ป้ายชื่อสถานีสวยแค่ไหน ก็ไม่สำคัญเท่าป้ายนำทางผู้โดยสาร
ญี่ปุ่นขึ้นชื่อว่าเป็นชาติที่มีระบบขนส่งทางรางอันทันสมัย ครอบคลุม และซับซ้อนที่สุดแห่งหนึ่งของโลก กรุงโตเกียวเป็นที่ตั้งของสถานีรถไฟฟ้าที่พลุกพล่านที่สุดแห่งหนึ่งของโลก แต่ถึงกระนั้นคลื่นผู้โดยสารที่เดินทางมายังกรุงโตเกียวก็ยังคงราบรื่นอย่างน่าประหลาดใจ หนึ่งในฟังกชั่นที่มีประสิทธิภาพที่สุดของระบบรถไฟฟ้าญี่ปุ่นคือ สัญลักษณ์หรือป้ายบอกทางที่โดดเด่น มีความชัดเจน และเข้าใจง่ายซึ่งเป็นตัวช่วยชั้นดีที่ให้ผู้โดยสารสามารถเชื่อมต่อการเดินทางได้อย่างไม่สับสน
อย่างไรก็ตาม บางสถานีก็มีข้อจำกัดเรื่องพื้นที่ ตลอดจนป้ายโฆษณาภายในสถานี ทำให้เมื่อเดือนมีนาคม 2022 สถานีฟุชูฮอมมาจิจุดเชื่อมต่อระหว่างเส้นทางสายนัมบะ และมุสะชิโนะ ได้ออกแบบป้ายบอกทางภายในสถานีโดยการใช้เทคนิคทางศิลปะออกแบบป้ายลอยแบบ 3 มิติ แปะบนทางเดินในสถานี
บริษัทรถไฟญี่ปุ่นตะวันออก (East Japan Rail) ผู้ดูแลเส้นทางรถไฟสายนี้เผยว่า พวกเขาได้ไอเดียการออกแบบป้ายจากการสังเกตพฤติกรรมผู้โดยสาร ที่มักเดินก้มหน้ามองทางบนพื้นมากกว่ามองป้ายด้านบน ตลอดจนพฤติกรรมการใช้อุปกรณ์สมาร์ทโฟน ดังนั้นการใช้ป้าย 3 มิติบนพื้น จะทำให้ผู้โดยสารเห็นเส้นทางได้อย่างเด่นชัด โดยไม่ต้องเงยหน้ามองป้ายด้านบน ซึ่งอาจเสี่ยงต่ออุบัติเหตุบางประการ
อีกจุดประสงค์คือ ป้ายเหล่านี้เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้โดยสารไปผิดเส้นทางซึ่งจะยิ่งทำให้ผู้โดยสารเสียเวลาในการเดินทาง รวมถึงการแบ่งสีอย่างชัดเจนเพื่อผู้โดยสารทบทวนก่อนเดินผ่านประตูออกไป อาทิ ป้ายหยุด ที่ใช้สีแดงสด หรือป้ายทางออกที่ใช้สีเขียว
เจ้าหน้าที่ของ JR East ยังเผยว่า ป้ายเหล่านี้มีต้นทุนน้อยกว่าการทำป้ายแบบถาวรบนเพดาน อีกทั้งสามารถปรับเปลี่ยนได้ง่ายในอนาคต หากมีการพัฒนาเส้นทางรถไฟฟ้าในอนาคต "ผู้โดยสารเดินทางเปลี่ยนเส้นทางรถไฟฟ้าได้อย่างราบรื่นมากขึ้น ป้ายนี้ได้พิสูจน์แล้วว่ามีประสิทธิภาพและคุ้มค่าในการแก้ปัญหางงเส้นทางของผู้โดยสารได้อย่าง จำนวนผู้โดยสารที่เข้ามาสอบถามเส้นทางน้อยลงในระยะเวลา 1 เดือนหลังติดตั้งป้ายลักษณะนี้"
เช่นเดียวกับที่สถานีคุวานะ ในจังหวัดมิเอะ และสถานีรถไฟประจำสนามบินฮาเนดะ ก็นำแนวคิดเดียวกันนี้ไปใช้บอกเส้นทางเพื่อความสะดวกของผู้โดยสารเช่นกัน
รูปภาพ
ภาพ : Fuchu Honmachi Station