ที่จริงเรื่องนี้ไม่น่าจะเป็นคำถามได้ เพราะคนสงสัยต้องเอะใจก่อนอื่นเลยว่าเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มี 11 ประเทศ แต่ทำไมผู้นำจีนถึงมาแค่ 3 ประเทศ
แม้แต่พี่ใหญ่อย่างอินโดนีเซียก็ไม่ไป แม้แต่สิงคโปร์ก็ไม่ไป ไทยก็ไม่มา สามประเทศนี้ก็ใหญ่มากแล้วในภูมิภาค
มันต้องเอะใจสิครับก่อนจะสงสัยอะไรแบบนั้น ใช่ไหม?
ก่อนอื่น นายกรัฐมนตรีไทยเพิ่งจะไปเยือนปักกิ่งและพบ ฯพณฯ สีจิ้นผิง ด้วยตนเองแล้ว เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เพื่อฉลองครบรอบ 50 ปีความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยกับจีน แถมการเยือนครั้งนั้นยังมีการลงนามข้อตกลงอีกหลายฉบับ และมีการหารือและให้ "คำแนะนำ" อีกหลายอย่างที่แสดงถึงความใกล้ชิดพอสมควร
ผมว่าไปเยือนครั้งนั้นก็ได้ประโยชน์โภชน์ผลมากแล้ว
นี่ยังไม่ถึง 2 เดือนจะให้ สีจิ้นผิง มาพบกับนายกฯ แพทองธารอีกแล้วหรือครับ?
เพราะมีเสียงวิจารณ์ว่า "สีจิ้นผิงไม่มาไทยเพราะเมินไทยว่าไม่สำคัญ"
บ้างก็ว่า "จีนมองไทยเป็นลูกไก่ในกำมือ" หรือ "ไทยเป็นของตายสำหรับจีน" สีจิ้นผิง จึงไม่สนใจที่จะมาเยือน
ผู้ที่กล่าวแบบนี้ขาดความความเข้าใจเรื่องความเกี่ยวข้องกับไทยและจีนในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่าน และแนวทาง "มุ่งสู่ทางใต้" ของจีนในช่วงไม่กี่ปีมานี้
และโปรดทราบว่า สีจิ้นผิง เคยมาเยือนไทยแล้ว ซึ่งเป็นจำนวนครั้งเท่ากับผู้นำสหรัฐฯ ประเทศที่ไทยเป็น "มหามิตร" โดยที่ผู้นำสหรัฐฯ คนสุดท้ายที่มาไทยคือ บารัก โอบามา ซึ่งแม้จะมาไทยเป็นแห่งแรกในอาเซียน แต่ก็มาวันเดียวแล้วก็ไป โดยคงจะคิดว่ามาแค่นี้คงจะ "ซื้อใจ" ไทยได้ แต่ปรากฏว่าไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้
นั่นเพราะสหรัฐฯ เมินเฉยต่อไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มานับสิบๆ ปีแล้ว หลายกรณีนอกจากไม่ช่วยยังซ้ำเติมด้วยซ้ำ ทำให้ระยะหลังหลายประเทศในอาเซียนเริ่มเอนเอียงไปทางจีน
การเยือนของ โอบามา เป็นความพยายามสุดท้ายที่จะ "กอบกู้อาเซียนกลับมาเป็นเขตอิทธิพลของสหรัฐฯอีกครั้ง" แต่ล้มเหลวไม่เป็นท่า เพราะผู้นำคนต่อๆ มาก็เมินอีก
เรื่องนี้นำไปสู่การ "มุ่งสู่ทิศเหนือ" ของอาเซียนไปยังปักกิ่ง สอดคล้องกับการ "มุ่งสู่ทิศใต้" ของจีนเพื่อดึงเอาอาเซียนมาเป็นพันธมิตร
