'ไต้หวันเทา' กบดานหากินในกัมพูชา เพราะทางการไต้หวันลงโทษเบาเกินไป 

'ไต้หวันเทา' กบดานหากินในกัมพูชา เพราะทางการไต้หวันลงโทษเบาเกินไป 
อาชญากรคนขายคนที่ยังน้อยคนนักจะพูดถึงในช่วงเวลาที่เราสนใจกันแต่ 'จีนเทา'

ในขณะที่ความสนใจใจการกวาดล้างการฉ้อโกงออนไลน์เพ่งเล็งไปที่ 'จีนเทา' ในเมียนมาและกัมพูชา ยังมี 'สแกมเมอร์' อีกกลุ่มที่ถูกพูดถึงน้อยทั้งๆ ที่เป็นปัญหาใหญ่พอๆ กัน และยังเป็นกลุ่มแรกๆ ที่ทำมาากินแนวสแกมเมอร์อีกด้วย นั่นคือ พวกฉ้อโกงที่ดำเนินการโดยชาวไต้หวันรวมถึงเหยื่อชาวไต้หวันที่ถูกล่อลวงหรือเต็มใจมาทำงานนี้ในประเทศกัมพูชา  

เมื่อปี 2024 ตามรายงานของสำนักข่าวกลางของไต้หวันเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม สำนักงานอัยการเขตนิวไทเปได้ฟ้องผู้ต้องสงสัยในคดีอาญา 11 คน โดยสมาชิกกลุ่มฉ้อโกงชาวไต้หวันที่มีนามสกุลว่า เหอ และคนอื่นๆ ได้ล่อลวงชาวไต้หวัน 4 คนไปยังกัมพูชาเพื่อฉ้อโกงโดยแอบอ้างว่ามีงานทำที่รายได้สูง และล่วงละเมิดพวกเขาด้วยการจำคุก ทุบตี และขังพวกเขาไว้ใน "ห้องมืดเล็กๆ" 

จากการสอบสวนพบว่ามีคนจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ที่ทราบว่าการฉ้อโกงข้ามชาตินั้นร้ายแรงมาก จึงทำให้กลุ่มฉ้อโกงไม่สามารถรับสมัครสมาชิกได้ ดังนั้น บุคคลที่ชื่อเหอจึงได้จัดตั้ง "แผนกบุคลากร" และทำหน้าที่เป็นหัวหน้าทีม เขาพบสมาชิก 4 คน และอ้างว่ากำลังมองหางานธุรการหรืองานที่เกี่ยวข้องกับการบริหารเกม โดยมีเงินเดือนพื้นฐาน 40,000 ดอลลาร์ไต้หวัน และโบนัสสูง พวกเขาล่อลวงชาวไต้หวันให้มาที่กัมพูชาและกระทำการฉ้อโกงจริง

อัยการและตำรวจกล่าวว่าหลังจากที่เหยื่อเดินทางมาถึงกัมพูชา ไม่เพียงแต่หนังสือเดินทางของพวกเขาจะถูกยึดเท่านั้น แต่พวกเขาไม่สามารถกลับไต้หวันได้ ตราบใดที่พวกเขาไม่ได้ชักชวนคนไต้หวันเข้ามาที่กัมพูชาและไม่จ่ายค่าไถ่ พวกเขาไม่สามารถเข้าและออกจากนิคมธุรกิจฉ้อโกงได้อย่างอิสระ เนื้อหาการทำงาน เวลา ขอบเขตของการดำเนินการ และการติดต่อภายนอกทั้งหมดอยู่ภายใต้การกำกับดูแลอย่างเข้มงวด หากมีการละเมิดหรือการปฏิบัติงานไม่เป็นไปตามมาตรฐาน พวกเขาจะถูกลงโทษทางร่างกาย ถูกตี ถูกช็อตไฟฟ้า ขังไว้ใน "ห้องมืดเล็กๆ" หรือถูกขายให้กับที่อื่น

