การที่โดนัลด์ ทรัมป์ ขึ้นพิกัดอัตราภาษีไปทั่วโลกโดยไม่เว้นแม้แต่มหามิตร ประเทศปรปักษ์ ไปจนถึงประเทศบริวาร และบ้านเล็กเมืองน้อยต่างๆ มันไม่ใช่การตอบโต้แบบ "คุณทำได้ ทำเราก็ทำบ้าง" (reciprocal) แต่เป็นการทำลาย "อำนาจบารมี" ของสหรัฐฯ
เป็นการดึงตัวเองให้ลดลงต่ำ ทำลายสถานะมหาอำนาจเดี่ยว และสร้างศัตรูใหม่ๆ แม้กระทั่งในหมู่มิตรด้วยกัน
มันทำลายบารมีของสหรัฐฯ อย่างไร?
บารมีในเวทีการเมืองโลกไมได้อยู่ที่ใครแกร่งกว่าใครเท่านั้น แต่อยู่ที่ผู้ที่แกร่งกว่าช่วยดูแลผู้ที่อ่อนแอกว่าด้วย จักรวรรดิที่มีอายุยืนนานหลายแห่งในโลกล้วนแต่ใช้แนวทางนี้
เช่น จักรวรรดิจีนที่ใช้ระบบ "จิ้มก้อง" นั่นคือเปิดโอกาสให้ประเทศต่างๆ มาส่งบรรณาการเพื่อคารวะจีน แล้วจีนจะให้สิทธิพิเศษทางการค้า ซึ่งประเทศไทยสมัยก่อนใช้โอกาสจากเรื่องนี้มากกว่าชาติอื่น
อีกจักรวรรดิที่ใช้วิธีละมุนละม่อม (ทางการเมือง) คือ จักรวรรดิบริติช แม้จะกอบโกยทางเศรษฐกิจมหาศาลจากทาสอาณานิคม แต่อังกฤษทนุถนอมบรรดาเจ้ารัฐต่างๆ อย่างดี เพราะรู้ว่าหากใช้ไม้แข็งไปเสียทั้งหมดจะเกิดการลุกฮือพร้อมๆ กัน พวกเจ้ารัฐต่างๆ จึงสำนึกในพระคุณอังกฤษ บางคนนั้นไม่ยอมเอาเอกราชด้วยซ้ำเพราะอยู่ใต้บารมีอังกฤษแล้วสบายกว่า
สหรัฐอเมริกาก็เป็นจักรวรรดิและนักล่าอาณานิคมใหม่เช่นกัน แม้ไม่ยอมรับว่าตัวเองเป็นเช่นนั้นแต่การบอกว่าตนเป็น "มหาอำนาจหนึ่งเดียว" (Hegemon) ก็เท่ากับยอมรับกลายๆ แล้ว
แต่ไรมาสหรัฐฯ รักษาจักรวรรดิเอาไว้ได้เพราะ "เลี้ยง" ประเทศเล็กประเทศน้อยเอาไว้ เช่น ให้สิทธิพิเศษทางการค้าบ้าง หรือเอกสิทธิทางภาษีอากรบ้าง ซึ่งไทยก็เป็นหนึ่งในนั้น
เมื่อประเทศเหล่านี้ถูกซื้อใจด้วยมาตรการอันเป็นคุณ ก็จะพยายามไม่งอแงหรือดื้อด้านกับสหรัฐฯ หากสหรัฐฯ ขอให้ทำตามค่านิยมของตน ประเทศเหล่านี้ก็พยายามจะไม่ขัดขืน หากต้องการให้เป็นประชาธิปไตยประเทศพวกนี้ก็ต้องยอม
ค่านิยมและระบอบการเมืองที่พ่วงมากับมาตรการการค้านี่เอง ที่ค้ำจุนจักรวรรดิสหรัฐฯ และเอาไว้ควบคุมโลก
แม้แต่กับจีนในช่วงก่อนทศวรรษที่ 2000 สหรัฐฯ ก็ยอมให้สิทธิพิเศษทางการค้ากับจีนและไปลงทุนในจีนมากมาย เพราะในพวกนักการเมืองอเมริกันตกลงกันว่าจะต้องเลี้ยงจีนเอาไว้แบบนี้ เพื่อเกลี้ยกล่อมจีนให้ยอมรับระบอบประชาธิปไตยในอนาคต
แต่เพราะจีนไม่ใช่ประเทศเล็กๆ แบบไทยหรือในอาเซียนที่ยอมทำตามจักรวรรดิ จีนนั้นเป็นจักรวรรดิโบราณในตัวมันเอง เมื่อปีกกล้าขาแข็งอีกครั้งจึงไม่ยอมทำตามความคาดหวังของสหรัฐฯ จนในที่สุดจีนก็แกร่งจนจะเทียบชั้นกับสหรัฐฯ และในที่สุดก็เผชิญหน้ากัน
