คนไทยจำนวนหนึ่งรู้สึกว่าเวียดนามกำลัง "โตเร็วเกินไปแล้ว" และอีกไม่ช้าก็คงจะแซงหน้าไทย
ยิ่งได้รู้ว่าผู้ปกครองเวียดนามทำการปฏิรูปครั้งใหญ่ถึง 3 เรื่อง นั่นคือการปฏิรูปการโดยยุบเขตการปกครองให้น้อยลงเพื่อให้ง่ายขึ้นในการบริหารเศรษฐกิจ การปฏิรูปเพื่อลดจำนวนข้าราชการเพื่อลดต้นทุนการบริหารประเทศ
และที่สำคัญที่สุดคือ การ 'การกวาดล้างคอร์รัปชั่นระดับชาติ' ซึ่งเป็นแคมเปญที่ผมไม่เคยได้ยินมาก่อนในการเมืองไทย แม้มันจะมีการรณรงค์อะไรประเภทนี้ก็ตาม แต่มันไม่ถึงขั้นที่เวียดนามทำ เพราะเขา "ทำ" จริงๆ ไม่ใช่แค่ป่าวประกาศ
เวียดนามไม่ได้เพิ่งมาทำ 'การกวาดล้างคอร์รัปชั่น' แต่มีแคมเปญมาหลายสิบปี เพียงแต่ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ เวียดนามเร่งรัดเป็นพิเสษ ถึงขนาดเรียกการณรงค์นี้ว่า 'การณรงค์เตาหลอมคุโชน' (Chiến dịch đốt lò) ซึ่งริเริ่มโดยเหงียน ฟู้ จ่อง อดีตประธานาธิบดีเวียดนาม ตั้งแต่เมื่อปี 2013
แคมเปญนี้กวาดล้างการฉ้อราษฎร์บังหลวงจนโลกต้องหันมาดูอยู่หลายกรณี แม้จะถูกมองว่าเป็นการกวาดล้างฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง (เนื่องจากกในพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามก็มีการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย) ก็ตาม แต่ต้องยอมรับว่ามันทำให้สถานะของเวียดนามดีขึ้นมากในสายตาชาวโลก และในทัศนะของนักวิเคราะห์บางคน มันช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศด้วยซ้ำ
เนื่องจาก 'การณรงค์เตาหลอมคุโชน' ดำเนินมาหลายปีแล้ว การรับรู้ของคนเวียดนามต่อการปราบคอร์รัปชั่นก็น่าจะแข็งแกร่งตามไปด้วย โดยเฉพาะการหันกลับไปมองประวัติศาสตร์ของการล้างบางคนฉ้อโกง
เมื่อเร็วๆ นี้ผมได้ดูคลิปเกี่ยวกับพระเจ้ามิญ หมั่ง กษัตริย์เวียดนามในยุคราชวงศ์เหงียน ซึ่งคนที่ศึกษาประวัติศาสตร์ไทยคงจะคุ้นชื่อกันดี เพราะเป็นบุคคลนี้ที่นำเวียดนาม (หรืออันนัม) ทำศึกกับ 'กรุงเทพทวารวดีศรีอยุธยา' หรือประเทศไทยในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว อันป็นศึกชิงดินแดนและการแผ่อิทธิพลของไทยและเวียดนามเหนือประเทศกัมพูชา
ในคลิปนั้นเอ่ยว่าพระเจ้ามิญ หมั่งยังมีชื่อเสียงเลื่องลือในหมู่คนเวียดนามในฐานะผู้ที่ปราบการฉ้อราษฎร์บังหลวงอย่างเด็ดขาด ถึงขนาดสั่งประหารคนทำผิดที่โกงบ้านเมืองเพียงเล็กน้อยก็ไม่ทรงมีเมตตาให้
หากจะค้นหาข้อมูลเรื่องนี้ในเว็บไซต์ภาษาเวียดนามต่างๆ ก็จะพบเรื่องราวการปราบคอร์รัปชั่นของพระเจ้ามิญ หมั่งมากมาย โดยเฉพาะในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาอันเป็นช่วงที่ 'การณรงค์เตาหลอมคุโชน' ของรัฐบาลกำลังมาถึงขีดสุด
เช่น ในปี 1834 (พ.ศ. 2377) เมื่อกองทัพสยามเข้าใกล้จังหวัดห่าเตียน อันเป็นชัยภูมิสำคัญที่ตอนใต้ของกัมพูชากับใต้สุดของเวียดนาม ปรากฎว่าผู้ว่าราชการจังหวัดห่าเตียนในเวลานั้นได้ขโมยเงินภาษีของประชาชนจำนวน 1,000 เหรียญจากคลังแล้วก็หลบหนีโดยเรือ
