เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2025 เจดี แวนซ์ (JD Vance) รองประธานาธิบดีสหรัฐฯ มีคำปราศรัยในงาน Munich Security Conference ครั้งที่ 61 ซึ่งในคำปราศรัยของเขา แวนซ์ ได้วิพากษ์วิจารณ์ผู้นำสหภาพยุโรปอย่างโจ่งแจ้ง แสดงจุดยืนของสหรัฐฯ ในลักษณะฝ่ายขวาซึ่งสวนทางกับรัฐบาลส่วนใหญ่ในยุโรป อีกทั้ง แวนซ์ แสดงท่าทีสนับสนุนฝ่ายขวาที่กำลังผงาดขึ้นมาในยุโรปและกำลังกลายเป็นแนวร่วมของ 'ระบอบทรัมป์'
สื่อหลายสำนักมองว่าคำปราศรัยดังกล่าวเป็นจุดเปลี่ยนในความสัมพันธ์ระหว่างยุโรปกับสหรัฐอเมริกา เพราะเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นพร้อมๆ ไปกับการสนทนาทางโทรศัพท์โดยตรงระหว่างประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์แห่งสหรัฐอเมริกากับประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูตินแห่งรัสเซีย บางรายระบุว่าเป็นการประกาศ "สงครามทางอุดมการณ์" และ "สงครามวัฒนธรรม" ต่อพันธมิตรยุโรปของสหรัฐฯ และเป็น "ตัวทำลายล้าง" สถานะปัจจุบันของความสัมพันธ์ข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกระหว่างสองฝ่ายที่ยาวนานหลายทศวรรษ
ในสุนทรพจน์ของเขา เจดี แวนซ์ กล่าวว่าสถาบันประชาธิปไตยของยุโรปและสิทธิในการแสดงความคิดเห็นอย่างเสรีกำลังถูกบ่อนทำลาย (ซึ่งหมายถึงการกีดกันฝ่ายขวา) เขาตำหนินักการเมืองยุโรปโดยเฉพาะว่า "ยกเลิกการเลือกตั้ง" โดยอ้างถึงการยกเลิกการเลือกตั้งประธานาธิบดีโรมาเนียในปี 2024 หลังจากที่ผู้สมัครชาตินิยมอิสระฝ่ายขวาได้รับชัยชนะในรอบแรก โดยอ้างว่าอาจมีความพยายามของรัสเซียในการแทรกแซงผ่านโซเชียลมทีเดียเพื่อให้ผู้สมัครฝ่ายขวาที่เอียรงไปทางรัสเซียได้รับชนะเลือกตั้ง
แต่ เจดี แวนซ์วิพากษ์วิจารณ์แนวทางของเจ้าหน้าที่ยุโรปที่คว่ำผลการเลือกตั้งดังกล่าวว่า ว่าระบบประชาธิปไตยควรมีความแข็งแกร่งเพียงพอที่จะต้านทานความพยายามในการมีอิทธิพลจากภายนอกได้ แวนซ์เปรียบเทียบการเพิกถอนดังกล่าวกับแนวทางปฏิบัติในยุคโซเวียต โดยกล่าวว่า "หากประชาธิปไตยของคุณถูกทำลายได้ด้วยการโฆษณาทางดิจิทัลมูลค่าไม่กี่แสนดอลลาร์จากต่างประเทศ แสดงว่าระบอบประชาธิปไตยนั้นไม่แข็งแกร่งตั้งแต่แรกอยู่แล้ว"
