ประเทศที่ช่วยจีน "สมควรตาย" นี่คือเป้าหมายที่แท้จริงของการขึ้นภาษีทรัมป์

ประเทศที่ช่วยจีน

ความลับทั้งหมดของการขึ้นภาษีแบบบไม่เห็นแก่หน้าอินทร์หน้าพรหมของทรัมป์ ไม่ใช่เพราะต้องการปรับดุลการค้า โดยขึ้นภาษีประเทศที่ได้เปรียบดุลการค้ามากกว่าสหรัฐฯ

นั่นมันเป็นแค่ข้ออ้างข้างๆ คูๆ เมื่อดูสมการการคำนวณการขึ้นภาษีแล้วก็จะยิ่งรู้ว่า "มั่วสิ้นดี" เพราะมีอย่างที่ไหนที่เอาสัดส่วนได้เปรียบดุลการค้าของไทยไปคำนวณอัตราภาษี เพราะภาษีไทยก็เก็บนิดหน่อย แต่ผลที่ออกมาทรัมป์ดันขึ้นภาษีกับไทยหลายเท่า

ดังนั้นทุกคนอย่าหลงกับ "สมการ" การคำนวณที่เอามาอ้าง แต่ให้ดูลึกๆ ที่ปัจจัยในสมการนั้นที่เหมาเอาการเก็บภาษีและ "การลดการค่าเงิน" มาผสมกัน

ไอ้ตัวหลังนี่แหละที่เป็นเป้าหมายจริงที่ซ่อนไว้ และตัวหลังนี่แหละที่เป็นโครงสร้างแท้จริงของแผนการขึ้นภาษี อันมี "การเมืองและความมั่นคง" เป็นแกนหลัก

ความจริงของเรื่องนี้อยู่ในบทความ "มันสมองของการขึ้นภาษีและการแก้ระเบียบโลก รู้จัก Stephen Miran กับแผนการ Mar-a-Lago Accord" ซึ่งบอกกับเราว่า ตัวต้นคิดของเรื่องนี้ คือที่ปรึกษาเศรษฐกิจของทรัมป์ที่ชื่อ สตีเฟน ไมรัน ซึ่งเชื่อว่าเศรษฐกิจของสหรัฐกำลังตกต่ำ เพราะความยอกย้อนที่เกิดจากค่าเงินดอลลาร์สูงเกินไป ทำให้การผลิตและการลงทุนด้านนี้ไหลออกไปประเทศที่ต้นทุนต่ำกว่า และค่าเงินที่สูงไปทำให้สหรัฐฯ นำเข้าได้มากกว่า แต่ก็ทำให้เกิดภาวะขาดดุล

เห็นไหมครับว่า เจ้าของความคิดก็ยังยอมรับว่าทั้งหมดเป็นปัญหาของสหรัฐฯ แท้ๆ ปัญหานี้เกิดมาจากการที่สหรัฐฯ เป็นคนเซ็ตระบบการเงินและการค้าโลกโดย้เงินดอลลาร์เป็นแกนหลัก สิ่งที่ได้มาก็คือสหรัฐฯ กู้เงินได้ตามใจชอบ และใช้ดอลลาร์ควบคุมโลก แต่ผลเสียของมันคือ เมื่อดอลลาร์แข็งเพราะประเทศต่างๆ เก็บดอลลาร์เป็นทุนสำรอง ผลก็คือดอลลาร์จะแข็งมาก (ไมรัน ใช้คำว่า "แข็งเกินไป" หรือ overvalue) 

