บลูมเบิร์กตีข่าว ไทยเสี่ยงเจอภาคธุรกิจย้ายฐานออกนอกประเทศ หากพรรคที่ชนะเลือกตั้งทำตามหาเสียง ขึ้นค่าแรงแจกเงินประชาชน
เว็บไซต์สำนักข่าวบลูมเบิร์ก เผยข้อมูลจากบรรดากลุ่มอุตสาหกรรมในไทยว่า ประเทศไทยอาจเผชิญกับภาวะภาคธุรกิจย้ายออกจากประเทศ หากพรรคการเมืองที่ชนะเลือกตั้งทำตามนโยบายที่หาเสียงไว้หลายประการ รวมถึงนโยบา การขึ้นค่าแรงตลอดจนการแจกจ่ายเงินให้แก่ประชาชนเป็นจำนวนมาก
รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เผยกับบลูมเบิร์กว่า ไทยเพิ่มขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเฉลี่ย 5% ในปี 2565 ดังนั้นการปรับเพิ่มค่าจ้างขึ้นต่ำ แม้จะเป็นผลดีต่อแรงงานไทยแต่ก็อาจจำกัดความสามารถในการแข่งขั้นของไทยโดยเฉพาะในการแข่งขันกับเวียดนาม ซึ่งมีต้นทุนการผลิตที่ถูกกว่ามาก โดยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยเป็นตัวแทนของบริษัทที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับการผลิตยานยนต์ ปิโตรเคมี และชิป
ไทยเคยเป็นแหล่งผลิตที่สำคัญในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ปัจจุบันกำลังพ่ายแพ้ให้กับเวียดนามและอินโดนีเซียที่มีศักยภาพดึงดูดการลงทุนจากกลุ่มบริษัทขนาดใหญ่ที่กำลังย้ายฐานออกจากจีน สาเหตุหลักนอกจากเรื่องข้อพิพาทการค้าระหว่างสหรับแล้ว ก็เป็นเพราะค่าจ้างแพงและเผชิญกับภาวะแรงงานสูงอายุ ยิ่งไทยกำลังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของการมีโอกาสเปลี่ยนขั้วการเมือง ขณะที่บรรดากลุ่มพรรคการเมืองต่างใช้นโยบายหาเสียงประชานิยมอย่างคึกคักเพื่อหวังขอคะแนนเสียงจากผู้มีสิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้ง เช่น การขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำรายวัน 70%, การรับประกันเงินเดือนขั้นต้นสำหรับผู้จบการศึกษาระดับปริญญาตรี, การพักชำระหนี้สำหรับเกษตร และการลดค่าไฟฟ้าก่อนการเลือกตั้ง
นั่นทำให้บรรดาภาคธุรกิจต่างกังวลว่า นโยบายประชานิยมเหล่านี้อาจส่งผลกระทบในระยะยาว โดยเฉพาะบริษัทต่างยังไม่ฟื้นตัวอย่างเต็มที่จากผลกระทบของโควิด-19 เศรษฐกิจไทยก็อาจได้รับผลกระทบ หากนโยบายประชานิยมถูกนำมาใช้จริง รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวกับบลูมเบิร์กว่า "เรากังวลเรื่องความสามารถในการแข่งขันของไทย โดยเฉพาะกับเวียดนามที่เป็นคู่แข่งสำคัญ ซึ่งมีต้นทุนค่าแรงที่ถูกกว่ามาก ขณะเดียวกันการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำก็อาจกระตุ้นให้เกิดการย้ายโรงงานผลิตออกจากไทยได้เช่นกัน"
สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศ (TDRI) เผยว่า หากรัฐบาลชุดใหม่ชูนโยบายประชานิยมและใช้จ่ายงบประมาณอย่างสุรุยสุร่าย อาจผลักดันให้เกิดเงินเฟ้อจากอุปสงค์ ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อพุ่งขึ้นอีกครั้ง หลังจากเพิ่งชะลอตัวลงจากระดับสูงสุดในรอบ 14 ปีเมื่อปีที่แล้ว เมื่อเป็นเช่นนั้น ธนาคารแห่งประเทศไทย ก็อาจขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายรอบใหม่ ซึ่งจะยิ่งเพิ่มต้นทุนทางการเงินและภาระหนี้ครัวเรือนพุ่งสูงขึ้นอีก จากเดิมที่ไทยเป็นชาติที่ประชากรมีภาระการครัวเรือนสูงอันดับต้นๆ ในเอเชียอยู่แล้ว
TDRI คาดการณ์ว่า นโยบายประชานิยมสำคัญ 3 อันดับแรกของพรรคการเมืองแถวหน้า 3 พรรคที่มีคะแนนนิยมสูง คิดเป็นเงินกว่า 1 ล้านล้านบาท (3 หมื่นล้านดอลลาร์) ซึ่งจะทำให้ต้องใช้จ่ายงบประมาณเพิ่มมากขึ้นจนนำไปสู่ภาวะขาดดุลงบประมาณเพิ่มมากขึ้น โดยหนี้สาธารณะที่สูงขึ้นอาจเสี่ยงกระทบต่ออันดับความน่าเชื่อถือของไทย