เรื่องของจีนเป็นเรื่องเอกเทศเราจะไม่อภิปรายกัน ณ ที่นี้ เพราะ "ระเบียบโลกอเมริกัน" ใช้กับจีนไม่ได้แล้ว แต่สหรัฐฯ สามารถรักษาระบอบนี้เอาไว้ได้ถ้าต้องการโดยใช้กับรัฐบริวารและประเทศเล็กๆ น้อยๆ
แต่มีเรื่องหนึ่งที่น่าสงเกตก็คือ จีน "เลี้ยง" ประเทศเล็กประเทศน้อยมากขึ้น โดยให้สิทธิพิเศษต่างๆ และการลงทุนฟรีบ้าง หรือให้เนกู้ดอกเบี้ยถูกๆ บ้าง ไปจนถึงการย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศเหล่านั้น โดยที่ประเทศเหล่านั้นก็เริ่มแสดงความ "สำนึกบุญคุณ" ต่อจีน
จีนไม่ได้ใช้ระเบียบโลกแบบจิ้มก้องอีกแล้ว แต่หันมาใช้ระเบียบโลกแบบอมเริกัน ซึ่งเป็นเรื่องยอกย้อนอย่างยิ่งที่สหรัฐฯ กลับละทิ้งระเบียบโลกของตัวเองเสียอย่างนั้น
สาเหตุก็เพราะสหรัฐฯ ประเมินพลังของระเบียบโลกที่ตัวเองสร้างมาผิดไป โดยสาขาย่อยสาขาหนึ่งของระเบียบโลกอเมริกันคือ "โลกาภิวัฒน์" ในตอนแรกช่วยเบิกทางให้ทุนอเมริกันไปตักตวงผลประโยชน์ในดินแดนอื่นได้ง่ายขึ้น ผ่านการ (บีบให้) เปิดเสรีทางการเงิน การเซ็ตระบบค้าเสรี การ (บังคับให้) สร้างประชาธิปไตย ฯลฯ
แต่การเมืองสหรัฐฯ ไม่ได้อยู่เหนือทุน ตรงกันข้าม ทุนมันอยู่เหนือการเมือง แม้แต่นักการเมืองก็เป็นทาสของทุนใหญ่หรืออย่างน้อยก็ผู้ถือหุ้นในบริษัทใหญ่ๆ ดังนั้น ทุนที่ไม่แยแสเรื่องการเมืองจึงย้านฐานการผลิตจากสหรัฐฯ ไปในที่ที่ต้นทุนถูกกว่า มากขึ้นเรื่อยๆ
จากอเมริกาสู่จีน จากจีนสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ในที่สุดภาคการผลิตของสหรัฐฯ ก็พังพินาศ อย่างที่เกิด Rust belt หือเขตอุตสาหกรรมที่ขึ้นสนิมเพราะโรงงานย้ายออกหมด แม้แต่อุตสาหกรรมรถยนต์อเมริกันก็ไปไม่รอด ในเวลาเดียวกันเกษตรกรอเมริกันก็เริ่มเฉา เพราะสู้การนำเข้าราคาถูกจากต่างแดนไม่ได้ พูดสั้นๆ ก็คือ อุตสาหกรรมพื้นฐานของสหรัฐฯ พังพินาศหมด เพราะระเบียบโลกของตนเองฆ่าตัวเอง
นี่เพราะทุนอเมริกันอยู่เหนือการควบคุมของการเมือง หากการเมืองควบคุมทุนได้ก็จะไม่เกิดเรื่องแบบนี้ แต่การเมืองสหรัฐฯ นั้นเชื่อในหลัก "รัฐไม่แทรกแซงตลาด" เมื่อไม่แทรกแซงก่อนถึงจุดวิกฤต วิกฤตมันก็ต้องเกิดขึ้นในที่สุด
พอวิกฤตเกิดขึ้นมาแทนที่จะซ่อมแซมระบบ (หรือระเบียบโลก) ของตัวเอง สหรัฐฯ กลับโทษประเทศที่ตัวเองเคยสั่งให้อยู่ภายโลกาภิวฒน์เสียอย่างนั่น
โลกาภิวิฒน์เป็นวิกฤตต่อภาวะการเป็นมหาอำนาจของสหรัฐฯ ถึงขั้นเปลี่ยนแปลงอะไรได้ยากแล้ว เพราะการผลิตอยู่นอกประเทศ ทำให้คนตกงาน ครั้นจะบังคับให้กลับประเทศ นายทุนก็ไม่ยอม เพราะหมายถึงการแบกรับต้นทุนมหาศาล และหมายถึงตลาดในประเทศที่จะซบเซาเพราะสินค้าจะราคาแพงขึ้น
