'ไผ่ลู่ลม' เป็นชื่อแนวทางการทูตแบบเวียดนาม ชื่อเต็มๆ ก็คือ Bamboo diplomacy หลักการก็คือต้องทำให้เวียดนามต้านทานแรงกดดันของการเมืองโลกได้ โดยอาศัยความยืดหยุ่น เอนไปเอนมาเหมือนกับต้นไผ่
เป้าหมายก็คือจะอยู่อย่างไรกับ "เพื่อนเก่า" อย่างจีนและรัสเซีย และจะคบหากับ "เพื่อนใหม่" คือสหรัฐฯ และพันธมิตรแบบไหน โดยที่บัวไม่ช้ำ น้ำไม่ขุ่น
กับสหรัฐฯ นั้นคนภายนอกอาจรู้สึกแปลกเพราะเคยเป็นศัตรูกันมาก่อนในยุคสงครามเวียดนาม แต่เวียดนามก็ทำเป็นลืมๆ มันซะเพื่อที่จะ "เอาสหรัฐฯ มาถ่วงดุลกับจีน"
ส่วนจีนนั้นแม้จะเป็นสังคมนิยมเหมือนกัน แต่ในยุคสงครามเย็น พวกค่ายสังคมนิยมแตกเป็นสองฝ่าย คือ ฝ่ายนิยมสหภาพโซเวียตแลพวกโปรจีน (โดยที่สองฝ่ายนี้ทะเลาะกัน) เวียดนามนั้นโปรโซเวียตแถมยังรบกับจีนด้วยในช่วงหลังสงครามเวียดนาม
เวียดนามจึงรบกับทั้งสหรัฐฯ และจีน ดูจากมุมนี้จึงเหมือนจะมีน้ำหนักเท่ากันในทางการทูต แต่ถึงแม้ตอนนี้แม้จะไม่ได้รบกับใคร ความเสี่ยงที่จะปะทะกับจีนมันสูงกว่าเพราะ "กรณีพิพาทน่านน้ำทะเลจีนใต้"
ดังนั้น มีช่วงหนึ่งที่เวียดนามเผชิญหน้ากับจีนเรื่องน่านน้ำก็จะไปคลอเคลียกับสหรัฐฯ
นี่คือการอธิบายความซับซ้อนแบบเอาง่ายๆ ก่อน
มันยังมีแง่มุมที่ลึกลับซับซ้อนกว่านั้น
ย้อนกลับไปตอนที่ผมบอกว่าค่ายสังคมนิยมเคยแตกเป็นฝ่ายโปรโซเวียตกับฝ่ายนิยมจีน
ก่อนที่จะแตกคอกันนั้น โลกสังคมนิยมเป็นเนื้อเดียวกัน และมีแนวคิดช่วยเหลือกันและการในการผลักดัน "การปฏิวัติสังคมนิยม" ซึ่งหมายความว่าเวลามิตรสหายประเทศไหนต้องรบกับพวกศัตรู เช่น "จักรพรรดินิยมอเมริกัน" ในช่วงสงครามเวียดนาม (ตอนต้น) ประเทศสังคมนิยมรุ่นพี่ก็ต้องเข้าไปช่วย
โซเวียตเข้าไปช่วยแน่นอนอยู่แล้ว และยังช่วยเวียดนามไปจนถึงลาวจนกระทั่งในช่วงที่เกิดสมรภูมิร่มเกล้าและช่วงที่เวียดนามรุกรานกัมพูชาแล้วพยายามจะ "เข้ามา" ในไทย
ส่วนจีนนั้นก็เคยส่งกำลังทหารมาช่วยเวียดนามรบกับ "จักรพรรดินิยมอเมริกัน" เหมือนกัน และไม่ได้ส่งมาแค่ร้อยสองร้อยคน
เพียงแต่เวียดนามไม่ได้เอ่ยถึงเรื่องนี้เลย
นั่นก็เพราะหลังจากฝ่ายสังคมนิยมบ้านแตก เวียดนามก็เป็นศัตรูกับจีนแถมยังรบกันในปี 1979 (ไม่ใช่เพราะ "ลูกพี่" ของเวียดนามคือโซเวียตเท่านั้น แต่ยังเพราะเวียดนามรุกรานกัมพูชาในยุคเขมรแดง ซึ่งจีน "เป็นที่ปรึกษา" อยู่ในเวลานั้น)
