บทวิเคราะห์ทางสู้สงครามภาษี ญี่ปุ่นจะเป็นแบบอย่างให้กับประเทศอื่นในการเจรจากับทรัมป์ 

บทวิเคราะห์ทางสู้สงครามภาษี ญี่ปุ่นจะเป็นแบบอย่างให้กับประเทศอื่นในการเจรจากับทรัมป์ 


บทวิเคราะห์ ญี่ปุ่นจะเป็นแบบอย่างให้กับประเทศอื่น (รวมถึงไทย) ในการเจรจากับทรัมป์ 

ญี่ปุ่นถือเป็นประเทศที่ถูกขึ้นภาษีไม่สูงนักเมื่อเทียบกับไทยและประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยอยู่ที่  24% แต่ญี่ปุ่นค่อนข้างมีท่าไม่เห็นด้วยอย่างชัดเจนต่อการขึ้นภาษี เพราะหลังจากถูกทรัมป์ขึ้นภาษี โยจิ มูโตะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าของญี่ปุ่นกล่าวว่าภาษีศุลกากรดังกล่าวเป็นสิ่งที่ “น่าเสียดายอย่างยิ่ง” และกล่าวว่าญี่ปุ่นจะ “ยังคงเรียกร้องให้สหรัฐฯ ยกเว้นญี่ปุ่นจากภาษีศุลกากรเหล่านี้ต่อไป” 

ญี่ปุ่นเป็นประเทศแรกๆ ที่ส่งผู้แทนไปเจรจากับทรัมป์ แต่เมื่อสัปดาห์ที่แล้วไม่ได้ผลลัพธ์อะไรเป็นชิ้นเป็นอัน ในขณะที่ทรัมป์ "คุยโว" ว่าการเจรจากับญี่ปุ่นนั้นมี big progress (ความก้าวหน้าครั้งใหญ่) แต่เมื่อพิจารณาจากการเปิดเผยของฝ่ายญี่ปุ่นแล้วคำกล่าวของทรัมป์ไม่น่าจะสะท้อนความจริง  

แม้กระนั้น นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ชิเงรุ อิชิบะ กล่าวในรายกาของสถานีโทรทัศน์ NHK วันที่ 20 ตามเวลาญี่ปุ่น เกี่ยวกับการเจรจาระหว่างญี่ปุ่นและสหรัฐฯ เกี่ยวกับมาตรการภาษีของสหรัฐฯ ว่า “ผมหวังว่าญี่ปุ่นและสหรัฐฯ จะเป็นผู้นำโลกในการเจรจาด้านภาษีศุลกากร และกลายเป็นต้นแบบให้กับโลก” 

แต่นายกรัฐมนตรีอิชิบะยังกล่าวด้วยว่า “การเจรจาที่ฝ่ายหนึ่งได้ประโยชน์และอีกฝ่ายเสียประโยชน์จะไม่มีวันเป็นแบบอย่างให้กับโลก เป้าหมายของเราคือการทำให้การเจรจาระหว่างญี่ปุ่นกับสหรัฐฯ เป็นต้นแบบ (ให้กับโลก)”

เขายังกล่าวอีกว่า “ถึงแม้จะมีเวลาจำกัด แต่เราได้บรรลุฉันทามติว่า ‘ยิ่งเร่งรีบ ความเร็วก็ยิ่งลดลง’” ซึ่งบ่งชี้ว่าการเจรจาจะดำเนินต่อไปด้วยความระมัดระวัง

การเจรจาที่ไม่มีอะไรคืบหน้าแถมยังเสี่ยงที่จะเผชิญกับท่าทีแข็งกร้าวของสองฝ่าย ไม่น่าจะเป็นแบบอย่างให้ประเทศไหนได้ในเวลานี้ แต่ประเทศต่างๆ รวมถึงไทยก็ควรจะรอดูผลการเจรจาของญี่ปุ่นก่อน เพราะแม้แต่ประเทศมหามิตรของสหรัฐฯ อย่างญี่ปุ่นยังไม่สามารถบรรลุผลใดๆ นั่นหมายความว่าสหรัฐฯ ไม่น่าจะอยู่ในฐานะที่ประนีประนอมได้ และประเทศที่เจรจราด้วยอาจจะต้องยินยอมทุกอย่าง

ในแง่นี้แนวคิด ‘ยิ่งเร่งรีบ ความเร็วก็ยิ่งลดลง’ ของนายกรัฐมนตรีอิชิบะจึงเป็นสิ่งที่คสวรพิจารณาอย่างยิ่ง เพราะยิ่งรีบไปก็อาจจะไม่ได้อะไรกลับมาแถมยังอาจต้องเสียเพิ่มด้วยซ้ำ

