1. ในเวลานี้มีข่าวไม่เว้นแต่ละวันว่า รัฐบาลของโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ส่งตัวคนเข้าเมืองผิดกฎหมายในสหรัฐฯ ไปยังคุกของประเทศเอลซัลวาดอาร์ ซึ่งบางคนอาจจะเกิดความสงสัยว่าทำไมสหรัฐฯ ถึงต้องใช้เรือจำของประเทศอื่นในการควบคุมคนต่างด้าวเหล่านั้น? ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนว่าในบรรดาคนเข้าเมืองผิดกฎหมาย มีแก๊งอาชญากรจากอเมริกากลาง เช่น แก๊ง Tren de Aragua (เตรน เด อารากวา) จากเวเนซุเอลาที่เคลื่อนไหวในสหรัฐฯ มานาน และคราวนี้ถูกกวาดล้างอย่างหนัก ดังนั้นนอกจากจะส่งตัวคนเหล่านี้กลับไปยังเวเนซุเอลาแล้ว ยังต้องรอการดำเนินคดีโดยทางการสหรัฐฯ ด้วย
2. เรือนจำที่ถูกเอ่ยถึงคือ "ศูนย์กักขังผู้ก่อการร้าย" หรือ Centro de Confinamiento del Terrorismo ซึ่งมีย่อว่า CECOT เป็นเรือนจำที่มีความปลอดภัยสูงสุดตั้งอยู่ในเมืองเทโคลูกา ประเทศเอลซัลวาดอร์ เรือนจำแห่งนี้สร้างขึ้นในช่วงปลายปี 2022 หลังจากมีเคมเปญกลางการปราบปรามกลุ่มอาชญากรขนาดใหญ่ในประเทศตามนโยบายของประธานาธิบดีนายิบ บูเคเล แห่งเอลซัลวาดอร์ เนื่องจากในประเทศมีอาชญากรนับแสนคน บูเคเลจึงเสนอให้สร้างคุกแห่งใหม่ที่สามารถจุผู้ต้องขังได้ 40,000 คน และรัฐบาลเอลซัลวาดอร์เปิดเรือนจำแห่งนี้ในเดือนมกราคม 2023 และเริ่มคุมขังผู้ต้องขังในเดือนถัดมา
3. CECOT ครอบคลุมพื้นที่ 23 เฮกตาร์ สามารถรองรับผู้ต้องขังได้ 40,000 คนมีแดนผู้ต้องขัง 8 แดน พื้นที่แดนผู้ต้องขังครอบคลุมพื้นที่ 6 เอเคอร์ โดยเฉลี่ยผู้ต้องขังแต่ละคนจะมีพื้นที่ 0.6 ตารางเมตร เรือนจำล้อมรอบด้วยหอคอยยาม 19 แห่ง กำแพงสูง 3 เมตร และหนา 60 เซนติเมตร มีรั้วไฟฟ้าสองชุด และพื้นกรวดที่ออกแบบมาเพื่อให้ได้ยินเสียงฝีเท้าเวลาเหยียบลงไป
4. ห้องขังทั้ง 256 ห้องสามารถรองรับผู้ต้องขังได้โดยเฉลี่ย 156 คนห้องขังมีเตียงสองชั้นแบบโลหะ 4 ชั้นไม่มีที่นอนหรือผ้าปูที่นอน มีห้องน้ำ 2 ห้อง และอ่างล้างมือ 2 อ่าง ห้องขังมีแสงสว่างจากหลอดไฟเทียมตลอด 24 ชั่วโมง แต่ละห้องขังมีพระคัมภีร์ไบเบิล 2 เล่ม กล้องวงจรปิดและผู้คุมติดอาวุธคอยเฝ้าติดตามห้องขังแต่ละห้อง ห้องขังเดี่ยวสามารถคุมขังนักโทษได้นานถึง 15 วันและมีเตียงคอนกรีต ห้องน้ำ และอ่างล้างมือเท่านั้น ห้องขังเดี่ยวมืดสนิท ยกเว้นรูเล็กๆ หนึ่งรูบนเพดานที่ให้แสงสว่างได้บ้าง
5. CECOT มีเจ้าหน้าที่ทหาร 600 นายและเจ้าหน้าที่ตำรวจ 250 นายประจำการ เจ้าหน้าที่เรือนจำได้รับพื้นที่พักผ่อนหย่อนใจ เช่น ห้องอาหาร ห้องพักผ่อน และห้องออกกำลังกาย บุคคลทั้งหมดที่เข้ามาในเรือนจำจะถูกค้นตัวทั้งทางกายภาพและใช้เครื่องสแกนเอกซเรย์ เจ้าหน้าที่ทางการแพทย์จะประจำการอยู่ในสถานที่และให้ความช่วยเหลือผู้ต้องขังทั้งหมดภายในบริเวณเรือนจำ
6. ข้อมูล ณ วันที่ 11 มิถุนายน 2024 CECOT มีผู้ต้องขัง 14,532 คน รัฐบาลเอลซัลวาดอร์ไม่ค่อยประกาศจำนวนนักโทษที่ถูกคุมขังใน CECOT มากนัก มีเพียงการประกาศต่อสาธารณะไม่กี่ครั้งเกี่ยวกับการย้ายนักโทษนับตั้งแต่เรือนจำเปิดทำการ ในเดือนพฤศจิกายน 2024 มีการประเมินว่ามีผู้ต้องขังระหว่าง 10,000 ถึง 20,000 คนถูกคุมขังที่ CECOT นอกจากนี้ เกณฑ์สำหรับการถูกคุมขังใน CECOT ยังไม่ชัดเจน เช่น มีการคุมขังสมาชิกแก๊ง "ระดับสูง" สมาชิกของแก๊งคู่แข่งโดยไม่ได้ถูกแยกออกจากกัน บุคคลที่มีความเกี่ยวข้องกับแก๊งต่างกันจะถูกรวมเข้าด้วยกันในแดนเดียวกันหรือห้องเดียวกัน