หลังจากความบาดหมางครั้งนั้น เวียดนามก็พยายามเลี่ยงที่จะเอ่ยถึงการที่จีนเคยส่งกำลังมาช่วยรบกับพวกอเมริกัน
จนกระทั่งสองสามปีมานี้ จีนกับเวียดนามสนิทกันอีกครั้ง และก็เหมือนกับกรณีของสหรัฐฯ ที่เวียดนามทำเป็นลืมความขัดแย้งในอดีตเหมือนไม่เคยเกิดอะไรขึ้น
ที่น่าสนใจก็คือ ปีนี้เดือนนี้ยังเป็นวาระครบรอบ 50 ปีของการสิ้นสุดสงครามเวียดนาม ในบทความที่เผยแพร่ใน VietnamNet อันเป็นสื่อของทางการ ระบุเป็นครั้งแรกอย่างเปิดเผยว่า จีนเคยส่งกำลังทหารของกองทัพปลดแอกประชาชน (PLA) มาช่วยเวียดนาม โดยเฉพาะเวียดนามตอนเหนือมากถึง 300,000 นาย
ท่าทีนี้ไม่ใช่แค่ "สำนึกในบุญคุณ" ของจีนเท่านั้น แต่ยังเหมือนเวียดนามประนีประนอมอดีตของตนกับจีนได้อีกด้วย
ก่อนที่จีนจะซาบซึ้งใจ ถ้าลองดูท่าทีต่อมาของเวียดนามก็อาจจะรู้สึกกลืนไม่เข้าคายไม่ออก เพราะในขณะที่ยอมรับว่าจีนเคยส่งทหารมาช่วยรบกับพวกอเมริกัน ก็มีข่าวว่าเวียดนามสั่งซื้อเครื่องบินรบ F16 จากสหรัฐฯ ซะแล้ว
ข่าวล่าสุดปรากฎว่าเวียดนามกับสหรัฐฯ ดีลเรื่องนี้ได้แล้ว โดยเวียดนามจะซื้อ "ไม่น้อยกว่า 24 ลำ"
นี่ไม่ใช่เรื่องปกติ เพราะที่ผ่านมาเวียดนามเป็นลูกค้าหลักของค่ายโซเวียต/รัสเซีย ปัจจุบันใช้อาวุธรัสเซียถึง 80% และการซื้ออาวุธอเมริกันมันเป็นเรื่องทะแม่งๆ เพราะอาวุธอเมริกันเคยเอาไว้ฆ่าคนเวียดนามเป็นหมื่นเป็นแสนคนมาก่อน
เมื่อเทียบกับไทยที่ถูกมองว่าเป็น "มหามิตร" ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของสหรัฐฯ ในระยะหลังแม้เราจะ diversify เครื่องบินรบจากรุ่น F ของอเมริกันมาเป็นเครื่องบินรบจากประเทศอื่นๆ บ้าง แต่เรายังไม่เคย "ทรยศหลักการ" ด้วยการไปซื้อเครื่องบินรบรุ่น Su จากรัสเซียก็ฉันนั้น
การทำแบบเวียดนามจึงไม่เหมือนการ diversify คลังแสง แต่เหมือนพยายามถ่วงดุลที่ไม่มีชั้นเชิงอะไรเลย
ผมพยายามคิดว่า มันก็คงเหมือนกับกรณีที่เวียดนามประนีประนอมอดีตของตนกับจีนได้ เวียดนามก็สามารถประนีประนอมอดีตของตนกับสหรัฐฯ ได้เหมือนกัน
แต่เรื่องข้างต้นมันแปลกไปหน่อย