อาเซียนได้กลายเป็นภูมิภาคที่มีความสำคัญมหาศาลต่อจีนไปแล้ว และจีนก็ควรเรียนรู้จากความเย่อหยิ่งของสหรัฐฯ ที่ผ่านมาที่ "เมินอาเซียน" และ "ละทิ้งไทย" การทำแบบนี้เท่ากับทำลายรากฐานความสัมพันธ์ที่สร้างมานานหลายสิบปี
ดังนั้น ผู้ที่มองว่า สีจิ้นผิง ไม่มาเยือนไทยเพราะ "ไทยเป็นของตาย" จึงเป็นการมองที่ผิวเผินเกินไปและมีอคติไปหน่อย
ควรจะใช้คำว่า "ประเทศไทยมีสัมพันธ์ที่นิ่งแล้วกับจีน" จึงไม่ต้องมาย้ำซ้ำๆ ซากๆ เหมือนประเทศอื่น
สงครามภาษี/สงครามการค้า 2.0 จีนคงมองภาพไกลเอาไว้แล้วว่าต้องเร่งสร้างพันธมิตรให้แข็งแกร่งกว่าเดิมในอาเซียน ดังนั้นจึงต้องยิ่งถนอมน้ำใจกัน
การเยือนเวียดนาม มาเลเซีย และกัมพูชานั้น มีกำหนดการณ์ก่อนที่ทรัมป์จะประกาศ Liberation Day วาระการพบกับผู้นำประเทศเหล่านี้จึงเป็นเรื่องการสานไมตรีกันมากว่าฟอร์มทีมรับมือสหรัฐฯ
แต่โลกตะวันตกมักวิเคราะห์ท่าที่จีนผิด สาเหตุหนึ่งเพราะไม่ค่อยตามข่าวจีนและอาเซียน จึงคิดไปเองว่า "สีจิ้นผิงรีบไปกล่อมอาเซียนเพื่อสู้สหรัฐฯ" ซึ่งเป็นการวิเคราะห์ที่ไม่ค่อยตรง เพราะยังไม่ต้องถึงขั้นไปสู้สหรัฐฯ หรอก สิ่งที่จีนต้องการคือ "ความนิ่ง" ของอาเซียนต่างหาก ความนิ่งที่ว่านั้นคือ อย่างน้อยประเทศเหล่านี้ต้องไม่หันดาบเข้าหาจีน
แม้แต่ทรัมป์ก็มองว่าการพบกันของผู้นำจีนและเวียดนาม “เหมือนกับการพยายามคิดหาคำตอบว่าเราจะทำลายสหรัฐอเมริกาได้อย่างไร”
นี่แสดงว่าทรัมป์อาจจะหมายหัวประเทศที่ต้อนรับสีจิ้นผิง ทั้งๆ ที่เขาไปคุยเรื่องผูกไมตรีกัน ไม่ใช่ตั้งทีมทำสงครามกับสหรัฐฯ
ดังนั้นน บางประเทศจึงต้องรีบ "กราบทูล" จักรพรรดิทรัมป์ในทันทีที่ สีจิ้นผิง เดินทางออกจากประเทศ
ลองดูตัวอย่างเวียดนามก็ได้ เมื่อสีจิ้นผิงเดินทางไปถึงนั้นผู้นำเวียดนามแสดงความรักใครใกล้ชิด แต่พอสีจิ้นผิงกลับไปเท่านั้นนายกรัฐมนตรี ฝั่ม มิญ จิ๊ญของเวียดนามกล่าวว่าประเทศของเขามี “ความผูกพันอันเป็นเอกลักษณ์” กับสหรัฐฯ
เวียดนามมีเหตุที่จะต้องรีบแจ้งท่าทีของตน เพราะเศรษฐกิจของตนแขวนอยู่บนเส้นด้าย หาไม่แล้วคงไม่วอนขอชีวิตจากทรัมป์เป็นประเทศแรก
การที่เวียดนามเป็น "หลังบ้านของจีน" และเคยเป็น "ปฏิปักษ์กับจีนในทางประวัติศาสตร์" แถมยังทีท่าทีทางการเมืองที่ไม่นิ่งและเดาท่าทียากกระมัง จึงทำให้สีจิ้นผิงต้องไปเยือนเวียดนามบ่อยๆ ซึ่งนี่เป็นครั้งที่ 4 แล้ว