หลังจากที่เวียดนามยึดจังหวัดห่าเตียนกลับมาได้ ก็ทำการสอบสวนแล้วพบการกระทำผิดของผู้ว่าราชการ ซึ่งไม่เพียงแต่ยักยอกเงินหลวงแต่ยังหลบหนีจากเมือง พระเจ้ามิญ หมั่งทรงพิโรธมากจึงตัดสินประหารชีวิตผู้ว่าราชการจังหวัดห่าเตียนโดยการแขวนคอ
ในปี 1822 ข้าวในจังหวัดกว่างดึ๊กและจังหวัดกว๋างจิมีราคาแพงราชสำนักจึงสั่งให้นำข้าวออกแจกจ่ายราษฎร แต่ข้าราชการที่ดำเนินการทำการยักยอกไปส่วนหนึ่ง พระเจ้ามิญ หมั่งสั่งให้กระทรวงยุติธรรมดำเนินการสอบสวน เมื่อพบความผิดพระเจ้ามิญ หมั่งจึงสั่งให้ตัดศีรษะทันที
ในปี 1826 ขุนนางกระทรวงมหาดไทยคนหนึ่งเรียกเงินใต้โต๊ะ เมื่อเรื่องแดงขึ้นกระทรวงยุติธรรมจึงทำการสอบสวน แล้วกราบบังคมทูลรายงาน พระเจ้ามิญ หมั่งจึงสั่งให้ตัดศีรษะขุนนางผู้นั้นที่กลางตลาด และรับสั่งว่าแม้จะมีการประหารขุนนางฉ้อโกงไปแล้วเมื่อปี 1822 แต่ขุนนางคนนี้ก็ "ยังคงกล้าทำผิดอย่างเปิดเผยโดยไม่เกรงกลัว แม้จะมีหลักฐานไม่เกิน 10 ตำลึง แต่กฎหมายนั้นมีเป้าหมายในการทำให้ผู้คนยำเกรง หากผ่อนปรนกฎหมายแล้วปล่อยให้คนๆ หนึ่งมีชีวิตอยู่ต่อไป เรากลัวว่าในอนาคตผู้ที่ไม่เคารพกฎหมายจะเพิ่มมากขึ้นแล้วจะประหารชีวิตกันไม่จบไม่สิ้น"
ยังมีกรณีที่สะเทือนความรู้สึกของพระองค์อย่างมาก คือกรณีของ ฮวิ่ญ กง หลี ขุนศึกสำคัญที่ช่วยสร้างราชงศ์เหงียนในยุคพระเจ้ายาลอง (พระเจ้ายาลองเป็นพระราชบิดาของพระเจ้ามิญ หมั่งและเป็นปฐมกษัตริย์ราชวงศ์เหงียนเคยลี้ภัยมาอยู่ที่กรุงเทพฯ ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช) ซึ่งมีฐานะเป็น 'พ่อตา' ของพระเจ้ามิญ หมั่งเพราะเป็นบิดาของพระชายาชั้นสำคัญ บุคคลนี้พระเจ้ามิญ หมั่งทรงให้ความไว้เนื้อเชื่อใจมาก ทรงตั้งให้มีอำนาจเป็นรองขุนนางสำคัญ คือ เล วัน เสวียต เจ้าเมืองไซ่ง่อน หรือที่ในประวัติศาสตร์ไทยเรียกว่าองต๋ากุน
แต่ปรากฏว่า ฮวิ่ญ กง หลี กระทำการฉ้อราษฎร์บังหลวงเมื่อเรื่องไปถึงพระเจ้ามิญ หมั่งก็ทรงสั่งให้ขัง 'พ่อตา' ในทันทีและสั่งให้เจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบความจริง ปรากฎว่ามีการโกงบ้านโกงเมืองกันจริง จึงทรงสั่งให้ประหารฮวิ่ญ กง หลี พร้อมกับยึดทรัพย์เอาไปแจกจ่ายประชาชนและทหารที่ถูกรีดไถมา การประหาร 'พ่อตา' ในครั้งนี้เป็นทื่เลื่องลือไปทั่ว เพราะแสดงว่าพระเจ้ามิญ หมั่งทรงไม่ละเว้นคนกระทำผิดแม้ว่าจะเป็นเครือญาติกันก็ตาม
ทั้งหมดนี้เป็นประวัติศาสตร์หน้าสำคัญของ 'การกวาดล้างคอร์รัปชั่น'
แต่อย่างที่เกริ่นไว้ เรื่องราวของพระเจ้ามิญ หมั่งปราบคนโกงบ้านเมือง เพิ่งจะแพร่หลายอย่างมากในช่วงไม่กี่ปีนี้เอง อาจเป็นส่วนหนึ่งของการสนองนโยบาย 'การณรงค์เตาหลอมคุโชน' และอาจเป็นเพราะคนเวียดนามตระหนักว่าบ้านเมืองของพวกเขามีปัญหานี้มาเนิ่นนานแล้ว และควรจะถึงเวลาถอนรากถอนโคนเสียที