ผมไม่รู้จะเรียกท่าทีแบบนี้ว่าอะไรดี ระหว่าง Bamboo diplomacy หรือว่าเป็น forgive and forget ในทางประวัติศาสตร์ หรือว่าเป็นแค่การพยายามเอาตัวรอดไปวันๆ
บางคนอาจจะบอกว่า "ทำแบบนี้ก็ไม่ต่างจากไทยสักเท่าไหร่" ผมขอแย้งว่า "ต่าง" เพราะไทยไม่เคยผ่านความขัดแย้งรุนแรงแบบเวียดนาม เราเคยอยู่ในชายขอบของความขัดแย้งในยุคสงครามเย็น ดังนั้น เมื่อเกิดความผันแปรในการเมืองโลก เราจึงอยู่ในสถานะที่ง่ายและ "เนียน" กว่าในการปรับท่าที
เมื่ออเมริกัน "แพ้" ในเวียดนาม แล้ว "ทิ้ง" ไทยให้เผชิญกับความห้าวของเวียดนามเพียงลำพัง ไทยก็ปรับจุดยืนทางการทูตเพื่อไปคบกับจีน โดยที่ไทยก็ไมได้ทะเล่อทะท่าไปคบกับจีนแบบไม่มีปี่มีขลุ่ย แต่รอสหรัฐฯ แสดงท่าทีว่าจะหันไปคบจีนก่อน
ไทยมีประสบการณ์อะไรแบบนี้หลายครั้ง นับตั้งแต่ยุคล่าอาณานิคม ผ่านยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 จนยุคสงครามเย็น เราก็ทำแบบนี้เรื่อยมา เพราะเราเป็นประเทศเล็กที่ต้องดูทิศทางลมตลอดเวลา
ส่วนเวียดนามนั้นมีท่าที "แข็ง" มาตลอดประวัติศาสตร์โบราณ โดยเชิดชูตัวเองว่าเป็น "ความกล้าหาญในการท้าทายประเทศใหญ่" ซึ่งได้ผลบ้าง แต่ล้มเหลวก็มาก หาไม่แล้วเวียดนามคงไม่เคยตกเป็นส่วนหนึ่งของจีน และหาไม่แล้วคงไม่เคยตกเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส ทั้งหมดนี้เพราะ "แข็งกร้าว" และไม่ "ใช้การทูต"
อย่างกรณีซื้อ F16 จากสหรัฐฯ นั้นผมไม่คิดว่าจะเป็น "การทูต" เลย เป็นเรื่อง "แข็งกร้าว" เสียด้วยซ้ำ พิจารณาจากท่าทีของจีน เช่น หนังสือพิมพ์ Global Times ของทางการจีน ซึ่งอ้างคำพูดของนักวิเคราะห์ด้านการป้องกันประเทศของจีนว่า กรณีนี้คือ “เป้าหมายครอบงำของวอชิงตันในการปิดกั้นจีน” จะ “ก่อให้เกิดปัญหาที่ทำลายสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาค”
การซื้อ F16 จึงไม่ใช่ "ไผ่ลู่ลม" แต่จะกลายเป็น "ต้นไผ่เป็นเชื้อไฟเผาป่า" เสียแล้ว
โดยสรุปก็คือ เวียดนามมีท่าทีที่ "แข็ง" กว่าไทย ซึ่งเวียดนามนั้นแม้จะถูกผูกกับ Bamboo diplomacy ในระยะหลัง แต่เวียดนามยังขาดศิลปะในด้านนี้ ดังนั้น หลายๆ เรื่องจึงดูเคอะเขินและ "เหลือเชื่อที่จะทำ"
เช่น หลังจากถูกทรัมป์ขึ้นภาษี เวียดนามก็แสดงท่าที "ลู่ลม" ในทันทีเป็นประเทศแรกๆ จนถูกเย้ยว่า "คุกเข่า" ให้กับทรัมป์เร็วเกินไปแล้ว แถมพวกรัฐบาลทรัมป์ยังเมินเสียอีกโดยบอกว่า "ไร้ประโยชน์"
