แนวคิดเบื้องหลังการขึ้นภาษีแบบครอบคลุมทั่วโลก หรือ 'ภาษีหว่านแห' (blanket tariff) ของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ คือสิ่งที่เรียกว่า 'ข้อตกลงมาร์อาลาโก' (Mar-a-Lago Accord) ซึ่งแนวคิดของมันไม่ใช่แค่การขึ้นภาษีประเทศคู่ค้าเพื่อดึงเอาภาคการผลิตกลับมายังสหรัฐฯ เท่านั้น แต่เป็นแผนการที่แยบยลในการทำให้เศรษฐกิจของสหรัฐฯ ยังสามารถเป้นมหาอำนาจอันดับหนึ่งเอาไว้ได้ โดยพ่วงเรื่องการขึ้นภาษีเพื่อลดการขาดดุลกับการแก้ปัญหาการแข็งค่าเกินไปของดอลลาร์เข้าไว้ด้วยกัน และต่อไปนี้คือแนวคิดที่ว่าน้ัน
ประเด็นอยู่ที่ความแกร่ง (เกินไป) ของดอลลาร์
ก่อนอื่น เราจะต้องทำความเข้าใจภาวะความเป็นมหาอำนาจของเศรษฐกิจสหรัฐฯ เสียก่อน โดยหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สหรัฐฯ เป็นผู้นำในการสร้างระบบการเงินโลกมาตรฐานใหม่ที่ใช้เงินดอลลาร์เป็นมาตรฐานการค้าขายและการงินโลก และบทบาทของเงินดอลลาร์ในฐานะหน่วยบัญชีที่มั่นคง ช่วยอำนวยความสะดวกให้กับการค้าโลกและทำให้สินทรัพย์ทางการเงินของสหรัฐฯ มีสถานะที่ปลอดภัยและมีสภาพคล่องมากที่สุดในโลก
เงินดอลลาร์กลายเป็นเงินตราต่างประเทศที่ประเทศต่างๆ ใช้เป็นทุนสำรองเพราะความปลอดภัยและความน่าเชื่อถือของมัน และสถานะสำรองของเงินดอลลาร์ทำให้สหรัฐฯ สามารถกู้ยืมได้ในราคาถูก นำเข้าสินค้าในต้นทุนที่ต่ำกว่า และรักษาการเติบโตที่ขับเคลื่อนโดยการบริโภค บริษัทของสหรัฐฯ ได้รับประโยชน์จากการเข้าถึงเงินทุนที่ง่ายขึ้น และขยายธุรกิจไปทั่วโลกได้ง่ายขึ้น
ในเชิงภูมิรัฐศาสตร์ ดอลลาร์เป็นรากฐานโครงสร้างความมั่นคงของโลกที่นำโดยสหรัฐฯ เพื่อแลกกับการปกป้องทางทหาร (ในช่วงสงครามเย็น เป็นต้น) และการเข้าถึงตลาดของสหรัฐฯ พันธมิตรในยุโรปและเอเชียจึงยอมคล้อยตามผลประโยชน์ของสหรัฐฯ การครอบงำของดอลลาร์ยิ่งทำให้สหรัฐฯ มีอำนาจต่อรองมากขึ้น ทำให้รัฐบาลสหรัฐฯ สามารถบังคับใช้มาตรการคว่ำบาตร มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมระหว่างประเทศ และรักษาความเป็นผู้นำในการค้าและความมั่นคงระดับโลกได้
เมื่อดอลลาร์แกร่งเกินไปมันจึงทำลายตัวเอง
อย่างไรก็ตาม สถานะที่แข็งแกร่งของเงินดอลลาร์ ทำให้เกิดความยอกย้อนขึ้นมา เพราะความต้องการเงินดอลลาร์ทั่วโลก ทำให้เงินดอลลาร์แข็งค่ามากเกินไป (overvalue ตามทัศนะของผู้เสนอทฤษฎีนี้) ทำให้สหรัฐฯ ต้องขาดดุลการค้าอย่างต่อเนื่อง เมื่อเวลาผ่านไป ส่งผลให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมของสหรัฐฯ ต้องย้ายฐานการผลิตออกไปต่างประเทศ เนื่องจากเงินดอลลาร์ที่แข็งค่าทำให้สินค้าส่งออกของสหรัฐฯ มีราคาแพงและการนำเข้าจากต่างประเทศมีราคาถูกกว่า แม้ว่าเรื่องนี้จะส่งผลดีต่อผู้บริโภคเพราะราคา (สินค้านำเข้า) ที่ลดลง แต่ก็ส่งผลกระทบต่อการผลิตในประเทศและส่งผลให้ภาคอุตสาหกรรมต้องเลิกจ้างแรงงาน
