีนได้เสริมกำลังปฏิบัติการบังคับใช้กฎหมายกับหน่วยงานท้องถิ่นในเมียนมา ปฏิบัติการดังกล่าวสามารถจับกุมผู้ต้องสงสัยฉ้อโกงโทรคมนาคมได้ 1,079 รายในเมืองตางยาง ประเทศเมียนมาอันเป็นของพวกว้าได้เป็นครั้งแรก โดย 763 รายเป็นผู้ต้องสงสัยชาวจีน รวมถึงผู้หลบหนีคดีออนไลน์ 69 ราย เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน ผู้ต้องสงสัยชาวจีนและสิ่งของที่เกี่ยวข้องในคดีทั้งหมดถูกส่งมอบให้กับจีน จนถึงขณะนี้ ผู้ต้องสงสัยชาวจีนที่เกี่ยวข้องกับการฉ้อโกงถูกจับกุมแล้วมากกว่า 53,000 ราย สถานีโทรทัศน์ CCTV ของทางการจีนระบุว่า "ศูนย์ฉ้อโกงออนไลน์ทั้งหมดในภาคเหนือของเมียนมาถูกกำจัดหมดแล้ว" ในเดือนเดียวกันนั้น กัมพูชาได้ส่งตัวพลเมืองจีนชุดแรกจำนวน 240 รายที่ต้องสงสัยว่าก่ออาชญากรรมการพนันและการฉ้อโกงกลับจีน

13. อย่างไรก็ตาม แม้จะปราบ 'จีนเทา' ในเมียนมาตอนเหนือได้สำเร็จแล้ว แต่พวกองค์กรอาชญากรรมที่เกี่ยวข้องได้ค่อยๆ รวมตัวกันและย้ายไปยังเมียนมาตะวันออกโดยมีศูนย์กลางอยู่ที่เมียวดี ศูนย์การฉ้อโกงโทรคมนาคมขนาดใหญ่ที่กระจายอยู่ในพื้นที่และกิจกรรมผิดกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เช่น การค้ามนุษย์ การค้ายาเสพติด การฟอกเงิน และการลักลอบขนของ ยังคงดำเนินการอยู่ แต่ในไม่ช้าก็จะเกิดกรณี 'หวางซิง' ที่ทำให้จีนยื่นมือเข้ามาในพื้นที่นี้ได้ในที่สุด หลังจากที่เมื่อวันที่ 3 มกราคม 2025 นักแสดงชาวจีน หวางซิง หรือ 'ซิงซิง' ขาดการติดต่อที่บริเวณชายแดนไทย-เมียนมา และถูกกลุ่มมิจฉาชีพหลอกล่อไปยังนิคมธุรกิจฉ้อโกงในเมียวดี ทางตะวันออกของเมียนมา เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้เกิดความกังวลอย่างกว้างขวางในหมู่ประชาชนชาวจีนเกี่ยวกับการฉ้อโกงทางโทรคมนาคมและอินเทอร์เน็ตในเมียนมาตะวันออก และนำไปสู่ความร่วมมือระหว่างจีนกับไทยเพื่อปราบนิคมฉ้อโกงที่มีฐานที่มั่นในเมียวดี โดยเมื่อวันที่ 17 มกราคม กระทรวงความมั่นคงสาธารณะเปิดเผยรายละเอียดของคดีหวางซิงและระบุชื่อแหล่งฉ้อโกงออนไลน์หลายแห่งในเมียวดี รวมถึงนิคมธุรกิจอพอลโล (阿波罗), นิคมหวนย่า (阿波罗) และนิคมข่ายเสวียน (凯旋) กระทรวงความมั่นคงสาธารณะระบุว่าตำรวจจีนและไทยกำลังร่วมกันดำเนินการสืบสวนคดีค้ามนุษย์ข้ามพรมแดนที่เกี่ยวข้องและจับกุมผู้ต้องสงสัยในคดีอาญา

14. เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2025 ประเทศไทยประกาศว่าจะตัดกระแสไฟฟ้าไปยังนิคมทั้ง 5 แห่งบนฝั่งเมียนมาบริเวณชายแดนไทย-เมียนมา เพื่อปราบปรามการฉ้อโกงด้านโทรคมนาคมและอาชญากรรมข้ามชาติในเมียนมา และเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์เช่นกัน ลาวประกาศว่าจะจำกัดการจ่ายกระแสไฟฟ้าไปยังเขตท่าขี้เหล็กของเมียนมา เพื่อปราบปรามการฉ้อโกงด้านโทรคมนาคมข้ามชาติเช่นกัน และต่อมาเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ เหยื่อของแหล่งฉ้อโกงออนไลน์เมียวดีในเมียนมาจำนวน 61 รายได้รับการช่วยเหลือ ซึ่งรวมถึงชาวจีน 39 รายด้วย แต่สงครามกับกลุ่มฉ้อโกงยังไม่สิ้นสุด เพราะอาจเรียกได้ว่าเป็นแค่การเริ่มต้นของประเทศไทยอย่างเต็มรูปแบบในปฏิบัติการที่นำโดยจีน ซึ่งในตอนนี้ครอบคลุมเกือบทุกประเทศที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มฉ้อโกงจนเกือบมหดแล้ว และไทยเป็นประเทศล่าสุด "ที่ต้องร่วมมือด้วย"

โดยทีมข่าวต่างประเทศ The Better

Photo - 中国驻缅甸大使馆

TAGS: #จีนเทา #เมียวดี