ยิ่งกรณีซื้อ F16 ด้วยแล้วในวันเดียวกับที่มีข่าวว่าเวียดนามกับสหรัฐฯ ปิดดีลนี้แล้ว กลับมีข่าวว่ารัฐบาลสหรัฐฯ ขึ้นภาษีโซลาร์เซลจากเวียดนามอัตราสูงสุดถึง 395.9%
ในโซเชียลมีเดียจึงมีบางคนเยอะเย้ยเวียดนามว่า อุตส่าห์ "คุกเข่า" ให้ทรัมป์เป็นรายแรก อุตส่าห์ให้สัมปทานโรงแรมกับสนามกอล์ฟให้ทรัมป์ อุตส่าห์ซื้อ F16 ก็แล้ว ก็ยังไม่มีค่าในสายตาของทรัมป์
การทำแบบนี้นอกจากจะล้มเหลวไม่เป็นท่าแล้ว ยังเสียศักดิ์ศรี และยังถูกคนจีนระแวงว่าพยายามอ้อนสหรัฐฯ ต่างๆ นานา แล้วก็คงจะหักหลังจีนในที่สุด "เพื่อเอาตัวเองให้รอด"
เมื่อสองสัปดาห์ก่อนยังมีข่าวว่าเวียดนามเตรียมกวาดล้างกิจการการส่งออกที่เป็นการช่วยบางประเทศ (ไม่ได้ระบุชื่อ แต่ก็ควรหมายถึงจีน) ในการหลีกเลี่ยงภาษีของสหรัฐฯ
สัปดาห์นี้โฆษกกระทรวงพาณิชย์ของจีนกล่าวในแถลงการณ์ว่า “การประนีประนอมจะไม่นำมาซึ่งสันติภาพ และการประนีประนอมจะไม่ได้รับความเคารพ” และบอกว่า “การแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัวชั่วคราวโดยไม่คำนึงถึงผลประโยชน์ของผู้อื่นนั้นเปรียบเสมือนการแสวงหาหนังเสือ”
จีนไม่ได้เอ่ยถึงประเทศไหน แต่จากคีย์เวิร์ดที่ว่า "ไม่ได้รับความเคารพ" ผมนึกถึงเวียดนามขึ้นมา และท่าทีที่จีนบอกนั้นตอนนี้มีเวียดนามประเทศเดียวที่ทำแบบนั้น
อีกกรณีที่ค่อนข้างชัดว่า "เวียดนามเตรียมชิ่งจากจีน" ก็คือ สีจิ้นผิง ผู้นำจีนมาเยือนเวียดนามไม่ทันไร ไม่กี่วันต่อมา นายกฯ เวียดนามกลับไปย้ำว่าความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ นั้น "พิเศษ" คงเพราะได้ยินทรัมป์บอกว่าการเยือนสีจิ้นผิงนั้นเหมือนการสมคบกันเล่นงานสหรัฐฯ
ในทัศนะของผม แบบนี้ไม่ใช่ไผ่ลู่ลม แต่เหมือน "กล้บไปกลับมา"
แต่หลังจากนายกฯ เวียดนามพูดเอาใจสหรัฐฯ แบบนี้ได้ไม่กี่วัน นอกจากจะถูกขึ้นภาษีแผงโซลาร์แล้ว ยังมีรายงานว่ารัฐบาลสหรัฐฯ สั่งห้ามเจ้าหน้าที่ทูตอาวุโสเข้าร่วมงานรำลึก 50 ปีของการสิ้นสุดสงครามเวียดนาม ทั้งๆ ที่รอกันมานานหลายเดือนโดยหวังว่าสหรัฐฯ จะส่ง "ผู้ใหญ่" มาร่วมงาน เพราะมันจะสะท้อนว่า "เราคืนดีกันแล้ว"
