การปลดปล่อยพลังของ 'รอยเลื่อนสะกาย' ไม่ได้กระจุกตัวอยู่แค่เมียนมาตอนเหนือบรเวณเมืองสะกายหรือมัณฑเลย์หรืออังวะเท่านั้น แต่มันยังเคยปลดปล่อยพลังมหาศาลในดินแดนเมียนมาตอนล่างด้วย ซึ่งอยู่ใกล้กับไทยมากขึ้นไปอีก
ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม ปี 1930 (พ.ศ. 2473) เวลา 01:21 น.ตามเวลาท้องถิ่น เกิดแผ่นดินไหวในตอนล่างของเมียนมา ศูนย์กลางแผ่นดินไหวอยู่ทางเหนือของเมืองบาโก หรือเมืองหงสาวดี ซึ่งในขณะนั้นเป็นส่วนหนึ่งของมณฑลบริติชอินเดียที่อยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษ แผ่นดินไหวครั้งนี้มีความรุนแรงประมาณ 7.3 Mw หรือ 7.3 Ms
แผ่นดินไหวนี้ทำให้เมืองปยู ซึ่งอยู่ห่างจากเมืองหงสาวดี ไปทางเหนือประมาณ 130 กิโลเมตร ได้รับความเสียหายอย่างหนัก โครงสร้างอาคารจำนวนมากในเมืองปยูถูกทำลาย และรู้สึกได้ที่กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย ห่างออกไปประมาณ 660 กิโลเมตร (410 ไมล์) มีรายงานว่าน้ำในคลองแสนแสบปั่นป่วนรุนแรงจนล้นตลิ่งมากกว่าหนึ่งครั้ง
แผ่นดินไหวครั้งนี้และแผ่นดินไหวที่ก่อนหน้านี้เมืองบาโก หรือพะโค หรือหงสาวดีเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 1930 (พ.ศ. 2473) ทั้งสองครั้งตั้งอยู่ในบริเวณรอยเลื่อนสะกาย ซึ่งเป็นรอยเลื่อนแบบเลื่อนลงที่ทอดยาวไปตลอดเหนือจรดใต้ของเมียนมา โดยรอยเลื่อนสะกายก่อให้เกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่หลายครั้งในประวัติศาตร์ชของเมียนมาและของไทย
และแผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคมอาจเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดแผ่นดินไหวในเขตปยูเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม
ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 1930 (พ.ศ. 2473) เกิดแผ่นดินไหวขนาดโมเมนต์ (Mw) 7.4 เกิดขึ้นที่ความลึก 35 กิโลเมตร (22 ไมล์) ใต้พื้นผิว โดยมีความรุนแรงสูงสุดของ Rossi–Forel ที่ IX (การสั่นสะเทือนรุนแรง) แผ่นดินไหวเกิดจากรอยเลื่อนสะกายที่มีความยาว 131 กิโลเมตร มีรายงานความเสียหายอย่างกว้างขวางทางตอนใต้ของประเทศ โดยเฉพาะที่เมืองบาโก หรือหงสาวดีและย่างกุ้ง ซึ่งอาคารบ้านเรือนพังทลายและเกิดไฟไหม้ มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 550 คนและอาจถึง 7,000 คน คลื่นสึนามิปานกลางพัดถล่มชายฝั่งพม่า ส่งผลให้เรือและท่าเรือได้รับความเสียหายเล็กน้อย