ทางการกัมพูชาพยายามกวาดล้างนิคมธุรกิจฉ้อโกงเหล่านี้ โดยเฉพาะในเมืองสีหนุวิลล์ เช่นเมื่อวันที่ 9 และ 10 มีนาคม 2024 ตำรวจกัมพูชาได้เข้าปราบปรามแหล่งฉ้อโกงโทรคมนาคมสองแห่งในสีหนุวิลล์ โดยจับกุมผู้คนและชาวต่างชาติได้รวม 479 คน รวมถึง 36 คนจากจีนแผ่นดินใหญ่และไต้หวัน และในจำนวนนี้ 1 คนจากแผ่นดินใหญ่และชาวไต้หวัน 4 คนเป็นผู้จัดการของศูนย์ฉ้อโกง โดยแหล่งข่าวเผยว่าชาวไต้หวันที่เกี่ยวข้องในคดีนี้จะถูกส่งตัวกลับจีนแผ่นดินใหญ่

การกวาดล้างนิคมไต้หวันเทาครั้งใหญ่ อาจเป็นผลมาจากกรณีอื้อฉาวเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2024 เมื่อไลฟ์สตรีมเมอร์ที่ชื่อ 'หวั่นอัน เสี่ยวจี' (晚安小鸡) ได้ทำการไลฟ์สดในกัมพูชาโดยทำการจัดฉากว่าเขาถูกทำร้ายในนิคมธุรกิจฉ้อโกงในกัมพูชา ต่อมามีการเปิดเผยว่าเขาเป็นคนกำกับและแสดงในฉากนั้นด้วยตัวเอง และเขากับผู้สมรู้ร่วมคิดถูกตำรวจกัมพูชาจับกุม หลังจากการสอบสวนพบว่าพวกเขาเริ่มสร้างประเด็นขึ้นโดยเจตนาเมื่อเข้าสู่สนามบินกัมพูชา โดยมีจุดประสงค์เพื่อดึงดูดความสนใจของชาวเน็ตและให้มีผู้เข้าชมวิดีโอมากขึ้น 

กรณีของ 'หวั่นอัน เสี่ยวจี' สะท้อนว่าคนไต้หวันเกี่ยวข้องกับปัญหาฉ้อโกงเป็นจำนวนมาก จนกระทั่งเขาพร้อมที่จะใช้โอกาสจากปัญหานี้เพื่อแสวงหาความโด่งดังให้กับตัวเอง สุดท้ายก็ต้องถูกจำคุกโดยทางการกัมพูชา

ล่าสุด ทางการไต้หวันทำให้กัมพูชาโกรธอีก หลังจากที่กระทรวงการต่างประเทศไต้หวันประกาศเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ เตือนว่าไทย เวียดนาม เมียนมา และลาว ซึ่งเป็นพื้นที่เสี่ยงสูงที่พลเมืองควรระมัดระวังเป็นพิเศษ โดยคำเตือนนี้ เป็นการตอบสนองต่อความกังวลที่เพิ่มขึ้นเกี่ยวกับการที่พลเมืองไต้หวันถูกหลอกล่อให้เข้าไปทำธุรกรรมฉ้อโกงในต่างประเทศ

อย่างไรก็ตาม จู บุน เอ็ง รองประธานคณะกรรมการแห่งชาติเพื่อปราบปรามการค้ามนุษย์ของกัมพูชา ได้ออกมาปฏิเสธข้อกล่าวหาดังกล่าวอย่างรวดเร็ว โดยเธอชี้แจงว่า แม้ว่าปัญหาการฉ้อโกงจะเป็นเรื่องทั่วโลก แต่ไม่ควรเชื่อมโยงกับกัมพูชา

“การเผยแพร่ข้อมูลดังกล่าวเป็นการให้ข้อมูลที่เข้าใจผิด ก่อให้เกิดความสับสนในหมู่ประชาชน เนื่องจากผู้ที่ตกเป็นเหยื่อการฉ้อโกงทางออนไลน์ไม่จำเป็นต้องเดินทางไปกัมพูชาเพื่อพบเจอกับเหตุการณ์ดังกล่าว (และ) กัมพูชาไม่ใช่สถานที่สำหรับการหลอกลวง และหากพวกเขาเข้ามาทำกิจกรรมดังกล่าวเพราะถูกหลอกล่อ ก็ไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับกัมพูชา” จู บุน เอ็ง กล่าวในรายงานข่าวโดยสำนักข่าว Khmer Times