เขากล่าวว่าศาลโรมาเนียได้ตัดสินใจเพิกถอนการเลือกตั้งภายใต้แรงกดดันจาก "ความสงสัยที่ไม่ชัดเจนเกี่ยวกับหน่วยข่าวกรองและแรงกดดันมหาศาลจากเพื่อนบ้านในทวีปยุโรป" ซึ่งหมายถึงการที่สหภาพยุโรปกดดันศาลโรมาเนียให้คว่ำผลการเลือกตั้งที่ฝ่ายขวาชนะ โดยแวนซ์กล่าวหาผู้นำยุโรปว่าใช้ "คำที่น่าเกลียดในยุคโซเวียต เช่น ข้อมูลที่ผิดพลาดและข้อมูลบิดเบือน" เพื่อปกปิด "ผลประโยชน์ที่หยั่งรากลึกมานาน"
"ผมรู้สึกประหลาดใจที่อดีตกรรมาธิการยุโรปได้ออกรายการโทรทัศน์เมื่อเร็วๆ นี้ และแสดงท่าทีดีใจที่รัฐบาลโรมาเนียเพิ่งยกเลิกการเลือกตั้งทั้งหมด เขาเตือนว่าหากสิ่งต่างๆ ไม่เป็นไปตามแผน เรื่องแบบเดียวกันนี้อาจเกิดขึ้นได้ในเยอรมนีเช่นกัน คำพูดเย่อหยิ่งเหล่านี้ทำให้คนอเมริกันตกตะลึง เป็นเวลาหลายปีที่เราถูกบอกว่าทุกอย่างที่เราให้ทุนและสนับสนุนล้วนเป็นไปในนามของค่านิยมประชาธิปไตยร่วมกันของเรา ตั้งแต่นโยบายยูเครนไปจนถึงการเซ็นเซอร์ดิจิทัลล้วนถูกมองว่าเป็นการปกป้องประชาธิปไตย" แวนซ์ กล่าว
หลังจากตำหนิเรื่องที่เกิดขึ้นในโรมาเนีย แวนซ์ยังแสดงจุดยืนฝ่ายขวาของเขาที่สนับสนุนกาต่อต้านการทำแท้งและสนับสนุนค่านิยมคริสเตียน โดยประณามรัฐบาลอังกฤษอย่างหนักที่ผ่านกฎหมายเสรีภาพในการพูดที่ "ทรยศต่อหลักการ" โดยยกตัวอย่างกรณีของอดัม สมิธ คอนเนอร์ ซึ่งไปสวดภาวนาที่ด้านนอกคลินิกทำแท้งในบอร์นมัธ แต่กลับถูกจำคุกเพราะละเมิด "เขตปลอดภัย" รอบๆ คลินิกทำแท้ง (หมายถึง Safe access zone การคุ้มครองทางกฎหมายในการเข้าถึงการทำแท้ง และระยะห่างที่กำหนดไว้โดยรอบคลินิกหรือบริการดูแลสุขภาพสืบพันธุ์ ซึ่งผู้ที่ประท้วงต่อต้านการทำแท้งไม่สามารถประท้วง ยืน หรือสื่อสารกับผู้ป่วยและ/หรือเจ้าหน้าที่ที่เข้าและออกจากสถานพยาบาลสืได้)
เขายังประณามการที่สวีเดนตัดสินจำคุกนักเคลื่อนไหวคริสเตียนฐานเผาคัมภีร์อัลกุรอาน โดยถือเป็นการดำเนินคดีต่อการแสดงออกทางศาสนา อันเป็นเสรีภาพขั้นพื้นฐาน การที่ตำรวจในเยอรมนี ปราบปรามความคิดเห็นต่อต้านแนวคิดสตรีนิยม และจดหมายที่รัฐบาลสกอตแลนด์ส่งถึงผู้คนในสกอตแลนด์ซึ่งบ้านของพวกเขาอยู่ในเขต Safe access zone โดยเตือนพวกเขาว่าการสวดภาวนาส่วนตัวเพื่อต่อต้านการทำแท้ง ถือเป็นสิ่งผิดกฎหมาย
ตลอดการกล่าวสุนทรพจน์ แวนซ์เน้นย้ำถึงความสำคัญของความชอบธรรมของประชาธิปไตยและอำนาจอธิปไตยของประชาชน เขาโต้แย้งว่าผู้นำยุโรปควรยอมรับความคิดเห็นของสาธารณชนมากกว่าที่จะกลัว (โดยเจตนาก็คือให้ผู็นำยุโรปอย่ากีดกันฝ่ายขวา) แม้ว่าความคิดเห็นของสาธารณชนจะท้าทายจุดยืนที่เป็นที่ยอมรับก็ตาม สุนทรพจน์ดังกล่าวยังวิพากษ์วิจารณ์การประชุมความมั่นคงมิวนิกโดยเฉพาะ เนื่องจากไม่ให้ผู้นำการเมืองที่นิยมลัทธิประชานิยมฝ่ายขวาบางคนเข้าร่วม