ถ้าจะอุปมาเปรียบเทียบแล้ว ในเวลานี้ โลกาภิวัฒน์มีสภาพเหมือนเส้นเลือดที่แผ่กระจายไปทั่วร่างของโลก หากจะทำลายมันทั้งหมด ผู้ทำลายก็จะต้องตายไปด้วย แต่สามารถจะแก้ไขด้วยการตัดเส้นเลือดใหญ่ที่เป็นพิษบางเส้นออกไป เช่น จีน ที่สร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจในวงกว้างที่สุด ทรัมป์กลับเลือกกระชากเส้นเลือดใหญ่ใหญ่น้อยออกมาด้วยทั้งยวง
การแก้ปัญหาเศรษฐกิจของสหรัฐฯ จึงไม่มีทางสำเร็จก็เพราะคิดว่า "ข้ายังเป็นเจ้าโลก ข้าจะรื้อโลกทั้งใบก็ย่อมได้" แต่ความจริงมันตรงกันข้าม
หนทางเดียวที่สหรัฐฯ ยังรักษาบารมีในฐานะเจ้าระเบียบโลกเอาไว้ จึงมีแต่การใช้กำลังทหาร ดังนั้นในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมาสหรัฐฯ จึงต้องแสดงแสนยานุภาพพวกนี้ไม่หยุดหย่อน อีกทั้งยังเป็นพลังขับเคลื่อนให้อุตสากรรมการทหาร อันเป็นอุตสาหกรรมไม่กี่อย่างที่สหรัฐฯ ยังรักษาเอาไว้ได้
ณ ตอนนี้จีนก็ไมได้อยู่เฉย พยายามปักหมุดในพื้นที่ทรัพยากรสูง คือ แอฟริกา และย้ายฐานการผลิตมาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พร้อมกันนั้นพ็พยายามลดความสำคัญของเงินดอลลาร์ อันเป็นระบบเลือดของระเบียบโลกสหรัฐฯ
ความพยายามของจีนยังต้องใช้เวลาอีกนับชั่วคน แต่แล้วมันกลับถูกเร่งให้สำเร็จเร็วขึ้น เพราะทรัมป์ทำการ "รื้อถอน" รากฐานของระเบียบโลก ไม่ว่าจะโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม
โดยเริ่มจากการทำลายพันธมิตรทางการเมืองของตัวเอง (นาโต, สหภาพยุโรป, เกาหลี) จนมองหน้ากันไม่ติดแล้ว
และในเวลาเดียวกันก็ทำลายพันธมิตรเศรษฐกิจ คือ ญี่ปุ่น ที่ต้องการเทคโอเวอร์อุตสาหกรรมเหล็กอันขึ้นสนิมของสหรัฐฯ แต่สหรัฐฯ กลับไม่ยอมให้
จากนั้นการขึ้นภาษีแบบไม่เลือกหน้า ยิ่งทำให้สหรัฐฯ สิ้นอำนาจบารมีในชั่วข้ามคืน เพราะทำให้ตนเองหมดสภาพความเป็น Benefactor อันเป็นคุณสมบัติหนึ่งของมหาอำนาจและเจ้าจักวรรดิ ต่อไปนี้จะหาใครเชื่อถือสหรัฐฯ ได้ยากแล้ว
และตรงกันข้าม เป็นการดึงตัวเองให้อยู่ในสถานะเดียวกับประเทศเล็กๆ โดยหลงอยู่ในคำว่า recirpocal ซึ่งควรจะใช้กับประเทศที่เท่าเทียมกันแทนที่จะเหมารวมเอาประเทศเล็กๆ เข้าไปด้วย
ดังที่ทรัมป์ประกาศว่า "วันปลดแอก" หรือวันประกาศขึ้นภาษีทั่วโลกนั่น คือ "our declaration of economic independence" คำกล่าวนี้แสดงว่าทรัมป์ไม่รู้ว่าประเทศที่เขาบริหารอยู่มีสภาพเป็นจักรวรรดิที่คุ้มหัวประเทศใหญ่น้อยทั้งหลาย แต่กลับมองตัวเองว่าตกเป็น "ทาส" ของประเทศอื่จนต้องปลดแอก และ "ประกาศเอกราช"
การคิดแบบนี้เท่ากับย้ำว่าจักรวรรดิสหรัฐฯ ได้จบสิ้นลงแล้ว และประเทศต่างๆ ไม่ต้องกลัวหัวหดอีกต่อไป