แรงสั่นสะเทือนสามารถรู้สึกได้ในพื้นที่กว่า 570,000 ตารางกิโลเมตร (220,000 ตารางไมล์) และไกลถึงรัฐชานและประเทศไทย แผ่นดินไหวหลักตามมาด้วยอาฟเตอร์ช็อกหลายครั้ง ซึ่งหลายครั้งสร้างความเสียหายด้วย โดยในประเทศไทย แรงสั่นสะเทือนครั้งนี้ในระดับปานกลาง อย่างไรก็ตาม ในเชียงใหม่ พบรอยแตกร้าวในอาคารอิฐหลายแห่งและปูนปลาสเตอร์แตกในโรงพยาบาล อาคารสูง 6 หรือ 7 ชั้นในกรุงเทพฯ พบรอยแตกร้าวเล็กๆ
แต่ความเสียหายทางวัตถุึและจิตใจที่สำคัญที่สุดคือการพังทลายลงมาของ 'พระธาตุมุเตา' หรือ เจดีย์ชเวมอดอ ซึ่งเป็นเจดีย์สำคัญในเมืองพะโค หรือหงสาวดี มีความสูง 114 เมตร (374 ฟุต) ถือเป็นเจดีย์ที่สูงที่สุดในประเทศพม่า และเชื่อกันว่าเจดีย์ชเวมอดอเป็นมหาเจดีย์ที่บรรจุพระเกศาธาตุและพระเขี้ยวแก้วของพระโคตมพุทธเจ้า
มีการสันนิษฐานว่าเจดีย์ชเวมอดอสร้างขึ้นราวประมาณคริสต์ศตวรรษที่ 10 ตั้งแต่สมัยอาณาจักรมอญเรืองอำนาจ เดิมเจดีย์ชเวมอดอมีความสูง 21 เมตร (69 ฟุต) สร้างโดยชาวมอญ ตามตำนานเล่าว่าพ่อค้าชาวมอญสองคนชื่อ มหาศาลและจุลศาล ได้เดินทางไปอินเดียสมัยพุทธกาลและได้รับพระเกศาธาตุจากพุทธองค์ นำกลับมาประดิษฐาน ณ เจดีย์ชเวมอดอ ภายหลังได้มีการบรรจุพระเขี้ยวแก้วไว้ในเจดีย์เมื่อปี ค.ศ. 982
กล่าวกันว่าก่อนที่พระเจ้าบุเรงนองจะออกทำศึกคราใด จะทรงมานมัสการเจดีย์นี้ก่อนทุกครั้ง ซึ่งในปัจจุบันจุดที่เชื่อว่าพระองค์ทำการสักการะก็ยังปรากฏอยู่ และสมเด็จพระนเรศวรมหาราชเมื่อครั้งยกทัพมาตีพะโคก็ได้เสด็จมานมัสการเช่นกัน (ข้อมูลจากวิกิพีเดีย)
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาเจดีย์ชเวมอดอได้รับความเสียหายเนื่องจากแผ่นดินไหวหลายครั้ง รวมทั้งในปี ค.ศ. 1912, ค.ศ. 1917 และ ค.ศ. 1930 โดยครั้งหลังเกอิดความเสียหkยที่รุนแรงมาก โดยองค์เจดีย์แกว่งไปมาจนหักออกจากฐานแล้วท่อนบนของเจดีย์ตกลงมาทับพ่อค้าแม่ค้าในบริเวณนั้นเสียชีวิต
พระเจดีย์มุเตาแห่งนี้ ไม่ใช่ศาสนสถานสำคัญขอวชาวพม่า และชาวมอญเท่านั้น ชาวไทยก็ยังให้ความเคารพสักการะอย่างยิ่ง การพังทลายของพระธาตุมุเตาจึงสร้างความสะเทือนใจให้คนไทยไม่น้อย เช่น สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้เสด็จเยือนเมียนมา ทรงพระนิพนธ์ไว้ในหนังสือ 'เที่ยวเมืองพม่า' เอาไว้ตอนหนึ่งว่า
