เปิดที่มากลุ่มบริษัทจีน 'จงเถี่ยกง'และ'จงกั๋วจงเถี่ย'  ใหญ่แค่ไหนและมีปัญหาคอร์รัปชั่นหรือไม่?

เปิดที่มากลุ่มบริษัทจีน 'จงเถี่ยกง'และ'จงกั๋วจงเถี่ย'  ใหญ่แค่ไหนและมีปัญหาคอร์รัปชั่นหรือไม่?

จากกรณีของ 'จงเถี่ยสือจวี๋' (中铁十局) เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องกับการสร้างอาคารสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ซึ่งพังถล่มลงมาระหว่างเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในกรุงเทพฯ เป็นที่ทราบกันเบื้องต้นว่า 'จงเถี่ยสือจวี๋' เป็นบริษัทจากจีนที่เข้าร่วมทุนกับบริษัท อิตาเลียน ไทย ในชื่อ ITD-CREC No.10 JV หลังจากนั้นมีความสนใจว่าบริษัทจากจีนรายนี้มีที่มาที่ไปอย่างไร ซึ่ง The Better ได้รายงานไปเบื้องต้นแล้ว

อย่างไรก็ตาม เพื่อความกระจ่างในหลายๆ ประเด็น ยังมีข้อมูลอีกมากเกี่ยวกับ 'จงเถี่ยสือจวี๋' ที่คนไทยควรจะรับรู้ไว้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริษัทแม่ของ 'จงเถี่ยสือจวี๋' ที่ยังไม่ได้ถูกพูดถึงนัก นั่นคือ 'จงเถี่ยกง' (中铁工) และ 'จงกั๋วจงเถี่ย' (中国中铁) 

'จงเถี่ยกง' มีชื่อบริษัทในภาษาอังกฤษว่า China Railway Engineering Corporation หรือชื่อว่า CREC เป็นบริษัทจดทะเบียนของรัฐของสาธารณรัฐประชาชนจีน  ประวัติของบริษัทสามารถสืบย้อนไปได้ถึงปี 1950 โดยในตอนแรกสังกัดอยู่กับกระทรวงรถไฟเช่นเดียวกับหน่วยงานอื่นๆ ที่มีงานเกี่ยวข้องกัน 

โดยหน่วยงานก่อนหน้าของ 'จงเถี่ยกง' คือ สำนักงานวิศวกรรมและสำนักงานการออกแบของกระทรวงรถไฟ ซึ่งก่อตั้งขึ้นในเดือนมีนาคม 1950 ซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนเป็น สำนักงานทุนก่อสร้าง ของกระทรวงรถไฟ ในเดือนกรกฎาคม 1989 กระทรวงรถไฟได้ยกเลิก สำนักงานบริหารทั่วไปทุนก่อสร้าง และก่อตั้ง  China Railway Engineering Corporation  หรือ 'จงเถี่ยกง' ขึ้น

ในปี 2000 รัฐบาลจีนได้ดำเนินการแบ่งรัฐบาลและบริษัทออกจากกัน บริษัทวิศวกรรมทางรถไฟจีนและบริษัทก่อสร้างทางรถไฟจีน (จงเถี่ยกง) ถูกแยกออกจากกระทรวงรถไฟและถูกบริหารโดยคณะทำงานวิสาหกิจขนาดใหญ่ของคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีนแทน  ในปี 2003 ด้วยการจัดตั้งคณะกรรมการกำกับดูแลและบริหารทรัพย์สินของรัฐของคณะรัฐมนตรี (SASAC) บริษัทวิศวกรรมทางรถไฟจีนและ 'จงเถี่ยกง' จึงอยู่ภายใต้การบริหารของ SASAC  

ปัจจุบัน 'จงเถี่ยกง' ได้แยกตัวออกจากกระทรวงรถไฟแล้ว แต่กระนั้นก็ตาม เนื่องจากมีที่มาจากกระทรวงรถไฟ ชื่อของ 'จงเถี่ยกง' ในภาษาจีนจึงมีคำว่า จงเถี่ย (中铁) หรือรถไฟจีนพ่วงมาด้วย (ดังนั้น 'จงเถี่ยสือจวี๋' หรือสำนักงานรถไฟที่ 10 จึงมีชื่อย่อว่า CREC No.10) 

'จงเถี่ยกง' หรือ CREC เป็นผู้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งชั้นนำทั้งในประเทศและต่างประเทศ ณ ปี 2024 'จงเถี่ยกง' เป็นผู้รับเหมาโครงสร้างพื้นฐานระดับโลกรายใหญ่เป็นอันดับสองของโลก มีโครงการใหญ่ๆ ในต่างประเทศ