ดังนั้น ยกเว้นเวียดนามและประเทศที่ตื่นตูมไม่กี่ประเทศ (ซึ่งน้อยมาก) ประเทศใหญ่ๆ ประกาศตอบโต้ทันที ส่วนประเทศเล็กๆ อื่นๆ ยังไม่ผลีผลาม แต่เชื่อว่าในระยะยาวจะมุ่งรวมตัวกันเพื่อต่อรอง หรือแม้แต่ข่มขู่สหรัฐฯ ก็ยังได้
เพราะตอนนี้การรวมกลุ่มที่เป็นปฏิปักษ์ต่อสหรัฐฯ ก็มีอยู่แล้วโดยเฉพาะในเอเชีย การรวมกลุ่มพวกนี้แหละจะเป็นการผงาดของระเบียบโลกใหม่ และการสิ้นสุดของระเบียบโลกสหรัฐฯ รวมถึงความเชื่อมั่นในเศรษฐกิจที่ชี้นำโดยสหรัฐฯ (พันธบัตร ดอลลาร์ หรือแม้แต่ตลาดหุ้น)
ไทยจะต้องหาทางเจรจากับสหรัฐฯ โดยพยายามชี้ให้เห็นว่าการคำนวณด้วยแนวทาง recirpocal นั้นไม่ถูกต้อง และชี้ว่าไทยการได้ดุลของไทยอาจจะคุณด้วยซ้ำในแง่การลดต้นทุนการผลิตให้กับเศรษฐกิจสหรัฐฯ (ทั้งหมดนี้ข้นอยู่กับฝีปากของการทูตและผู้แทนการค้าของไทย)
แต่ในขณะที่ทำเรื่องนั้น ไทยก็ต้องเจรจาหารือกับ "ฝ่ายต่อต้าน" สหรัฐฯ ด้วยเพื่อร่วมกันฟอร์มระบบที่ปลอดอิทธิพลของสหรัฐฯ
อาเซียนนั้นถูกมองว่ามีแนวโน้มที่จะเป็น Neutrality power คือ อำนาจกลางที่ไม่อยู่ใต้อำนาจสหรัฐฯ และไม่เอียงไปทางจีนสุดกู่
หากไทยและเพื่อนบ้านที่ยังไม่ตื่นตูมเหมือนเวียดนามสามารถเสริมสถานะ Neutrality ได้ในช่วงเวลานี้ ไม่เพียงแต่จะรอดจากการโจมตีโดยทรัมป์ เราจะยังมีส่วนสร้างระเบียบโลกใหม่ด้วย ซึ่งเป็นระเบียบที่มีหลายดุลอำนาจ พร้อมที่จะสร้างและสลายพันธมิตรได้ยืดหยุ่นกว่าระเบียบโลกอำนาจเดี่ยวที่ผูกขาดโดยสหรัฐ ณ เวลานี้
อันเป็นมหาอำนาจเดี่ยวที่เสื่อมถอย และเป็นจักรวรรดิที่ใกล้จะล่มสลายลงทุกที
บทความทัศนะโดย กรกิจ ดิษฐาน ผู้ช่วยบรรณาธิการบริหาร และบรรณาธิการข่าวต่างประเทศ The Better
Photo - ลูกโป่งขนาดใหญ่ที่มีรูปประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ ปรากฏอยู่เหนือกลุ่มผู้ประท้วงที่ถือป้ายระหว่างการประท้วง "Hands Off!" ทั่วประเทศเพื่อต่อต้านทรัมป์และที่ปรึกษาของเขา อีลอน มัสก์ ซีอีโอของบริษัทเทสลา ในย่านดาวน์ทาวน์ของลอสแองเจลิส เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2025 โดยผู้ประท้วงหลั่งไหลลงสู่ท้องถนนในเมืองใหญ่หลายแห่งของสหรัฐฯ เมื่อวันเสาร์เพื่อต่อต้านนโยบายสร้างความแตกแยกของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งถือเป็นการชุมนุมครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่เขากลับมาดำรงตำแหน่งในทำเนียบขาว ผู้ต่อต้านนโยบายของประธานาธิบดีจากพรรครีพับลิกัน ไม่ว่าจะเป็นการลดจำนวนพนักงานของรัฐบาล การเก็บภาษีการค้า และการทำลายเสรีภาพพลเมือง ต่างรวมตัวกันในวอชิงตัน นิวยอร์ก ฮูสตัน ลอสแองเจลิส และฟลอริดา รวมถึงสถานที่อื่นๆ (ภาพโดย ETIENNE LAURENT / AFP)