เช่นเดียวกับไทย แม้จะสนิทกับจีนมากขึ้น แต่สามารถสวิงไปมาและสามารถถ่วงดุลระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ได้ดีเช่นเดิม นั่นความว่าไทยไม่ใช่ "ของตาย" แต่หากปฏิบัติต่อไทยโดยไม่ระวัง ดุลยภาพทางการทูตก็อาจเปลี่ยนไปได้เช่นกัน
โชคดีที่ไทยไม่เคยมีท่าทีเป็นปฏิปักษ์ในทางประวัติศาสตร์กับจีน ยกเว้นช่วงเวลาสั้นๆ ระหว่างสงครามเย็น แม้ไทยจะยังเป็น "มหามิตร" ของสหรัฐฯ ก็ตาม แต่ก็ไม่อาจทำร้ายจีน และจีนก็ไม่อาจทำให้ไทยหันหลังให้กับสหรัฐฯ ได้เช่นกัน
ที่สำคัญคือประเทศไทยไม่ได้ "คิดว่าตัวเองแน่" และ "หาเหาใส่หัว" เหมือนบางประเทศ
ภาวะนี้จึงค่อนข้างเป็น "ความนิ่ง" ที่จีนน่าจะพอใจแล้ว
การไม่ได้มาไทยไม่ได้หมายความว่าไทยไม่สำคัญ เพราะนอกจากเราจะไปพบกันมาแล้วที่ปักกิ่ง ความนิ่งในความสัมพันธ์ยังไม่จำเป็นต้องทำอะไรมากว่านี้อัก ส่วนผู้นำประเทศอื่นนั้นไม่มีเหตุที่จะเดินทางไปปักกิ่งโดยพลการ เพราะอาจจะทำให้ "ดุลยภาพ" ทางการทูตต้องเสียไป
หากประเทศไทนมีโอกาสพบกับที่ปักกิ่ง ก็พบกันไปแล้ว โดยไม่ต้องรอกระบวนการการทูตเพื่อให้ผู้นำจีนไปเยือน เพราะมันยืดยาดและเสียเวลา โดยเฉพาะในช่วงเวลาหน้าสิ่วหน้าขวานแบบนี้
แต่โปรดสังเกตว่า ไทยและอินโดนีเซีย มี "สัมพันธ์พิเศษ" กับจีนในปีนี้ เพราะไทยคบกับจีนมาครบรอบ 50 ปี ส่วนอินโดนีเซียคบกับจีนมาแล้ว 75 ปี โดยที่ผู้นำของทั้งสองประเทศไปฉลองโอกาสนี้ที่ปักกิ่งเอง
ถามว่าทำไมนายกฯ ไทยต้องไปปักกิ่ง ไม่ใช่ผู้นำจีนมาเยือนกรุงเทพฯ
ก็เพราะว่า ไทยเป็นฝ่ายไปปักกิ่งเพื่อเสนอกับจีนเองเมื่อ 50 กว่าปีก่อนเพื่อคบหากันอย่างเป็นทางการ
ความจริงแล้วการ "พบที่ปักกิ่ง" แบบไทย ก็เกิดขึ้นกับประธานาธิบดีอินโดนีเซียเช่นกัน ซึ่งไปพบกับสีจิ้นผิงเมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว
และยังมีกรณีของ ทองลุน สีสุลิด ประธานาธิบดีลาวไปปักกิ่งและพบกับ สีจิ้นผิง เมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว
ดังนั้น ทั้งไทย อินโดนีเซีย และลาว จึงไม่ได้อยู่ในรายชื่อต้องเยือน เพราะพบเจอกันแล้วไม่นานมานี้ ส่วนเมียนมานั้นอยู่ในสถานการณ์ลูกผีลูกคน ทำให้การพบกันระหว่างผู้นำสองประเทศตกอยู่ในเงื่อนไขที่อิหลักอิเหลื่อ
แต่อินโดนีเซียนั้น แม้จะไม่มีการพบกันในครั้งนี้ แต่ก็มีสถานะสำคัญต่อจีนมากกว่าในทางภูมิรัฐศาสตร์ ซึ่งทำให้สีจิ้นผิง เดินทางไปเยือนแล้วถึง 3 ครั้ง