เรื่องนี้เป็นปัญหามานานแล้วทั้งในระดับปัญหาอาชญาธรรมข้ามชาติและในเชิงการเมืองระหว่างจีน ไต้หวัน และกัมพูชา แต่ถูกพูดถึงน้อยมากเมื่อเทียบกับปัญหา 'จีนเทา' ที่ปัญหา 'ไต้หวันเทา' เป็นประเด็นขึ้นมามีช่วงหนึ่งคือช่วงปี 2022 ซึ่งมีการรายงานเรื่องการช่วยเหลือเหยื่อจากนิคมธุรกิจฉ้อโกงชาวไต้หวันจากกัมพูชาจำเป็นชาวใหญ่

ในเวลานั้นสำนักข่าว Radio Free Asia รายงานว่า ตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังของปี 2021 ชาวไต้หวันถูกหลอกล่อด้วยการเสนองานรายได้สูงแต่แล้วเมื่อเดินทางถึงกัมพูชาก็ถูกส่งไปอยู่ในเงื้อมมือของเครือข่ายหลอกลวง ในถิ่นสีเทาแห่งนั้นพวกเขาจะถูกกักขัง ทุบตี ขายต่อ หรือจับเป็นทาสในรูปแบบอื่นๆ ตามการประมาณการคร่าวๆ ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติของไต้หวัน คาดว่าน่าจะมีเหยื่อหลายพันคน

Radio Free Asia  ได้อ้างรายงานของ The Reporter ซึ่งเป็นสำนักข่าวสืบสวนอิสระในไต้หวัน ซึ่งสัมภาษณ์ชาวไต้หวันที่ตกเป็นเหยื่อของพวกสีเทาในกัมพูชา เหยื่อรายหนึ่งชื่อว่า ปิ๊ปปี้ (Pippi) กล่าวในการสัมภาษณ์จากไทเปว่า  “คนไต้หวันเป็นคนขายคนไต้หวันด้วยกันเอง” 

ปิ๊ปปี้ถูกควบคุมตัวโดยกลุ่มค้ามนุษย์ในเขตเศรษฐกิจพิเศษในจังหวัดพระสีหนุ ทางตะวันตกเฉียงใต้ของกัมพูชา ซึ่งเป็นที่ตั้งของท่าเรือที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ ซึ่งขึ้นชื่อว่าเป็นหนึ่งในดินแดนธุรกิจสีเทาที่คึกคักที่สุดแห่งหนึ่ง

ปิ๊ปปี้ เผยว่า “พวกเขา (สแกมเมอร์) บอกฉันว่าฉันถูกขายแล้ว จากนั้นพวกเขาก็เรียกร้องให้ฉันช่วยหลอกล่อคนต่อไปให้มาที่สีหนุวิลล์เพื่อบริษัทของพวกเขา หากฉันไม่ทำ พวกเขาก็บอกว่าจะทุบตีฉันหรือขายฉันให้กับกลุ่มค้ามนุษย์อื่น” โดยนิคมธุรกิจฉ้อโกงที่ ปิ๊ปปี้ ถูกกักขังเรียกว่า "หวงซา พาร์ก (Huangsha Park)

นอกจาก ปิ๊ปปี้ แล้วยังมีการเผยประสบการณ์ของ หญิงชาวไต้หวันชื่อ อวี้ถัง ที่หนีออกจากกัมพูชาได้ให้สัมภาษณ์พิเศษกับสื่อไต้หวันและเล่าถึงประสบการณ์ 7 วันของเธอในกัมพูชา เมื่อเธอเตรียมตัวเปลี่ยนงาน เธอได้รับจดหมายจากเพื่อนออนไลน์ที่ถามว่าเธออยากไปทำงานต่างประเทศหรือไม่ และได้ส่งรูปถ่ายของสภาพแวดล้อมการทำงานที่ดีและที่พักที่สวยงามมาให้มากมาย อีกฝ่ายหนึ่งกล่าวว่ามีโครงการงานมากมายที่เธอสามารถเลือกได้หลังจากทำความรู้จักกับโครงการเหล่านั้นด้วยตัวเอง ในขณะเดียวกัน นายจ้างจะจ่ายค่าตั๋วเครื่องบินไปกลับและเงินเดือนรายเดือนอยู่ที่ 100,000 ดอลลาร์ไต้หวัน ด้วยข้อเสนอที่ล่อใจเหล่านี้ทำให้เธอตัดสินใจขึ้นเครื่องบินไปกัมพูชา