แวนซ์ยังกล่าวอีกว่า "หากประชาธิปไตยของอเมริกาสามารถอยู่รอดได้ 10 ปีจากการถูกเกรตา ทุนเบิร์ก ข่มขู่ พวกคุณก็อยู่รอดได้อีกหลายเดือนจาก อีลอน มัสก์ (ที่ตำหนิยุโรป)" โดยอ้างอิงถึงข้อกล่าวหาการแทรกแซงการเลือกตั้งต่อมัสก์จากการส่งเสริมพรรคทางเลือกเพื่อเยอรมนี (AfD) ของเขา
ปราศรัยของแวนซ์ ยังกล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ และยุโรปหลายประเด็น รวมถึงการใช้จ่ายด้านการป้องกันประเทศและความร่วมมือด้านความมั่นคง ในขณะที่ยืนยันถึงความมุ่งมั่นของรัฐบาลทรัมป์ต่อความมั่นคงของยุโรป แวนซ์ก็เน้นย้ำถึงความจำเป็นในการเพิ่มการสนับสนุนด้านการป้องกันประเทศของยุโรป โดยเขากล่าวถึงความเป็นไปได้ของ "การยุติปัญหาอย่างสมเหตุสมผล" ระหว่างยูเครนและรัสเซียโดยเฉพาะ นอกจากนี้ เขายังวิพากษ์วิจารณ์วาทกรรมของยุโรปในการต่อต้านรัสเซียและสนับสนับสนุนยูเครนว่าเป็น "การปกป้องประชาธิปไตย" ซึ่งเป็นการกระทำที่ตรงกันข้ามกับสิ่งที่ยุโรปกีดกันอยู่ นั่นคือบั่นทอเสรีภาพในการแสดงความเห็นของฝ่ายที่มีความคิดตรงกันข้าม
ที่สำคัญก็คือ แวนซ์ ต้องการให้ยุโรปปกป้องตัวเองจากภัยคุกคามด้วยไม่ใช่รอความช่วยเหลือจากสหรัฐฯ อย่างเดียวและชี้ว่าภัยคุกคามต่อยุโรปไม่ได้มาจากรัสเซียหรือจีน แต่มาจากภายในยุโรปเอง
"วันนี้ผมเห็นผู้นำทางทหารผู้ยิ่งใหญ่มากมายมารวมตัวกันที่นี่ แต่ถึงแม้ว่ารัฐบาลทรัมป์จะกังวลกับความมั่นคงของยุโรปมากและเชื่อว่าเราสามารถบรรลุข้อตกลงที่สมเหตุสมผลระหว่างรัสเซียและยูเครนได้ และเรายังเชื่อด้วยว่าในปีต่อๆ ไป เป็นสิ่งสำคัญที่ยุโรปจะต้องก้าวขึ้นมาในระดับแนวหน้าเพื่อเตรียมการป้องกันของตัวเอง ภัยคุกคามที่ผมกังวลมากที่สุดต่อยุโรปกลับไม่ใช่รัสเซีย ไม่ใช่จีน ไม่ใช่ผู้มีบทบาทภายนอกอื่นๆ" และกล่าวว่า "สิ่งที่ผมกังวลคือภัยคุกคามจากภายใน การถอยหนีของยุโรปจากค่านิยมพื้นฐานบางประการ ค่านิยมที่แบ่งปันกับสหรัฐอเมริกา"
เขากล่าวด้วยว่า "วันนี้ผมมาที่นี่ไม่ใช่แค่เพื่อแสดงความคิดเห็น แต่เพื่อเสนอแนะ รัฐบาลของไบเดนดูเหมือนจะพยายามปิดปากผู้คนไม่ให้แสดงความคิดเห็น รัฐบาลของทรัมป์จะทำตรงกันข้าม และฉันหวังว่าเราจะร่วมมือกันในเรื่องนี้ ในวอชิงตัน มีผู้นำคนใหม่ในเมือง และภายใต้การนำของโดนัลด์ ทรัมป์ เราอาจไม่เห็นด้วยกับมุมมองของคุณ แต่เราจะต่อสู้เพื่อปกป้องสิทธิ์ของคุณในการแสดงความคิดเห็นต่อสาธารณะ ไม่ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่ก็ตาม"
