ปมสังหารหมู่'กัศมีร์'กับความร้าวฉานระหว่างอินเดียกับปากีสถาน

ปมสังหารหมู่'กัศมีร์'กับความร้าวฉานระหว่างอินเดียกับปากีสถาน

หลังจากเกิดเหตุโจมตีพลเรือนใน 'กัศมีร์' หรือแคว้นแคชเมียร์จนมีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก นอกจการประกาศไล่ล่าผู้ก่อเหตุแล้ว ทางการอินเดียใช้มาตรการทางการทูตลงโทษปากีสถานหลายมาตรการ โดยกล่าวหารัฐบาลปากีสถานว่าสนับสนุนการก่อการร้ายข้ามพรมแดน 

เมื่อวันอังคาร เกิดเหตุมือปืนสังหารชาย 26 คน เกือบทั้งหมดเป็นชาวอินเดีย ยกเว้นชาวเนปาล 1 คน นับเป็นการโจมตีพลเรือนที่นองเลือดที่สุดในรอบ 25 ปีในกัศมีร์ อันเป็นแคว้นแถบเทือกเขาหิมาลัย และเป็นพื้นที่ก่อกวนของกลุ่มแบ่งแยกดินแดน และมีความขัดแย้งระหว่างชนพื้นถิ้นชาวมุสลิมและรัฐบาลชาตินิยมฮินดู โดยที่ยังมีปัญหาการแย่งดินแดนระหว่างปากีสถานและอินเดียอีกด้วย

นอกจากนี้ อินเดียยังกล่าวหาว่า ปากีสถานอยู่เบื้องหลังกลุ่มแบ่งแยกดินแดนที่ทำการการโจมตีในพื้นที่กัศมีร์อยู่เนืองๆ

แต่ครั้งนี้ต่างออกไป การสังหารดังกล่าวสร้างความตกตะลึงให้กับรัฐบาลอินเดีย เนื่องจากเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในการโจมตีพลเรือนและอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่สำคัญของพื้นที่ แทนที่จะเป็นการโจมตีกองกำลังรักษาความปลอดภัยของอินเดียในระดับเล็กกว่า ซึ่งเกิดขึ้นบ่อยครั้งกว่า

นายกรัฐมนตรีอินเดีย นเรนทรา โมดี ให้คำมั่นว่าผู้ที่รับผิดชอบต่อ "การกระทำอันชั่วร้าย" ครั้งนี้จะต้องถูกดำเนินคดี

"แผนการชั่วร้ายของพวกเขาจะไม่มีวันประสบความสำเร็จ" โมดีกล่าวไม่นานหลังจากการโจมตี

การโจมตีดังกล่าวทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนบ้าน คืออินเดียและปากีสถานที่ต่างก็ครอบครองอาวุธนิวเคลียร์มาถึงจุดดิ่งลงสู่ระดับที่เลวร้ายที่สุดในรอบหลายปี และบางคนเกรงว่าการโจมตีทางการทูตของรัฐบาลอินเดียอาจเป็นเพียงขั้นตอนแรกในหลายขั้นตอน และยังคงมีความเสี่ยงที่อาจเกิดการใช้กำลังทหารอีกด้วย

มาตรการของอินเดีย ซึ่งรวมถึงการระงับสนธิสัญญาแบ่งปันน้ำที่สำคัญและการปิดจุดผ่านแดนทางบกหลักในกัศมีร์ เกิดขึ้นหนึ่งวันหลังจากมือปืนสังหารนักท่องเที่ยวในพื้นที่พิพาทที่อินเดียเป็นผู้ควบคุม

รองนายกรัฐมนตรีปากีสถาน อิชฮัก ดาร์ กล่าวว่าปากีสถานจะ "ตอบโต้" มาตรการของอินเดีย

"มีความเสี่ยงร้ายแรง"
การโจมตีเมื่อวันอังคารเกิดขึ้นในขณะที่นักท่องเที่ยวกำลังเพลิดเพลินกับทิวทัศน์ภูเขาที่เงียบสงบในสถานที่ยอดนิยมที่พาฮาลกัม เมื่อมือปืนบุกออกมาจากป่าและกราดยิงฝูงชนด้วยอาวุธอัตโนมัติ

ไม่มีกลุ่มใดอ้างความรับผิดชอบต่อการโจมตีในภูมิภาคที่มีชาวมุสลิมเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งกลุ่มกบฏได้ก่อกบฏมาตั้งแต่ปี 1989 เพื่อเรียกร้องเอกราชให้กักัศมีร์หรือนำกัศมีร์รวมเข้ากับปากีสถาน

อินเดียดูเหมือนจะกำลังชี้นิ้วไปที่เพื่อนบ้านอย่างปากีสถานว่ามีส่วนเกี่ยวข้อง

เมื่อวันพุธที่ผ่านมา วิกรม มิซรี รัฐมนตรีต่างประเทศอินเดียได้อ่านรายงานการดำเนินการต่างๆ ต่อปากีสถาน

มาตรการต่างๆ รวมถึงการระงับสนธิสัญญาน่านน้ำสินธุปี 1960 เพื่อแบ่งปันน้ำสำคัญจากแม่น้ำสาขาของเทือกเขาหิมาลัย "จนกว่าปากีสถานจะปฏิเสธการสนับสนุนการก่อการร้ายข้ามพรมแดนอย่างน่าเชื่อถือและไม่อาจเพิกถอนได้" มิซรีกล่าวกับผู้สื่อข่าวในกรุงนิวเดลี