จากนั้นนอกจากภาคการส่งออกจะอ่อนแอและนำเข้าจะพุ่งพรวดจนเกิดภาวะเสียดุลอย่างที่ว่าแล้ว สิ่งที่ตามมาคือภาวะเสียดุลของ "มหาอำนาจโลกที่มีเศรษฐกิจแย่ที่สุด" ในที่สุดมหาอำนาจก็จะพัง ดังนั้น เพื่อแก้ปัญหานี้ ไมรัน จึงเสนอแนวทางที่เรียกว่า Mar-a-Lago Accord นั่นคือ เก็บภาษีประเทศคู่ค้าสูงๆ เพื่อทำให้ภาคการผลิตย้ายกลับประเทศ จากนั้นทำให้ค่าเงินของประเทศเป้าหมายอ่อนค่าลงเพื่อลดการเสียดุลของสหรัฐฯ ข้อแรกจะช่วยแก้ปัญหาดุลเศรษฐกิจภายใน ส่วนข้อหลังจะช่วยให้ดอลลาร์ยังแกร่งต่อไปได้

นี่เป็นกลไกคร่าวๆ โดยฉากหน้าของ Mar-a-Lago Accord

โดยเบื้องลึก หากอ่านรายงานตัวเต็มของ ไมรัน ก็จะทราบว่าเป้าหมายของทรัมป์มีการเมืองและความมั่นคงเป็นแกนหลัก เป้าจริงๆ ด้านการค้าก็ยังเป็นเรื่องการเมืองและความมั่นคง เพราะต้องการดึงเอาอุตสาหกรรมหนักและเป็นหลักกลับมายังสหรัฐฯ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเหล็กกล้า อย่างที่เขาบอกว่า “if you don’t have steel, you don’t have a country."

สิ่งที่ไมรันและทรัมป์ต้องการก็คือ ในยุคที่จีนเป็นทั้งภัยการค้าและภัยความมั่นคง จะปล่อยให้อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงถอนทุนไปอยู่นอกประเทศไม่ได้ นั่นคือ การผลิตเหล็กกล้า ไมรันกล่าวว่า "หากไม่มีห่วงโซ่อุปทานในการผลิตอาวุธและระบบป้องกัน คุณก็ไม่มีความมั่นคงแห่งชาติ"

เป้าหมายจริงๆ ก็คือ เล่นงานจีนซึ่งเป็นผู้ผลิตสินค้าที่เป็นภัยต่อความมั่นคงทั้งสิ้น ตั้งแต่เหล็กกล้าไปจนถึงเซมินคอนดักเตอร์

แม้จะเล็งเป้าไปที่จีน และระหว่างการหาเสียง ทรัมป์เสนอให้เพิ่มภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนเป็น 60% และจากส่วนอื่นของโลกเป็น 10% หรือสูงกว่า แต่ในวันที่ 2 เมษายน เขากลับประกาศขึ้นภาษีประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ มากกว่าจีนเสียอย่างนั้น นั่นคือ กัมพูชา, 49%, เวียดนาม 46%, ศรีลังกา 44%, บังคลาเทศ 37% และ ไทย 36%

ส่วนจีนนั้นติดามไทยมาอยู่ที่ 34% แต่ต้องบวกกับที่ทรัมป์ปรับขึ้นมาก่อนหน้านี้แล้ว 20% รวมเป็น 64% 

หากใช้สมการของรัฐบาลสหรัฐ ประเทศเหล่านี้ได้เปรียบดุลการค้าจริงและควรจะถูกเห็บภาษีในอัตรานั้น แต่ก็อย่างที่บอก คือ สมการนั้นเป็นแค่เรื่องบังหน้าและไม่สมเหตุผล เพราะต่อให้ไทยใช้มาตรการภาษีและการบงการค่าเงิน (อย่างทรัมป์อ้าง) จริง มูลค่าการได้เปรียบดุลการค้าของไทยยังน้อยกว่าหลายประเทศที่ถูกขึ้นภาษีน้อยกว่าไทยเสียอีก เช่น สหรัฐฯ เสียดุลให้อินเดียปีที่แล้ว 41.5 พันล้านดอลลาร์เท่ากับไทย แต่อินเดียถูกขึ้นภาษี 26% หรือเยอรมนีประเทศเดียวทำให้สหรัฐฯ เสียดุลถึง 76.4 พันล้าน แต่ทรัมป์กลับขึ้นภาษีสหภาพยุโรปเพียง 20%

