เมื่อ'เซเลนสกี'กล้าขัดขืน'ทรัมป์'เขาก็ต้องรับผลที่เลวร้ายตามมา

เมื่อ'เซเลนสกี'กล้าขัดขืน'ทรัมป์'เขาก็ต้องรับผลที่เลวร้ายตามมา

ขนาดประธานาธิบดีฝรั่งเศสก็ยังต้องใช้เสน่ห์ส่วนตัวเพื่อรับมือกับโดนัลด์ ทรัมป์ ในขณะที่นายกรัฐมนตรีอังกฤษถึงกับต้องใช้คำเชิญจากราชวงศ์เพื่อกล่อมทรัมป์

แต่เมื่อโวโลดิมีร์ เซเลนสกีแห่งยูเครนรู้ตัวว่าเขาไม่เห็นด้วยกับประธานาธิบดีสหรัฐผู้ขี้โมโห เขากลับพยายามพูดจาตรงไปตรงมาแทน และต้องรับผลจากกระทำนั้น

ฉากที่น่าตกตะลึงเมื่อวันศุกร์ที่ห้องโอวัลออฟฟิศได้ทำลายความร่วมมือในช่วงสงครามหลายปีระหว่างยูเครนที่เอียงเข้าหาชาติตะวันตกและสหรัฐฯ

เซเลนสกีซึ่งเคยได้รับการยกย่องในวอชิงตันว่าเป็นบุคคลสำคัญเทียบได้กับอดีตนายกรัฐมนตรีวินสตัน เชอร์ชิล แห่งอังกฤษที่ท้าทายเผด็จการช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ตอนนี้เขากลับถูกทรัมป์และรองประธานาธิบดี เจดี แวนซ์ ตะโกนใส่ จากนั้นก็ถูกขับออกจากทำเนียบขาวโดยไม่ได้มีโอกาสได้รับประทานอาหารกลางวันด้วยซ้ำ

และยังไม่มีการลงนามในข้อตกลงแบ่งปันแร่ธาตุระหว่างสหรัฐฯ-ยูเครน ซึ่งถือเป็นกุญแจสำคัญในการสนับสนุนของสหรัฐฯ ในการสงบศึกกับรัสเซีย

บาปของเซเลนสกี?
เซเลนสกีคัดค้านทรัมป์ต่อหน้าสาธารณชนเกี่ยวกับข้อเท็จจริงของสงครามยูเครน จากนั้นก็ปฏิเสธที่จะถอนคำพูด

ทรัมป์โพสต์บนโซเชียลมีเดียว่า "เขาไม่เคารพสหรัฐอเมริกาในห้องโอวัลออฟฟิศ (ห้องทำงานของประธานาธิบดีสหรัฐฯ) อันควรแก่การนอบน้อม"

ตั้งแต่กลับมาดำรงตำแหน่งสมัยที่สอง ทรัมป์ก็ได้ขยายขอบเขตบรรทัดฐานและแม้แต่ขอบเขตทางกฎหมายเกี่ยวกับอำนาจที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่จะใช้ในประเทศได้

ในด้านนโยบายต่างประเทศ เขายังแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าวันแห่งการสร้างฉันทามติได้สิ้นสุดลงแล้ว ตอนนี้ ไม่ว่าเขาจะพูดอะไรก็ตาม ก็ต้องเป็นไปตามนั้น

ไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดที่ชัดเจนไปกว่ากรณียูเครน

ทรัมป์เปลี่ยนท่าทีแบบ 360 องศา โดยหันมาชูรัสเซียเป็นหุ้นส่วนมากกว่าศัตรู และยูเครนกลายสภาพเป็นลูกน้องมากกว่าพันธมิตร ทำให้ประธานาธิบดีฝรั่งเศส เอ็มมานูเอล มาครง และนายกรัฐมนตรีอังกฤษ เคียร์ สตาร์เมอร์ รีบไปที่ทำเนียบขาวในสัปดาห์นี้เพื่อหารือเกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้น

เช่นเดียวกับเซเลนสกี ผู้นำทั้งสองกังวลว่าทรัมป์ต้องการบังคับให้รัฐบาลเคียฟทำข้อตกลงสันติภาพ ซึ่งจะทำให้ประธานาธิบดีรัสเซีย วลาดิมีร์ ปูติน ได้ในสิ่งที่เขาต้องการ ขณะเดียวกันก็ทำให้ยูเครนแตกสลายและไม่มั่นคง

แต่ทั้งคู่ต่างก็รู้ดีว่าต้องปฏิบัติตามความต้องการของทรัมป์เพื่อให้ได้รับการปฏิบัติเหมือนเป็นผู้นำที่ไม่ควรถูกท้าทาย

มาครงจับมือ สัมผัสเข่า และตบหลังทรัมป์หลายครั้ง ซึ่งชัดเจนว่าทำให้เจ้าภาพพอใจ

เรื่องนี้ช่วยลดความตึงเครียดลงได้เมื่อประธานาธิบดีฝรั่งเศสตำหนิทรัมป์ต่อสาธารณะหลังจากที่เขากล่าวซ้ำถึงความเท็จที่เกิดขึ้นบ่อยที่สุดครั้งหนึ่ง นั่นคือยุโรปให้เงินกับยูเครนน้อยกว่าวอชิงตันมาก และจะขอเงินทั้งหมดคืน

ไม่กี่วันต่อมา สตาร์เมอร์ได้ยินข่าวเท็จแบบเดียวกันและยังแก้ไขกับทรัมป์อีกด้วย แต่สตาร์เมอร์ก็ทำให้ทรัมป์พอใจไปแล้วด้วยการมอบคำเชิญที่ลงนามโดยกษัตริย์ชาร์ลส์ที่ 3 ให้เขาไปเยือนอังกฤษ