และอย่างที่บอกว่า 'การกวาดล้างคอร์รัปชั่น' ในเวียดนามยุคใหม่มีมาหลายสิบปีแล้ว แต่ไม่ได้ผลคืบหน้าทั้งยังปัญหานี้ยังทำให้การจัดอันดับของเวียดนามในดัชนีคอร์รัปชั่นโลกอยู่ในระดับที่แย่อีกด้วย
แคมเปญต่อต้านการทุจริตของเวียดนามเริ่มต้นตั้งแต่ช่วงต้นทศวรรษ 1990 โดยในปี 1990 รัฐบาลเวียดนามได้ออกคำสั่งหมายเลข 240 เพื่อผลักดัน 'การต่อสู้ต่อต้านการทุจริต ' ไปทั่วประเทศ
ต่อมาในการประชุมสมัชชาแห่งชาติครั้งที่ 8 ของพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามในปี 1996 'การทุจริต' ถูกระบุอย่างเป็นทางการว่าเป็นหนึ่งใน 'วิกฤตการณ์สำคัญทั้งสี่ ' ที่เวียดนามต้องเผชิญ
จนกระทั่งในช่วงไม่กี่ปีมานี้ภายใต้การบริหารของ เหงียน ฟู้ จ่อง 'การกวาดล้างคอร์รัปชั่น' ก็กลายวาระแห่งชาติ และถูกเปรียบเทียบว่าเหมือนกับการเก็บกวาดครั้งใหญ่ในจีนโดย สีจิ้นผิง
ตั้งแต่ที่ เหงียน ฟู่ จ่อง ได้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามในปี 2011 เขาก็ดำเนินการรณรงค์ต่อต้านการทุจริตอย่างแข็งขัน ในเดือนพฤษภาคม 2012 การประชุมครั้งที่ 5 ของคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามชุดที่ 11 ได้จัดตั้งคณะกรรมการกลางเพื่อการป้องกันและต่อต้านการทุจริต ซึ่งอยู่ภายใต้การนำโดยตรงของกรมการเมืองของคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม เหงียน ฟู่ จ่อง ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการด้วยตนเอง
และหลังจากนั้น 'การณรงค์เตาหลอมคุโชน' ก็ 'เชือด' คนโกงบ้านโกงเมืองไปมากมาย และอาจเรียกได้ว่าเทียบเท่ากับความเด็ดขาดในสมัยพระเจ้ามิญ หมั่ง
เราจะเห็นได้ว่าเวียดนามมีแคมเปญต่อต้านการคอร์รัปชั่นหลายครั้งแล้ว แม้จะได้ผลบ้างไม่ได้ผลบ้าง แต่อย่างน้อยก็ยังเป็น 'การรณรงค์ระดับชาติ' และที่มันไม่สำเร็จเป็นชิ้นเป็นอันเสียทีอาจเป็นเพราะการ 'การณรงค์ระดับชาติ' แบบนี้ต้องอาศัยผู้นำที่รวบอำนาจไว้ในมือ เช่น กรณีของสีจิ้นผิงแห่งจีน
เหงียน ฟู่ จ่อง มีอำนาจในระดับหนึ่งแต่ก็ยังสำเร็จไม่เต็มขั้น กระนั้นก็ตาม 'การกวาดล้างคอร์รัปชั่น' ในรอบหลังสุดที่เขาเป็นผู้เริ่มขึ้น ได้ช่วยปูทางไปสู่การปฏิรูปทางการเมืองในเวียดนามด้วยโดยเฉพาะการลดทอนระบบราชการและการรวบอำนาจมากขึ้น ซึ่งอาจจะช่วยทำให้เวียดนามเกิดระบบพรรคที่รวมศูนย์มากขึ้นในมือผู้นำคนเดียวแบบที่เกิดขึ้นกับจีน
เมื่อถึงเวลานั้นเวียดนามก็คงยกระดับ 'การกวาดล้างคอร์รัปชั่น' ในขั้นตอนที่เข้มข้นขึ้น
และเมื่อวันนั้น ผมก็ยังสงสัยว่าประเทศไทยเราจะถึงเวลามี 'การกวาดล้างคอร์รัปชั่น'ระดับชาติแบบเวียดนามหรือยัง?
บทความทัศนะโดย กรกิจ ดิษฐาน ผู้ช่วยบรรณาธิการบริหาร และบรรณาธิการข่าวต่างประเทศ The Better