สิ่งเหมือนกันอย่างหนึ่งคือประเทศที่ได้เปรียบดุลสหรัฐฯ มากกว่าไทย เช่น สหภาพยุโรปทั้งหมดกลับถูกปฏิบัติต่างออกไป นั่นเพราะ Mar-a-Lago Accord ต้องการเจรจากับประเทศพวกนี้ก่อนเพื่อสร้างขอให้ลดค่าเงินลงแบบเดียวกับที่เคยสุมหัวกันทำ Plaza Accord มาก่อน หากไม่ยอมร่วมมือสหรัฐฯ ค่อยลงมือฝ่ายเดียว

เกาหลีใต้และญี่ปุ่นก็เช่นกัน ได้เปรียบดุลการค้ากับสหรัฐฯ มากว่าไทยหลายเท่า แต่ถูกเก็บภาาแค่ 25% และ 24% ตามลำดับ เพราะประเทศพวกนี้มีจะมีบทบาทในการทำ Accord ด้านค่าเงินร่วมกับสหรัฐฯ ต่อไป และพวกนี้เป็น "บริวาร" ของสหรัฐอย่างเหนียวแน่นเสียด้วย

การทำ Mar-a-Lago Accord ต้องอาศัยพันธมิตรเหล่านี้เพื่อเสริมรากฐานใหม่ให้เงินดอลลาร์ แต่ในขณะเดียวกันเพื่อเสริมรากฐานให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ทรัมป์ (โดยความคิดของไมรัน) ก็ต้องขึ้นภาษีมหามิตรทั้งหลายด้วย แต่ขึ้นแบบประคองให้เป็นคุณกับสหรัฐฯ โดยไม่ทำลาย "เพื่อน"

เรื่องนี้ไม่ใช่สถานการณ์ที่ไทยและเพื่อนบ้านกำลังเจอ

นอกจากไทยจะไม่มีอำนาจการกำหนด Accord อะไรทั้งสิ้นแล้ว สิ่งที่เหมือนกันอย่างหนึ่งก็คือประเทศกัมพูชา เวียดนาม ไทย และอื่นๆ ในท็อป 5 ล้วนแต่เป็นฐานการผลิตในจีน หรือเป็นประเทศที่ทำ re-export ให้กับจีน 

ประเทศพวกนี้เป็นแค่ "เบี้ย" ของฝ่ายตรงข้ามที่จะสามารถกำจัดได้เพื่อบั่นทอนภาคการผลิตของจีน 

อีกเรื่องก็คือ มีการทำสถานการณ์สมมติเอาไว้แล้วว่าถ้าขึ้นภาษีในอัตรา 10% จะก่อให้เกิดภาวะเงินเฟ้อเท่าไรในสหรัฐฯ จากสมมติฐานของ ไมรัน เขาชี้ว่ามันจะเป็นปัญหาไม่มากเพราะมีตัวอย่างจากสงครามการค้าคราวที่แล้ว ดังนั้น การที่ทรัมป์ขึ้นภาษีสูงมากต่อไทย เวียดนาม และกัมพูชา มันสะท้อนว่าสินค้าของประเทศเหล่านี้ "ไม่จำเป็น" ต่อสหรัฐ และเป็น "เบี้ยที่สามารถเขี่ยทิ้งได้" เพื่อวางหมากกำจัดจีนในขั้นต่อไป

ทั้งหมดนี้มีการเมืองเป็นเป้าหมายหลัก ส่วนเป้าหมายรองคือการปรับดุลการเงินและการค้า ซึ่งก็เป็นเรื่องความมั่นคงอีกนั่นเอง

ทั่วโลกมองว่าทรัมป์ขึ้นภาษีเพื่อปรับดุลการค้า แต่คงจะลืมไปว่าสิ่งที่รายงานของ ไมรัน เน้นก็คือ "ความมั่นคง" ที่มีการค้าและการเงินเป็นรากฐาน 