แล้วเราจะมองญี่ปุ่นเป็นแบบอย่างอย่างไร? สถาบัน Brookings ได้ตั้งคำถามว่า "ญี่ปุ่นจะต้องทำอย่างไรเพื่อเอาชีวิตรอดจากสงครามการค้าโลกของทรัมป์?" ซึ่งคำตอบก็คือต้องเข้าใจวิธีการของทรัมป์ก่อน บทความของ Brookings ระบุว่า "สำหรับรัฐบาลทรัมป์ ความบ้าคลั่งคือวิธีการ และในขณะที่การกระทำของทรัมป์ก่อให้เกิดความสับสนมากมาย แรงจูงใจบางอย่างของเขาก็ชัดเจน" นั่นคือ "มีการขาดดุลการค้าเป็นหลักฐานที่ปฏิเสธไม่ได้ ... จุดแข็งของประเทศเหล่านี้เองที่ทำให้ภาษีของทรัมป์มีประสิทธิผล เขาสามารถใช้ประโยชน์จากการพึ่งพาตลาด ทุน และการรับประกันความปลอดภัยของสหรัฐฯ เพื่อกำหนดเงื่อนไขใหม่ๆ ได้"

Brookings ชี้ว่า "ขณะที่ญี่ปุ่นเริ่มเจรจากับสหรัฐฯ จำเป็นต้องตระหนักว่าข้อตกลงการค้าที่เจรจากับทรัมป์อาจมีอายุสั้น ทรัมป์ละเมิดเงื่อนไขของข้อตกลงการค้าที่เจรจากันในช่วงรัฐบาลชุดแรกของเขา เช่น ข้อตกลงการค้าสหรัฐฯ-เม็กซิโก-แคนาดา หรือสหรัฐฯ-ญี่ปุ่น โดยการกำหนดภาษีศุลกากรฝ่ายเดียวเมื่อเร็วๆ นี้ ดังนั้น ญี่ปุ่นควรมองการเจรจาครั้งนี้ว่าเป็นการลดความเสียหาย แต่ไม่ใช่การสร้างสมดุลที่มั่นคง สำหรับทรัมป์แล้ว ข้อตกลงเหล่านี้ไม่ใช่ข้อผูกมัด"

นั่นหมายความ ญี่ปุ่นต้องมุ่งเจรจาเพื่อลดความเสียหาย ไม่ใช่เจรจาเพื่อให้ทุกฝ่าย "วิน วิน" จากข้อเสนอนี้ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นอาจต้องปรับท่าทีที่บอกว่า "การเจรจาที่ฝ่ายหนึ่งได้ประโยชน์และอีกฝ่ายเสียประโยชน์จะไม่มีวันเป็นแบบอย่างให้กับโลก" และต้องพิจารณาเฉพาะหน้าก่อนว่าเวลานี้คิอการลดคงามเสียหาย ไม่ใช่นสถานการณ์ปกติกลับคืนมา ไม่เฉพาะแค่ญี่ปุ่นท่านั้นที่จะต้องทำแบบเดียวกัน

กระนั้นก็ตามม นั่นไม่ใช่ทางเลือกเดียว เพราะ Brookings แนะนำว่า "ในระยะสั้นและระยะกลาง ญี่ปุ่นควรเจรจากับสหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม การเจรจากับสหรัฐฯ ที่ไม่สามารถคาดเดาได้เพียงฝ่ายเดียวจะไม่เป็นประโยชน์ต่อประเทศในระยะยาว ญี่ปุ่นควรใช้ประโยชน์จากสินทรัพย์สำคัญสองประการที่ญี่ปุ่นสร้างขึ้นมาตั้งแต่ทรัมป์เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีเป็นครั้งแรก นั่นคือกลไกความมั่นคงทางเศรษฐกิจและอิทธิพลในฐานะเครือข่ายการค้า การลดความเสี่ยงและการกระจายความเสี่ยงควรเป็นดาวเด่นของการบริหารประเทศของญี่ปุ่น" ซึ่งหมายความว่าการแสวงหาตลอดใหม่ๆ และการสร้างพันธมิตรใหม่ๆ เพื่อลดความเสียหายในระยะยาว และสร้าง "นิว นอร์มอล" ขึ้นมาในระบบเศรษฐกิจโลก

การขายเครือข่ายการค้าของญี่ปุ่นสามารถทำกับประเทศในเอเชียอื่นๆ ไม่เพียงร่วมกับ RCEP (ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค) ที่มีจีนเป็นหัวหอกสำคัญเท่านั้น แต่ญี่ปุ่นยังอาจผลักดันข้อตกลง CPTPP (ข้อตกลงความครอบคลุมและความก้าวหน้าเพื่อหุ้นส่วนทางการค้าภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก) ให้คึกคักขึ้นมาอีกครั้งด้วย โดยที่ญี่ปุ่นเป็นแกนนำขของข้อตกลงนี้

หากญี่ปุ่นทำแบบนั้น ไม่เพียงจะเป็นแบบอย่างให้กับประเทศอื่นๆ ในการรับมือสงครามภาษี แต่ยังจะช่วยทำให้เครือข่ายการค้าของเอเชียที่อิงกับ CPTPP และ RCEP กลายเป็นขั้วอำนาจใหม่ของโลกขึ้นมาอีกด้วย 

ทีมข่าวต่างประเทศ The Better

Photo - นายกรัฐมนตรีชิเกรุ อิชิบะของญี่ปุ่นยกมือขึ้นเพื่อตอบคำถามระหว่างการประชุมคณะกรรมการรัฐสภาในกรุงโตเกียว เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2568 (ภาพโดย Kazuhiro NOGI / AFP)
 

TAGS: #ญี่ปุ่น #สงครามภาษี