เมื่อถึงทศวรรษที่ 2000 การค้าโลกก็เริ่มเสรีมากขึ้น การเคลื่อนย้ายทุนไปยังประเทศที่ต้นทุนต่ำกว่าก็ง่ายขึ้น บริษัทอเมริกันเริ่มย้ายการผลิตไปยังต่างประเทศมากขึ้นเพื่อใช้ประโยชน์จากค่าจ้างที่ต่ำกว่าและกฎระเบียบที่ผ่อนปรนมากขึ้น โดยมักได้รับการสนับสนุนจากผู้กำหนดนโยบายที่เชื่อว่า "การค้าจะทำให้ระบอบเผด็จการเสรีมากขึ้น" เช่นนักการเมืองอเมริกันเชื่อว่าหากให้สิทธิพิเศษการค้ากับจีนใสนอนาคตจีนก็มีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น (แล้คล้อยตามผลประโยชน์ของสหรัฐฯ มากขึ้น) แต่ในทางกลับกัน จีนกลายเป็นศูนย์กลางการผลิตของโลกในขณะที่ยึดมั่นในแนวทางเผด็จการที่นำโดยรัฐและมีความเป็นมหาอำนาจมากขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลให้ แทนที่ผลประโยชน์ของสหรัฐฯ จะได้รับการสนับสนุน มันกลับถูกท้าทายโดยจีนและชาติอื่น และการล้มลงของผลิตในสหรัฐฯ ก็ยิ่งแย่กว่าเดิม
โดยสรุปก็คือ แม้ว่าดอลลาร์จะยังเป็นงินสกุลหลักของโลก แต่มันทำให้เศรษฐกิจของสหรัฐฯ เสื่อมถอยลงเรื่อยๆ อันเกิดจากความลักลั่นของ "การเป็นจักรวรรดิ" ที่ใช้ดอลลาร์เป็นกระแสเลือดของเศรษฐกิจโลก และใช้ดอลลาร์ควบคุมการเมืองโลก แต่การทำเช่นนั้นต้องแลกมาด้วยการที่เศรษฐกิจของสหรัฐฯ น่าดึงดูดใจน้อยลง จนกระทั่งแข้งขันกับประเทศศัตรูคู่แข่ง หรือแม้แต่ "รัฐบริหาร" ไม่ได้
การผงาดของชาตินิยมเศรษฐกิจอเมริกัน
การสูญเสียภาคการผลิตทำให้รัฐบาลสหรัฐฯ เริ่มใช้มาตรการตอบโต้กับประเทศคู่แข่งภาคการผลิต โดยเฉพาะจีนซึ่งถึงจุดพีคในช่วงสงครามการค้าครั้งแรกในรัฐบาลทรัมป์สมัยแรก แต่นั่นก็ยังไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ถูกจุดนักในทัศนะของนักคิดด้านเศรษฐศาสตร์บางคน หนึ่งในนั้นคือ สตีเฟน ไอรา ไมรัน (Stephen Ira Miran) และ โดยเฉพาะ ไมรัน นั้นถือเป็น "สถาปนิก" หรือ "มันสมอง" คนสำคัญของมาตรการขึ้นภาษีแบบเหวี่ยงแหของทรัมป์เลยก็ว่าได้ สก็อตต์ เคนเนธ โฮเมอร์ เบสเซนต์ (Scott Kenneth Homer Bessent)
ไมรัน เป็นนักเศรษฐศาสตร์ชาวอเมริกันและดำรงตำแหน่งประธานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจตั้งแต่เดือนมีนาคม 2025 เดิมเป็นนักยุทธศาสตร์อาวุโสที่ Hudson Bay Capital Management และนักวิจัยพิเศษที่ Manhattan Institute ในเดือนธันวาคม 2024 ทรัมป์ได้เสนอชื่อ ไมรัน ให้เป็นผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งประธานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจ และได้รับการยืนยันให้ดำรงตำแหน่งเมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2025 ส่วน เบสเซนต์ เดิมเป็นนักลงทุน และผู้จัดการกองทุนป้องกันความเสี่ยงชาวอเมริกัน ปัจจุบันดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของสหรัฐฯ ในรัฐบาลทรัมป์ก่อนที่จะรับราชการ เขาดำรงตำแหน่งหุ้นส่วนที่ Soros Fund Management และผู้ก่อตั้ง Key Square Group ซึ่งเป็นบริษัทการลงทุนมหภาคระดับโลก