อย่างไรก็ตาม ระหว่างการรุกรานยูเครนของรัสเซียในปี 2022 'จงเถี่ยกง' ชึ้นบัญชีผู้สนับสนุนสงครามระหว่างประเทศโดยยูเครนเนื่องจากยังคงดำเนินการในรัสเซียต่อไป ในขณะที่บริษัทระดับโลกจำนวนมากลดขนาดหรือออกจากตลาดรัสเซียทั้งหมดเพื่อตอบโต้การรุกรานและการคว่ำบาตรระหว่างประเทศที่ตามมา 'จงเถี่ยกง' กลับเลือกที่จะรักษาสถานะของตนเอาไว้ 

'จงเถี่ยกง' มีบริษัทลูกชั้นต้นชื่อว่า 'จงกั๋วจงเถี่ย' (中国中铁) โดยบริษัทแม่เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ โดยก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2550 เป็นบริษัทมหาชนจำกัดที่จัดตั้งโดย 'จงเถี่ยกง' ผ่านการปรับโครงสร้างใหม่ทั้งหมดและได้รับการสนับสนุนพิเศษ

รองลงมาจาก 'จงกั๋วจงเถี่ย' คือบริษัทลูกชั้นสอง ประกอบไปด้วยบริษัทลูก ดังนี้ คือ สำนักงานจงเถี่ยหมายเลข 1 (中铁一局) จนถึงสำนักงานจงเถี่ยหมายเลข 10 (中铁十局) โดยบริษัทลูกที่ 10 คือผู้ร่วมทุนกับบริษัทอิตาเลียน ไทย ทำการก่อสร้างอาคารของ สตง. นั่นเอง

บริษัทหรือสำนักงานลูกเหล่านี้รับก่อสร้างทางรถไฟเป็นหลัก แต่บางบริษัทก็รับก่อสร้างอาคารและสิ่งก่อสร้างอื่นๆ ด้วย และการที่บริษัทลูกเหล่านี้ถูกเรียกว่าเป็น 'สำนักงาน' หรือ 'กอง' (局) ก็เพราะเคยสังกัดอยู่ในกระทรวงรถไฟนั่นเอง

นอกจากนี้ยังมี สำนักงานจงเถี่ยสะพาน สำนักงานจงเถี่ยอุโมงค์ สำนักงานจงเถี่ยสะพานเป่าเฉียว สำนักงานจงเถี่ยซานไห่กวน บริษัทวิศวกรรมโพ้นทะเลแห่งจีน สำนักงานเอ้อร์ย่วน (ทำการสำรวจ ออกแบบ ควบคุมดูแล และให้คำปรึกษา) กลุ่มที่ปรึกษาการออกแบบทางวิศวกรรม สำนักงานซานย่วน (บริษัทออกแบบครบวงจรขนาดใหญ่ของสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งส่วนใหญ่ทำธุรกิจเกี่ยวกับการสำรวจและออกแบบทางรถไฟ ทางหลวง ระบบขนส่งทางรางในเมือง ฯลฯ) เป็นต้น

จากข้อมูลของเว็บไซต์ไป่ตู้ ปัจจุบันรวมแล้วมีบริษัทรอง 46 แห่ง รวมถึงบริษัทก่อสร้างขนาดใหญ่ 16 แห่ง บริษัทที่ปรึกษาสำรวจและออกแบบขนาดใหญ่ 6 แห่ง บริษัทการผลิตอุตสาหกรรมขนาดใหญ่และการวิจัยทางวิทยาศาสตร์และการพัฒนา 3 แห่ง รวมถึงบริษัทธุรกิจระหว่างประเทศ พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ พัฒนาทรัพยากรแร่ การลงทุนและการจัดการการก่อสร้าง และการลงทุนด้านทรัสต์ มีพนักงานมากกว่า 280,000 คน บุคลากรระดับสูงด้านวิชาชีพและเทคนิค 11,974 คน รวมถึงวิศวกรอาวุโสระดับศาสตราจารย์ 694 คน และวิศวกรอาวุโส 8,381 คน มีผู้เชี่ยวชาญด้านเทคนิคระดับสูงมากกว่า 700 คน รวมถึงนักวิชาการจากสถาบันวิศวกรรมศาสตร์จีน 4 คน ผู้เชี่ยวชาญที่มีผลงานดีเด่นระดับชาติ 6 คน ผู้เชี่ยวชาญด้านการสำรวจและออกแบบระดับชาติ 6 คน