แต่นอกจากจะไม่รู้สึกคืนดีแล้ว สหรัฐฯ ยัง "ลงโทษ" เวียดนามหนักกว่าเดิมอีก"
การลู่ลมของเวียดนามจึงเป็นการเปลี่ยนท่าทีแบบกระโดกกระดาก ซึ่งดูไม่ยืดหยุ่นเอาเลย และทำให้อีกฝ่ายตอบโต้แรงๆ ทำให้ผมนึกถึงต้นไผ่ในเมืองจีนตอนฤดูใบไม้ผลิ ซึ่งมักจะเกิดพายุน้ำแข็งบ่อยๆ
ตามปกติต้นไผ่จะโยกไปมาเวลาเจอพายุ ทำให้ไม่หักโค่นลงมา นี่คือมโนทัศน์ของ Bamboo diplomacy
แต่เวลาเกิดพายุน้ำแข็ง มันจะเกิดมวลน้ำแข็งเกาะตามใบต้นไผ่ ทำให้น้ำหนักเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัวจนกระทั่งลำต้นไผ่ค่อยๆ โค้งจรดพื้น กระทั่งถึงจุดที่ลำต้นทานไม่ไหว และหักลงกลางลำ เป็นแบบนี้ทั้งป่า
นี่คือช่องโหว่ที่จะทำให้ความลู่ลมหมดสภาพ
ภาวะแบบนี้ยังเกิดกับต้นสนเช่นกัน เป็นที่ทราบกันว่าต้นสนเป็นพวก evergreen หรือใบสดตลอดเวลาไม่ร่วงเพราะลมหนาว ดังนั้นมันจึงเป็นสัญลักษณ์ของความทนทาน
แต่หากเกิดพายุน้ำแข็งแล้วใบเขียวนั้นเริ่มมีน้ำแข็งเคลือบจนเกิดน้ำหนักมหาศาลไปทั้งต้น ต้นสนที่ว่าแน่ๆ ก็หักลงทั้งป่าได้เหมือนกัน
ดังนั้น การลู่ลมอาจจะไมได้ผล ถ้าขาดทักษะในการ "สลัดใบ" ก่อนที่แรงกดดันมหาศาลจากภายนอกจะเข้ามายึดกุมเอาไว้
"ต้นไผ่" อย่างเวียดนามในตอนนี้กำลังเจอกับแรงกดดันมหาศาลจากทุกฝ่าย ยังไม่นับภาวะ "พายุน้ำแข็ง" ที่จะเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ เช่น กรณีพิพาทน่านน้ำทะเลจีนใต้ก็พร้อมจะเป็นประเด็นคอขาดบาดตายกับจีนได้ทุกเมื่อ
ส่วนกับสหรัฐฯ นั้น เวียดนามไม่สามาถลู่ลมกับทรัมป์ได้ เพราะเห็นแล้วว่าไม่ได้ผล ราวกับว่ารัฐบาลทรัมป์ต้องการ "ปลดปล่อยพายุน้ำแข็ง" เพื่อทำลาย "ไผ่เวียดนาม" ด้วยซ้ำ คงเพราะเห็นว่าเวียดนามเป็น "ตัวช่วยด้านการค้า" ให้จีน
ในทัศนะของผม ในภาวการณ์เช่นนี้ มีแต่จะต้องร่วมมือกันเพื่อสร้าง "พันธมิตรแนวราบ" เพื่อต้านทานมหาอำนาจเท่านั้น การจะคิด "โชว์เดี่ยว" มีโอกาสพังสูง
บทความทัศนะโดย กรกิจ ดิษฐาน ผู้ช่วยบรรณาธิการบริหาร และบรรณาธิการข่าวต่างประเทศ The Better
Photo - ประธานาธิบดี เลือง เกื่อง แห่งเวียดนาม (ขวา) และประธานาธิบดีสีจิ้นผิงของจีน จับมือกันที่ทำเนียบประธานาธิบดีในฮานอย เมื่อวันที่ 15 เมษายน 2025 (ภาพโดย Minh Hoang / POOL / AFP)