การแท็กทีมที่เกรี้ยวกราด
ในกรณีของเซเลนสกี เดิมพันนั้นแตกต่างออกไปโดยสิ้นเชิง

แทนที่จะแก้ไขทรัมป์ในประเด็นเล็กน้อยว่าใครจ่ายอะไรไปบ้าง เขากลับพยายามผลักดันให้ทำเนียบขาวเปลี่ยนท่าทีจากที่ตอนนี้สนับสนุนแนวทางของมอสโกมากขึ้นเรื่อยๆ

ก่อนที่ทรัมป์จะมาถึง ทรัมป์และพันธมิตรในพรรครีพับลิกันก็เรียกเซเลนสกีว่าเป็นเผด็จการและย้ำคำกล่าวอ้างเท็จของเครมลินว่ารัสเซียไม่ได้ก่อสงคราม

จากนั้น ต่อหน้าสื่อมวลชนที่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมงาน ทรัมป์ก็ยืนกรานกับเซเลนสกีว่าเขาจะต้องประนีประนอมกับปูติน และตำหนิเซเลนสกีที่ทำตัวเป็นศัตรูกับปูติน ซึ่งเป็นบุคคลที่เซเลนสกีเรียกว่า "ฆาตกร"

เมื่อแวนซ์พูดแทรกขึ้นมา โดยเรียกเซเลนสกีว่าเป็นคนเนรคุณและเป็นอุปสรรคต่อการทูต ยูเครนก็ตัดสินใจตอบโต้ที่จะนำไปสู่ชะตากรรมอันเลวร้ายของยูเครน

เซเลนสกีถามแวนซ์ว่า "การทูตแบบไหน เจดี" พร้อมกับแจกแจงแผนริเริ่มทางการทูตตลอดหลายปีที่ผ่านมาซึ่งไม่สามารถหยุดยั้งการรุกรานทางทหารของมอสโกได้

แวนซ์โกรธจัดที่เรียกเซเลนสกีว่า "ไม่ให้เกียรติ" และไม่นานเขาก็ร่วมมือกับทรัมป์เพื่อแท็กทีมเล่นงานเซเลนสกี ผู้ที่ควรจะเป็นพันธมิตรแต่กลายเป็นศัตรูไปแล้ว

การประจบสอพลอจะได้ผลหรือไม่
ผู้ที่ศรัทธาในตัวของทรัมป์ต่างก็พากันตำหนิเซเลนสกีทันที

“เผด็จการแบบไหนกันที่จะดูหมิ่นประธานาธิบดีทรัมป์และรองประธานาธิบดีแวนซ์ในขณะที่ขอเงินเพื่อนำไปทำสงครามที่เขาไม่มีวันชนะได้” GuntherEagleman ผู้สนับสนุนทรัมป์ฝ่ายขวาจัดซึ่งมีชื่อจริงว่า เดวิด ฟรีแมน (David Freeman) และมีผู้ติดตามบน X ถึง 1.3 ล้านคน เขียนไว้

มอจอรี เทย์เลอร์ กรีน (Marjorie Taylor Greene) ผู้สนับสนุนทรัมป์ตัวยงในรัฐสภา เรียกเซเลนสกีว่า “หยิ่งยะโส”

ไบรอัน เกลนน์ (Brian Glenn) แฟนหนุ่มของมอจอรี เทย์เลอร์ กรีน  ซึ่งเคยอยู่ในห้องโอวัลออฟฟิศในฐานะนักข่าวของสถานีโทรทัศน์ Real America's Voice ฝ่ายขวา ได้ถามประธานาธิบดีของยูเครนอย่างเยาะเย้ยว่าทำไมเขาไม่สวมสูท

“ผมจะใส่ (สูท) หลังจากสงครามครั้งนี้สิ้นสุดลง” เซเลนสกีซึ่งสวมชุดสไตล์ทหาร ตอบอย่างเหนื่อยล้า

นักวิเคราะห์บางคนกล่าวว่าเซเลนสกีควรมีกลยุทธ์มากกว่านี้

“สิ่งเดียวที่เซเลนสกีควรพูดในที่สาธารณะ ไม่ว่าคำถามจะเป็นอย่างไร ก็คือ ‘ขอบคุณครับท่านประธานาธิบดี ขอบคุณอเมริกา’” แจ็ก คีน (Jack Keane) ผู้บรรยายข่าวของ Fox News และนายพลที่เกษียณอายุราชการกล่าว “ซ้ำแล้วซ้ำเล่า”

ฟารีด ซาคาเรีย (Fareed Zakaria) ผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายต่างประเทศของ CNN กล่าวว่าคำพูดแรกของเซเลนสกีควรจะชมว่าทรัมป์เป็น “อัจฉริยะ”

แต่สำหรับคริส เมอร์ฟี (Chris Murphy) วุฒิสมาชิกจากพรรคเดโมแครต ไม่ว่าจะมีทักษะทางการทูตหรือคำประจบสอพลอเพียงใด ก็ไม่สามารถช่วยชีวิตเซเลนสกีเอาไว้ได้ เพราะทรัมป์กำลังผลักดันข้อตกลงที่ “มอบยูเครนให้กับปูติน” และเซเลนสกีก็รู้ดี

ห้องโอวัลออฟฟิศเป็น “การซุ่มโจมตี” เมอร์ฟีเขียนบน X

Agence France-Presse

Photo by SAUL LOEB / AFP

TAGS: #เซเลนสกี