นี่คือแนวคิดของ ไมรัน ซึ่งเป็นแกนหลักของการขึ้นภาษีของทรัมป์ และขั้นตอนต่อไปของการสร้างเสถียรภาพของเงินดอลลาร์ให้เป็นพลังหลักของระเบียบโลกที่นำโดยสหรัฐฯ ต่อไป พร้อมๆ กับที่ทำให้ดอลลาร์ไม่แข็งค่าเกินไปจนกระทบต่อสถานะมหาอำนาจของสหรัฐฯ
- ภาษีศุลกากรเป็นเครื่องมือเชิงกลยุทธ์ ไมรันสนับสนุนการใช้มาตรการขึ้นภาษีศุลกากรเพราะไม่เพียงเพื่อปกป้องอุตสาหกรรมในประเทศเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการเพิ่มรายได้ โยนภาระให้ผู้ผลิตต่างชาติ และยังทำให้สหรัฐฯ มีแต้มต่อในการต่อรองกับประเทศต่างๆ
- การขึ้นภาษีจะมีค่าเงินช่วยหนุน ไมรันโต้แย้งว่าภาษีศุลกากรไม่ได้นำไปสู่ภาวะเงินเฟ้อในประเทศเสมอไป หากดอลลาร์แข็งค่าขึ้นจากปฏิกิริยาตอบสนองจากการได้เปรียบดุลการค้า ดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้นสามารถลดราคาสินค้าที่นำเข้า ชดเชยต้นทุนภาษีศุลกากร และลดรายได้ที่แท้จริงของผู้ส่งออกต่างประเทศ ทำให้สกุลเงินของประเทศนั้นอ่อนลง
- ข้อตกลงสกุลเงินระหว่างประเทศฉบับใหม่ ไมรันเสนอข้อตกลงสมัยใหม่ที่เทียบเท่ากับข้อตกลงพลาซ่า (Plaza Accord) ในปี 1985 ซึ่งพันธมิตรของสหรัฐฯ ตกลงกันที่จะช่วยลดค่าเงินดอลลาร์และเพิ่มค่าเงินประเทศคู่ค้า ในครั้งนี้เขาเรียกว่าข้อตกลงมาร์อาลาโก (Mar-a-Lago Accord) โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ค่าเงินของคู่ค้าของสหรัฐฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างสอดประสานกันเพื่อแก้ไขปัญหาค่าเงินดอลลาร์ที่มีมูลค่าสูงเกินไป
- หากการเจรจาล้มเหลวก็ต้องลงมือฝ่ายเดียว หากไม่สามารถบรรลุข้อตกลงพหุภาคีได้ ไมรันสนับสนุนให้ใช้มาตรการทางกฎหมายและการเงิน เช่น การจำกัดเงินทุน การขึ้นภาษีที่กำหนดเป้าหมาย หรือการควบคุมทางการเงินภายใต้กฎหมายที่มีอยู่ เช่น กฎหมายอำนาจทางเศรษฐกิจฉุกเฉินระหว่างประเทศ (IEEPA) ซึ่งให้อำนาจประธานาธิบดีในการควบคุมการค้าระหว่างประเทศ หลังจากประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินระดับชาติ เพื่อตอบสนองต่อภัยคุกคามที่ผิดปกติและไม่ธรรมดาต่อสหรัฐฯ
- การแบ่งเบาภาระภายในระบบเงินสำรอง มีทกฤษหนึ่ง เรียกว่า ความลักลั่นของทริฟฟิน (Triffin dilemma) ซึ่งชี้ถึงความลักลั่นย้อนแย้งระหว่างผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจในประเทศระยะสั้นที่สวนทางกับผลประโยชน์ระหว่างประเทศระยะยาว ซึ่งเป็นสิ่งที่สหรัฐฯ เผชิญอยู่ ไมรันโต้แย้งทฤษฎีนี้โดยชี้ว่าในขณะที่โลกต้องพึ่งพาสหรัฐอเมริกาในการจัดหาเงินสำรองดอลลาร์ ต้นทุนในการดำเนินการดังกล่าวกลับตกอยู่ที่อุตสาหกรรมของสหรัฐฯ อย่างไม่สมส่วน กรอบความคิดของเขาเรียกร้องให้มีการกระจายต้นทุนเหล่านั้นใหม่ผ่านการค้าเชิงกลยุทธ์และนโยบายการเงิน