"เมื่อรถแล่นไปราว 2 ชั่วโมง ใกล้จะถึงเมืองหงสาวดีข้ามเนินแห่งหนึ่งเป็นที่สูง เห็นพระมหาธาตุมุเตาแต่ไกล พอแลเห็นก็ใจหาย ฉันทราบอยู่แล้วว่าเมื่อแผ่นดินไหวในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2473 (ซึ่งไหวไปถึงกรุงเทพฯ ด้วย แต่เวลานั้นฉันไปยุโรป กำลังอยู่ในเรือแล่นทางทะเล ไม่รู้สึก) ที่เมืองพะม่าแผ่นดินไหวแรงมากถึงพระมุเตาหักพัง เคยนึกแต่ว่าเพียงยอดหักและเชื่อว่าคงปฏิสังขรณ์คืนดีดังเก่าแล้ว ถึงได้ออกปากถามที่เมืองร่างกุ้งว่าพระมุเตานั้นซ่อมเสร็จแล้วหรือยัง เขาตอบแต่ว่ายังไม่แล้ว ฉันก็สำคัญว่าการปฏิสังขรณ์ยังค้างอยู่บ้างสักเล็กน้อย พอแลเห็นที่ไหนเล่า พระมุเตาพังหมดทั้งองค์เหลือแต่ฐานจึงตกใจ"
ต่อมา สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพก็ทรงเล่าเหตุการณ์เมื่อตอนเกิดแผ่นดินไหวใหญ่เอาไว้ว่า
"เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2473 ด้วยในคืนวันนั้นเวลา 20 นาฬิกาเศษเกิดแผ่นดินไหวอย่างแรง สะเทือนทั่วทั้งประเทศพะม่าตลอดไปจนถึงเมืองไทย แต่ตรงเมืองหงสาวดีแผ่นดินไหวแรงกว่าแห่งอื่น บ้านเรือนหักพังเกือบหมดทั้งเมือง คนหนีออกกลางแจ้งไม่ทันเรือนล้มทับตายกว่าร้อย ในครั้งนั้นเองทั้งองค์พระมหาธาตุมุเตาและสิ่งอื่นซึ่งสร้างไว้ในบริเวณหักโค่นทั้งวัด แม้เวลาล่วงมาได้ 6 ปี ความเสียหายยังปรากฏอยู่จนบัดนี้ พอเข้าบริเวณแลเห็นวัดก็อนาถใจตั้งแต่ขึ้นบันได ด้วยศาลาหลังคาปราสาทซึ่งเคยมีติดต่อกันตลอดทางขึ้นก็พังหมด ยังเห็นแต่โคนเสารายอยู่ทั้งสองข้าง กรรมการเขามีแก่ใจทำฉนวนเสาไม้มุงสังกะสีขึ้นไว้แทน พอให้พวกสัปบุรุษได้อาศัยร่มเงาเมื่อขึ้นบันได ร้านขายเครื่องสักการก็ได้แต่ทำแคร่วางของขายอยู่ข้างทางไม่กี่ร้าน ขึ้นไปถึงลานพระมหาธาตุยิ่งอนาถใจหนักขึ้น พอแลเห็นองค์พระมุเตาก็แทบจะพลั้งปากออกอุทานว่า “แม่เจ้าโวย” เพราะเมื่อเห็นมาแต่ไกลสำคัญว่าพังเพียงปากระฆังเหนือชั้นทักษิณ ที่จริงเป็นเช่นนั้นแต่ทางด้านตะวันตก ทางด้านอื่นพังลงมาจนชั้นทักษิณ แลเห็นเป็นแต่กองดินสูงใหญ่พังท่วมถมออกไปจนพ้นลานพระมหาธาตุ ที่ในลานรอบพระมุเตานั้น วิหาร 4 ทิศที่บูชากับทั้งเหล่าวิหารน้อยและศาลารายรอบขอบลานพระมหาธาตุของเดิมพังเกือบหมด ในเวลานี้มีของที่สร้างขึ้นใหม่บ้าง