เปิดภาพความเสียหาย'พระมหามัยมุนี'พระพุทธรูปสำคัญของเมียนมาหลังแผ่นดินไหว 

เปิดภาพความเสียหาย'พระมหามัยมุนี'พระพุทธรูปสำคัญของเมียนมาหลังแผ่นดินไหว 

หลังเกิดเหตุแผ่นดินไหวที่แถบเมืองมัณฑเลย์และเมืองสะกาย ได้มีคลิปวิดีโอที่เก็บภาพขณะที่ภายในวัดพระมหามัยมุนีเผชิญกับแรงสั่นสะเทือน จนอาคารโดยรอบพังถล่มลงมา และยังมีภาพถ่ายดาวเทียมแสดงให้เห็นระดับความเสียหายของวัด ทำให้เกิดความวิตกในหมู่พุทธศาสนิกชนทั้งในเมียนมาและในไทยว่า 'พระมหามัยมุนี' อันเป็นพระพุทธรูปสำคัญของเมียนมา และเป็นที่นับถือของพุทธศาสนิกชนคนไทยเป็นจำนวนมาก จะได้รับความเสียหาย 

ล่าสุดเพจเฟซบุ๊ค 'ไหว้พระเมืองพม่า' ได้เปิดเผยภาพความเสียหาย'พระมหามัยมุนี'แล้ว หลังจากที่รอคอยกันมาหลายวัน โดยพบว่าส่วนยอดมงกุฏขององค์พระหักงอไป แต่ยังไม่ทราบว่าอะไรเป็นสาเหตุของความเสียหาย 

อย่างไรก็ตาม โดยรวมแล้วองค์พระมหามัยมุนียังคงสมบูรณ์ดี แม้ว่า 'คันธกุฎี' หรืออาคารส่วนในที่เป็นที่ประดิษฐานจะได้รับความเสียหายก็ตาม

ทั้งนี้ พระมหามัยมุนี หรือ มะฮาเมียะมุนิ เป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของประเทศพม่า และเป็นหนึ่งในห้าศาสนวัตถุที่ศักดิ์สิทธิ์ของพม่า เป็นพระพุทธรูปทรงเครื่องกษัตริย์ ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ที่เมืองมัณฑะเลย์ อดีตราชธานีของพม่าในยุคราชวงศ์โก้นบอง เดิมทีเป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของยะไข่ มีตำนานเล่าว่าสร้างขึ้นตั้งแต่สมัยพุทธกาลโดยกษัตริย์แห่งเมืองยะไข่ องค์พระทำจากทองสัมฤทธิ์หนัก 6.5 ตัน มีการสร้างบนฐานสูง 1.84 เมตร (6.0 ฟุต) รวมองค์พระมีความสูงทั้งหมดกว่า 3.82 เมตร (12.5 ฟุต) ไหล่กว้าง 1.84 เมตร (6.0 ฟุต) และรอบเอวกว้าง 2.9 เมตร (9.5 ฟุต)

ที่ผ่านมามีการปิดแผ่นทองที่พระอยู่ตลอดเวลาทำให้องค์พระมีรูปตะปุ่มตะป่ำเพราะเนื้อทองจำนวนมหาศาล ในปี 1884 เมื่อวัดพระมหามุนีเกิดเพิลงไหม้ มีการค้นพบทองคำ 91 กิโลกรัม (201 ปอนด์) 

ทั้งนี้ พระมหามุนีและพระวิหารโดยรอบได้รับความเสียหายจากไฟไหม้ในปี 1879 และ 1884 ในเหตุการณ์ไฟไหม้ที่เกิดขึ้นในรัชสมัยของพระเจ้าสีป่อ กษัตริย์องค์สุดท้ายของเมียนมา ยอดปราสาทสูงเจ็ดชั้นของวิหารอิฐ ห้องโถงสำหรับสักการะบูชา ทางเดินยกระดับ และส่วนอื่นๆ ถูกไฟไหม้ แม้ว่าองค์พระใหญ่จะรอดมาได้ก็ตาม  ในปี 1887 เสนาบดี คินวุน มิงยี อู กอง ได้เข้ามาดูแลสถานที่นี้ และในปี 1896 ได้สร้างวิหารปัจจุบันขึ้นรอบๆ ศาลเจ้าเดิมที่พระเจ้าปดุงทรงสร้าง 

สำหรับประวัติของพระมหามุนี ตามตำนานเล่าว่าพระพุทธเจ้าเสด็จเยือนธันยวดี เมืองหลวงของรัฐอาระกัน (ยะไข่) พระพุทธองค์พร้อมด้วยพระอานนท์และพระสาวกอีก 500 พระองค์ เสด็จขึ้นบกที่ยอดเขาสาละคีรีใกล้เมืองเคากระห์ พระมหากษัตริย์แห่งอาระกันพร้อมด้วยพระราชินี จันทรมาลา พร้อมด้วยบริวาร 1,600 คน เหล่าเสนาบดีและข้าราชการ ได้ถวายความเคารพพระพุทธเจ้า พวกเขาซาบซึ้งในคำสอนของพระองค์เป็นอย่างยิ่ง และเมื่อพระพุทธเจ้าจะเสด็จกลับไปยังเมืองสาวัตถี พระมหากษัตริย์แห่งอาระกันก็วอนขอให้พระพุทธเจ้าทรงประทานรูปของพระองค์ไว้ให้ประชาชนได้บูชา พระพุทธเจ้าจึงประทับนั่งสมาธิใต้ต้นโพธิ์เป็นเวลา 1 สัปดาห์ ระหว่างนี้ ท้าวสักกะเทวราชและพระวิษณุกรรมได้ปั้นรูปพระพุทธเจ้าให้เหมือนจริงโดยใช้เครื่องประดับที่พระราชาและพสกนิกรของพระองค์บริจาคให้ หลังจากทรงเห็นรูปพระพุทธเจ้าที่เหมือนจริง ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นพระลักษณะแท้เพียงองค์เดียวของพระองค์ในเวลานั้น พระพุทธเจ้าทรงพอพระทัยและ  พระองค์ยังทรงตรัสด้วยว่าพระพุทธรูปนี้จะคงอยู่เป็นเวลาห้าพันปีในฐานะตัวแทนของพระองค์ 

โดยทีมข่าวต่างประเทศ The Better

Photo - เพจไหว้พระเมืองพม่า

TAGS: #แผ่นดินไหว #เมียนมา #พระมหามัยมุนี