ในเมื่อทุกประเทศมองไม่เห็น ก็มุ่งไปที่จีนว่าน่าจะเจอหนักสุด แต่แล้วตัวเองกลับเจอขึ้นภาษีแบบเซอร์ไพร์สจึงทำอะไรไม่ถูก เช่น เวียดนามรีบวิ่งแจ้นไปเสนอตัวลดภาษีนำเข้าเหลือ 0% โดยหารู้ไม่ว่าสหรัฐฯ ไม่มีอะไรจะตอบแทนให้ เพราะเป้าหมายคือการทำลาย "ประเทศ re-export ของจีน" ส่วนคนจีนนั้นโกรธเวียดนามไปแล้วว่าคบไม่ได้และพร้อมจะหักหลัง

แต่สหรัฐฯ จะกำจัดเราหรือไม่ขึ้นอยู่กับการตอบสนองของประเทศเหล่านี้ว่าชาญฉลาดแค่ไหน

และตัวเลขที่ดูน่ากลัวนั้นไม่ใช่ว่าจะประกาศใช้ทันที แต่เป็น outline เอาไว้ก่อน ไมรัน เสนอเอาไว้ว่า "สหรัฐฯ สามารถดำเนินการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าได้เรื่อยๆ หากจีน (หรือประเทศอื่นๆ) ไม่ปฏิบัติตามข้อเรียกร้องเหล่านี้ เช่น อาจประกาศกำหนดการเพิ่มภาษีนำเข้าสินค้าจากจีน (หรือประเทศอื่นๆ) 2% ต่อเดือนตลอดไปจนกว่าจะปฏิบัติตามข้อเรียกร้อง"

ไม่แน่ว่าสหรัฐฯ อาจะใช้ไม้นี้ ดังนั้นไทยอาจต้องเก็บข้อมูล เปรียบเทียบ และวางแผนยุทธศาสตร์เอาไว้ก่อน เพื่อรอฟัง "ข้อเรียกร้อง" ของสหรัฐ

มาตรฐานแท้จริงของการขึ้นภาษีไม่ใช่ว่าไม่มี เมื่ออ่านรายงานของ ไมรัน เราจะพบว่าเขาอ้าง สก็อต เบสเซนต์ ที่ปรึกษาของทรัมป์และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังที่เสนอให้กำหนดประเภทประเทศที่ควรขึ้นภาษีเอาไว้ ส่วน ไมรัน เองก็แบ่งเกณฑ์เอาไว้ด้วย คือ

  1. ประเทศนั้นๆ ใช้ภาษีศุลกากรในอัตราเดียวกันกับการนำเข้าจากสหรัฐอเมริกาเช่นเดียวกับที่อเมริกาใช้กับการส่งออกในประเทศหรือไม่
  2. ประเทศนั้นๆ มีประวัติการกดค่าเงิน เช่น การสะสมเงินสำรองเงินตราต่างประเทศในปริมาณที่มากเกินไปหรือไม่
  3. ประเทศนั้นๆ เปิดตลาดให้กับบริษัทในสหรัฐอเมริกาในลักษณะเดียวกับที่อเมริกาเปิดตลาดให้กับบริษัทต่างประเทศที่ดำเนินงานในประเทศหรือไม่
  4. ประเทศนั้นๆ เคารพสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาของสหรัฐอเมริกาหรือไม่
  5. ประเทศนั้นๆ ช่วยให้จีนหลีกเลี่ยงภาษีศุลกากรโดยการส่งออกซ้ำหรือไม่
  6. ประเทศนั้นๆ ชำระภาระผูกพันของ NATO เต็มจำนวนหรือไม่
  7. ประเทศนั้นๆ เข้าข้างจีน รัสเซีย และอิหร่านในข้อพิพาทระหว่างประเทศที่สำคัญ เช่น ที่สหประชาชาติหรือไม่
  8. ประเทศนั้นๆ ช่วยให้หน่วยงานที่ถูกคว่ำบาตรหลีกเลี่ยงมาตรการคว่ำบาตรหรือค้าขายกับหน่วยงานที่ถูกคว่ำบาตรหรือไม่
  9. ประเทศนั้นๆ สนับสนุนหรือคัดค้านความพยายามด้านความมั่นคงของสหรัฐฯ ในพื้นที่ต่างๆ หรือไม่
  10. ประเทศนั้นๆ ให้ที่หลบภัยแก่ศัตรูของสหรัฐอเมริกา เช่น ผู้ก่อการร้ายหรืออาชญากรทางไซเบอร์หรือไม่ 
  11. ผู้นำของประเทศแสดงจุดยืนต่อต้านสหรัฐฯ ในเวทีระดับนานาชาติหรือไม่? 

