เศรษฐกิจถั่วเหลืองบราซิล ความมั่งคั่งจากแดนอาทิตย์อุทัย

เศรษฐกิจถั่วเหลืองบราซิล ความมั่งคั่งจากแดนอาทิตย์อุทัย
บราซิลชาติส่งออกถั่วเหลืองเบอร์ต้นของโลก ความมั่งคั่งจากปัญหาขาดสารอาหาร สู่เศรษฐกิจอันเฟื่องฟูแต่แลกด้วยธรรมชาติถูกรุกราน

บราซิลได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในประเทศกลุ่มตลาดเกิดใหม่ (Emerging Market) ที่น่าจับตามองจากปัจจัยทางเศรษฐกิจหลายประการที่หนุนให้ GDP บราซิล เติบโตอย่างต่อเนื่องแม้ทั่วโลกเสี่ยงเผชิญภาวะความผันผวนไม่แน่นอน บราซิลได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในชาติผู้ส่งออกสินค้าทางการเกษตรที่สำคัญของโลกหนึ่งในนั้นคือ ถั่วเหลือง (Soybeans) 

ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มีข่าวการปรับขึ้นราคานมถั่วเหลืองจากต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นหลายปัจจัย ถั่วเหลืองก็เป็นหนึ่งในสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับราคาสูงขึ้้นเช่นกัน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: ถั่วเหลือง’ รอบ 4 ปีราคาพุ่งเฉียด 30% ‘ตัวการ’ต้นทุนนมถั่วเหลืองขยับตาม

บราซิลเป็นหนึ่งในชาติเบอร์ต้น ๆ ของโลกที่เป็นผู้ส่งออกถั่วเหลืองตีคู่กับสหรัฐอเมริกา สำหรับอุตสาหกรรมถั่วเหลืองในบราซิลมีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศ เนื่องจากสภาพอากาศที่เอื้ออำนวย ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีด้านการเกษตร และนโยบายของรัฐบาลที่สนับสนุน

ถั่วเหลืองเป็นพืชที่เเติบโตได้ในอากาศเขตร้อน บราซิลมีสภาพอากาศที่เหมาะสำหรับการปลูกพืชพร้อมกับขนาดพื้นที่มหาศาล สภาพอากาศที่เอื้ออำนวยต่อการเจริญเติบโตฃ ในช่วงสองสามทศวรรษที่ผ่านมา บราซิลได้ลงทุนอย่างมากในการวิจัยและพัฒนาเพื่อปรับปรุงผลผลิตพืชผลและลดต้นทุนการผลิต

สิ่งนี้นำไปสู่การเพิ่มการผลิตและการส่งออกถั่วเหลืองที่ทำให้บราซิลเป็นหนึ่งในผู้ผลิตและผู้ส่งออกชั้นนำของโลก ในปี 2020 ถั่วเหลืองคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 30% ของการส่งออกสินค้าเกษตรทั้งหมดที่บราซิลส่งออก มีมูลค่าประมาณ 2% ของ GDP ของประเทศ อุตสาหกรรมถั่วเหลืองยังมีการจ้างงานผู้คนจำนวนมากทั้งทางตรงและทางอ้อม และช่วยกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจในพื้นที่ชนบท

 

ถั่วเหลือง บราซิล

พืชจากญี่ปุ่นเพื่อปัญหาขาดสารอาหาร

บราซิลเป็นเพียงไม่กี่ชาติในแถบละตินอเมริกาที่ชาวญี่ปุ่นอพยพเข้าไปอาศัยจำนวนมากช่วง ศตวรรษที่1900 ถั่วเหลืองถูกนำเข้ามาในบราซิลครั้งแรกช่วงปี ค.ศ.1920 โดยผู้อพยพชาวญี่ปุ่นเพื่อเป็นแหล่งโปรตีนสำหรับแก้ปัญหาการขาดสารอาหารในเวลานั้น ทำให้ในอดีตบราซิลปลูกถั่วเหลืองเพื่อการบริโภคภายในประเทศเป็นหลัก จนกระทั่งช่วงปี 1960 จนถึง 1970 ถั่วเหลืองเริ่มได้รับความนิยมในฐานะพืชเชิงพาณิชย์ทั้งในแง่อาหารสำหรับมนุษย์และสำหรับปศุสัตว์ รัฐบาลเริ่มส่งเสริมการส่งออกถั่วเหลืองเพื่อเป็นช่องทางในการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ ส่งผลให้การผลิตและการส่งออกถั่วเหลืองเพิ่มขึ้นอย่างมาก

ช่วงปี 1990 การส่งออกถั่วเหลืองของบราซิลพุุ่งทะยานอีกครั้ง หลังจากสหรัฐอเมริกา แคนาดา และเม็กซิโก ลงนามในสัญญาการค้าอเมริกาเหนือ หรือ NAFTA ทำให้ยอดการส่งออกถั่วเหลืองไปยังสหรัฐมีความต้องการพุ่งขึ้นหลายเท่าตัว ในเวลานั้นรัฐบาลเริ่มลงทุนในด้านการวิจัยและพัฒนาเพื่อปรับปรุงผลผลิตถั่วเหลืองและเพิ่มผลผลิต ซึ่งนำไปสู่การขยายการเพาะปลูกถั่วเหลืองอย่างมีนัยสำคัญ 

