ซินหัว' มองทัวร์จีนที่หลั่งไหลเข้าไทย เป็นความหวังให้ช่วยฟื้นการท่องเที่ยวฟื้นเศรษฐกิจกลับมาคึกคักอีกครั้ง
เว็บไซต์สำนักข่าวซินหัว เผยแพร่รายงานว่า หลังจากเผชิญภาวะหยุดชะงักนาน 3 ปี ไทยพร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยวจีนกลับสู่หาดทรายสีทอง วัดวาอารามงามงด และศูนย์การค้าสุดหรูอีกครั้ง โดยคาดว่านักท่องเที่ยวจีนที่หลั่งไหลเข้าประเทศจะช่วยฟื้นฟูภาคการท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดใหญ่ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19)
หลิวหลิงหลิง นักท่องเที่ยวจากนครอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ยทางตอนกลางของจีน ซึ่งวางแผนใช้เวลาช่วงวันหยุดตรุษจีนในไทย กล่าวว่าการเดินทางครั้งนี้ถือเป็นการเดินทางไปต่างประเทศครั้งแรกของครอบครัวตั้งแต่มีการระบาดใหญ่ โดยทุกคนตื่นเต้นและมีความสุขมาก รวมทั้งรู้สึกได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นในไทยด้วย
หลิวมีแผนเดินทางไปภาคใต้ของไทยพร้อมกับครอบครัวเพื่อพักที่รีสอร์ตริมทะเล หลังจากใช้เวลาในกรุงเทพฯ 2-3 วัน โดยเธอเป็นหนึ่งในกลุ่มนักท่องเที่ยวจีนที่เลือกไทยเป็นจุดหมายปลายทางสำหรับเดินทางไปต่างประเทศครั้งแรก นับตั้งแต่ยุทธศาสตร์การรับมือโรคโควิด-19 ฉบับปรับปรุงของจีนมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 8 ม.ค.
เมื่อ 9 ม.ค. ซึ่งเป็นวันที่สองหลังจากการปรับยุทธศาสตร์ของจีน อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขของไทย พร้อมเจ้าหน้าที่อาวุโสคนอื่นๆ ร่วมให้การต้อนรับนักท่องเที่ยวจีนกลุ่มแรกที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิด้วยดอกไม้และของขวัญ
บรรดานักวิเคราะห์กล่าวว่าการจัดงานระดับสูงนี้สะท้อนความสำคัญที่ไทยมีต่อการดึงดูดนักท่องเที่ยวจีนกลับสู่ประเทศ เพื่อช่วยส่งเสริมอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ
ขณะเดียวกัน บรรยากาศช่วงเทศกาลตรุษจีนแผ่อบอวลทั่วย่านใจกลางกรุงเทพฯ โดยห้างสรรพสินค้าต่างๆ พร้อมใจประดับประดาสิ่งตกแต่งกลิ่นอายเทศกาลตรุษจีน เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวจีนที่หลั่งไหลเข้าไทยในช่วงวันหยุด “สัปดาห์ทอง” (Golden Week) ครั้งแรก หลังจากจีนปรับมาตรการรับมือโรคโควิด-19
ถนนเยาวราชความยาว 200 เมตร ถูกประดับประดาด้วยแสงสีและโคมไฟหลายรูปแบบ เพื่อเฉลิมฉลองวันตรุษจีนซึ่งปีนี้ตรงกับวันที่ 22 ม.ค. และเป็นวันแรกของปีเถาะหรือปีกระต่าย ซึ่งณัฐพร เชฟร้านอาหารบนถนนเยาวราช เชื่อว่าจะเป็นปีที่เต็มไปด้วยความคึกคักและเจริญรุ่งเรือง
ณัฐพรบอกเล่าว่าทางร้านกักตุนวัตถุดิบอาหารสำหรับช่วงเทศกาลตรุษจีนแล้ว ซึ่งมักเป็นเวลาที่ดึงดูดลูกค้าต่างชาติจำนวนมาก พร้อมเสริมว่านักท่องเที่ยวจีนถือเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลักของไทย พวกเขากลับมาแล้วในปีนี้ และผมคิดว่าธุรกิจของเราจะกลับมาดีเหมือนช่วงก่อนการระบาดใหญ่
ด้านกลุ่มสายการบิน โรงแรม ร้านอาหาร และผู้ประกอบการการท่องเที่ยวอื่นๆ ต่างเฝ้ารอต้อนรับนักท่องเที่ยวจีนเพิ่มขึ้นในปีนี้เช่นกัน
วิชัย (Wichai Kinchong Choi) รองประธานอาวุโสของธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่าการกลับมาของนักท่องเที่ยวจีนได้เพิ่มความหวังต่อการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในไทยและนานาประเทศทั่วโลก
ปิติ ดิษยทัต เลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย ระบุว่าภาคการท่องเที่ยวไทยจะฟื้นตัวรวดเร็วขึ้นเพราะการกลับมาของนักท่องเที่ยวจีน ขณะเศรษฐกิจไทยจะได้รับแรงสนับสนุนจากการท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชนที่ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ รัฐบาลไทยคาดการณ์ว่าจะมีนักท่องเที่ยวจีนเดินทางเยือนประเทศระหว่าง 7-10 ล้านคนในปี 2023 โดยแบ่งเป็น 300,000 คนในช่วงไตรมาสแรก
กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาของไทยระบุว่า ไทยต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติมากกว่า 2.24 ล้านคนหากนับเฉพาะเดือนธันวาคม 2022 เทียบกับจำนวนนักท่องเที่ยวตลอดปี 2021 ซึ่งอยู่ที่ 428,000 คน ทำให้ยอดนักท่องเที่ยวต่างชาติปีที่แล้วสูงถึง 11.15 ล้านคน
อย่างไรก็ดี ตัวเลขดังกล่าวยังคงน้อยกว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 2019 ซึ่งอยู่ที่เกือบ 40 ล้านคน โดยนักท่องเที่ยวจีนครองสัดส่วนมากกว่า 1 ใน 4 ของจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งหมด
ชนะพันธ์ แก้วกล้าไชยวุฒิ อุปนายกสมาคมผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวสัมพันธ์ไทย-จีน กล่าวกับสำนักข่าวซินหัวว่าโรคระบาดใหญ่ทำให้เราตระหนักถึงความสำคัญของนักท่องเที่ยวจีนซึ่งมีกำลังการใช้จ่ายสูง และมีส่วนช่วยขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทย ทั้งเผยว่ามีนักท่องเที่ยวจากหลายประเทศและภูมิภาคมาเยือนไทย ทว่าการหายไปของกลุ่มนักท่องเที่ยวจีนนั้นหมายถึงการขาดแรงผลักดันการเติบโต
ชนะพันธ์ระบุว่า ไทยอาจใช้เวลาเพื่อการฟื้นตัวอย่างเต็มรูปแบบและเรารู้สึกตื่นเต้นที่ได้เห็นการกลับมาของนักท่องเที่ยวจีน โดยคาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวจีนเข้ามามากขึ้น หลังจากจีนหวนจัดการเดินทางแบบหมู่คณะขาออกนอกประเทศอีกครั้งในเดือนถัดไป
ชนะพันธ์ทิ้งท้ายว่า ไทยได้เตรียมพร้อมในหลายด้านเพื่อต้อนรับการกลับมาของนักท่องเที่ยวจีน ซึ่งรวมถึงการเพิ่มผลิตภัณฑ์การท่องเที่ยวที่หลากหลาย การนำเสนอผลิตภัณฑ์ระดับไฮเอนด์มากยิ่งขึ้น และการปรับปรุงคุณภาพของสินค้าและบริการ