จากการแบ่งเกณฑ์หรือประเภทประเทศที่ควรขึ้นภาษีเราจะเห็นว่า 5 เป็นเรื่องของการค้า อีก 6 ข้อเป็นเรื่องของการเมืองที่เน้นประเทศที่คอยช่วย "ศัตรู" ของสหรัฐฯ โดบเฉพาะจีนและรัสเซีย มีอยู่ข้อหนึ่งอาจคาบเกี่ยวทั้งการค้าและการเมือง คือข้อที่ว่า "ประเทศนั้นๆ ช่วยให้จีนหลีกเลี่ยงภาษีศุลกากรโดยการส่งออกซ้ำหรือไม่"

ดังนั้น การแบ่งประเภทการขึ้นภาษีจึงใช้เรื่องการเมืองเป็นหลัก เป็นไปได้ว่าอาจกำหนดด้วยแนวทางการเมืองก่อน แล้วค่อยหาเหตุผลเรื่องการค้ามาประกอบ

อย่างที่ไมรันบอกว่าเมื่อตั้งเกณฑ์ให้เป็นระบบแล้ว "ระบบดังกล่าวสามารถแสดงให้เห็นถึงมุมมองที่ว่าความมั่นคงของชาติและการค้าเชื่อมโยงกันอย่างแนบแน่น เงื่อนไขการค้าสามารถเป็นวิธีการหนึ่งในการสร้างผลลัพธ์ด้านความมั่นคงที่ดีขึ้นและแบ่งปันภาระได้ ... ประเทศต่างๆ ที่ต้องการอยู่ภายใต้ร่มของการป้องกันประเทศจะต้องอยู่ภายใต้ร่มของการค้าที่เป็นธรรมด้วย"

เรื่องการเมืองนั้นสำคัญมาก แม้แต่พันธมิตรของสหรัฐฯ ก็จะโดนด้วย โปรดอ่านข้อความนี้จากรายงานของ ไมรัน ที่ว่า "พันธมิตรและหุ้นส่วนหลายรายของอเมริกามีการค้าและการลงทุนกับจีนมากกว่ากับอเมริกาอย่างมาก เราแน่ใจได้จริงหรือว่าเราสามารถไว้วางใจพวกเขาได้ หากเกิดสถานการณ์เลวร้ายที่สุด?"

แม้แต่พันธมิตรของสหรัฐฯ ที่ค้าขายกับจีนก็ยังไว้ใจไม่ได้ ประสาอะไรกับประเทศที่ช่วยผลิตให้จีนแบบไทยและเพื่อนบ้าน?

ดังนั้นเป้าหมายก็คือต้องทำให้ประเทศเหล่านี้ "เลือกข้าง" ไมรัน เสนอว่า "เครื่องมือดังกล่าวสามารถนำมาใช้เพื่อกดดันให้ประเทศอื่นๆ เข้าร่วมมาตรการภาษีกับจีน ซึ่งก่อให้เกิดแนวทางพหุภาคีในการเรียกเก็บภาษี หากถูกบังคับให้เลือกระหว่างการเรียกเก็บภาษีสินค้าส่งออกไปยังผู้บริโภคชาวอเมริกันหรือเรียกเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีน พวกเขาจะเลือกอะไร ขึ้นอยู่กับอัตราภาษีที่เกี่ยวข้องและความสำคัญของแต่ละประเทศต่อเศรษฐกิจและความมั่นคงของประเทศนั้นๆ ความพยายามที่จะสร้างกำแพงภาษีทั่วโลกรอบจีนจะเพิ่มแรงกดดันให้จีนปฏิรูประบบเศรษฐกิจของตน โดยมีความเสี่ยงที่จะเกิดความผันผวนทั่วโลกมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากห่วงโซ่อุปทานอยู่ภายใต้แรงกดดันที่มากขึ้นในการปรับตัว"