แต่เป็นของสร้างชั่วคราวเป็นพื้น เช่นวิหารทิศก็ทำชั่วคราวพอให้มีร่มสำหรับสัปบุรุษกราบไหว้และถวายเครืองสักการบูชา ศาลาสำนักงานของกรรมการและศาลารายที่สัปบุรุษพักก็ล้วนสร้างเป็นอย่างชั่วคราวทั้งนั้น ที่กรรมการสร้างเป็นของถาวรมีคลังหลังหนึ่ง ก่อเป็นตึกแน่นหนาถาวร เพราะเมื่อพระมุเตาพัง ปรากฏเครื่องเพ็ชรพลอยเงินทองของมหัคฆภัณฑ์อันเคยประดับหรือบรรจุไว้ในองค์พระมุเตามากมายหลายอย่าง จำต้องเก็บรวบรวมรักษาไว้ให้มั่นคง พวกกรรมการเขาเปิดคลังนั้นให้ฉันดูของมหัคฆภัณฑ์ที่จัดไว้เป็นพวกๆ ของจำพวกที่บรรจุไว้ในองค์พระมุเตามีพระพุทธรูปขนาดย่อมๆ เป็นพื้น พระเจดีย์ลังกาและผอบบรรจุพระบรมธาตุ (หรือบางทีจะเป็นอัฏฐิธาตุผู้อื่น ๆ) ก็มีบ้าง สังเกตดูพระพุทธรูปมีทั้งของลังกาพะม่ามอญไทย แต่พิเคราะห์ลักษณะไม่มีแบบเก่าถึงสมัยพุกามหรือสมัยสุโขทัย เป็นแบบสมัยภายหลังมาทั้งนั้น ส่อให้เห็นว่าคงมีการบุรณะพระมุเตาและบรรจุเพิ่มเติมหลายครั้ง ฉัตรยอดพระมุเตาใหญ่โตตามแบบฉัตรพะม่ามอญ มีระฆังใบโพหล่อด้วยเงินอยู่มาก กรรมการเขาบอกว่ายังมีเพ็ชรพลอยที่ประดับยอดฉัตรเขาเก็บไว้ในกำปั่นเหล็กอีกห้องหนึ่งต่างหาก แต่ฉันเห็นไม่จำเป็นจะต้องดู จึงมิได้ขอให้เขาไขกำปั่น (ที่จริงเป็นเพราะถึงเวลากว่าเที่ยงแล้วอยากกลับอยู่ด้วย) ฉันเคยสงสัยอยู่ตั้งแต่เห็นหนังสือพิมพ์ลงข่าวเล่าเรื่องยกฉัตรพระเกศธาตุไม่ช้ามานัก ว่ามีผู้ศรัทธาถวายเพ็ชรนิลจินดาให้ประดับฉัตรนั้น คิดไม่เห็นว่าจะประดับเพชรนิลจินดาที่ตรงไหนเพราะฉัตรใหญ่โตมาก"
และทรงเล่าว่า "กรรมการเขาทำหุ่นไม้เป็นรูปพระเตาที่คิดจะสร้างใหม่ ตั้งไว้ที่เฉลียงหน้าห้องสำนักงาน เพื่อบอกบุญเรี่ยไรให้คนทั้งหลายบริจาคทรัพย์ช่วยสร้าง ได้ยินว่าเรี่ยไรได้เงินลัก 200,000 รูปีแล้ว แต่ยังไม่พอการ พิจารณาดูรูปทรงที่ทำหุ่นไว้คล้ายกับพระเกศธาตุ คลาดจากรูปพระมุเตาองค์เดิมไปบ้าง แต่ดูเหมือนจะทำให้สูงใหญ่กว่าเดิม การที่จะสร้างมีลำบากอยู่บ้าง ถ้ารื้อซากพระเจดีย์ที่เหลือพังลงมาจนถึงชั้นทักษิณแล้วก่อใหม่หมดทั้งองค์พระเจดีย์ จะสะดวกและสิ้นเปลืองน้อยกว่าอย่างอื่น แต่ชาวเมืองคงจะเห็นเป็นบาปกรรม ถ้าเป็นแต่ก่อเสริมซากที่เหลือพังขึ้นไปให้กลับเป็นองค์พระเจดีย์อย่างเดิมก็น่าจะไม่อยู่ได้แน่นหนา แต่ข้อนี้ในวันเมื่อเขาเชิญฉันไปยังมหาวิทยาลัยเมืองร่างกุ้ง