เราสามารถเข้าใจได้ว่าทำไมต้องไปถี่ๆ เพราะอินโดนีเซียเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญของการเดินเรือจากทะเลจีนใต้ออกไปยังทะเลต่างๆ และมหาสมุทรอื่นๆ และอินโดนีเซียยังเป็นประเทศที่ "ไม่ค่อยนิ่ง" ทั้งยังเป็นจุดเชื่อมต่อของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กับออสเตรเลีย
ดังนั้น แม้ครั้งนี้ สีจิ้นผิง ไม่ได้ไปจาการ์ตา แต่ก็ยกโทรศัพท์โทรหาประธานาธิบดีอินโดนีเซียเพื่อแสดงไมตรีที่ทั้งสองประเทศคบหากันมา 75 ปีแล้ว โดยย้ำว่า "ทั้งจีนและอินโดนีเซียถือเป็นประเทศกำลังพัฒนาที่สำคัญและเป็นกำลังสำคัญในกลุ่มประเทศขั้วอำนาจตอนใต้ (Global South)" ซึ่งนี่เป็นเรื่องจริง เพราะอินโดนีเซียเป็นสมาชิกของ G20
กับฟิลิปปินส์นั้นอยู่ในสภาพ "มีเรื่อง" กับจีน และผู้นำประเทศนั้นเอียงเข้ากับฝ่ายสหรัฐอเมริกาอย่างโจ่งแจ้ง ดังนั้น ไม่มีอยู่ในสภานะที่จะต้องไปเยือนอย่างยิ่ง
กระนั้นก็ตาม เมื่อสถานการณ์อำนวย เช่น สมัยของผู้นำคนก่อน สีจิ้นผิง ก็ไปเยือนฟิลิปปินส์ถึง 2 ครั้ง และคงจะด้วยเหตุผลเดียวกับที่ไปเวียดนามบ่อยๆ นั่นคือ "ฟิลิปปินส์ยังไม่นิ่ง" และเป็นประเทศที่พร้อมจะถูกใช้เป็นฐานทัพของสหรัฐฯ ได้ทุกเมื่อหากผู้นำประเทศนั้นไม่ชอบจีน
มาเลเซียนั้น สีจิ้นผิง เดินทางไปเยือนแล้ว 2 ครั้ง แต่ต่างรัฐบาลกัน และท่าทีของนายกรัฐมนตรีก่อนหน้านี้ที่มีต่อจีนก็ต่างกัน โดยที่รัฐบาลอันวาร์ อิบราฮิม นั้นเชียร์จีนอย่างออกนอกหน้า (ส่วน 'นายกฯ ยัสซิน' นั้นแอนตี้จีนอย่างออกนอกหน้าเช่นกัน) จึงเป็นเหตุอันควรที่จะต้องกระชับมิตรให้แนบแน่น
โปรดทราบว่า เวียดนาม อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย ล้วนแต่เป็นประเทศที่มีกรณีพิพาทกับจีนเรื่องน่านน้ำทะเลจีนใต้ โดยที่เวียดนามก็อาจจะเอียงไปทางสหรัฐฯ ได้ทุกเมื่อ ส่วนฟิลิปปินส์พร้อมที่จะช่วยสหรัฐฯ ตั้งฐานทัพแล้ว มาเลเซียนั้นไมน่าห่วงนัก แต่อินโดนีเซียก็มีข้อตกลงด้านความมั่นคงกับออสเตรเลีย
ส่วนไทยไม่มีอะไรพิพาทแบบนี้ จีนจึงไม่มีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องสานความสัมพันธ์เหมือนกับประเทศข้างต้น เพราะจีนจำเป็นต้องมั่นใจว่าประเทศพวกนี้ "จะไม่แทงข้างหลัง" ในระหว่างที่ความสัมพันธ์ยังไม่นิ่ง หรือ "มั่นคง" เหมือนกับไทย
บทความทัศนะโดย กรกิจ ดิษฐาน ผู้ช่วยบรรณาธิการบริหาร และบรรณธิการข่าวต่างประเทศ The Better
Photo by Farhan ABDULLAH / MALAYSIA'S DEPARTMENT OF INFORMATION / AFP