อวี้ถัง กล่าวว่า เธอไม่ใช่คนเดียวที่บินไปกัมพูชาแต่เดินทางมาเป็นกลุ่มเดียวกัน หลังจากที่พวกเขามาถึง หนังสือเดินทางและโทรศัพท์มือถือของพวกเขาก็ถูกยึดไปทันที เมื่อเธอได้โทรศัพท์คืน ข้อมูลการติดต่อของคนกลางที่ติดต่อเธอในตอนแรกเพื่อไปกัมพูชาถูกลบทิ้งไป ในนิคมธุรกิจฉ้อโกงในสีหนุวิลล์ เธอได้รับมอบหมายให้ทำงานในแผนกหนึ่ง  เนื้อหาของงานคือ แต่ละคนต้องหลอกคนไต้หวัน 15-20 คนเพื่อไปกัมพูชาทุกเดือน หากพวกเขาบรรลุเป้าหมายแล้วจึงจะได้รับเงินเดือน หากพวกเขาไม่บรรลุเป้าหมาย ไม่เพียงแต่พวกเขาจะไม่ได้เงิน แต่ยังจะถูกทุบตีจากกระบองไฟฟ้าอีกด้วย อวี้ถัง เปิดเผยว่า เมื่อเธออยู่ที่ทำงาน โทรศัพท์มือถือของเธอจะถูกจัดการโดยบริษัท และสามารถรับคืนได้หลังเลิกงานเท่านั้น ในเวลานั้น เธอพกโทรศัพท์มือถือทุกคืนเพื่อหาทางขอความช่วยเหลือจากภายนอก ในที่สุด เธอจึงติดต่อกับผู้ว่าราชการจังหวัดสีหนุวิลล์ และในที่สุดก็หนีออกจากนิคมธุรกิจฉ้อโกงได้

ตามรายงานของ China Times ของไต้หวัน กลุ่มมิจฉาชีพมักจะล่อลวงผู้คนด้วยการสัญญาว่าจะให้เงินเดือนสูงและการไปทำงานยังต่างประเทศ จากนั้นจึงบังคับให้เหยื่อหาเพื่อนและญาติเพื่อให้ตกมาเป็นเหยื่อกด้วยกันกัน "ตัวอย่างเช่น พวกเขาจะปล่อยตัวคุณไปหากคุณพบคน 10 คน หรือพวกเขาจะให้คุณทำงานที่ง่ายกว่าหากคุณพบคน 10 คน" หากเหยื่อปฏิเสธ ผู้ชายอาจถูกตีด้วยกระบองไฟฟ้าหรือขังไว้ในกรงไฟฟ้า ไม่ต้องพูดถึงผู้หญิงที่จะถูกละเมิดในรูปแบบต่างๆ มากมายที่นึกไม่ถึงกันเลยทีเดียว 

แก๊งอาชญากรไต้หวันเป้นกลุ่มแรกๆ ที่หันมาหากินกับการทำสแกมเมอร์ นอกจากจะทำกันในไต้หวันแล้วยังลักลอบมากินในจีนแผ่นดินใหญ่ด้วย สำนักข่าวหวงฉิวหว่าง (环球网) ของจีนรายงานว่า ในปี 2009 ทางการไต้หวันและรัฐบาลจีนแผ่นดินใหญ่ฝ่ายได้ลงนามใน "ข้อตกลงร่วมต่อต้านอาชญากรรมและความช่วยเหลือทางกฎหมายร่วมกัน" กลุ่มฉ้อโกงชาวไต้หวันที่ซ่อนตัวอยู่ในมณฑลชายฝั่งของแผ่นดินใหญ่เริ่มย้าย "ฐานทัพ" ของตนไปยังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แม้กระทั่งในประเทศเคนยาและสถานที่อื่นๆ ที่ไม่มีข้อตกลงความช่วยเหลือทางกฎหมายร่วมกันกับไต้หวัน