เมื่อพูดถึงผู้นำคนใหม่ในวอชิงตัน ซึ่งเน้นย้ำเรื่อง "อาณัติ" (Mandate) ซึ่งเป็นคำกล่าวที่ทรัมป์ประกาศหลังชนะเลือกตั้ง และเป็นจุดเริ่มต้นของการอ้างอำนาจประชาธิปไตยในการใช้อำนาจฝ่ายบริหารอย่างเต็มที่เพื่อปฏิรูประบอบการเมืองตามแนวทางฝ่ายขวา แวนซ์ ก็เสนอแนะให้ยุโรปทำแบบเดียวกัน โดยกล่าวว่า "มีคุณค่ามากมายที่สามารถบรรลุได้ด้วยอาณัติตามระบอบประชาธิปไตยแบบที่ผมคิดว่าจะมาจากการตอบสนองเสียงของประชาชนมากขึ้น หากคุณต้องการที่จะเพลิดเพลินไปกับเศรษฐกิจที่มีการแข่งขัน หากคุณต้องการที่จะเพลิดเพลินไปกับพลังงานที่ราคาไม่แพงและห่วงโซ่อุปทานที่ปลอดภัย คุณจะต้องมีอาณัติในการปกครอง เพราะคุณต้องตัดสินใจที่ยากลำบากเพื่อเพลิดเพลินไปกับสิ่งเหล่านี้ และแน่นอนว่าเราทราบเรื่องนี้เป็นอย่างดีในอเมริกา"
คำปราศรัยของ แวนซ์ ส่งผลสะเทือนต่อยุโรปอย่างมาก นายกรัฐมนตรีเยอรมนี โอลาฟ ชอลซ์ ตำหนิ แวนซ์ อย่างรุนแรง และเน้นย้ำว่าคำมั่นสัญญาที่จะ "ไม่เกิดขึ้นอีก" ซึ่งหมายถึงการจะไม่ปลอ่ยให้เยอรมนีถูกปกครองโดยพรรคฝ่ายขวาเหมือนสมัยนาซีเยอรมันอีก โดยเฉพาะพรรคทางเลือกเพื่อเยอรมนีซึ่งเป็นพรรคฝ่ายขวาจัดของเยอรมนี หรือที่รู้จักกันในชื่อ AfD ซึ่งพยายามลดความน่าเกลียดน่ากลัวของระบอบนาซีลง ชอลซ์ ยังกล่าวต่อไปว่า เยอรมนีจะไม่ยอมรับให้บุคคลภายนอกเข้ามาแทรกแซงการเลือกตั้งของประเทศ และกล่าวเพิ่มเติมว่า “สิ่งนั้นไม่ได้เกิดขึ้น อย่างแน่นอน ไม่ได้เกิดขึ้นในหมู่เพื่อนและพันธมิตร”
ส่วน รัฐมนตรีกลาโหมเยอรมนี บอริส พิสตอริอุส กล่าวว่า การที่ แวนซ์ เปรียบเทียบพื้นที่ต่างๆ ของยุโรปกับระบอบเผด็จการนั้น "ไม่สามารถยอมรับได้" ส่วน คายา คัลลาส หัวหน้าฝ่ายการทูตของสหภาพยุโรป กล่าวว่าเธอรู้สึกว่าสหรัฐฯ "กำลังพยายามหาเรื่องกับเรา" ส่วนนักการทูตและเจ้าหน้าที่ของสหรัฐฯ และยุโรปหลายคนแสดงความผิดหวังขณะที่สุนทรพจน์ดังกล่าวเกิดขึ้น โดยมีคนหนึ่งอ้างว่าสุนทรพจน์ดังกล่าวทำให้ "ผู้คนในห้องต่างอ้าปากค้าง" จากการรายงานของ Politico
Le Monde สื่อของฝรั่งเศสอ้างถึงคำปราศรัยของแวนซ์ว่าเป็นการประกาศ "สงครามทางอุดมการณ์" ต่อยุโรป นิตยสาร Politico กล่าวถึงคำปราศรัยดังกล่าวว่าเป็น "ลูกบอลทำลายล้าง" เพื่อการประชุมสุดยอด และได้นำสงครามวัฒนธรรมมาสู่ยุโรป
โดยทีมข่าวต่างประเทศ The Better
Photo by THOMAS KIENZLE / AFP