ได้สนทนากับศาสตราจารย์อังกฤษคนหนึ่งถึงเรื่องพระมุเตา เขาบอกว่าภราดาของเขาเป็นนายช่างสถาปนิก Architect ซึ่งรับหน้าที่คิดแบบสร้างพระมุเตา คิดจะทำรากใหม่ด้วยเสาเหล็กปักรอบรากเดิม แล้วก่อพระเจดีย์บนรากใหม่ด้วยคอนกรีตครอบรากพระเจดีย์เก่า ไม่แตะต้องรื้อแย่งของเดิมที่ยังติดเป็นรูปอยู่อย่างหนึ่งอย่างใด เพราะฉะนั้นจะต้องใช้เงินมากสักหน่อย"
นอกจากนี้ ทรงเล่าถึงความศรัทธาของคนไทยต่อพระเจดีย์มุเตาว่า
"แม้ทุกวันนี้พวกมอญก็ยังนับถือพระมุเตายิ่งกว่าพระเกศธาตุที่เมืองร่างกุ้ง (เจดีย์ชเวดากอง) ไทยเราก็ดูเหมือนจะเป็นเช่นเดียวกัน เพราะได้ฟังเรื่องพงศาวดารทางนั้นตามคำของพวกมอญเป็นพื้น ทั้งที่เกี่ยวดองเป็นเชื้อมอญก็มีมาก ถ้าว่าด้วยรูปสัณฐานของพระมหาธาตุมุเตาเมื่อยังปกติ พิจารณารูปฉายก็เป็นอย่างที่ไทยเรียกว่า “พระเจดีย์มอญ” เช่นเดียวกันกับพระเกศธาตุนั่นเอง เป็นแต่ทรวดทรงส่วนสัดและลวดลายผิดกันบ้าง แต่พระมุเตาย่อมกว่าพระเกศธาตุ และยอดเนินที่สร้างก็ต่ำกว่าเนินพระเกศธาตุ" และเล่าว่า "เมื่อไปเห็นการที่เขาคิดเรี่ยไรบุรณะพระมุเตา ฉันคิดถึงคุณแม่กลิ่น (เจ้าจอมมารดากลิ่น ในรัชกาลที่ 4 ซึ่งมีเชื้อสายมอญ) ด้วยเคยได้ยินท่านปรารภหลายครั้งว่าอยากไปบูชาพระมุเตาที่เมืองหงสาวดี ฉันจึงบริจจาคทรัพย์เข้าเรี่ยไรตามกำลังอุทิศในนามของคุณแม่กลิ่นกับทั้งในพระนามของกรมพระนเรศวรฯ ด้วย พอฉันสอดธนบัตรลงในช่องหลังหีบสำหรับรับเงิน ตาปะขาวที่นั่งเฝ้าก็ตีกังสดาลยํ่าเสียงสนั่น แล้วสวดอนุโมทนายืดยาว"
หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ในปี 1952 ถึง 1954 เจดีย์ได้รับการสร้างขึ้นใหม่โดยอาสาสมัครที่ไม่ได้รับค่าจ้าง ส่วนทุนรอนในการบูรณะมาจากการบริจาคของประชาชนนั่นเอง
มีคำกล่าวหนึ่งในหนังสือนำเที่ยว Mayanmar (Burma) ปี 1992 ที่ชวนให้คิดมีส่วนจริงอย่างมากว่า "ไม่มีเจดีย์องค์ใดในเมียนที่รอดพ้นพลังแผ่นดินไหวไปได้ ไม่เว้นแม้แต่เจดีย์ชเวดากอง เจดีย์ชเวมอดอ หรือเจดีย์อานันทะ ทั้งหมดถ้าไม่ยอดฉัตรหักลงมา ก็พังทลายลงมา" (หน้า 40)
แล้วจากนั้นด้วยพลังแห่งสาธุชนชาวเมียนมาและชาวพุทธทั่วโลก เจดีย์เหล่านี้ก็จะได้รับการบูรณะให้กลับมายิ่งใหญ่เหมือนเดิม บางครั้งยิ่งใหญ่และสูงใหญ่กว่าเดิมด้วยซ้ำ
รายงานโดย กรกิจ ดิษฐาน บรรณาธิการข่าวต่างประเทศ The Better
Photo - กรกิจ ดิษฐาน