รวมถึงการปิดจุดผ่านแดนทางบกหลักและการลดเจ้าหน้าที่ทางการทูต รวมถึงการถอนเจ้าหน้าที่อินเดียหลายคนออกจากอิสลามาบัดและสั่งให้ชาวปากีสถานกลับบ้าน

ไมเคิล คูเกลแมน นักวิเคราะห์กล่าวว่าการโจมตีครั้งนี้ "มีความเสี่ยงร้ายแรงอย่างยิ่งที่จะเกิดวิกฤตครั้งใหม่ระหว่างอินเดียและปากีสถาน และอาจเป็นความเสี่ยงร้ายแรงที่สุดที่จะเกิดวิกฤตนับตั้งแต่ความขัดแย้งทางทหารในช่วงสั้นๆ ที่เกิดขึ้นในปี 2019"

'มันเลวร้าย'
อินเดียและปากีสถานกล่าวหากันมานานแล้วว่าสนับสนุนกองกำลังเพื่อก่อความไม่สงบซึ่งกันและกัน และนิวเดลีกล่าวว่าอิสลามาบัดสนับสนุนมือปืนที่อยู่เบื้องหลังการก่อความไม่สงบ

รัฐบาลปากีสถานปฏิเสธข้อกล่าวหานี้ โดยระบุว่าสนับสนุนเพียงการต่อสู้เพื่อการกำหนดชะตากรรมของตนเองของกัศมีร์เท่านั้น

เมื่อวันพุธ กระทรวงต่างประเทศของปากีสถานได้แสดงความเสียใจต่อผู้ใกล้ชิดกับผู้เสียชีวิต

หลังจากอินเดียใช้มาตรการทางการทูต ปากีสถานกล่าวว่าจะเรียกประชุมคณะกรรมการความมั่นคงแห่งชาติ ซึ่งประกอบด้วยเจ้าหน้าที่พลเรือนและทหารระดับสูง และจะเรียกประชุมเฉพาะในสถานการณ์พิเศษเท่านั้น

“คณะกรรมการความมั่นคงแห่งชาติจะหารือเกี่ยวกับมาตรการทั้งหมด และจะให้การตอบสนองอย่างครอบคลุม” คาวาจา อาซิฟ รัฐมนตรีกลาโหม กล่าวกับสื่อท้องถิ่น

อินเดียพยายามหาทางออกจากข้อตกลงน้ำมาหลายปีแล้ว และตอนนี้ต้องการ “ใช้เหตุการณ์นี้มาเป็นข้ออ้างในการออกจากสนธิสัญญานี้ ซึ่งเราขอประณาม” อาซิฟกล่าว

เมื่อวันพุธ รอยเลือดยังคงปรากฏให้เห็นบนสนามหญ้าที่เกิดเหตุฆาตกรรม ขณะที่เจ้าหน้าที่นิติเวชกำลังรวบรวมหลักฐาน

อินเดียมีทหารประจำการอยู่ประมาณ 500,000 นายในพื้นที่ดังกล่าว แต่การสู้รบเริ่มคลี่คลายลงตั้งแต่รัฐบาลของโมดีเพิกถอนอำนาจปกครองตนเองที่จำกัดของแคชเมียร์ในปี 2019 ซึ่งเป็นการเคลื่อนไหวที่ควบคู่ไปกับการปราบปรามฝ่ายต่อต้าน

การโจมตีพลเรือนครั้งรุนแรงที่สุดก่อนหน้านี้คือในปี 2000 เมื่อมีชาวอินเดียเสียชีวิต 36 รายในช่วงก่อนหน้าการเยือนของบิล คลินตัน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในขณะนั้น

การโจมตีที่เลวร้ายที่สุดในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาคือที่ปูลวามาในปี 2019 เมื่อกลุ่มกบฏพุ่งชนรถที่บรรทุกวัตถุระเบิดเข้าไปในขบวนรถตำรวจ ทำให้มีผู้เสียชีวิต 40 รายและบาดเจ็บ 35 ราย

Agence France-Presse

Photo - ภรรยาของ ซามีร์ กูฮา (ตรงกลาง)  นักท่องเที่ยวชาวอินเดียที่ถูกกลุ่มคนร้ายยิงเสียชีวิตเมื่อวันก่อนที่สถานที่ท่องเที่ยวในกัศมีร์ หรือแคชเมียร์ กำลังไว้อาลัยในงานศพของสามีของเธอซึ่งอยู่ใกล้กับบ้านของพวกเขาในโกลกาตาเมื่อวันที่ 23 เมษายน 2025 กองกำลังความมั่นคงของอินเดียในกัศมีร์กำลังดำเนินการล่าตัวครั้งใหญ่เมื่อวันที่ 23 เมษายน หนึ่งวันหลังจากที่กลุ่มคนร้ายยิงนักท่องเที่ยวและสังหารผู้คนอย่างน้อย 26 รายในการโจมตีพลเรือนที่เลวร้ายที่สุดในภูมิภาคนี้ในรอบ 25 ปี (ภาพโดย DIBYANGSHU SARKAR / AFP)

TAGS: #อินเดีย #ปากีสถาน #กัศมีร์ #แคชเมียร์