แต่ถ้ามีประเทศไหนไม่ยอมสหรัฐฯ แล้วเลือกอยู่ข้างจีนล่ะ? ไมรัน วิเคราะห์ไว้ว่า "จากมุมมองของอเมริกา หากประเทศอื่นๆ เลือกที่จะคงนโยบายปัจจุบันที่มีต่อจีนไว้ แต่ยอมรับภาษีนำเข้าที่สูงขึ้นของสหรัฐฯ นั่นไม่ใช่เรื่องเลวร้าย เพราะในกรอบนี้ อย่างน้อยพวกเขาก็จ่ายรายได้ให้กับกระทรวงการคลัง (สหรัฐฯ) และจำกัดภาระผูกพันด้านความมั่นคงของสหรัฐฯ"

ดังนั้น เราต้องตระหนักเสียก่อนว่า นี่คือสงครามการค้าที่มีสงครามการเมืองซ่อนรูปเอาไว้ และเราถูกจัดให้อยู่ฝ่ายจีน สถานการณ์แบบนี้คล้ายกับตอนที่สหรัฐฯ ทำสงครามต่อต้านการก่อการร้ายที่บังคับให้ประเทศต่างๆ ต้องเลือกข้างเท่านั้น "ถ้าไม่เป็นฝ่ายเรา (สหรัฐฯ ) ก็ต้องเป็นฝ่ายนั้น (กลุ่มก่อการร้าย) ไม่มีพื้นที่ให้ตรงกลางเลย

แต่โลกทุกวันนี้ไม่เหมือนเมื่อ 20 ปีที่แล้ว อีกทั้งพันธมิตรต่างๆ ของสหรัฐฯ ไม่น่าจะคุยด้วยง่ายหลังจากทรัมป์ได้ทำลายความเชื่อมั่นระหว่างกันจนย่อยยับทั้งเรื่อง นาโต กรีนแลนด์ และการสนับสนุนฝ่ายขวา ยังไม่นับความแข็งแกร่งของจีนและรัสเซียที่เพิ่มขึ้นมากในฐานะผู้นำ BRICS และกลุ่มทางเลือกอื่นๆ 

ดังนั้น ความหวังของไมรันหรือทรัมป์ที่ต้องการบีบให้ประเทศต่างๆ รวมถึงไทยต้องเลือกข้าง จึงไม่ใช้ "อาณัติคำสั่ง" ที่ละเมิดไม่ได้ ตรงกันข้าม สถานการณ์การเมืองโลกตอนนี้ไม่เป็นคุณกับสหรัฐฯ เลยด้วยซ้ำ 

ไทยจะมองเห็นจุดนี้หรือไม่แล้วหนีกับดักได้พ้นหรือไม่? ขึ้นอยู่กับว่าผู้แทนเจรจาของไทยกับสหรัฐฯ ตระหนักหรือไม่ว่าเรื่องนี้มีการเมืองสอดไส้เอาไว้ และไม่อาจต่อรองด้วยเงื่อนไขการค้าได้อย่างเดียว

บทความทัศนะโดย กรกิจ ดิษฐาน ผู้ช่วยบรรณาธิการบริหาร และบรรณาธิการข่าวต่างประเทศ  The Better

Photo by Mandel NGAN and Pedro Pardo / AFP

TAGS: #จีน #ทรัมป์ #ขึ้นภาษี #สงครามการค้า