- การสร้างแนวร่วมด้านการค้าและความมั่นคง ไมรันสนับสนุนการเชื่อมโยงความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับความร่วมมือด้านการป้องกันประเทศ เขาโต้แย้งว่าประเทศต่างๆ ที่ได้รับประโยชน์จากการรับประกันความปลอดภัยของสหรัฐฯ ผานการใช้ดอลลาร์เป็นทุนสำรองและสิทธิพิเศษต่างๆ ด้านภาษี ควรปรับแนวทางปฏิบัติด้านเศรษฐกิจให้สอดคล้องกับผลประโยชน์เชิงยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯ ซึ่งคล้ายกับความร่วมมือยุคสงครามเย็นและข้อตกลงพลาซ่านั่นเอง
- การฟื้นฟูอุตสาหกรรมและการยกเลิกกฎระเบียบ ส่วนสำคัญของกลยุทธ์ของ ไมรัน คือการสร้างความแข็งแกร่งของภาคอุตสาหกรรมในภาคส่วนที่สำคัญต่อพลังงานของประเทศ เช่น พลังงาน การป้องกันประเทศ เซมิคอนดักเตอร์ และการผลิตขั้นสูง นอกจากนี้ เขายังเรียกร้องให้มีการปฏิรูปกฎระเบียบเพื่อช่วยให้บริษัทในประเทศสามารถแข่งขันได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นในสภาพแวดล้อมที่ดอลลาร์แข็งค่า
ไมรัน วางแนวทางปฏิบัติเอาไว้ในบทความ ชื่อ A User’s Guide to Restructuring the Global Trading System เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2024 โดยเขาสรุปไว้ว่า การขึ้นภาษีจะ
"ภาษีศุลกากรเป็นตัวสร้างให้รายได้ และหากหักล้างด้วยการปรับอัตราแลกเปลี่ยน ก็จะมีผลข้างเคียงด้านเงินเฟ้อหรือด้านลบเพียงเล็กน้อย ... ภาษีศุลกากรมีแนวโน้มที่จะถูกนำไปใช้ในลักษณะที่เชื่อมโยงอย่างลึกซึ้งกับความกังวลด้านความมั่นคงของชาติ" จากข้อความนี้ เราจะเห็นว่าสมมติฐานของเขาก็คือ กรขึ้นภาษีจะไม่ทำให้เกิดเงินเฟ้อในสหรัฐฯ แต่จะมีกลไกค่าเงินดอลลาร์ที่จะแบ่งเบาภาระนั้นแล้วโยนไปให้คู่ค้า จากนั้นกลไกการขึ้นภาษีจะสร้างสเถียรภาพให้กับเงินดอลลาร์อันถือเป็นความมั่นคงของชาติ
และ "แม้ว่านักวิเคราะห์หลายคนเชื่อว่าไม่มีเครื่องมือใดที่สามารถแก้ไขปัญหาการปรับค่าเงินโดยฝ่ายเดียวได้ แต่ก็ไม่เป็นความจริง" นั่นหมายความว่า เขาเชื่อมั่นในการดำเนินการฝ่ายเดียวโดยรัฐบาลสหรัฐฯ โดยไม่ต้องปรึกษาหารือกับพันธมิตรเหมือนในอดีต ซึ่งเราจะเห็นได้อย่างชัดเจนได้จากการประกาศขึ้นภาษีแบบเหวี่ยงแหที่ครอบคลุมทั้งมิตรและศัตรู และหลังจากนี้จะนำไปสู่การบีบบังคับด้านสกุลเงินแต่ฝ่ายเดียว โดยไม่ต้องเจรจาเหมือนกรณีข้อตกลงพลาซา
เพราะนี่คือยุคแห่งข้อตกลงมาร์อาลาโก
โดยทีมข่าวต่างประเทศ The Better
Phto - ดร. สตีเฟน ไมรัน ผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งประธานคณะที่ปรึกษาเศรษฐกิจ ให้การเป็นในการไต่สวนของคณะกรรมาธิการธนาคารของวุฒิสภา เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2025 ที่อาคารวุฒิสภาดิร์กเซนในวอชิงตัน ดี.ซี. (ภาพโดย Kayla Bartkowski / GETTY IMAGES NORTH AMERICA / Getty Images via AFP)