ยังได้ตั้งข้อสังเกตว่า "สาเหตุที่ทำไมจึงมีนักต้มตุ๋นจำนวนมากบนเกาะแห่งนี้ (ไต้หวัน) เหตุผลหลักประการหนึ่งก็คือ ต้นทุนในการก่ออาชญากรรมนั้นต่ำเกินไป เพื่อแสดงให้เห็นว่าพวกเขามี "การทูตเอกราช" (独立外交 หมายถึงการที่ไต้หวันแสดงท่าทีเป็นเอกราชจากจีนแผ่นดินใหญ่ ซึ่งต้องการปราบสแกมเมอร์อย่างจริงจัง) ทางการไต้หวันจึงไม่ปกป้องเหยื่อการฉ้อโกงในภูมิภาคอื่นๆ โดยเฉพาะในแผ่นดินใหญ่ และจงใจให้โทษเบาแก่นักต้มตุ๋นที่ถูกส่งตัวกลับไต้หวัน และถึงกับ "ช่วงชิงประชาชน" (抢人) กับจีนแผ่นดินใหญ่ไปทั่วโลก นักต้มตุ๋นคนหนึ่งเคยกล่าวไว้ว่า "ถ้าฉันถูกตัดสินจำคุกในแผ่นดินใหญ่ในข้อหาฉ้อโกงเมื่อครั้งที่แล้ว ฉันคงไม่กล้าออกไปฉ้อโกงในครั้งนี้ หากไต้หวันลงโทษหนักสำหรับการฉ้อโกงโทรคมนาคม การฉ้อโกงโทรคมนาคมก็จะไม่แพร่หลายในไต้หวัน" 

อีกปัจจัยหนึ่งมาจากการที่คนไต้หวันเองยินยอมพร้อมใจที่จะเข้าร่วมการกระทำฉ้อโกงออนไลน์ โดยบทความวิเคราะห์ที่เผยแพร่โดย United Daily News ซึ่งเป็นสื่อของไต้หวันในเดือนสิงหาคม 2022 ระบุว่าการเพิ่มขึ้นของสแกมเมอร์นั้นเกี่ยวข้องอย่างมากกับความเต็มใจอย่างต่อเนื่องของคนหนุ่มสาวชาวไต้หวันที่จะเข้าร่วม คนหนุ่มสาวบางคนต้องการหาเงินอย่างรวดเร็ว และศาลก็มักจะเต็มใจให้โอกาสคนหนุ่มสาว ซึ่งช่วยลดต้นทุน (การรับโทษและค่าปรับ) การก่ออาชญากรรมของคนพวกนี้ได้อย่างมาก เงินเดือนจากการทำงานในซูเปอร์มาร์เก็ตหนึ่งเดือนนั้นน้อยกว่าส่วนแบ่งของเงินที่ทำสแกมเมอร์มาครั้งเดียวอย่างมาก ดังนั้นพวกสแกมเมอร์จึงไม่เคยขาดคน

ตามสถิติของสำนักงานตำรวจแห่งชาติของไต้หวัน อาชญากรรมหลักที่กระทำโดยวัยรุ่นในปี 2014 ยังคงเป็นยาเสพติด รองลงมาคือการโจรกรรม แต่ตั้งแต่ปี 2018 การฉ้อโกงหรือสแกมเมอร์กลายเป็นอาชญากรรมอันดับหนึ่งในหมู่วัยรุ่นในไต้หวัน และจำนวนผู้ต้องสงสัยในปี 2021 นั้นเกินกว่าผลรวมของผู้ต้องสงสัยในข้อหาโจรกรรมและยาเสพติดรวมกันเสียอีก