ในช่วง 60 ปีนับตั้งแต่ก่อตั้งในฐานะส่วนหนึ่งของกระทรวงรถไฟไปจนถึงการเป็นบริษัทลูกชั้นต้นของรัฐวิสาหกิจหลักในการสร้างรถไฟของประเทศ 'จงกั๋วจงเถี่ย' ได้สร้างทางรถไฟ 77,925 กิโลเมตร คิดเป็นมากกว่าสองในสามของระยะทางรถไฟทั้งหมดในจีน สร้างโครงข่ายทางรถไฟไฟฟ้า 52,894 กิโลเมตร คิดเป็นร้อยละ 95 ของทางรถไฟไฟฟ้าในประเทศ มีส่วนร่วมในการก่อสร้างถนนมากกว่า 13,781 กิโลเมตร ซึ่งมากกว่า 7,708 กิโลเมตรเป็นทางด่วน คิดเป็นประมาณหนึ่งในสิบของระยะทางทางด่วนทั้งหมดในจีน มีส่วนร่วมในการก่อสร้างโครงการรถไฟในเมืองสามในห้าของประเทศ สร้างสะพานมากกว่า 9,000 แห่ง รวมถึงอุโมงค์ยาวและใหญ่รวมระยะทาง 6,886 กิโลเมตร

บริษัทมีส่วนร่วมในการออกแบบและก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่มากกว่า 5,000 โครงการทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงทางหลวง สนามบิน ท่าเรือ พลังงานน้ำ รถไฟใต้ดิน อาคารสูง และวิศวกรรมเทศบาล ในกว่า 60 ประเทศและภูมิภาคทั่วโลก

'จงกั๋วจงเถี่ย' ยังเป็นหนึ่งในกลุ่ม "องค์กรนวัตกรรม" ชุดแรกๆ ของประเทศที่ได้รับรางวัลจากกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี คณะกรรมการกำกับดูแลและบริหารทรัพย์สินของรัฐ และสหพันธ์สหภาพแรงงานแห่งประเทศจีน มี "ห้องปฏิบัติการวิศวกรรมแห่งชาติสำหรับเทคโนโลยีการก่อสร้างทางรถไฟความเร็วสูง" และ "ห้องปฏิบัติการหลักแห่งชาติสำหรับเทคโนโลยีโล่และอุโมงค์" รวมถึงสถานีงานหลังปริญญาเอก 4 แห่ง และศูนย์ทดสอบและห้องปฏิบัติการ 14 แห่งที่ได้รับการรับรองจากคณะกรรมการรับรองห้องปฏิบัติการแห่งชาติ

ท่ามกลางปัญหาคอร์รัปชั่นในระดับองค์กรของจีน กลุ่มบริษัท 'จงเถี่ยกง' และ  'จงกั๋วจงเถี่ย' ก็เคยประสบปัญหาดังกล่าวเช่นกันแต่สามารถรวบตัวผู้กระทำผิดได้อย่างรวดเร็ว เช่น กรณีของอดีตผู้บริหาร คือ โจวเมิ่งปั๋ว (周孟波) อดีตรองเลขาธิการคณะกรรมการพรรคคอมมิวนิสต์จีนแห่งบริษัท 'จงเถี่ยกง'  และเริ่มงานกับ  'จงกั๋วจงเถี่ย' ในตอนแรก เขาถูกสงสัยว่ารับสินบนและหลบหนีออกไปจากจีนในเดือนพฤษภาคม 2019 และแสร้งว่าฆ่าตัวตาย 

คดีนี้อยู่ภายใต้การดูแลของคณะกรรมการกำกับดูแลมณฑลเหอหนาน ภายใต้เขตอำนาจศาลที่คณะกรรมการกำกับดูแลแห่งชาติกำหนด ต่อมาจีนได้ร้องขอความร่วมมือด้านการบังคับใช้กฎหมายจากฝ่ายต่างๆ ในต่างประเทศ โดยเรียกร้องให้หน่วยงานบังคับใช้กฎหมายต่างประเทศจับกุมและส่งตัวเขากลับประเทศได้สำเร็จ ถือเป็นความสำเร็จที่สำคัญของปฏิบัติการ "สกายเน็ต 2021" (天网2021) 

โดยทางการจีนได้ยืนยันว่า ในการปราบปรามการทุจริตในภาคส่วนรัฐวิสาหกิจนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะยืนกรานที่จะติดตามผู้หลบหนีให้ถึงที่สุด ขยายความร่วมมือระหว่างประเทศด้านตุลาการและการบังคับใช้กฎหมายเพื่อต่อต้านการทุจริตต่อไป และนำผู้ทุจริตเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ไม่ว่าคนเหล่านี้จะหลบหนีไปที่ไหนหรือหลบหนีมานานแค่ไหนก็ตาม และจะไม่ปล่อยให้พวกเขาลอยนวลพ้นโทษ

โดยทีมข่าวต่างประเทศ The Better

Photo - N509FZ (CC BY-SA 4.0)

TAGS: #สตง. #แผ่นดินไหว #CREC