7. แม้ว่า CECOT จะเป็นคุกที่สร้างขึ้นเพื่อตอบสนองกิจการภายในของเอลซัลวาดอร์ แต่เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2025 ประธานาธิบดีบูเคเล ผู้ที่ชื่นชมทรัมป์ ได้พบกับมาร์โก รูบิโอ รัฐมนตรีต่างประเทศของสหรัฐฯ และเสนอที่จะรับตัว "อาชญากรชาวอเมริกันอันตราย (ที่ถูกตัดสินว่ามีความผิด)" แล้วพาคนเหล่านี้ไปคุมขังพวกเขาไว้ที่ CECOT โดย "แลกกับค่าธรรมเนียม" ซึ่งสหรัฐฯ จะจ่ายให้กับเอลซัลวาดอร์ แน่นอนว่า ฝ่ายสหรัฐฯ ตกลง และรูบิโอบอกว่าข้อเสนอของบูเคเลว่าเป็น "ข้อตกลงการย้ายถิ่นฐานที่ไม่เคยมีมาก่อนและพิเศษที่สุดในโลก"
8. เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2025 สหรัฐฯ ประกาศว่าจะส่งตัวผู้ต้องสงสัยเป็นสมาชิกแก๊ง Tren de Aragua จำนวน 300 คนไปยังเอลซัลวาดอร์เพื่อคุมขังใน CECOT โดยไม่ต้องขึ้นศาล โดยใช้ Alien Enemies Act of 1798 (กฎหมายคตนต่าวด้าวที่เป็นศัตรูของชาติ) ตามข้อมูลของกระทรวงการต่างประเทศของเอลซัลวาดอร์ รัฐบาลของโดนัลด์ ทรัมป์จะจ่ายเงินให้รัฐบาลเอลซัลวาดอร์ 6 ล้านดอลลาร์สหรัฐเพื่อควบคุมตัวผู้ต้องสงสัย 300 คนไว้เป็นเวลา 1 ปี "โดยรอการตัดสินใจของสหรัฐฯ เกี่ยวกับการจัดการในระยะยาว"
9. ในเวลาต่อมาผู้ต้องสงสัยเป็นสมาชิกแก๊ง Tren de Aragua จำนวน 238 คนและผู้ต้องสงสัยเป็นสมาชิกแก๊ง MS-13 จำนวน 23 คนถูกเนรเทศไปยัง CECOT เที่ยวบินเนรเทศ 1 ใน 3 เที่ยวบินออกเดินทางจากสหรัฐฯ หลังจากเดินทางไปถึงคุกมีรายงาน นักโทษถูกทุบตีและโกนหัวโดยใช้กำลังระหว่างการดำเนินคดี ในเวลาไล่เลี่ยกัน บูเคเลก็ได้เผยแพร่คลิปวิดีโอความยาว 3 นาทีบน X ซึ่งแสดงให้เห็นภาพการมาถึงของนักโทษยังคุก CECOT
10. แต่ระหว่างนี้มีการยื่นคำร้องต่อศาลให้รัฐบาลสหรัฐฯ ระงับการกระทำดังกล่าว ซึ่งเจมส์ โบอาสเบิร์ก หัวหน้าผู้พิพากษาศาลแขวงสหรัฐฯ เขตโคลัมเบีย ได้ระงับการดำเนินการเนรเทศ แต่รัฐบาลทรัมป์ก็ยังดำเนินการส่งตัวคนต่างด้าวเหล่านี้ต่อไป จนทำให้เกิดข้อถกเถียงว่าเป็นการล่วงละเมิดอำนาจศาลหรือไม่? และเมื่อวันที่ 25 มีนาคม ได้มีการยื่นฟ้องต่อศาลฎีกาของเอลซัลวาดอร์เกี่ยวกับความถูกต้องตามกฎหมายในการคุมขังชาวเวเนซุเอลาที่ถูกเนรเทศไปยัง CECOT
11. แต่ทรัมป์ก็ยังไม่หยุด และเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2025 ทรัมป์ยังเสนอแนะว่าบุคคลที่ทำลายทรัพย์สินของ Tesla ควรถูกจำคุกในเอลซัลวาดอร์ หลังจากเกิดกระแสทำลายรถยนต์ของ Tesla อันเป็นผลมาจากการต่อต้าน อีลอน มัสก์ นอกจากนี้ยังมีการรายงานของสื่อต่างประเทศที่เผยว่า ทางการสหรัฐฯ ได้ส่งตัวบุคคลประเภทต่างๆ ที่ไม่ใช่สมาชิกแก๊งไปยัง CECOT เช่น หนึ่งในนั้นเป็นเมคอัพอาร์ติสต์ชาวเวเนซูเอลารายหนึ่งซึ่งถูกขังในคุกเดียวกับอาชญากรร้ายแรง เนื่องจากถูกกล่าวหาว่าเป็นสมาชิกของแก๊งอาชญากร
ทีมข่าวต่างประเทศ The Better
Photo by Handout / EL SALVADOR'S PRESIDENCY PRESS OFFICE / AFP