พรรคก๊กมินตั๋ง ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านของไต้หวันวิจารณ์ว่าช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนที่ร้ายแรงและอัตราการว่างงานของเยาวชนที่สูงมากในไต้หวันเป็นแรงผลักดันเบื้องหลังปัญหาการฉ้อโกงที่เลวร้ายลงในกัมพูชา สมาชิกรัฐสภาไต้หวันในเวลานั้น คือ หลี่กุ้ยหมิ่น (李贵敏) จากพรรก๊กมินตั๋งกล่าวว่า "ค่าจ้างต่ำ ราคาบ้านสูง และราคาสูง" ในระยะยาวของไต้หวันทำให้คนหนุ่มสาวมองไม่เห็นอนาคต ในอดีตอย่างน้อยพวกเขาก็สามารถไปไต้หวันตอนเหนือเพื่อหาเลี้ยงชีพได้ แต่ตอนนี้สภาพแวดล้อมการจ้างงานโดยรวมแย่ลง พวกเขาจึงต้องเสี่ยงโชคในต่างประเทศ และฝ่ายค้านจึงตั้งคำถามว่า "ไม่ใช่รัฐบาลพรรค DPP หรอกหรือที่ผลักดันให้ผู้คนตกที่นั่งลำบาก?"

สำนักข่าวหวงฉิวหว่าง รายงานว่าเหยื่อบางรายที่เดินทางกลับไต้หวันหลังจากถูกหลอกไปทำงานยังกัมพูชาบอกว่าพวกเขาและครอบครัวในไต้หวันได้ขอความช่วยเหลือจากทางการไต้หวันหลายครั้งแต่ไม่ได้รับการตอบรับที่ดี คำตอบที่พบบ่อยที่สุดคือ "ไต้หวันและกัมพูชาไม่มีความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการ ดังนั้นจึงไม่มีทางที่จะช่วยเหลือผู้คนได้" เหยื่อรายหนึ่งเปิดเผยในรายการสื่อของไต้หวันว่าเธอได้ขอความช่วยเหลือจากกรมกิจการต่างประเทศของไต้หวัน แต่ถูกวางสายไป

เพราะความร้ายแรงของปัญหา มีอยู่ช้วงเวลาหนึ่งที่เกิดคำถามขึ้นมาในหมู่คนไต้หวันในโซเชียลมีเดียว่า “จะหันไปขอความช่วยเหลือจากใครหากถูกหลอกให้เข้ามาในกัมพูชา” เจ้าหน้าที่ชาวกัมพูชาได้ออกมากล่าวอย่างตรงไปตรงมาว่าทางการไต้หวันไม่มีการติดต่อกับกัมพูชาเลย และไม่ได้ลงนามในข้อตกลงใดๆ เช่น ความช่วยเหลือทางกฎหมาย ดังนั้น หากเกิดอะไรขึ้นกับคนไต้หวัน สิ่งเดียวที่เป็นประโยชน์คือรีบไปที่สถานทูตจีนเพื่อขอความช่วยเหลือ 

จนกระทั่ง เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2022 หม่าเสี่ยวกวง โฆษกสำนักงานกิจการไต้หวันของคณะรัฐมนตรีจีนได้ออกมากล่าวว่าเพื่อนร่วมชาติชาวไต้หวันเป็นพลเมืองจีน และเป็นหน้าที่ของเราที่จะปกป้องสิทธิและผลประโยชน์ที่ถูกต้องตามกฎหมายของเพื่อนร่วมชาติชาวไต้หวัน “เพื่อนร่วมชาติชาวไต้หวันในต่างแดนสามารถติดต่อสถานทูตและสถานกงสุลจีนในต่างประเทศเพื่อขอความช่วยเหลือได้ทันทีหากพบปัญหาใดๆ”

โดยทีมข่าวต่างประเทศ The Better 

Photo - ภาพนี้แสดงอาคารที่กำลังอยู่ระหว่างการก่อสร้างใกล้กับวงเวียนสิงห์คู่ในเมืองท่าสีหนุวิลล์ทางตอนใต้ของกัมพูชา เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2024 (ภาพโดย YARN SOVEIT / AFP)

TAGS: #ไต้หวัน #สแกมเมอร์ #จีนเทา #กัมพูชา