หนึ่งในเหตุผลหลักที่รัฐบาลให้การสนับสนุนอุตสาหกรรมถั่วเหลืองคือความต้องการที่เพิ่มขึ้นทั่วโลกสำหรับการเพาะปลูกโดยเฉพาะในยุโรปและเอเชีย ตลอดจนการถูกใช้เป็นแหล่งโปรตีนสำหรับอาหารสัตว์ เป็นผลให้ราคาถั่วเหลืองสูง นอกจากนี้ รัฐบาลบราซิลเริ่มเสนอสิ่งจูงใจและเงินอุดหนุนแก่เกษตรกรเพื่อส่งเสริมการปลูกถั่วเหลือง โดยเฉพาะในเขตพื้นที่ภาคกลางของประเทศซึ่งเป็นแหล่งทำเกษตรที่อุดมสมบูรณ์ ซึ่งเป็นฐานเสียงที่บรรดาพรรครัฐบาลบราซิลต้องการโกยคะแนนเกษตรกร

จึงออกกฎหมายเว้นภาษีที่เกี่ยวข้อง เงินอุดหนุนมากมายถูกเทให้กับเกษตรกรที่ปลูกสินค้าเกษตรสำคัญ พื้นที่เพาะปลูกถั่วเหลืองบราซิลจึงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง การขยายตัวถั่วเหลืองได้ส่งผลกระทบเชิงลบอย่างมากต่อสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแง่การแพ้วถางป่าไม้ที่ยังคงเป็นปัญหาหลักของประเทศ

 

ถั่วเหลือง บราซิล


บราซิลโกยมั่งคั่ง ธรรมชาติไร้ยั่งยืน

แม้อุตสาหกรรมถั่วเหลืองในบราซิลมีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศ อย่างไรก็ตาม การขยายตัวของพื้นที่ปลูกถั่วเหลืองได้ส่งผลกระทบอย่างมากต่อสิ่งแวดล้อม การขยายตัวของการปลูกถั่วเหลืองในประเทศนำไปสู่การแผ้วถางพื้นที่ป่าขนาดใหญ่ โดยเฉพาะแถบใกล้พื้นที่ป่าอเมซอน ที่ผ่านมามีหลายรายงานข่าวที่ชี้ว่า นอกจากการขยายพื้นที่เพาะปลูกของอุตสาหกรรมถั่วเหลืองที่รุกล้ำป่าฝนเขตร้อน ยังรุกล้ำพื้นที่ชุ่มน้ำที่สำคัญด้วยซึ่งกระทำต่อการไหลของน้ำตามธรรมชาติ และกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพ 

อุตสาหกรรมถั่วเหลืองในบราซิลยังเกี่ยวข้องกับการใช้ยาฆ่าแมลงและปุ๋ยจำนวนมาก ซึ่งอาจส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม สารเคมีเหล่านี้สามารถปนเปื้อนในน้ำและดิน นำไปสู่การสูญเสียสิ่งมีชีวิตในน้ำและผลผลิตพืชลดลง นอกจากนี้ การใช้สารกำจัดศัตรูพืชยังสามารถนำไปสู่การพัฒนาของศัตรูพืชที่ดื้อยาฆ่าแมลงซึ่งเป็นเรื่องที่ควบคุมได้ยาก อย่างไรก็ตาม ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ รัฐบาลบราซิลได้พยายามใช้นโยบายหลายอย่าง อาทิ การพักการขายถั่วเหลือง ที่มีเป้าหมายเพื่อลดการตัดไม้ทำลายป่าโดยการห้ามซื้อถั่วเหลืองที่ปลูกบนพื้นที่ที่ถูกตัดไม้ทำลายป่า อย่างไรก็ตาม นโยบายเหล่านี้ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางว่ายังไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ

ความสำเร็จของบราซิลในฐานะผู้ส่งออกถั่วเหลืองรายใหญ่ที่สุดของโลกเป็นผลมาจากการผสมผสานของสภาพอากาศที่เอื้ออำนวย ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี และนโยบายของรัฐบาลที่สนับสนุนการเติบโตของอุตสาหกรรม ถั่วเหลืองจึงเป็นพืชที่สร้างและยังคงมีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจของบราซิลทั้งในอดีตจนถึงปัจจุบัน มีส่วนสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ สร้างงานและรายได้ให้กับผู้คนจำนวนมาก ตลอดจนเป็นแหล่งโปรตีนสำหรับการบริโภคของมนุษย์และสัตว์ อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญคือต้องจัดการกับผลกระทบด้านลบของการปลูกถั่วเหลืองที่มีต่อสิ่งแวดล้อม

TAGS: #ถั่วเหลือง #บราซิล #อเมริกาใต้ #ญี่ปุ่น #สินค้าโภคภัณฑ์